Skip to main content
 
เผยแพร่วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555   
 
 
ศาลปกครองสงขลานั่งพิจารณาคดีครั้งแรก คดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานรัฐ
กรณีนายอัสฮารี สะมะแอ เสียชีวิตในระหว่างควบคุมตัว
และได้กำหนดวันฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 มกราคม 2555 เวลา 10.00 น.
 
เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 11.00 น. ศาลปกครองสงขลา องค์คณะตุลาการได้ออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ 39/2553 นางแบเดาะ สะมาแอ เป็นผู้ฟ้องคดี ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดจากกระทรวงกลาโหม ที่ 1 กองทัพบก ที่ 2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 3 และสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 4 เป็นผู้ถูกฟ้องคดี  เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้กระทำละเมิดในระหว่างปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจกฎอัยการศึกควบคุมตัวนายอัสฮารี สะมาแอ บุตรชายของผู้ฟ้องคดี กับพวก มีร่องรอยการทรมานทำร้ายร่างกายในระหว่างการควบคุมตัวจนเป็นเหตุให้นายอัสฮารี สะมาแอ  เสียชีวิตในเวลาต่อมา
 
ตามขั้นตอนการดำเนินการตุลาการศาลปกครองสงขลาเจ้าของสำนวนได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีนี้จนเห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลจะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งได้แล้ว จึงได้สรุปข้อเท็จจริงให้คู่กรณีทราบและนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 10 มกราคม 2555  โดยผู้ฟ้องคดี นางแบเดาะ สะมาแอได้ยื่นคำแถลงในวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกเป็นหนังสือเพื่อยืนยันทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพิ่มเติมต่อองค์คณะในวันนั่งพิจารณาคดีด้วย   โดยผู้ร้องและผู้รับมอบอำนาจได้แถลงการณ์ด้วยวาจาว่าเหตุดังกล่าวเป็นกรณีพิพาทที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่กระทำละเมิดอันเกิดจากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย   ไม่ใช่เป็นกรณีพิพาทว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้ใช้อำนาจได้ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก มาตรา 8 และมาตรา 15  ที่ชอบด้วยกฎหมาย  จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา16 ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้ และยืนยันข้อเท็จจริงว่าเนื่องจากการใช้อำนาจในการควบคุมตัวนายอัสฮารีฯ นั้น เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยกระทำการเกินกว่าเหตุทำร้ายร่างกายจนอันเป็นเหตุให้นายอัสฮารีฯ เสียชีวิต ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างแจ้งชัด  โดยศาลได้กำหนดวันนัดฟังพิพากษาในวันที่ 30มกราคม 2555 เวลา 10.00 น. อนึ่งผู้ถูกฟ้องคดีและผู้รับมอบอำนาจทั้งสี่มิได้มาศาลในวันที่ 10 มกราคมดังกล่าว
 
คดีนี้เป็นคดีที่โอนมาจากศาลแพ่ง  โดยนางแบเดาะ สะมาแอ มารดา ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ต่อศาลแพ่ง แต่เนื่องจากคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองสงขลา ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งโอนคดีไปศาลปกครองสงขลา  เหตุแห่งคดีโดยสรุปคือเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2550  เวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กับหน่วยเฉพาะกิจที่ 13  ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ร่วมกันปิดล้อม ตรวจค้น และควบคุมตัวนายอัสอารี  สะมาแอ กับพวก  บริเวณสวนยางพารา หมู่ที่ 5  บ้านจาเราะซีโป๊ะ  ต.สะเอะ  อ.กรงปินัง จ.ยะลา โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก ปรากฏว่าเวลาประมาณ 19.00 น. เจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายอัสฮารีฯ ไปส่งที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เนื่องจากนายอัสฮารีฯ ได้รับบาดเจ็บสาหัส  และแพทย์ได้ส่งไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลศูนย์ยะลาตามลำดับ โดยได้เสียชีวิตในวันที่ 22กรกฎาคม 2550 เวลาประมาณ 05.20 น. ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา  โดยใบความเห็นแพทย์ระบุว่า เสียชีวิตเนื่องจากสมองบวม ตามร่างกายมีรอยฟกช้ำ  ต่อมาผู้ถูกจับกุมและควบคุมตัวพร้อมนายอัสฮารีฯ ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายในระหว่างการควบคุมตัวทำให้ได้รับบาดเจ็บ และเจ้าหน้าที่ได้ทำร้ายร่างกายนายอัสฮารีจนเป็นเหตุให้นายอัสฮารีฯเสียชีวิต
 
 
หมายเหตุ: พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457
มาตรา 8
เจ้าน่าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจ
เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด, เมืองใด, มณฑลใด, เจ้าน่าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาไศรย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, แลที่จะขับไล่
 
มาตรา 15 ทวิ
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลใดจะเป็นราชศัตรู หรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้ เพื่อการสอบถาม หรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน
 
มาตรา 16
ร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับจากเจ้าน่าที่ฝ่ายทหารไม่ได้
ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด ในเรื่องอำนาจของเจ้าน่าที่ฝ่ายทหาร ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในมาตรา 8 ถึงมาตรา 15 บุคคลหรือบริษัทใด ๆ จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใดแก่เจ้าน่าที่ฝ่ายทหารไม่ได้เลย เพราะอำนาจทั้งปวงที่เจ้าน่าที่ฝ่ายทหารได้ปฏิบัติแลดำเนิรการตามกฎอัยการศึกนี้ เปนการสำหรับป้องกันพระมหากระษัตริย์ ชาติ ศาสนา ด้วยกำลังทหาร ให้ดำรงคงอยู่ในความเจริญรุ่งเรืองเปนอิศระภาพ แลสงบเรียบร้อยปราศจากราชสัตรูภายนอกแลภายใน