Skip to main content
 
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
 
 
หมายเหตุ:‘นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557’ ตามที่มีเนื้อหาข้างล่างนี้ถือเป็นเข็มทิศที่จะชี้ภาพใหญ่ของแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ของภาครัฐต่อจากนี้ ไม่เพียงแต่จะมีความโดดเด่นที่กระบวนการจัดทำซึ่งพยายามระดมการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ตลอดจนการพิจารณารากเหง้าและเงื่อนไขของความรุนแรงอย่างตรงไปตรงมาแล้ว นโยบายดังกล่าวยังได้เน้นไปที่การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง โดยส่งเสริมให้มีการสนทนาถกเถียงถึงแนวทางการกระจายอำนาจที่เหมาะสม อันสอดคล้องกับความเป็นพหุสังคม รัฐธรรมนูญ และหลักสากล อีกทั้งยังส่งเสริมการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับผู้ที่คิดเห็นต่างและใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ บนฐานคิดที่มองว่าพวกเขาเหล่านั้นว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียสำคัญ
 
นโยบายดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ซึ่งเพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยกำลังอยู่ในระหว่างเสนอให้ทางรัฐสภาพิจารณาเพื่อรับทราบ
 

 

 
นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
พ.ศ. 2555 – 2557
 
---------------------------
 
1. ความนำ
 
         นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นนโยบายระดับชาติที่จัดทำขึ้นตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 มาตรา 4 ที่กำหนดให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติจัดทำนโยบายดังกล่าว เสนอต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ และให้คณะรัฐมนตรีนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบ แล้วให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง รวมทั้งให้เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาทบทวนและปรับปรุงนโยบายทุกรอบระยะเวลา 3 ปี หรือในกรณีที่มีความจำเป็น คณะรัฐมนตรีจะกำหนดระยะเวลาให้เร็วกว่านั้นก็ได้ โดยได้กำหนดว่า เนื้อหาของนโยบายต้องครอบคลุมอย่างน้อยในด้านการพัฒนาและด้านความมั่นคง และกระบวนการจัดทำนโยบาย ต้องนำความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน และสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ได้มาซึ่งนโยบายที่มาจาก ความต้องการและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน ศาสนา วัฒนธรรม อัตลักษณ์   ชาติพันธุ์ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
         การจัดทำนโยบายดังกล่าว สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติจึงให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ครอบคลุม ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้ประมวลข้อมูลผ่านการรับฟังข้อมูล การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ปัญหาและแนวทางการแก้ไขจาก 1) การประสานงาน ติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในส่วนกลาง และในพื้นที่ 2) การรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อมูลเชิงลึก และข้อคิดเห็นจากการจัดประชุมเฉพาะกลุ่มกับหน่วยงานภาครัฐ และภาควิชาการที่มีองค์ความรู้ ผลงาน และติดตามสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนกลาง และในพื้นที่ รวมทั้งการรับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ติดตาม เร่งรัด ประเมินผล การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา 3) การรวบรวมข้อมูล และข้อคิดเห็นจากภาคประชาชนทั้งชาวไทยมุสลิมและชาวไทยพุทธ ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน ภาคสตรีและเยาวชน รวมทั้ง กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบ โดยผ่านกระบวนการวิจัย การจัดการประชุมสัมมนา และการพูดคุยเฉพาะกลุ่ม 4) การรับฟังความคิดเห็นจากคนไทยมุสลิมในต่างประเทศ และ 5) การรับฟังความคิดเห็นจากสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้       
 
นโยบายฉบับนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่เป็นรากเหง้าควบคู่ไปกับปัญหาที่เป็นปรากฏการณ์ โดยมุ่งขจัดเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรงทุกระดับด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และสร้างสภาวะแวดล้อมที่พร้อมและเอื้อต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยการกระจายอำนาจที่เหมาะสมต่อการอยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของความหลากหลายในความเป็นพหุสังคมของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
2.   สถานการณ์ในภาพรวม  
        
         สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงมาโดยต่อเนื่อง ความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีความเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายของภาครัฐในแต่ละห้วงเวลา และมีความเชื่อมโยงกับปัจจัยแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในพื้นที่และปัจจัยที่มาจากภายนอก
 
         อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่มีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ในระยะที่ผ่านมา ภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ ได้มีความพยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาตามกรอบนโยบายมาแล้วหลายฉบับ ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์และปัญหาความรุนแรงได้รับการแก้ไขไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่สถานการณ์ความรุนแรงก็ยังปรากฏอยู่ ความยืดเยื้อของปัญหาส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงแรงจูงใจของการใช้ความรุนแรงและผู้อยู่เบื้องหลังการใช้ความรุนแรง จากเดิมที่ส่วนใหญ่มาจากการกระทำของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มีอุดมการณ์ต่างจากรัฐ มาเป็นการก่อเหตุจากแรงจูงใจอื่นในสัดส่วนที่มากขึ้น โดยบางส่วนมีความเชื่อมโยงและเอื้อประโยชน์กับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ทั้งความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพล ความแค้นจากอารมณ์ของความเกลียดชัง และความแค้นจากเรื่องส่วนตัว ความรุนแรงยังส่งผลให้เกิดการขยายตัวของอำนาจมืดและธุรกิจผิดกฎหมาย ความบาดหมางของคนต่างศาสนารุนแรงขึ้น เกิดข้อจำกัดในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร และอาจมีการแทรกแซงจากภายนอกประเทศมากขึ้น
 
         นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมที่เป็นแรงผลักให้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมีแรงหนุนและมีความเข้มแข็งมากขึ้น ที่สำคัญคือ กระแสจากภายนอก เช่น กระแสท้องถิ่นนิยม กระแสการต่อสู้ด้วยแนวทางสุดโต่ง กระแสความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับโลกมุสลิม กระแสสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง  
 
         ภายใต้สภาวะแวดล้อมดังกล่าวนี้ ภาครัฐจึงจำเป็นต้องตระหนักและเรียนรู้ที่จะเข้าใจการเปลี่ยนแปลง ต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขเรื่องที่เป็นสาเหตุของปัญหา ต้องปรับทัศนคติและวิธีคิดในการบริหารจัดการ โดยให้ความสำคัญสูงสุดต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายบนพื้นฐานของความไว้วางใจและการให้เกียรติ เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศของการยอมรับและเห็นคุณค่าของกระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสร้างสรรค์ นำไปสู่สันติสุขอย่างยั่งยืน
 
3.   เงื่อนไขของการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
        
         ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันเป็นผลมาจากเงื่อนไขที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกัน ทั้งในระดับบุคคล ระดับโครงสร้าง และระดับวัฒนธรรม คือ
 
         เงื่อนไขระดับบุคคล ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก การใช้อำนาจการปกครองและการบริหารราชการโดยเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่ให้ความสำคัญน้อยเกินไปกับความละเอียดอ่อนของอัตลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ สิทธิประชาชน และการใช้อำนาจรัฐที่เกินขอบเขต ส่วนที่สอง การใช้ความรุนแรงโดยกลุ่มบุคคลที่มีความคิด ความเชื่อ และอุดมการณ์ต่างจากรัฐ ส่วนที่สาม การใช้ความรุนแรงอันมีมูลเหตุจูงใจจากความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพล อำนาจมืด และธุรกิจผิดกฎหมาย และ ส่วนที่สี่ การใช้ความรุนแรงอันมีเหตุความแค้นจากอารมณ์ของความเกลียดชัง และความแค้นจากเรื่องส่วนตัว 
 
         เงื่อนไขระดับโครงสร้าง คือ โครงสร้างการปกครองและการบริหารราชการ ถึงแม้จะมีการกระจายอำนาจแล้วก็ตาม แต่การสนองตอบกับลักษณะเฉพาะทางอัตลักษณ์ ความต้องการและความคาดหวังของประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐยังดำเนินการได้ไม่ทั่วถึง เนื่องจากมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกหลายประการเป็นข้อจำกัด นำมาซึ่งความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติ และขาดอำนาจในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเองอย่างแท้จริง อาทิ การพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพื้นที่ การศึกษาที่ไม่สามารถเอื้ออำนวยให้ประชาชนส่วนใหญ่มีพลังเอาชนะการท้าทายทางสังคมในรูปต่างๆ ทั้งทางโลกและทางธรรม
 
