Skip to main content
ฐิติมา เทพญา
ดุษฎี เพ็ชรมงคล
อาจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เป็นการถอดบทสรุปจากโครงการวิจัยเรื่อง “โครงการศึกษาขีดความสามารถของสื่อและการนำเสนอข่าวออนไลน์ในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้” อันเป็นหนึ่งในชุดงานวิจัยที่ดำเนินการโดยคณาจารย์คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จำนวน 6 ชิ้น ภายใต้การสนับสนุนโดยโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (Southern Thailand Empowerment and Participation Project หรือ STEP Project) ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)
 
ปัจจุบันอัตราการขยายตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญในการสื่อสารผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงในส่วนของสื่อมวลชนที่ได้นำอินเทอร์เน็ตมาใช้ประโยชน์ในด้านการผลิตเนื้อหาที่สามารถสื่อสารไปยังผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมทั่วโลก รวดเร็ว ถูกต้อง และสามารถนำเสนอในรูปแบบสื่อประสม (multimedia) ได้อย่างลงตัว โดยอยู่ในลักษณะของสื่อออนไลน์
ลักษณะเด่นของข่าวออนไลน์มีความแตกต่างจากการนำเสนอข่าวสารรูปแบบเดิม (โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์) เป็นการสื่อสารแบบสองทิศทางที่ผู้ใช้สามารถให้ข้อมูลตอบกลับ หรือแสดงความคิดเห็นไปยังผู้ผลิตได้ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่าน E-mail, Web board   เป็นต้น การเปลี่ยนจากผู้บริโภคข่าวสารหรือผู้รับ (receiver) มาเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตเนื้อหา (sender) ได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งนับเป็นโลกแห่งการสื่อสารอย่างแท้จริง มีการนำเสนอข่าวสารในรูปแบบของมัลติมีเดีย (ข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว วิดีโอและเสียง) ทำให้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านการสื่อสารและรับรู้ได้มากขึ้น การนำเสนอข่าวที่ตรงกาล (Real time) ไร้ข้อจำกัดทั้งในด้านของเวลาและสถานที่
สำหรับพื้นที่ห้าจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นพื้นที่พิเศษที่จะต้องมีความรวดเร็ว และสะดวกในการนำเสนอข่าว ซึ่งช่องทางการนำเสนอผ่านอินเทอร์เน็ตน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่ง จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ามีหลายองค์กรที่เลือกการนำเสนอข่าวออนไลน์เพราะมีความรวดเร็ว สะดวกสบายในการส่งข้อมูลข่าวสาร มีลักษณะความเป็นมัลติมีเดีย และสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้รับสารได้ จากการศึกษาการนำเสนอข่าวออนไลน์ขององค์กรสองประเภท คือ องค์กรสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่มีการผลิตสื่อออนไลน์ และองค์กรสื่อทางเลือกที่ผลิตสื่อออนไลน์เพียงอย่างเดียว โดยแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็นสองส่วน คือ ผู้ส่งสาร (องค์กรผู้ผลิตสื่อ) และ ตัวสื่อ (ข่าวออนไลน์)
วิเคราะห์สื่อ
1. คุณลักษณะการเป็นข่าวออนไลน์ที่นำเสนอบนเว็บไซต์ ประกอบด้วย 4 คุณลักษณะ คือ ตรงกาล ไร้กาล ประสานสื่อ ปฏิสัมพันธ์ จากผลการสำรวจสามารถสรุปได้ว่าทุกองค์กรมีคุณลักษณะของการนำเสนอข่าวออนไลน์ในด้านไร้กาล (Shifted time) และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ (interactive) ส่วนคุณลักษณะความตรงการ (Real time) จะมีอยู่ในสื่อของบางองค์กรเท่านั้น และคุณลักษณะการประสานสื่อ (multimedia) ที่มีการนำเสนอข่าวสารในรูปแบบมัลติมีเดียจะมีอยู่ในสื่อขององค์กรเป็นส่วนใหญ่ มีเพียงสื่อของ 2 องค์กรเท่านั้นที่ใช้แค่ข้อความกับรูปภาพในการนำเสนอข่าวออนไลน์
