Skip to main content
 
ไชยยงค์ มณีพิลึก
 
 
                เหตุการณ์ที่ทหารพราน ร้อย พท.4302 ซึ่งตั้งฐานปฏิบัติการที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ยิงราษฎรที่เดินทางไปละหมาดเสียชีวิต 4 ศพ และบาดเจ็บ 4 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าวันนี้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้วหลายวัน และไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ จากญาติๆของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมทั้ง การเคลื่อนไหวจากภาคประชาสังคม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า สถานการณ์ที่เกิดเหตุได้ “ยุติ”ลงแล้วด้วยการไม่ติดใจของผู้คนในพื้นที่
 
                เพียงแต่ หลังเกิดเหตุ ทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดย พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ในฐานแม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) นายธีระ มินทราศักดิ์ ผวจ.ปัตตานี และ พล.ต.ต.พิเชษฐ ปิติเศรษฐพันธ์ ผบก.ภ.จว.ปัตตานี ได้ทำความเข้าใจกับญาติๆของ ราษฎรผู้ตกเป็น “เหยื่อ” สถานการณ์ ให้รอการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้น โดยหากสุดท้ายผลของการสืบสวนสอบสวน พบว่าเป็นความ “พลาดพลั้ง” ของทหารพราน กองทัพพร้อมที่จะรับผิด และ และ ศอ.บต. ก็พร้อมที่จะ “เยียวยา” ให้กับผู้ที่ตกเป็น “เหยื่อ” ในความ “พลาดพลั้ง” ที่เกิดขึ้น
 
                หลังเกิดเหตุ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงหลายชุด ทั้งที่ตั้งโดย ผวจ.ปัตตานี ตั้งโดยแม่ทัพภาคที่ 4 ตั้งโดย ศอ.บต. และตั้งโดยสภาที่ปรึกษาและการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในส่วนของตำรวจนั้น มีการวางกรอบให้ สืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงภายใน 30 วัน
 
                ประเด็นปัญหาของคดีดังกล่าว ซึ่งเป็นประเด็นหลักในขณะนี้มีอยู่ประเด็นเดียว ที่คณะกรรมการทุกชุดต้องทำให้กระจ่าง เพื่อลดความคับแค้นใจที่เกิดขึ้นกับ “เหยื่อ” และกับสังคมของคนในพื้นที่  นั่นคืออาวุธปืน 2 กระบอกที่พบในรถยนต์ของ ราษฎร ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ มีความเป็นมาอย่างไร เป็นของ “คนร้าย” ที่ใช้ยิง “ทหารพราน” และทิ้งเอาไว้ในรถยนต์ เพื่อสร้างความเข้าใจผิดให้กับ ทหารพราน เป็นเหตุให้ทหารพราน ยิงใส่รถยนต์คันดังกล่าว จนเกิดเหตุตาย 4 เจ็บ 4 ตามที่ทหารพรานให้การกับพนักงานสอบสวน จริงหรือไม่
 
                ในขณะที่ ราษฎร ที่บาดเจ็บ และ “พยาน” ที่รับรู้เหตุการณ์ ให้การว่า ในรถยนต์ดังกล่าว ไม่มีปืน และก่อนที่จะถูกยิงใส่ ก็ไม่มี “โจร” เข้ามาอยู่ในรถยนต์คันดังกล่าว รวมทั้งข้างๆรถยนต์คันดังกล่าว ไม่มี”อีแอบ”คนไหน ที่เข้ามาเพื่อใช้คนในรถยนต์เป็นโล่มนุษย์เพื่อยิงปืนใส่ เจ้าหน้าที่ จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ ยิงปืนใส่ผู้คนที่อยู่ในรถยนต์คันดังกล่าว
 
                เมื่อประเด็นข้อเท็จจริงแตกต่างกัน ปืนทั้งสองกระบอกคือ “ของกลาง” ที่เป็นวัตถุพยานที่สำคัญ  ซึ่งต้องใช้ขบวนการพิสูจน์หลักฐาน หาลายนิ้วมือ หาดีเอ็นเอ ว่ามีลายนิ้วมือ มี ดีเอ็นเอ ของคนเจ็บ คนตาย ที่อยู่ในรถยนต์คันดังกล่าว ติดอยู่หรือไม่
 