         เงื่อนไขระดับวัฒนธรรม ที่สำคัญ คือ ประชาชนมุสลิมมลายูในพื้นที่รู้สึกแปลกแยก ไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย เนื่องจากมีการรับรู้และสัมผัสได้ว่าอัตลักษณ์ของตนถูกกดทับจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่ไม่เข้าใจ หวาดระแวง และมีอคติ รวมถึงการไม่ยอมรับจากสังคมใหญ่ จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้คนในพื้นที่บางส่วนยอมรับหรือเห็นด้วยกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง และเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหยิบยกมาใช้เป็นข้ออ้างให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้เพื่อเป้าหมายของตนในนามของอัตลักษณ์มุสลิมมลายู  
 
4.   กรอบแนวคิดของนโยบาย
        
         การใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะ 8 ปีที่ผ่านมา ทำให้หน่วยงานของรัฐต้องวางน้ำหนักกับการแก้ปัญหาในเชิงปรากฏการณ์รายวันจนทำให้ขาดน้ำหนักในการแก้ไขปัญหาที่เป็นรากเหง้า รวมทั้งการดำเนินนโยบายในแต่ละส่วนมีความสัมพันธ์ส่งเสริมซึ่งกันและกันไม่เท่าที่ควร ดังนั้น เพื่อให้นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีทิศทางชัดเจนให้หน่วยงานรับผิดชอบนำไปใช้เป็นกรอบและแนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์รองรับที่สอดคล้องและสนับสนุนกัน จึงกำหนดกรอบแนวคิดของนโยบาย ดังต่อไปนี้
 
            4.1 การดำเนินนโยบายบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ภายใต้หลักยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
 
            4.2 การเปิดพื้นที่เพื่อร่วมกันแปรเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ด้วยความรุนแรงมาเป็นแนวทางการต่อสู้ด้วยสันติวิธี
   
            4.3 การสร้างสมดุลของโครงสร้างอำนาจการปกครองและการบริหารราชการระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ โดยการกระจายอำนาจภายใต้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และยึดหลักการบริหารจัดการบนพื้นฐานของความหลากหลายในความเป็นพหุสังคม 
 
            4.4 การเคารพสิทธิมนุษยชนและการยึดมั่นในหลักนิติรัฐและนิติธรรม การเห็นคุณค่าของความแตกต่างหลากหลาย การให้เกียรติอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ ตลอดจนการตระหนักและเคารพในกติการะหว่างประเทศ 
 
            4.5 การรับรู้และความเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริงว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาร่วมกันของสังคมไทย และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหามีความจำเป็น 
 
            4.6 การดำเนินนโยบายภายใต้กลไกที่ประสาน สอดคล้อง และส่งเสริมกันในทุกมิติอย่างสมดุล
 
5. วิสัยทัศน์
 
“ มุ่งให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัย ปราศจากเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรง มีสภาวะแวดล้อมที่พร้อมและเอื้อต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติทุกภาคส่วนมีความเข้าใจ ไว้วางใจ และมีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ
 
6. นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2555 – 2557)
 
6.1 วัตถุประสงค์
 
                        ข้อ 1 เพื่อให้สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัยและปกติสุข ภายใต้หลักยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”  
  
                        ข้อ 2 เพื่อขจัด และป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่หล่อเลี้ยงและเอื้อต่อการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย
 
                        ข้อ 3 เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ และฟื้นคืนความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกัน ให้เกิดความร่วมมือในการพร้อมเผชิญปัญหาร่วมกัน
 
                        ข้อ 4 เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่กระจายตัวอย่างเท่าเทียมในทุกระดับ ตรงกับความต้องการ ไม่ทำลายอัตลักษณ์ และวิถีชีวิตของประชาชน ตลอดจนมีผลต่อการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความมั่นคง
 
ข้อ 5 เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และสร้างความตระหนักในคุณค่าของการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม  
 
ข้อ 6 เพื่อให้สังคมไทยเกิดการรับรู้ มีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เป็นจริง และตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
ข้อ 7 เพื่อให้สังคมภายนอกประเทศให้การสนับสนุนและมีบทบาทเกื้อกูลการแก้ไขปัญหา
 
                        ข้อ 8 เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ
 
                        ข้อ เพื่อให้การดำเนินนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างมีระบบ มีเอกภาพ มีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและวางอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้าน
 
6.2 นโยบาย
 
วัตถุประสงค์ข้อที่ 1 เพื่อให้สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัยและปกติสุข ภายใต้หลักยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ  เข้าถึง  พัฒนา” และ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โดย
 
