สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
หลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
สถานการณ์ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 มีแนวโน้มสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ลักษณะของเหตุการณ์ กล่าวโดยภาพรวม สถานการณ์ในช่วงแปดเดือนแรกของปีนี้มีลักษณะขึ้นๆลงๆ ยังคงรักษาระดับของความรุนแรงโดยเกิดเหตุการณ์ยิงและระเบิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสิ้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมาสถิติความรุนแรงเกิดขึ้นในระดับสูงมากถึง 286 ครั้ง ดังนั้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจึงนับเป็นเดือนที่มีระดับความรุนแรงสูงสุดในรอบปี พ.ศ. 2549 เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าในรอบ 32 เดือนนับตั้งแต่ต้นปี 2547 มีคลื่นสูงสุดของความรุนแรงเกิดขึ้นในภาคใต้สามครั้ง กล่าวคือเดือนพฤษภาคม ปี 2548 เป็นเดือนที่มีสถิติการก่อเหตุในพื้นที่สูงสุดจำนวน 345 ครั้ง ส่วนในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมานี้เกิดเหตุการณ์สูงสุดเป็นลำดับสองจำนวน 286 ครั้ง และเดือนเมษายน พ.ศ. 2547 เกิดเหตุการณ์สูงถึง 266 ครั้ง
อย่างไรก็ดี ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้นในช่วงต้นเดือนกันยายนซึ่งเป็นเดือนที่เก้าของปีนี้ จุดสูงสุดที่เป็นสัญญานของความเลวร้ายของเหตุการณ์ในช่วงนั้นก็คือการวางระเบิดที่กลางเมืองหาดใหญ่ในวันที่ 16 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วประเทศ สะท้อนภาพในแง่ของความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหาภาคใต้และยังส่อเค้าว่าเหตุการณ์ความรุนแรงจะบานปลายขยายตัวออกไปสู่พื้นที่อื่นๆของประเทศ จนกระทั่ง 3 วันต่อมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลประชาธิปไตยของ พ. ต. ท. ทักษิณ ชินวัตร และยกเลิกรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศไทยฉบับ ปี พ.ศ. 2540 พร้อมทั้งยุติกระบวนการการเมืองแบบประชาธิปไตยในประเทศไทยที่ยาวนานมากว่า 15 ปี ข้ออ้างที่สำคัญของการยึดอำนาจก็คือการปกครองของรัฐบาลทักษิณก่อให้เกิดการแตกแยกและคอรัปชั่น แต่นัยความหมายของการยึดอำนาจครั้งนี้ที่ไม่ได้พูดอย่างเปิดเผยก็คือความล้มเหลวของรัฐบาลทักษิณในการแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ในรอบสองปีกว่าที่ผ่านมา
หลังจากการยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายนแล้ว คำถามทางการเมืองที่ตามมาก็คือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและระบอบการปกครองนั้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายในเรื่องภาคใต้หรือไม่และการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระดับของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ ?
กล่าวโดยภาพรวม เหตุการณ์ความไม่สงบซึ่งเกิดขึ้นในภาคใต้ช่วงเดือนกันยายนอันเป็นเดือนที่เกิดการรัฐประหารมีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเหตุการณ์ในเดือนสิงหาคมเกิดขึ้นจำนวน 286 ครั้ง ในขณะที่เดือนกันยายนเกิดเหตุการณ์จำนวน 86 ครั้งและเดือนตุลาคมเกิดเหตุการณ์ (1-23 ตุลาคม) จำนวน 83 ครั้ง เดือนกันยายนและตุลาคมจึงเป็นเดือนที่นับว่าเกิดเหตุการณ์ค่อนข้างต่ำใกล้เคียงกับเดือนกรกฎาคม อาจจะถือได้ว่าเป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์ต่ำในรอบ 10 เดือนของปี พ.ศ. 2549 นี้ อย่างไรก็ดี เรายังไม่อาจจะสรุปได้อย่างชัดเจนถึงเหตุการณ์ในเดือนตุลาคมเพราะสถิติที่เกิดขึ้นยังไม่ครบเดือน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากตัวแปรอีกตัวหนึ่งก็คือช่วงเหตุการณ์ในเดือนรอมฏอนซึ่งสถิติแสดงให้เห็นว่าทำให้มีแนวโน้มเหตุการณ์แรงมากขึ้น
เดือนรอมฏอนเป็นช่วงเวลาที่ประชาชาติมุสลิมทั่วโลกถือศีลอด แต่ก็มักจะเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นระดับสูงในสังคมที่มีความขัดแย้งทางชาติพันธ์และศาสนาหรือสงครามกลางเมือง ตัวอย่างเช่นสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน จะเกิดการโจมตีทางการทหารอย่างหนักในช่วงเดือนนี้ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยเหตุการณ์ความไม่สงบที่ปะทุขึ้นมาอย่างรุนแรงนับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบันมักจะเกิดความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือนรอมฏอน อย่างไรก็ดี ควรสนใจด้วยว่า แม้ว่าจะมีแนวโน้มการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือนรอมฏอน แต่สถิติในรอบ 2 ปี 10 เดือนที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ความรุนแรงสูงสุดในภาคใต้มิได้เกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอน เช่นเหตุการณ์ที่สูงมากในเดือนพฤษภาคม 2548 เดือนเมษายน 2547 และเดือนสิงหาคม 2549 อาจจะกล่าวได้ว่าระดับของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะและตัวแปรอื่นๆในพื้นที่ในแต่ละห้วงเวลาด้วย