                ถ้ามีรอยลายนิ้วมือของคนเจ็บ หรือ คนตาย ที่อยู่ภายในรถยนต์คันดังกล่าวติดอยู่ รูปคดีก็จะเปลี่ยนเป็นว่า คนในรถยนต์เป็น “คนร้าย” และเปิดฉากใช้ปืนยิงใส่ เจ้าหน้าที่ ก่อน และ เจ้าหน้าที่ได้ยิงตอบโต้ จนเป็นเหตุให้ เสียชีวิต บาดเจ็บ ตามที่ เจ้าหน้าที่ ทหารพราน ชุดดังกล่าวให้การไว้
 
                ซึ่ง จะเกิดปัญหาติดตามมาอย่างแน่นอน เพราะนับตั้งแต่วันที่เกิดเหตุ  ประชาสังคมในพื้นที่ต่าง “ฟันธง” ด้วยความเชื่อมั่นว่า ราษฎร ที่ตายและบาดเจ็บ เป็น ราษฎรธรรมดา ที่ไม่ใช่ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งสอดคล้องกับการสอบประวัติของเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ที่พบว่าคนทั้งหมดไม่มี “ประวัติ” ในการเป็น แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน ถ้าผลการพิสูจน์พบว่าคนตายและเจ็บเป็น “แนวร่วม” ความวุ่นวาย อันเกิดจากความ “คับแค้น” ทางจิตใจ จะตามมา
 
                แต่ ถ้าผลพิสูจน์พบว่า ปืนทั้ง 2 กระบอก ไม่มีลายนิ้วมือและดีเอ็นเอของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ สิ่งที่ กอ.รมน. ต้องตอบคำถามของประชาชนทั้งในพื้นที่ และในประเทศ คือ ปืนทั้ง 2 กระบอก “ระเห็จ” เข้าไป ตั้ง “แอ้งแม้ง” ในรถยนต์คันนั้นได้อย่างไร ใครเป็นคนเอาเข้าไปวางไว้ และเพื่อจุดประสงค์ใด
 
                คำตอบที่สังคมได้ในทันที โดยที่ไม่ต้องมีใครบอกก็คือ หลังจากที่มีการยิงราษฎร ตายและเจ็บ มีการ “จัดฉาก”เกิดขึ้น เพื่อที่จะ “ป้าย” ความผิดให้กับ ราษฎร ที่อยู่ในรถยนต์คันดังกล่าว เพื่อที่ เจ้าหน้าที่ ผู้ “พลาดพลั้ง” ในการปฏิบัติหน้าที่ จะได้มี “ทางออก” และจะได้ไม่ต้องถูกดำเนินคดีทางอาญา ในข้อหา ฆ่าคนตาย
 
                และหากเป็นอย่างนี้จริง ความคับแค้นทางจิตใจของผู้คน โดยเฉพาะ “มุสลิม” ในพื้นที่ ยิ่งจะเพิ่มพูนมากขึ้น อาจจะมีการ “โยง” ในยังเหตุการ อีกหลายๆเหตุการ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เห็นว่า ที่ผ่านมามีการ “จัดฉาก” เพื่อป้ายความผิดให้กับ “เหยื่อ” เคราะห์ร้าย เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้พ้นผิดในข้อหา ทำเกิดกว่าเหตุ
 
                รวมทั้งสิ่งที่จะตามมาคือ “แกนนำ”ขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็ดี “แกนนำ”ในการสร้างความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆก็ดี ย่อมฉวยเอาเรื่องที่เกิดขึ้นเป็น โอกาส ในการ ปลุกระดม โฆษณาชวนเชื่อ เพื่อหา “แนวร่วม” จากประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ เกลียดชัง เจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นศัตรูกับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการ เพิ๋มมวลชน ให้กับขบวนการให้มากยิ่งขึ้น
 