2. เว็บไซต์ของแต่ละองค์กรในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยภาพรวมแล้วทุกองค์กรสามารถแบ่งเนื้อหาในเว็บไซต์ให้สามารถอ่านง่าย ใช้งานได้ง่าย และมีการแบ่งหัวข้อที่ชัดเจนทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายและสามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็ว อีกประเด็นที่สำคัญที่ค้นพบจากการศึกษาคือองค์กรที่จ้างบริษัทภายนอกมาออกแบบเว็บไซต์จะมีรูปแบบเว็บไซต์ที่ตายตัว ไม่มีลูกเล่นมากนัก ซึ่งแตกต่างกับองค์กรที่ออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์เองจะมีการออกแบบที่ไม่ตายตัว การจัดหน้ามีรูปแบบที่หลากหลาย สวยงาม เข้ากับลักษณะขององค์กรและกลุ่มผู้ใช้
วิเคราะห์องค์กร
1.ข้อมูลทั่วไปขององค์กร
- วัตถุประสงค์หลักในการผลิตสื่อออนไลน์ของทุกองค์กร คือ ต้องการนำเสนอเนื้อหาข่าวในมุมมองที่แตกต่างจากสื่อหลักอื่นๆ โดยทั่วไป เพื่อเพิ่มโอกาสการกระจายข้อมูล และส่งเสริมสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน
 - กลุ่มเป้าหมายหลัก กลุ่มเป้าหมายหลักในการบริโภคสื่อออนไลน์ของกลุ่มองค์กรสื่อทางเลือกฯ คือ ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มองค์กรสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฯมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ (ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส, สงขลา, สตูล) และประชาชนทั่วประเทศ เพื่อต้องการเผยแพร่ข่าวและองค์กรให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
 - การตอบสนองของผู้บริโภคสื่อ การตอบสนองของผู้บริโภคที่มีต่อสื่อออนไลน์บนเว็บไซต์นั้นมีจำนวนไม่มากนัก โดยมีการแสดงความคิดเห็นต่อเว็บไซต์ผ่าน Web board, E-mail หรือช่องทางการสื่อสารอื่นๆ
 - รายได้จากสื่อออนไลน์ขององค์กรทั้งสองประเภทยังถือว่าน้อย โดยเฉพาะองค์กรที่เป็นสื่อทางเลือกบางองค์กรยังขาดงบประมาณหมุนเวียนในการจ้างบุคลากร
 - การใช้เครื่องมือสื่อสาร ทุกองค์กรใช้กล้องถ่ายรูปและเครื่องบันทึกเสียงเป็นเครื่องมือมาตรฐานในการทำข่าว ทั้งนี้การนำเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีที่บันทึกวิดีโอหรือภาพนิ่งและสามารถส่งข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไปยังองค์กรได้ทันทีขณะอยู่ในที่เกิดเหตุได้ยังน้อยมาก
- หลักเกณฑ์ที่ใช้ออกแบบ โดยส่วนมากองค์กรจะเน้นการนำเสนอข้อความมากว่ารูปภาพเพราะจะช่วยความเร็วในการแสดงผลหน้าเว็บเพจ ดังนั้นการออกแบบเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ ควรให้ความสำคัญของความสมดุลของภาพและเนื้อหาข้อความ
- ปัญหาและอุปสรรค ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายในท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่มีทักษะในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต และในส่วนขององค์กรผู้ผลิตก็มีอุปสรรคหลักในด้านขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถด้านไอทีเพื่อพัฒนาและผลิตเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ และองค์กรสื่อทางเลือกส่วนใหญ่ยังประสบปัญหากับงบประมาณหมุนเวียนภายในองค์กรอีกด้วย
2. การจัดโครงสร้าง องค์กรสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจะใช้บุคลากรผู้ผลิตเนื้อหาข่าวออนไลน์บนเว็บไซต์เป็นกลุ่มเดียวกันกับบุคลากรผู้ผลิตเนื้อหาข่าวบนหนังสือพิมพ์ โดยบรรณาธิการหรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาข่าวจะเป็นผู้คัดเลือกข่าวจากหนังสือพิมพ์เพื่อส่งต่อให้กับบุคลากรด้านจัดการเว็บไซต์นำเนื้อหาข่าวขึ้นบนเว็บไซต์ หรือรูปแบบที่สอง คือ บุคลากรด้านจัดการเว็บไซต์จะเป็นทั้งผู้คัดเลือกข่าวจากหนังสือพิมพ์และนำเนื้อหาข่าวขึ้นบนเว็บไซต์ แต่องค์กรสื่อทางเลือกประกอบไปด้วยบุคลากรที่มีงานประจำอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่ การปฏิบัติงานในหน้าที่หนึ่งจึงอาจจะมีบุคลากรหลายคนทำร่วมกัน หรือหนึ่งคนทำหลายหน้าที่ เนื่องจากไม่มีงบประมาณในการจ้างคนมาทำหน้าที่เฉพาะได้