                        1) นำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักยึดในการจัดการความขัดแย้งและการสร้างความรัก ความสามัคคี ความสมานฉันท์ และความสงบสุขของประชาชน
 
            2) ดำรงนโยบายการเมืองนำการทหารและใช้พลังทางสังคมในการมุ่งปรับเปลี่ยนทัศนคติ วิธีคิดของทุกฝ่าย จากการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหามาสู่การยึดมั่น “แนวทางสันติวิธี” โดยไม่มองกลุ่มผู้เห็นต่างเป็นศัตรู และมุ่งปรับเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ของกลุ่มที่เลือกใช้ความรุนแรงมาเลือกใช้การต่อสู้ด้วยแนวทางสันติ แทนที่การมุ่งปรับความคิดความเชื่อในเชิงอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว
 
            3) ส่งเสริมมาตรการลดความหวาดระแวงและเพิ่มความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชน โดยให้ความสำคัญกับการคัดเลือกเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงที่มีทัศนคติ บุคลิกภาพ และพฤติกรรมในเชิงสันติ มีประวัติที่ดีงามในด้านการเคารพสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐให้อยู่ในกรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาทักษะการเผชิญหน้าความขัดแย้งด้วยสันติวิธีให้กับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างสม่ำเสมอตลอดจนเปิดพื้นที่เพื่อส่งเสริมการพูดคุยระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อรับฟังความเห็นข้อเสนอแนะในระดับชุมชนอย่างต่อเนื่องและรับไปดำเนินการให้เกิดผล
 
            4) เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานข่าวเชิงรุก เพื่อสกัดกั้นและทำลายปัจจัยสนับสนุนการก่อเหตุรุนแรง อาทิ การไหลเวียนเงินทุนของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง การลักลอบนำอาวุธและวัสดุที่นำมาใช้ประกอบระเบิด ทั้งจากพื้นที่ภายในประเทศและภายนอกประเทศ การประสานงานทางด้านการข่าวให้การแจ้งเตือนภัยเป็นไปอย่างทันเวลาและแม่นยำ การเสริมสร้างเครือข่ายงานข่าวภาคประชาชนให้เกิดผล ตลอดจนการขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการเฝ้าตรวจการเข้าออกของกลุ่มเป้าหมาย การพิสูจน์ทราบแหล่งพักพิงภายนอกประเทศ และการติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายจากภายนอกประเทศที่อาจมีส่วนสนับสนุน           กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
 
            5) พัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยชุมชน โดยให้มีการวางแผนร่วมกับชุมชนเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายการรักษาความปลอดภัยบนฐานของการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และให้ความสำคัญกับการปกป้องสถานที่เชิงสัญลักษณ์ ศาสนสถาน และศาสนบุคคลให้ปลอดพ้นจากการใช้ความรุนแรง
 
                        6) เร่งรัดการปราบปรามกลุ่มอำนาจอิทธิพลเถื่อนเพื่อขจัดปัญหาความรุนแรงที่แทรกซ้อน อันเกิดจากกลุ่มยาเสพติด กลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ และกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย โดยเน้นเป้าหมายผู้บงการและนายทุน รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ผิดกฎหมายเหล่านี้
 
วัตถุประสงค์ข้อที่ 2 เพื่อขจัด และป้องกันไม่ให้เกิดเงื่อนไขที่หล่อเลี้ยงและเอื้อต่อการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย โดย
 
            1) เพิ่มการให้ความสำคัญกับการแก้เงื่อนไขทางการเมืองและเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรม ด้วยการป้องกันไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลักมนุษยธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งขจัดเงื่อนไขและสาเหตุที่ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความรู้สึกไม่ไว้ใจและหวาดระแวงเจ้าหน้าที่รัฐ เกิดความรู้สึกแตกแยก หรือความไม่เท่าเทียม มีการปฏิบัติที่ประชาชนสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรมในระดับที่สามารถส่งผลต่อการสร้างความรู้สึกและบรรยากาศให้เห็นว่าทุกคนสามารถอยู่ในประเทศไทยได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีความสุขตามวิถีชีวิต อัตลักษณ์ ศาสนา และวัฒนธรรมของตน
 
