มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
คณะกรรมการสิทธิเด็ก องค์กรสหประชาชาติ แนะเลิกใช้กฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากไม่ใช่พื้นที่ความขัดแย้งทางอาวุธให้นำกฎหมายพิจารณาคดีเด็กมาใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 24-25 มกราคม พ.ศ2555 รัฐบาลไทยนำโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้าร่วมการประชุมเพื่อทบทวนรายงานสิทธิเด็กต่อคณะกรรมการด้านสิทธิเด็กขององค์กรสหประชาชาติ โดยมีตัวแทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิเด็กเข้าร่วมประชุมทั้งตัวแทนเยาวชนและตัวแทนหน่วยราชการต่าง ๆ จำนวน 30 คน
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพิธีสารเลือกรับเรื่องเด็กในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธนั้น ทางคณะกรรมการฯ ได้นำประเด็นพูดคุยเรื่องการอนุญาตให้มีการบรรจุเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นสมาชิกในชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ซึ่งขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย แม้ว่าปัจจุบันจะมีการออกคำสั่งห้ามไม่ให้มีการบรรจุเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีให้เป็น ชรบ. แล้ว แต่ยังมีข้อท้วงติงว่าจะมีหนทางใดในการทำให้มีบทลงโทษทางอาญาหากมีการอนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็น ชรบ.ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธอันไม่เหมาะสม ในกรณีเรื่องการบังคับใช้กฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นั้นทางคณะกรรมการสิทธิเด็กองค์การสหประชาชาติมีความห่วงกังวลเรื่องการควบคุมตัวเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ไม่อยู่ในการตรวจสอบโดยศาล โดยมีข้อมูลว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหารร่วมกับผู้ใหญ่ และจากการที่ประเทศไทยได้ชี้แจ้งกับทางคณะกรรมการสิทธิเด็กฯ ว่าสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นสถานการณ์การก่ออาชญากรรมและไม่ใช่การขัดแย้งทางอาวุธ (armed conflict) ทางคณะกรรมการฯ จึงหวังว่าจะมีการยกเลิกกฎอัยการศึกและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และให้เพิ่มความระมัดระวังของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายพิเศษดังกล่าวในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิเด็กและให้นำกฎหมายพิจารณาคดีเด็กมาใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในทุกสถานการณ์ โดยไม่มีข้อยกเว้น
ในเวลาเดียวกันเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2555 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และองค์กรเครือข่ายได้จัดงานนิทรรศการภาพถ่ายเด็กและเยาวชนและเสวนาเรื่อง “สิทธิในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนกับการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง” ณ บริเวณลานหน้าห้อง 500 อาคาร 19 โดยมีตัวแทนหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมเข้าร่วมเสวนา ได้แก่ ท่านณัฐกร ยกชูธนชัย ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปัตตานี และอาจาย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินท์ วิทยาเขตปัตตานี คุณปรีดีอนันต์ ติยานนท์ ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดปัตตานี นายอุสมาน มะสง โครงการกำปงซือแน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และตัวแทนนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี ร่วมเสวนา รวมทั้งตัวแทนจากศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจจังหวัดชายแดนใต้ และตัวแทนจากสำนักงานอัยการแผนกคดีเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในงานเสวนาครั้งนี้ด้วย
ท่านณัฐกร ยกชูธนชัย ผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดปัตตานีกล่าวว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฎในการอภิปรายนักวิจัยสภาพปัญหาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต่อการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ที่ปรากฎในหนังสือ “รอยแผลบนดวงจันทร์” ยังไม่เป็นที่รับรู้มากนัก อยากให้มีเวทีการเสวนาลักษณะเช่นนี้อีกเพื่อนำพูดคุยถึงความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ฯ และผลกระทบที่เกิดขึ้น คุณปรีดีอนันต์ ติยานนท์ ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูด้วยการวิเคราะห์สภาพปัญหาของเด็กที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อเข้าใจประวัติของเด็ก สภาพครอบครัวและสังคม อันนำไปสู่การเยียวยาและสามารถนำเด็กกลับสู่สังคมและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
นายอุสมาน มะสง โครงการกำปงซือแน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กมองว่าการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบที่อาจจะไม่ทั่วถึงและเท่าเทียมกันเช่นระหว่างเด็กกำพร้าของผู้เสียชีวิต 5000 กว่าคน มีเด็กอย่างน้อย 5000 คนเป็นเด็กกำพร้าที่เกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ถ้าเด็กเหล่านี้ได้รับการเยียวยาไม่เท่าเทียมเป็นการเลือกปฏิบัติก็อาจส่งผลต่อการพัฒนาเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต่อไปได้
สำหรับหนังสือรอยแผลบนดวงจันทร์เป็นสารคดีที่นำเสนอรายงานวิจัยของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญากรณีศึกษาเด็กและเยาวชนที่ถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายความมั่นคง ราคาเล่มละ 150 บาท โดยจะมีการวางจำหน่ายในร้านหนังสือทั่วไป สำหรับองค์กรที่สนใจขอรับหนังสือ รอยแผลบนดวงจันทร์ ได้ฟรีจำนวน 1 เล่ม โดยติดต่อทางอีเมล์ [email protected] ขอรับหรือจัดส่งทางไปรษณีย์ หรือติดตามอ่านได้เป็นตอนในเวปไซด์ www.deepsouthwatch.org