3.การผลิตและการเรียบเรียง การผลิตและเรียบเรียงเนื้อหาข่าวบนเว็บไซต์ขององค์กรสื่อหนังสือพิมพ์ฯ แต่ละองค์กรจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ใช้เนื้อหาข่าวหนังสือพิมพ์ร่วมกับการอ้างอิงเนื้อหาข่าวจากแหล่งอื่นๆ แต่ในส่วนขององค์กรสื่อทางเลือกข้อมูลที่ปรากฏบนเว็บไซต์ส่วนใหญ่จะเป็นข่าวกึ่งบทความ หรือบทวิเคราะห์เหตุการณ์สถานการณ์ต่างๆ โดยมีลักษณะแบบผสมผสานทั้งมีการเรียบเรียงเอง และอ้างอิงเนื้อหาจากแหล่งอื่น
4.การคัดเลือกข่าว การคัดเลือกหัวข้อข่าวเพื่อนำเสนอบนเว็บไซต์ในหน้าแรกนั้นจะเลือกหัวข้อข่าวที่กำลังเป็นที่สนใจของสังคม หัวข้อข่าวเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ และมีหัวข้อข่าวการเมืองและสังคม ซึ่งแต่ละองค์กรจะให้ความสำคัญของหัวข้อข่าวแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน สำหรับหัวข้อข่าวอาชญากรรมจะถูกนำเสนอบนเว็บไซต์ในหน้าแรกน้อยที่สุด
5.บุคลากร สัดส่วนของบุคลากรในองค์กรระหว่างองค์กรผู้ผลิตสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ควบคู่กัน และผู้ผลิตสื่อออนไลน์เพียงอย่างเดียวมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับขนาดขององค์กรและรูปแบบของเนื้อหาที่นำเสนอบนสื่อต่างๆ สามารถแบ่งหน้าที่โดยใช้การทำงานเป็นหลักได้ดังนี้ คือ 1. บุคลากรที่ทำหน้าที่ดูแลเนื้อหาข่าวก่อนนำขึ้นบนเว็บไซต์ 2.บุคลากรทางด้านเทคนิค และ 3.บุคลากรนักข่าว
6.การส่งเสริม ทุกองค์กรเคยเป็นเจ้าภาพหรือเคยเข้าร่วมการจัดอบรม สัมมนา ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสายงานขององค์กร ส่วนใหญ่ในแต่ละปีแต่ละองค์กรจะมีงบประมาณเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีประสบการณ์และความชำนาญในสาขาวิชาชีพยิ่งขึ้น
7.ระบบโครงสร้างเทคโนโลยีในองค์กร การจัดอุปกรณ์ด้านทรัพยากรทางด้านฮาร์ดแวร์ขึ้นอยู่กับงบประมาณและการให้ความสำคัญของสื่อเทคโนโลยีของแต่ละองค์กร แต่ละองค์กรจะจัดทรัพยากรด้านฮาร์ดแวร์ไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับการความจำเป็นในการใช้คอมพิวเตอร์และความสำคัญในแต่ละหน้าที่ของบุคลากร เช่น การจัดเครื่องคอมพิวเตอร์ไว้ให้บางตำแหน่งเท่านั้น การเลือกใช้ทรัพยากรระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์จะเลือกใช้บริการของบริษัทที่ให้บริการโดยทั่วไปเช่น เครือข่ายทรีบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต เครือข่ายของบริษัททีโอทีจำกัด (มหาชน)
เครือข่ายของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) ในส่วนการพัฒนาและออกแบบเว็บไซต์เองโดยส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรสื่อทางเลือกฯซึ่งค่อนข้างจะมีความพร้อมในด้านปัจจัยเทคโนโลยี เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ระบบ ฯลฯ แต่ในทางกลับกันองค์กรสื่อหนังสือพิมพ์ที่ไม่ได้พัฒนาหรือออกแบบเว็บไซต์เองจะมีปัจจัยทางด้านเทคโนโลยีน้อย
8. ข้อคิดเห็นอื่นๆ ของกลุ่มองค์กร จากปัญหาและความต้องการขององค์กรสื่อทั้งสองกลุ่มสามารถสรุปได้ว่าองค์กรสื่อหนังสือพิมพ์ฯ มีปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะตำแหน่งมากที่สุด ส่วนองค์กรสื่อทางเลือกฯ จะประสบกับปัญหาของงบประมาณหมุนเวียนภายในองค์กรมากที่สุด แต่องค์กรทั้งสองกลุ่มก็มีแนวคิดในการพัฒนาเว็บไซต์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ต้องการให้เว็บไซต์ขององค์กรยังคงมีอยู่ และต้องการให้มีการพัฒนาต่อไป
ข้อเสนอแนะ
1.จากผลการวิจัยพบว่าเว็บไซต์ขององค์กรสื่อทั้งสองกลุ่มยังขาดคุณลักษณะตรงกาลซึ่งเป็นคุณลักษณะหนึ่งที่สำคัญของความเป็นข่าวออนไลน์ และถือเป็นสิ่งที่ทำให้สื่อออนไลน์แตกต่างกับสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์มีความพิเศษกว่าสื่อหนังสือพิมพ์ที่ไร้ข้อจำกัดในด้านเวลาและสถานที่ การพัฒนาให้เว็บไซต์มีคุณลักษณะตรงกาลทำได้โดยลดระยะเวลาของกระบวนการดังกล่าว ดังนี้
- องค์กรควรมีการกำหนดสิทธิให้กับนักข่าวเพื่อให้นักข่าวสามารถนำเนื้อหาข่าวขึ้นบนเว็บไซต์ได้เองโดยไม่ต้องส่งผ่านบรรณาธิการหรือผู้พัฒนาเว็บไซต์