            2) ส่งเสริมเจ้าหน้าที่รัฐให้มีความรู้ ความเข้าใจ และเห็นคุณค่าของวิถีชีวิต ศาสนา วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของพื้นที่อย่างแท้จริง ด้วยการจัดการฝึกอบรมด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐทุกฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และตระหนักในการยอมรับและเคารพคุณค่าของลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เพื่อขจัดและป้องกันเงื่อนไขใหม่ที่จะนำไปสู่ความรุนแรงได้
 
                        3) เร่งรัดการคลี่คลายเหตุการณ์ที่เป็นข้อสงสัยของประชาชนและต่างประเทศให้กระจ่างชัด โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในกระบวนการตรวจสอบค้นหาความจริง มีการเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ และนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว เพื่อขจัดวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด ปลดเงื่อนไขของความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม และการนำเหตุการณ์ดังกล่าวไปสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง
 
วัตถุประสงค์ข้อที่ 3 เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ และฟื้นคืนความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกัน ให้เกิดความร่วมมือในการพร้อมเผชิญปัญหาร่วมกัน โดย
 
                        1) สร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชนให้เป็นที่พึ่งของประชาชน โดยการขจัดเงื่อนไขความไม่ยุติธรรมทุกรูปแบบ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมทั้งทางหลักและทางเลือก พัฒนากลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ และมีความจริงจังต่อการสอบสวนลงโทษ ผู้ที่กระทำความผิดหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จัดระบบการคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความเข้าใจและความตระหนักให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติตามกฎหมาย และเคารพหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งพัฒนากฎหมายที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่  
 
                        2) ปรับปรุง พัฒนาระบบ และกระบวนการเยียวยาให้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยให้กระบวนการพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ไม่ล่าช้า และมีระบบตรวจสอบเพื่อป้องกันไม่ให้มีการแสวงและการเอื้อประโยชน์ของการเยียวยาจากทุกฝ่าย
 
                        3) เสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างประชาชนกับประชาชนให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติ พร้อมผนึกกำลังแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยเปิดพื้นที่การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับสถานการณ์ความเป็นจริงในพื้นที่ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติบนความแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะระหว่างเด็กและเยาวชนต่างศาสนา
 
วัตถุประสงค์ข้อที่ 4 เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่กระจายตัวอย่างเท่าเทียมในทุกระดับ ตรงกับความต้องการ ไม่ทำลายอัตลักษณ์ และวิถีชีวิตของประชาชน ตลอดจนมีผลต่อการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความมั่นคง โดย
 
               1) พัฒนาและเสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างยั่งยืน ด้วยการใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเอง มีรายได้ที่เพียงพอ มีมาตรฐานการครองชีพที่เท่าเทียมกับพื้นที่อื่นของประเทศ โดยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในทุกระดับ มีการกระจายแหล่งเงินทุนให้กับชุมชนผ่านระบบธนาคารและกลุ่มออมทรัพย์ที่ประชาชนเลือกใช้ และเน้นน้ำหนักโครงการที่มาจากการริเริ่มของประชาชนและชุมชน
 
               2)  ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา เพื่อการสร้างสมรรถนะในการประกอบวิชาชีพด้วยตนเอง และการเพิ่มโอกาสในการทำงาน ทั้งในพื้นที่ นอกพื้นที่ และในต่างประเทศ
 
               3) ส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในสาขาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนและต้นทุนทางสังคม และพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ทักษะ และศักยภาพในระดับสูง ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนของเอกชนที่สามารถรองรับบุคลากรในพื้นที่ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรเหล่านี้สามารถประกอบอาชีพในพื้นที่ได้อย่างมั่นคง และมีส่วนสำคัญในการนำความรู้ ความสามารถมาพัฒนาพื้นที่
 
               4)  เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติให้มีความสมดุลระหว่างการใช้เพื่อตอบสนองการพัฒนากับการรักษาให้ยั่งยืน โดยสนับสนุนและเพิ่มบทบาทของประชาชน ภาคประชาสังคม ชุมชน และองค์กรท้องถิ่นในการคุ้มครองดูแล การจัดสรรทรัพยากร และการฟื้นฟูทรัพยากร โดยเฉพาะพื้นที่ประมงชายฝั่ง ป่าชายเลนที่ราบลุ่ม และเขตป่า รวมทั้งการป้องกันกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามาใช้ทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม ตลอดจนการคุ้มครองสิทธิการครอบครองที่ดินที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้ความสำคัญลำดับต้นกับพื้นที่เสี่ยงภัย และชุมชนที่ถูกคุมคาม         
 