                เพราะวันนี้ ซึ่งเป็นเวลาที่ยังไม่ครบ 30 วัน ในการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริง มีคำถามจากภาคประชาสังคมดังขึ้นตลอดเวลาว่า ในการดำเนินการกับผู้ที่ทำความผิดนั้น  กอ.รมน.ทำเพียงการย้ายทหารพราน ร้อย พท.4302 ออกจากพื้นที่เท่านั้นหรือ แล้วทหารพรานที่เป็นผู้ยิงใส่รถยนต์คันดังกล่าว จนทำให้เกิดการตายและบาดเจ็บ มีการควบคุมตัวและแจ้งข้อหาแล้วยัง เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นปัญหาที่นำมาสู่ความคับแค้นใจ ความขัดแย้งเพื่อนำไปสู่ความรุนแรงทั้งสิ้น
 
                เหตุการณ์นี้ ไม่ง่ายในการหาทางออกเช่นกรณีฆ่า 10 ศพ ในมัสยิดไอร์ปาแย อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส และไม่ง่ายเหมือนการกราดยิงร้านน้ำชาที่บ้านกาโสด อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่ง กอ.รมน.เคยหาทางออกให้เป็นอดีตทหารพรานเป็นผู้ปฏิบัติการ โดยสาเหตุมาจากความแค้นส่วนตัว ซึ่งจบลงที่จับกุมตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งอย่างน้อย “เหยื่อ”ผู้เคราะห์ร้าย และชาวบ้านมีความพอใจในระดับหนึ่ง เมื่อมีการเยียวยาให้กับ “เหยื่อ” ตามที่ต้องการ จึงทำให้สถานการณ์ไม่ร้อนระอุ จนควบคุมไม่ได้ แต่กรณี 4 ศพ ที่ “หนองจิก” เป็นอีก กรณีที่เป็นเรื่องของทหารประจำการ และถูกมองว่ามีความ “พลาดพลั้ง” ในการปฏิบัติหน้าที่ และ อาจจะมีการ “จัดฉาก” เพื่อให้ผู้ตายและบาดเจ็บเป็น “แพะ” ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมทุกศาสนา รับไม่ได้
 
                ดังนั้น กรณีของ 4 ศพ ที่ “หนองจิก” จึงเป็นเสมือน “ระเบิดเวลา” ที่รอการระเบิดภายใน 30 วัน ซึ่งผลของการระเบิด จะเป็นอย่างไร จึงอยู่ที่ฝีมือในการที่จะถอดสลักระเบิดเวลาของ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทั้ง ศอ.บต. ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นรับผิดชอบในด้านการ สืบสวน สอบสวน และพิสูจน์หลักฐานในที่เกิดเหตุ
 
                ถ้าคำตอบของ กอ.รมน. ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง สวนความรู้สึกของผู้คนส่วนใหญ่ ปี 2555 จะเป็นปีที่จะเกิดความรุนแรง ที่สร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้นกับ เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์อีกมากมาย เพราะการ “เยียวยา” ด้วยการใช้ “เงิน” เพื่อ “ซื้อ” ความไม่เป็นธรรม ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง “เหยื่อ”ผู้เคราะห์ร้าย อาจจะพอใจ และอาจจะดับไฟแค้นในระดับ “ปัจเจก” ได้ผล แต่ไฟแค้นของสังคมส่วนรวมจะลุกโชนยิ่งขึ้น
 
                นี่คือ ข้อเท็จจริง ที่ผู้รับผิดชอบ ทั้ง กองทัพ และ รัฐบาล พึงสังวรณ์ และหาแนวทางในการแก้ปัญหา ก่อนที่ผู้บริสุทธิ์ จะตกเป็น “เหยื่อ” ของสถานการณ์ และก่อนที่ดินแดน 4 จังหวัดชายแดนใต้ จะกลายเป็นดินแดน “มิกสัญญี” ไปมากกว่านี้