- ผู้พัฒนาเว็บไซต์ควรทำช่องทางที่ง่ายสำหรับการนำเนื้อหาข่าวขึ้นบนเว็บไซต์ 
- องค์กรควรจัดอบรมทักษะการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และการนำข่าวขึ้นบนเว็บไซต์ให้กับนักข่าวและผู้ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้หากเป็นองค์กรสื่อหนังสือพิมพ์ฯ ที่ต้องนำเนื้อหาดังกล่าวตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์อาจมีการเรียบเรียงที่ต่างจากเว็บไซต์ หรือกำหนดความยาวเพื่อแสดงรายละเอียดของเนื้อข่าวที่แตกต่างกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ผู้บริโภคหันไปติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์เพียงอย่างเดียวอันเป็นเหตุให้ยอดจำหน่ายสื่อหนังสือพิมพ์ลดลง
2.เว็บไซต์ขององค์กรควรเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าชมมากขึ้นโดยใช้สังคมออนไลน์ซึ่งทำให้ผู้ใช้สังคมออนไลน์สามารถติดตามข่าวสารและส่งต่อข่าวสารนั้นไปให้ยังสมาชิกในเครือข่ายได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งควรเพิ่มความเป็นมัลติมีเดียเพื่อให้เว็บไซต์ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
3.เนื่องจากผลการวิจัยในด้านอุปสรรคของสื่อออนไลน์พบว่าองค์กรสื่อทางเลือกฯมีอุปสรรคในด้านผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายในท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่มีทักษะในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมากที่สุด เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ดังนั้นการขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับองค์กรสื่อทางเลือกฯ
แต่ควรคำนึงถึงพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญ เพื่อที่จะสามารถออกแบบและนำเสนอเนื้อหาได้ตรงความต้องการมากที่สุด เช่น การจัดทำหมวดหมู่เว็บไซต์อื่นๆ ไว้ในเว็บไซต์ขององค์กรโดยมีลักษณะเป็นเว็บท่า (Web portal), การอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าวอื่นของเว็บไซต์ต่างๆ จะทำให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ได้รับชมสื่อจากหลายๆแหล่งโดยไม่ต้องเปลี่ยนหน้าเว็บไซต์
4.การตอบสนองของผู้บริโภคสื่อออนไลน์ขององค์กรสื่อหนังสือพิมพ์ฯ อยู่ในระดับปานกลาง แสดงให้เห็นว่าการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายขององค์กรยังไม่ทั่วถึง ทั้งนี้อาจมาจากปัจจัยหลายประการทั้งด้านปัจจัยของผู้บริโภค เช่น พฤติกรรมของผู้บริโภค ทักษะและความรู้ในการใช้งานเทคโนโลยีของผู้บริโภค องค์กรอาจต้องมีกลยุทธ์ในการพัฒนาเว็บไซต์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมาย และขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่าย อีกหนึ่งกรณีที่ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตคือผู้บริโภคที่มีความรู้ความเข้าใจและการใช้งานในเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตหันไปบริโภคข่าวจากเว็บไซต์สื่อกระแสหลักและหนังสือพิมพ์ส่วนกลางมากกว่าบริโภคข่าวจากองค์กรสื่อในพื้นที่ ดังนั้นองค์กรผู้ผลิตควรจะปรับเว็บไซต์ให้มีความน่าสนใจ เช่น การจัดทำหมวดหมู่เว็บไซต์อื่นๆไว้ในเว็บไซต์ขององค์กรโดยมีลักษณะเป็นเว็บท่า (Web portal) เพิ่มเติมข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น
5. การรวมกลุ่มกันของสื่อทางเลือกฯในท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งขึ้น วัตถุประสงค์ของการรวมกลุ่มกันเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับกลุ่มและมีพลังในการเสนอความคิดเห็น เสนอนโยบาย ข้อต่อรองต่อกลุ่มองค์กรหรือสมาคมสื่อสารมวลชนที่เป็นส่วนกลางในระดับประเทศซึ่งอาจส่งผลให้ลดปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนงบประมาณหมุนเวียนภายในองค์กร ทำให้สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการพัฒนาองค์กรไปได้โดยไม่หยุดชะงัก