               5)  เร่งรัดให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบและกระบวนการศึกษาในทุกระดับที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของพื้นที่อย่างแท้จริง สามารถบูรณาการระบบการศึกษาและกระจายโอกาสทางการศึกษาได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างมีคุณภาพ พร้อมไปกับการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาในสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา และการรับรองสถานะที่มั่นคงของบุคลากรทางการศึกษาที่จบจากต่างประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนและสังคมให้เป็นพลังในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน
 
วัตถุประสงค์ข้อที่ 5 เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และสร้างความตระหนักในคุณค่าของการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม  โดย
 
            1) ให้การดำเนินวิถีชีวิต การปฏิบัติตามหลักศาสนาเป็นไปโดยไม่มีอุปสรรค ปรับทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง ปรับกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อเสรีภาพการดำเนินชีวิตตามหลักศาสนา และขจัดการเลือกปฏิบัติทางวัฒนธรรม โดยทุกฝ่ายต้องศึกษาทำความเข้าใจในคุณค่าของวิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่เป็นจุดแข็ง อาทิ ส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาให้กับคนในพื้นที่ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งกิจการทางศาสนาพุทธและวิถีไทยพุทธในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นพลังในการแก้ไขปัญหาให้สังคมมีความมั่นคงที่ยั่งยืน
 
            2)  เสริมสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดูแลและปกป้องทุกวิถีชีวิตและทุกศาสนา วัฒนธรรม เพื่อยกระดับและเสริมสร้างการเห็นคุณค่าของทุกศาสนาและวัฒนธรรมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ให้เป็นพลังสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่อย่างแท้จริง   
 
               3)  เสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่างให้เกิดการยอมรับและเห็นคุณค่าในการอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายโดยพัฒนาคนและสังคมบนพื้นฐานความหลากหลายของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม การส่งเสริมศาสนสัมพันธ์ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักศาสนา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความหลากหลายของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มบุคคลในสังคม เพื่อนำหลักคำสอนทางศาสนามาใช้ในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนนำหลักคำสอนมาใช้ในการดำรงชีวิตมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนเครือข่ายนักศึกษาในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และการสนับสนุน ส่งเสริมสตรีให้มีส่วนร่วม
ในครอบครัว ชุมชน และสังคมมากขึ้น เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่
 
               4)  ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทย ภาษามลายู ภาษามลายูถิ่น และภาษาต่างประเทศที่สำคัญในทุกระดับการศึกษา ให้เป็นเครื่องมือการสื่อสารเพื่อพัฒนาในทุกด้าน และเป็นศักยภาพสำคัญในการเตรียมความพร้อมรองรับการติดต่อสื่อสารและการสานสัมพันธ์กับโลกมลายู ในบริบทของประชาคมอาเซียน รวมทั้งภาษาอาหรับซึ่งเป็นจุดแข็งในพื้นที่และเป็นประโยชน์ในการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับโลกอาหรับ  
 
            5)  ส่งเสริมบทบาทของผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน นักการศึกษา สื่อมวลชน สตรี เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มพลังวัฒนธรรมของพหุสังคมในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหาในระดับชุมชน และพัฒนาเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง มีพลังในการจัดการความขัดแย้งในระดับชุมชน การลดการเผชิญหน้าระหว่างคนต่างศาสนาหรือต่างเชื้อชาติในชุมชน ตลอดจนเป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชน ระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยให้น้ำหนักกับการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของผู้นำศาสนาอย่างเป็นระบบ อาทิ การมีวิทยาลัยอิหม่าม การสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคมในชุมชนให้มีคุณภาพ และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
 
            6)  ส่งเสริมคุณค่าและการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมที่หลากหลายในพื้นที่ เพื่อให้สังคมไทยเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมและประชาชนในพื้นที่รู้สึกได้ถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย โดยเปิดพื้นที่ที่สะท้อนถึงการส่งเสริมวัฒนธรรมที่หลากหลายซึ่งประชาชนสามารถสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การปรับปรุงป้ายสัญลักษณ์ของทางราชการให้มีภาษาถิ่นอยู่ด้วย 
 
