คดีนักศึกษายะลายังไม่ยุติ
กอ.รมน. และทนายความของนักศึกษายะลา
อุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองสงขลา
เนื่องด้วยเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕ เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนในฐานะทนายความของนายอิสมาแอ เตะ และนายอามีซี มานาก ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๘๗, ๑๘๘/๒๕๕๒ ระหว่างนายอิสมาแอ เตะ ที่ ๑ นายอามีซี มานาก ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี กองทัพบกที่ ๑ กระทรวงกลาโหมที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งศาลปกครองสงขลามีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๒๓๕, ๒๓๖/๒๕๕๔ [1] เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอุทธรณ์ทั้งสองฝ่ายส่งต่อศาลปกครองสงขลาในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้รับอุทธรณ์ของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายไว้แล้ว เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๕-๕๖/๒๕๕๕ ของศาลปกครองสูงสุด และมีคำสั่งให้คู่กรณีทั้งสองทำคำแก้อุทธรณ์เสนอต่อศาลภายใน ๓๐ วัน (ภายในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕) เพื่อประกอบการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดต่อไป ทางเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจึงได้ทำสรุปสาระสำคัญคำอุทธรณ์นี้เผยแพร่เป็นข้อมูลแก่สาธารณชนและผู้สนใจ ตามเอกสารที่แนบมาด้วยนี้ (กรุณาดูในล้อมกรอบ)
เครือข่ายนักสิทธิมนุษยชน
เผยแพร่วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
สรุปสาระสำคัญคำอุทธรณ์คดีซ้อมทรมานนักศึกษายะลา
โดย จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว[1]
ข้อมูลคดี
คดีหมายเลขดาที่ ๑๘๗, ๑๘๘/๒๕๕๒ ระหว่างนายอิสมาแอ เตะ ที่ ๑ นายอามีซี มานาก ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี กองทัพบกที่ ๑ กระทรวงกลาโหมที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี
ผู้ฟ้องคดีทั้งสองและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอุทธรณ์
หมายเหตุ : สรุปสาระสำคัญคำอุทธรณ์นี้ ผู้จัดทำแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่
ส่วนแรก สรุปคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ฉบับลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๔
ส่วนที่สอง สรุปคำอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ฉบับลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๔
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้รับอุทธรณ์ของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายไว้แล้ว เป็นคดีหมายเลขดาที่ ๕๕-๕๖/๒๕๕๕ ของศาลปกครองสูงสุด และมีคำสั่งให้คู่กรณีทั้งสองทำคำแก้อุทธรณ์เสนอต่อศาลภายใน ๓๐ วัน (ภายในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕) เพื่อประกอบการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดต่อไป
ส่วนแรก : สรุปคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง
(นายอิสมาแอ เตะ ที่ ๑ นายอามีซี มานาก ที่ ๒)
๑) การรับฟังข้อเท็จจริงของศาลปกครองสงขลาปราศจากพยานหลักฐานและคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนคดี
ข้อเท็จจริงที่ศาลปกครองสงขลาฟังว่าเจ้าหน้าที่ทหารของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเข้าตรวจค้นและพบประกาศกระทรวงกลาโหมเกี่ยวกับการกำหนดชนิดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาต ข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธที่ตำรวจควรรู้ เอกสารเกี่ยวกับสถานการณ์การก่อความไม่สงบ ภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รูปภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรยะลา ภาพการประกอบระเบิดเคลย์โมร์ และไฟล์การรวบรวมระเบิดต่างๆ เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่ปรากฏว่าพบเอกสารหรือไฟล์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามที่ศาลมีคำพิพากษาแต่อย่างใด ไม่ปรากฏเอกสารและไฟล์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวในบันทึกตรวจค้น/ตรวจยึดของเจ้าหน้าที่ทหาร และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิได้นาเอกสารหรือข้อมูลดังกล่าวมาแสดงต่อศาล ประกอบกับในทางไต่สวนของศาลก็ไม่พบข้อมูลเอกสารและ/หรือไฟล์ข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตรวจยึดตามที่เจ้าหน้าที่อ้าง จึงเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ปราศจากพยานหลักฐานและคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนคดี และเป็นข้อเท็จจริงสำคัญที่มีผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงต่อศาลได้ว่ามีการพบข้อมูลเอกสารและ/หรือไฟล์ข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตรวจยึดที่เป็นเหตุควรสงสัยตามที่เจ้าหน้าที่ทหารกล่าวอ้าง เจ้าหน้าที่ทหารย่อมมีอำนาจจับกุมควบคุมตัวเฉพาะบุคคลตามหมายจับเท่านั้น ไม่มีอำนาจควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับพวกได้
๒) การควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากมีการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมาน
ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเห็นพ้องด้วยกับค่าสินไหมทดแทนที่ศาลปกครองสงขลาพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ชดใช้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเงินคนละ ๒๕๐,๐๐๐ บาท เนื่องจากเป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ แต่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองสงขลาที่วินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวได้ตามกฎหมายเพียง ๗ วัน แต่ควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองรวม ๙ วัน จึงเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้นตั้งแต่มีการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานผู้ฟ้องคดีทั้งสองมาตั้งแต่ต้น ค่าเสียหายจากการสูญเสียเสรีภาพดังกล่าวข้างต้นเป็นค่าเสียหายสาหรับการควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองมาตั้งแต่วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๑ จนกระทั่งถึงวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ รวม ๙ วัน มิใช่ค่าเสียหายที่เกิดจากการควบคุมตัวเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียง ๒ วัน ดังที่ศาลปกครองสงขลาได้วินิจฉัย
๓) ค่าเสียหายจากการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมาน
๓.๑) การทำร้ายร่างกายผู้ฟ้องคดีทั้งสองในระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ไม่ใช่การทำร้ายร่างกายโดยเจตนาธรรมดา แต่เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลตามที่เจ้าหน้าที่ทหารต้องการ ซึ่งถือเป็นการทรมานตามนิยามของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT) สอดคล้องกับมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่งและวรรคสองประกอบวรรคห้าของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ แม้การทรมานจะยังไม่มีกฎหมายกำหนดเป็นความผิดไว้โดยตรงและยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นๆ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯ เมื่อศาลปกครองสงขลาฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยแล้วว่า ในระหว่างการจับกุมและควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองนั้น เจ้าหน้าที่ทหารภายใต้บังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ทำร้ายร่างกายผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ทั้งนี้ โดยมีพฤติการณ์และความมุ่งหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ทหารต้องการ การกระทำของเจ้าหน้าที่จึงเป็นการทรมานตามนิยามของอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี แล้ว และเมื่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๓๒ ได้บัญญัติรับหลักการแห่งอนุสัญญาดังกล่าวไว้ ย่อมมีผลผูกพันให้ศาลตีความและวินิจฉัยให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามความแห่งมาตรา ๒๗ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
๓.๒) ศาลรับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถูกทำร้ายร่างกายโดยเจ้าหน้าที่ทหารในระหว่างการควบคุมตัว ซึ่งเป็นการทรมาน และผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าขอคิดค่าเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๒ ด้วย แต่ศาลปกครองสงขลาพิจารณาค่าเสียหายตามที่ผู้ฟ้องคดีขอเพียงส่วนเดียวคือค่าเสียหายในทางละเมิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ เฉพาะค่ารักษาพยาบาลจานวน ๕,๐๐๐ บาท ทั้งๆ ที่การละเมิดสิทธิของเจ้าหน้าที่ทหารโดยการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล และก่อให้เกิดความเสียหายจากการทุกข์ทรมานร่างกายและสุขอนามัย ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเงินจานวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท
นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองยังได้เสนอรายงานทางการแพทย์ ของ นายอิสมาแอ เตะ ฉบับลงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๔ จัดทำโดยแพทย์หญิง ลิลลา ฮาร์ดิ และ นายแพทย์ โจนาธาน เบย์นอน ฉบับภาษาอังกฤษและฉบับแปล ต่อศาล ซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้เข้ารับการตรวจร่างกายและผลกระทบต่อสภาพจิตใจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตามหลักเกณฑ์ของพิธีสารอิสตันบูล ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๐ มีนาคม ๒๕๕๔ ซึ่งตรวจโดยแพทย์หญิงลีลา ฮาร์ดดี (Dr. Lilla Hardi) และนายแพทย์โจนาธาน เบย์นอน (Dr. Jonathan Beyon) ในนามของสภาเพื่อการฟื้นฟูผู้ถูกทรมานระหว่างประเทศ (International Rehabilitation Council for Torture Victims -IRCT) กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งผลการตรวจร่างกายของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ พบว่าเป็นไปโดยสอดคล้องกับคาฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง กล่าวคือผู้ฟ้องคดีที่ ๑ มีอาการซึมเศร้ารุนแรงและอาการผิดปกติจากความเครียดหลังได้รับการบาดเจ็บ (PTSD) ทำให้เกิดความหวาดระแวง วิตกกังวล และไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ อันเป็นความเสียหายจากการทุกข์ทรมานร่างกายและสุขอนามัยตามคาฟ้องของผู้ฟ้องคดี ดังจะเห็นได้จากความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีที่รับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจานวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองด้วย
๔) ค่าเสียหายจากการเสียศักดิ์ศรีถูกดูหมิ่นและค่าเสียหายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๒
๔.๑) ศาลปกครองสงขลาวินิจฉัยว่า การดำเนินการตรวจค้น ยึด ควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสอง นั้น เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ที่อาจกระทบสิทธิผู้ฟ้องคดีทั้งสองบ้าง แต่ไม่เกินกว่าที่จำเป็นต้องกระทำ และค่าเสียหายไม่ปรากฏชัดว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร และเป็นค่าเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองคาดหมายโดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานให้ฟังได้ จึงพิพากษาว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้
ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอุทธรณ์ว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารชุดที่เข้าตรวจค้นจับกุมและควบคุมตัวตลอดจนทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานผู้ฟ้องคดีทั้งสองมาโดยตลอดนั้น มีผลกระทบโดยตรงทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานในระหว่างควบคุมตัว อันเป็นการกระทำที่ดูหมิ่นและกระทบต่อศักดิ์ศรีของผู้ฟ้องคดีทั้งสองอย่างยิ่ง การกระทำดังกล่าวเป็นผลโดยตรงจากการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร โดยเฉพาะในพื้นที่สถานการณ์ความไม่สงบในคดีนี้ ที่ประชาชนมีความกังวลและหวาดระแวงซึ่งกันและกันอยู่แล้ว ยิ่งก่อให้เกิดความหวาดระแวงสงสัยในตัวของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและก่อความเสียหายแก่ชื่อเสียงของผู้ฟ้องคดีทั้งสองยิ่งขึ้นไปอีก ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงินจานวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท
๔.๒) ศาลปกครองสงขลาวินิจฉัยว่า เมื่อการดำเนินการตรวจค้น ตรวจยึดทรัพย์สินและควบคุมตัวเป็นการใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จะกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดีบ้างแต่ไม่เกินจำเป็นและพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง
ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอุทธรณ์ว่า การที่ศาลวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจตามกฎหมายในการควบคุมตัวที่อาจกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสองบ้างแต่ไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นต้องกระทำและมีเหตุอันควรที่กฎหมายบัญญัติไว้ เท่ากับเป็นการรับรองการทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ว่าเป็นการกระทำที่อาจกระทบสิทธิบ้างแต่ไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นต้องกระทำและมีเหตุอันควร ทั้งที่การทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมาน ตลอดจนการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายล้วนกระทำลงด้วยความจงใจของเจ้าหน้าที่ทหารของผู้ถูกฟ้องคดีโดยตรง เหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายในส่วนนี้จึงไม่อาจทำให้เกลื่อนกลืนไปกับเหตุแห่งการใช้อำนาจในการเข้าตรวจค้นและยึดทรัพย์สินที่ศาลปกครองสงขลาวินิจฉัยว่าเป็นการใช้อำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติแต่ไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นต้องกระทำและมีเหตุอันควร ได้
นอกจากนี้ การวินิจฉัยของศาลปกครองสงขลา ยังเป็นการวินิจฉัยมาตรา ๓๒ แห่งรัฐธรรมนูญฯเฉพาะในบางวรรคบางประเด็นเท่านั้น โดยละเลยไม่วินิจฉัยวรรคหนึ่งและวรรคสองประกอบกับวรรคห้า ทั้งที่ไม่เข้าข้อยกเว้นตามาตรา ๓๒ ที่ระบุว่า…เว้นแต่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย…แต่อย่างใด เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานบุคคลใดในระหว่างควบคุมตัว และไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวบุคคลโดยไม่มีเหตุจำเป็นหรือเกินกว่าความจำเป็น
ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงขอศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาและวินิจฉัยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นจานวนเงินคนละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท
๕) ขอให้ศาลพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการมีประกาศในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และมีหนังสือถึงหน่วยงานราชการเกี่ยวกับกรณีการตรวจค้น ยึดทรัพย์สินและควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสอง
ศาลปกครองสงขลาวินิจฉัยว่า เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในการตรวจค้นและควบคุมตัวเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งเป็นกรณีที่อาจกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสองบ้าง แต่กรณีก็เป็นการใช้อำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แม้จะเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิบ้างแต่ไม่เกินกว่ากรณีจำเป็นต้องกระทำและมีเหตุผลอันควรตามที่กฎหมายบัญญัติ และการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เจ้าหน้าที่ย่อมต้องตรวจตราด้วยความระมัดระวังและละเอียดถี่ถ้วนกับทุกคน หาใช่แต่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองแต่อย่างใดไม่ ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ผู้ฟ้องคดีทั้งสองอุทธรณ์ว่า การที่รายชื่อของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและผู้ถูกควบคุมตัวอื่นๆ ยังคงปรากฏเป็นข้อมูลอยู่ตามฐานปฏิบัติการและด่านตรวจจุดต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจุดตรวจชายแดนระหว่างประเทศ ทั้งๆ ที่ผู้ฟ้องคดีถูกปล่อยตัวและมีหนังสือรับรองการปล่อยตัวและรับรองพฤติกรรมแล้วก็ตาม แต่ไม่มีการปรับปรุงข้อมูลดังกล่าวให้เป็นปัจจุบัน เมื่อผู้ฟ้องคดีเดินทางและพบจุดตรวจ เจ้าหน้าที่ทหารจะดำเนินการตรวจสอบข้อมูลของผู้ฟ้องคดีอย่างเข้มงวดเสมือนเป็นผู้ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดอยู่ตลอดเวลา และไม่ใช่การตรวจตราด้วยความระมัดระวังตามปกติเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป เนื่องจากประชาชนทั่วไปไม่ได้มีชื่อปรากฏอยู่ในฐานปฏิบัติการหรือจุดตรวจต่างๆ เหมือนผู้ฟ้องคดีทั้งสอง จึงเป็นการสร้างภาระและความหวาดกลัวให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองทั้งที่ถูกปล่อยตัวออกมาแล้ว มีฐานะเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่กลับมีรายชื่อปรากฏและถูกเจ้าหน้าที่เพ่งเล็งไม่ต่างไปจากผู้ต้องสงสัย ผู้ต้องหาหรือจำเลย จึงขอศาลปกครองสูงสุดพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง
สรุปผู้ฟ้องคดีทั้งสองขอศาลปกครองสูงสุดได้โปรดพิจารณาพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองสงขลาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการถูกทำร้ายร่างกายและการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขเป็นเงินคนละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ค่าเสียหายจากการที่ทำให้ต้องเสียศักดิ์ศรี ถูกดูหมิ่นจากเพื่อนบ้านและเพื่อนนักศึกษาคิดเป็นเงินคนละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท และค่าเสียหายตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่งและวรรคสองประกอบวรรคห้า คิดเป็นเงินคนละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเงินคนละ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชาระให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเสร็จสิ้น กับทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จัดการให้ชื่อเสียงของผู้ฟ้องคดีทั้งสองกลับคืนดีโดยจัดให้มีประกาศหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างน้อยสองฉบับ ฉบับละสามวันติดต่อกัน หรือหนังสือชี้แจง หรือหนังสือเวียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกฟ้องคดี โดยเฉพาะหน่วยงานในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อาเภอในจังหวัดสงขลาและมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา
ส่วนที่สอง : สรุปคำอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (กองทัพบก)
๑) กองทัพบกไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัด เนื่องจากพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกฯ มาตรา ๑๕ ทวิ วรรคสอง ยกเว้นความรับผิดไว้
การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในคดีนี้เป็นการปฏิบัติตามระเบียบกองอานวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ว่าด้วยวิธีปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๐ ระเบียบกองอานวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ว่าด้วยวิธีปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ (เพิ่มเติม) ลงวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๑ และระเบียบกองอานวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ว่าด้วยวิธีปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ (เพิ่มเติมครั้งที่ ๒) ลงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ และเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗ มาตรา ๑๕ ทวิ เพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๐๓ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ ซึ่งความในวรรคสองของพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า “ร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารไม่ได้” ที่ศาลวินิจฉัยมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกฯ มิได้บัญญัติครอบคลุมยกเว้นความรับผิดกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕ ทวิ ด้วย นั้น จึงไม่ถูกต้องเพราะมาตรา ๑๕ ทวิ วรรคสอง บัญญัติยกเว้นความรับผิดไว้แล้ว
๒) การควบคุมตัวนักศึกษายะลาโดยเจ้าหน้าที่ทหารเป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวครั้งแรกระยะเวลา ๖ วัน แต่จากการดำเนินกรรมวิธีทางทหาร พบกรณีต้องสงสัยขึ้นใหม่จึงต้องควบคุมตัวเพื่อดำเนินกรรมวิธีอีกวาระหนึ่ง เป็นการควบคุมตัวกันคนละคราว คนละวาระ ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารที่ได้ส่งศาลไปแล้วตามคาให้การเพิ่มเติมฉบับลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เอกสารหมายเลข ๒ รายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริง ฉบับลงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๒ ข้อ ๒.๔ และข้อ ๒.๕ กรณีจึงมิใช่การควบคุมตัวเกินกำหนดเวลาดังศาลปกครองสงขลาวินิจฉัย
๓) ค่าเสียหายที่ศาลปกครองสงขลาพิพากษาให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองสูงเกินไปและไม่มีหลักฐานการจ่ายค่ารักษาพยาบาล
ค่าเสียหายจากการถูกควบคุมตัวที่ศาลกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีคนละ ๒๕๐,๐๐๐ บาท นั้น สูงเกินไป และค่ารักษาพยาบาลของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ที่ศาลกำหนดให้ ๕,๐๐๐ บาท นั้น ไม่ปรากฏหลักฐานการจ่ายเงิน แต่ปรากฏตามหลักฐานว่าผู้ฟ้องคดีรักษาตัวที่โรงพยาบาลยะลาซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งอาจต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือไม่ต้องจ่ายก็ได้ ที่ศาลพิพากษาให้ค่ารักษาพยาบาลเต็มตามคำขอในคาฟ้อง จึงไม่ถูกต้อง
ด้วยเหตุผลดังกล่าวมา ขอศาลปกครองสูงสุดได้โปรดพิจารณาพิพากษายกฟ้อง