Skip to main content




ไชยยงค์ มณีพิลึก
 

         
“โอไอซี” หรือองค์การการประชุมอิสลาม (Organisation of The Islamic Conference : OIC) หรือเรียกง่ายๆ ว่า "องค์กรมุสลิมโลก" ที่มีสมาชิกจากชาติมุสลิม 57 ประเทศ มีกำหนดการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกประจำปี 2552 ซึ่งเป็นครั้งที่ 36 ที่กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย ระหว่างวันที่ 23-25 พ.ค.นี้

 
          การประชุมโอไอซีทุกครั้ง มักเป็นที่จับตามองของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกับประเทศที่มีปัญหาการก่อการร้ายจากคนมุสลิม เพราะกลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่มพยายามเคลื่อนไหวเพื่อหวังยกระดับตัวเองโดยใช้โอไอซี ให้เป็นประโยชน์

          เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จาก ขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน หน่วยงานความมั่นคงของบ้านเราและรัฐบาลไทยจึงสนใจท่าทีของโอไอซีมาโดยตลอด เพราะจากหลักฐานที่หน่วยข่าวความมั่นคงได้มาก็คือขบวนการแบ่งแยกดินแดนพยายามส่งข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ ถึงองค์กรมุสลิมโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่ออ้างให้เห็นว่าคนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ

          ล่าสุดประเด็นที่ชาวมุสลิม 6 คนถูกสังหารในพื้นที่ ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา คือสารล่าสุดที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนพยายามส่งถึงโอไอซีเพื่อกล่าวหารัฐบาลไทยว่าใช้ความรุนแรงกับคนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (เป็นเพียงข้อกล่าวหาที่ไม่มีการพิสูจน์เท่านั้น)

          สำหรับประเทศไทยนั้นไม่ได้เป็นสมาชิกของโอไอซี แต่ในฐานะที่มีชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไทยจึงได้สิทธิในการส่งตัวแทนจากรัฐบาลให้เข้าสังเกตการณ์การประชุมโอไอซีได้ ซึ่งการประชุมในปีนี้รัฐบาลก็จะส่งตัวแทนเข้าไปสังเกตการณ์เหมือนทุกครั้ง

          และแม้ว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อโอไอซีตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะยังไม่เห็นผลมากนัก เพราะโอไอซี ยังไม่ยอมรับสถานะของขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่รายงานเกี่ยวกับความรุนแรงต่อชาวมุสลิมที่โอไอซีรับทราบอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์กรือเซะ (เหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547) เหตุการณ์ตากใบ (การสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อเดือน ต.ค.2547) ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ โอไอซี เคลือบแคลงรัฐบาลไทยมาโดยตลอด

          แม้รัฐบาลไทยจะดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศด้วยการเชิญเลขาธิการและคณะกรรมการของ โอไอซี มาเยือนประเทศไทยเพื่อดูข้อเท็จจริงและให้เห็นความเป็นอยู่ของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามในประเทศไทยเมื่อปี 2550 ตลอดจนชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางทางการทูต จนทำให้รัฐบาลไทยมั่นใจว่า โอไอซี น่าจะเข้าใจสถานการณ์ดีขึ้น และเชื่อมั่นว่าท่าทีของโอไอซีจะไม่ส่งผลกระทบต่อไทย

          แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นรัฐบาลไทยก็ยังคงต้องติดตามความเคลื่อนไหวของทั้งขบวนการแบ่งแยกดินแดนและโอไอซีต่อไป เพราะนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา การเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีฐานที่มั่นในประเทศ ที่สามได้เดินเกมนอกประเทศอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะขบวนการพูโล และเบอร์ซาตู

          ที่สำคัญขบวนการเหล่านี้นอกจากจะเคลื่อนไหวผ่านโอไอซีแล้ว ยังพยายามเคลื่อนไหวในเวทีสหประชาชาติหรือยูเอ็นอย่างต่อเนื่องด้วย โดยใช้ปมการละเมิดสิทธิมนุษยชนสร้างความชอบธรรม

          ทั้งหมดแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนมียุทธวิธีเคลื่อนไหวทั้งในประเทศและในเวทีระดับสากล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการยกระดับของกลุ่มขบวนการ และก้าวไปสู่การแบ่งแยกดินแดนหรือจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ

          ท้ายที่สุดจึงอยู่ที่หน่วยงานของรัฐไทยว่าจะมีวิธีการอย่างไรที่จะ "ดับฝัน" ของขบวนการให้ได้ และตีกรอบปัญหาการก่อความไม่สงบให้จำกัดเพียง "ปัญหาภายใน" ของบ้านเราเท่านั้น