วัตถุประสงค์ข้อที่ 6 เพื่อให้สังคมไทยเกิดการรับรู้ มีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เป็นจริง และตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย
 
            1)  เสริมสร้างความเข้าใจกับสังคมไทย และผู้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อปรับทัศนคติและวิธีคิดให้เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันโดยสันติวิธี และตระหนักว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาร่วมกันของประเทศ
 
               2) เสริมสร้างช่องทางการสื่อสารสองทางผ่านมิติของงานปฏิบัติการข่าวสารและงานมวลชนสัมพันธ์ของรัฐ โดยใช้สื่อภาครัฐและความร่วมมือของสื่อเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันทางศาสนา ตลอดจนเวทีสาธารณะ เพื่อสื่อสารให้สังคมทั้งภายในและภายนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เป็นจริงและบริบทเฉพาะของพื้นที่ รวมทั้งการจัดการกับปัญหาตามหลักการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา รวมทั้งตามแนวทางสันติวิธี เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจและมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการสะท้อนความรู้สึกและข้อข้องใจต่างๆ ของประชาชนที่เกี่ยวโยงกับความผิดพลาดในนโยบายของรัฐ และการประพฤติปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ
 
                        3)  เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนบนพื้นฐานของความไว้วางใจซึ่งกันและกัโดยให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ภาควิชาการและภาคประชาสังคม ทั้งในและนอกพื้นที่ ได้มีส่วนร่วมในระดับที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายและการปฏิบัติอย่างแท้จริง ซึ่งรัฐต้องมีความจริงใจ รับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่ และนำมาดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง
 
วัตถุประสงค์ข้อที่ 7 เพื่อให้สังคมภายนอกประเทศให้การสนับสนุนและมีบทบาทเกื้อกูลการแก้ไขปัญหา โดย
 
            1) เพิ่มระดับการปฏิสัมพันธ์และเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหากับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศเพื่อให้สนับสนุนการแก้ไขปัญหา โดยเผยแพร่ข่าวสาร ส่งผ่านข้อมูลพัฒนาการของสถานการณ์ความเป็นจริง ตลอดจนความก้าวหน้าของการปฏิบัตินโยบายการแก้ไขปัญหา และการแก้ไขเรื่องที่เป็นข้อสงสัยของสังคมภายนอกประเทศอย่างทันเวลา ต่อเนื่อง ในโอกาสที่เหมาะสม ทั้งควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบทบาทของบุคคลที่ได้รับการยอมรับ และมีศักยภาพในการเข้าถึงประเทศ และองค์กรเป้าหมาย เพื่อช่วยการสื่อสารความเป็นจริงที่เกิดขึ้น อันเป็นการผนึกความสัมพันธ์ในการสนับสนุนและเกื้อกูลการแก้ไขปัญหา
 
               2)  ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ การดำเนินงานของรัฐบาล และการดำเนินการผ่านกรอบความร่วมมือต่างๆ
 
            3) เชื่อมโยงการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในพื้นที่กับสังคมมุสลิมภายนอกประเทศ โดยเฉพาะประชาคมอาเซียน ซึ่งมีวิถีชีวิตที่หลากหลายเพื่อให้คนในพื้นที่ได้มีโอกาสเรียนรู้เสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ และโลกทัศน์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และความสามารถในการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก พร้อมไปกับการส่งเสริมกิจการฮัจญ์ให้เป็นสื่อกลางในการติดต่อสัมพันธ์กับประเทศโลกมุสลิม และเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนความร่วมมือแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
วัตถุประสงค์ข้อที่ 8 เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ โดย
 
                        1)  ส่งเสริมการพูดคุยระหว่างกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้  ในเรื่องหลักการ  เป้าหมาย  และรูปแบบของการกระจายอำนาจที่เหมาะสมบนพื้นฐานความเป็นพหุสังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อยู่ภายใต้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นหลักสากลที่ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน โดยเปิดพื้นที่และสร้างสภาวะแวดล้อมที่มีความเชื่อมั่น และเป็นหลักประกันความปลอดภัยในเสรีภาพต่อการแสดงความคิดเห็นและพูดคุยของทุกกลุ่มอย่างรอบด้าน สะท้อนถึงข้อกังวลของประชาชนทุกชาติพันธุ์และศาสนา
 