เมื่อเปรียบเทียบในรอบสามปี เกิดเหตุการณ์ค่อนข้างสูงในช่วงรอมฏอนระหว่างวันที่ 14 ตุลาคมถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 จำนวน 185 ครั้ง ในปีถัดมา เดือนรอมฏอนระหว่างวันที่ 5 ตุลาคม ถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น 126 ครั้ง ในปีปัจจุบันช่วงเดือนรอมฏอนระหว่างวันที่ 24 กันยายนถึง 24 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เกิดเหตุการณ์ขึ้น 108 ครั้ง จะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบเฉพาะช่วงเดือนรอมฏอนในรอบสามปี เดือนรอมฏอนของปี พ.ศ. 2547 เป็นเดือนที่เกิดเหตุมากที่สุด รองลงมาคือปี พ.ศ. 2548 และปี พ.ศ. 2549 ซึ่งแม้จะเกิดเหตุความรุนแรงมากแต่ก็น้อยกว่าสองปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ในช่วงรอมฏอนของปี พ.ศ. 2549 นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 65 รายและบาดเจ็บ 86 ราย รวมจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 150 ราย ในจำนวนนี้ มีผู้เสียชีวิตที่นับถือศาสนาพุทธ 31 รายและนับถือศาสนาอิสลาม 33 ราย ผู้บาดเจ็บที่เป็นพุทธ 54 รายและนับถือศาสนาอิสลาม 32 ราย เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้จะเป็นช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิมและภาพลักษณ์โดยทั่วไปดูเหมือนกับว่าเหตุการณ์ความรุนแรงจะเป็นการพลีชีพทางศาสนา แต่ผู้เสียชีวิตที่เป็นคนพุทธก็กลับมีจำนวนน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบกับคนมุสลิม
สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้มีเงื่อนไขและปัจจัยประกอบในการอธิบายหลายอย่าง เหตุการณ์ในช่วงเดือนรอมฏอนปี พ.ศ. 2547 ที่มีความรุนแรงสูงสุดเป็นผลจากตัวแปรในเรื่องนโยบายของรัฐที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในกรณีตากใบเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ปฏิบัติการที่ผิดพลาดทางการทหารในการปราบปรามและจับกุมผู้ก่อเหตุประท้วงทำให้เกิดการตายหมู่ของผู้ต้องหาเป็นจำนวนมากกว่า 60 ชีวิต ความเสียหายดังกล่าวมีผลตามมาทำให้กรณีความรุนแรงเกิดขึ้นสูงมากในช่วงเวลาดังกล่าวเพราะความโกรธแค้นต่อนโยบายและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในปีถัดมาการที่รัฐมีนโยบายการเมืองนำการทหารมากขึ้นรวมทั้งนำเอานโยบายสมานฉันท์มาใช้ก็ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงอยู่ในระดับคงที่และมีความมั่นคงมากขึ้นกว่าเดิม ในปี พ.ศ. 2549 เหตุการณ์ในช่วงรอมฏอนเกิดขึ้นภายหลังจากการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากรัฐบาลทักษิณมาเป็นคณะผู้นำชุดใหม่ที่มีฐานมาจากคณะทหารซึ่งกลับมีท่าทีประนีประนอมและเปิดกว้างในด้านนโยบายภาคใต้มากกว่ารัฐบาลพลเรือน เช่นการเปิดท่าทีการเจรจากับกลุ่มแยกดินแดน การปรับใช้โครงสร้างใหม่ของ ศอ. บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจัยเหล่านี้น่าจะเป็นผลบวกทำให้ “ลดเงื่อนไข” ของความรุนแรงลงไปได้ระดับหนึ่ง จึงนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างของสถานการณ์ในพื้นที่ที่แม้จะยังคงมีความรุนแรงและการโจมตีต่อเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง แต่ระดับทั่วไปของความรุนแรงก็ส่อเค้าว่าอาจจะมีแนวโน้มลดลง
ประเด็นก็คือว่า การรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในภาคใต้อย่างไร? เพื่อจะตอบคำถามนี้จะต้องพิจารณาความต่อเนื่องของเหตุการณ์ในพื้นที่ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการรัฐประหาร ความรุนแรงของเหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งประกอบไปด้วยเหตุการณ์ในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส รวมทั้งบางส่วนของจังหวัดสงขลาที่ติดกับจังหวัดปัตตานี ทำให้เกิดผลกระทบต่อสถานการณ์ทางการเมืองระดับประเทศ เหตุการณ์ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงสูงสุดจนต่อเนื่องมาถึงต้นเดือนกันยายนดังที่ได้กล่าวไปแล้ว หลังจากการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายนสถานการณ์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลง
ผลกระทบของการยึดอำนาจต่อสถานการณ์ภาคใต้จะเห็นได้จากเหตุการณ์ในช่วงวันที่ 19-24 กันยายนซึ่งเกิดเหตุความไม่สงบขึ้นเพียง 3 ครั้งในรอบ 6 วันเป็นการทิ้งช่วงอย่างน่าสังเกต หลังจากนั้นในวันที่ 25 กันยายนเหตุความไม่สงบรายวันก็ดูเหมือนว่าจะเริ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง เหตุปัจจัยแทรกอีกตัวหนึ่งที่มีอิทธิพลในช่วงนี้ก็คือการเริ่มต้นของเดือนรอมฏอนซึ่งทำให้เกิดเหตุเพิ่มขึ้นวันละประมาณ 4 เหตุการณ์ จนถึงระดับที่สูงขึ้นโดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคมซึ่งเป็นช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฏอน เดือนถือศิลอดจึงน่าจะเป็นเหตุปัจจัยอธิบายการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ได้อีกตัวแปรหนึ่ง กล่าวโดยสรุป หากจะนับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉลี่ยตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนถึงวันที่ 24 กันยายน จะเกิดเหตุการณ์โดยเฉลี่ยวันละ 2 เหตุการณ์ แต่นับจากวันที่ 25 กันยายนจนถึง 23 ตุลาคม (หลังรอมฏอน) เหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยวันละ 4 เหตุการณ์
ภาพของการเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์หลังการรัฐประหารอาจจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นโดยพิจารณาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกรอบ 7 วันนับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2549 เป็นต้นมา สัปดาห์แรกระหว่าง 1-7 กันยายนเกิดเหตุขึ้น 16 ครั้ง สัปดาห์ที่สองระหว่าง 8-14 กันยายนเหตุการณ์รุนแรงเพิ่มระดับเป็น 27 ครั้ง สัปดาห์ที่ 15-21 กันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐประหาร สถานการณ์ในพื้นที่ลดลงเกิดเหตุ 17 ครั้ง สัปดาห์ที่ 22-27 กันยายน เหคุการณ์ยังลดลงเหลือ 13 ครั้ง นับตั้งแต่สัปดาห์ที่ 28 กันยายนถึง 4 ตุลาคมซึ่งเป็นช่วงเข้าเดือนรอมฏอนเหตุการณ์ความไม่สงบขยับเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดสังเกต ตั้งแต่ 22 จนถึง 27 ครั้งในสัปดาห์ที่ 12-18 ตุลาคม และในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนรอมฏอนเหตุการณ์ความไม่สงบก็ลดลงเล็กน้อยในระดับ 23 ครั้ง จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบลดลงระดับหนึ่งในช่วงสัปดาห์ที่สามและสี่ของเดือนกันยายนอันเป็นผลจากสถานการณ์รัฐประหาร แต่ก็ขยับสูงขึ้นอีกหลังจากช่วงเดือนรอมฏอน
เมื่อดูจากสถานการณ์โดยรวมอาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายนมีผลกระทบในระดับหนึ่งในแง่ที่ทำให้ความรุนแรงในพื้นที่ลดลงโดยเฉพาะในสัปดาห์แรกที่เกิดการรัฐประหาร สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในช่วงเดือนรอมฏอนด้วย ด้วยข้อสมมุติฐานที่ว่า แม้ในช่วงเดือนรอมฏอนจะเกิดเหตุความไม่สงบเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเกิดเหตุวันละ 4 เหตุการณ์จากวันละ 2 เหตุการณ์ในช่วงต้นเดือน แต่เมื่อดูจากภาพรวมของเหตุการณ์ตลอดช่วงเดือนรอมฏอนของปีนี้ เหตุการณ์ความไม่สงบก็ยังน้อยกว่าในช่วงเดือนรอมฏอนของปีที่แล้ว
ตัวอย่างเช่นในปี 2548 ช่วงเดือนรอมฏอนเกิดเหตุการณ์ 126 ครั้ง ในขณะที่ปี 2549 เกิดเหตุการณ์ขึ้นประมาณ 108 ครั้ง ความแตกต่างที่เกิดขึ้นดังกล่าวกล่าวอาจจะมีนัยสำคัญในแง่การเปิดหนทางไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐเพื่อความสมานฉันท์และการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสันติวิธี แต่ทั้งนี้สถานการณ์โดยทั่วไปก็ยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่อาจจะเกิดความผันแปรได้ง่าย ความตึงเครียด ความหวาดกลัวและความหวาดระแวงยังเกิดขึ้นโดยทั่วไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ผู้กำหนดนโยบายต้องเรียนรู้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ทุกอย่างเป็นทั้งสัญลักษณ์ที่ต้องตีความและเป็นสัญญาณที่ส่งต่อความหมายบางอย่างมายังผู้ปกครองและคนไทยทั้งประเทศ รัฐบาลชุดที่ผ่านมาล้มเหลวในการรับสื่อความหมายเหล่านี้มานานนับปี อย่าให้ความล้มเหลวเช่นนี้เกิดขึ้นอีก จนกว่าจะถึงวันที่แก้ไขอะไรไม่ได้