                        2) ส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐที่เลือกใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพและเพิ่มความร่วมมือกับต่างประเทศ หรือองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ เพื่อสนับสนุนกระบวนการพูดคุยดังกล่าว
 
วัตถุประสงค์ข้อที่ 9 เพื่อให้การดำเนินนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างมีระบบ มีเอกภาพ มีประสิทธิภาพ มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และวางอยู่บนข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้าน โดย
 
                        1)  จัดให้มีกลไกและระบบบริหารจัดการนโยบายที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร โดยให้มีการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นนโยบาย จัดตั้งกลไกในรูปคณะกรรมการอำนวยการนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำหน้าที่อำนวยการการแก้ไขปัญหาและเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ มีการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ที่สำคัญรองรับ มีการจัดทำแผนงาน โครงการ และงบประมาณที่สอดคล้องกับกรอบนโยบาย มีระบบการติดตาม ตรวจสอบ และให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพของกระบวนการประเมินผลการดำเนินตามนโยบาย การใช้จ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จที่ชัดเจน
 
                        2)  เสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายสนับสนุนการดำเนินตามนโยบายที่ครอบคลุมพื้นที่และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยการให้ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน เครือข่ายสังคมออนไลน์ ทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สังคมไทยโดยรวม และสังคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศเพื่อนบ้าน ประชาคมอาเซียน และโลกมุสลิม เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายขยายผลจากกรอบนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่สามารถนำไปเชื่อมโยงกันได้ในแนวราบ มีช่องทางร้องเรียน ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของภาครัฐ รวมทั้ง มีการสนับสนุนงบประมาณเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับภาครัฐของภาคส่วนต่างๆ พร้อมไปกับส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสม ในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ และการสื่อสารกับคนในพื้นที่
 
                        3)  ส่งเสริม  พัฒนา  และใช้งานการศึกษาวิจัยทางวิชาการเพื่อประกอบ การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการสนับสนุนและผลักดันให้มีการศึกษาวิจัยสร้างองค์ความรู้ และกระบวนการเรียนรู้ พร้อมไปกับการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ดังกล่าวให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพปัญหา และภูมิสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นพลังสนับสนุนการจัดทำ พัฒนา ประเมินนโยบาย และการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ทั้งในระดับยุทธศาสตร์และระดับยุทธวิธีอย่างเป็นรูปธรรม
    
7. ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
 
            เพื่อให้การนำนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีความเป็นเอกภาพและมีการบูรณาการทำงานระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของนโยบาย จนทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัย สงบ สันติ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยที่จะนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
 
            1)  หน่วยงานของรัฐและข้าราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเข้าใจที่ตรงกันในปรัชญา ความคิด ทิศทางการแก้ไขปัญหาตามนโยบาย เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสนับสนุนซึ่งกันและกันและขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพภายใต้กรอบนโยบาย
 
            2)  ข้าราชการทุกหน่วยงานมีจิตสำนึกและความตระหนักในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ มีองค์ความรู้และการปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้าใจ เข้าถึง วิถีชีวิตของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยึดหลักการบริหารจัดการที่ดีได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ มีการบูรณาการทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมมีระบบการติดตามประเมินผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 
 
            3)  ทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้การยอมรับ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาตามนโยบาย เนื่องจากปัญหาจังหวัดชายแดนใต้มีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำนวนมากซึ่งต่างมีปัญหา ความต้องการ วิธีคิด และจุดยืนที่แตกต่างหลากหลาย การแก้ไขปัญหาที่ยึดหน่วยงานภาครัฐเป็นกลไกทำงานหลักเพียงภาคส่วนเดียว จึงไม่อาจบรรลุผลสำเร็จตามนโยบายได้โดยง่าย แต่ต้องใช้การร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะของภาคีเครือข่าย ทั้งในระดับนโยบาย ยุทธศาสตร์และระดับปฏิบัติอย่างกว้างขวางและหลากหลาย สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายของแต่ละประเด็นปัญหา  
 
            4)  มีการส่งสัญญาณในการสนับสนุนการดำเนินตามนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้จากรัฐบาลที่จริงจัง ชัดเจน และต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีความมั่นใจ มีเอกภาพทั้งความคิด ทิศทาง แนวทาง และการบริหารจัดการ พร้อมผนึกกำลังร่วมกันในการแก้ไขปัญหาตามนโยบาย      
 
---------------------------