Skip to main content
 
คดีสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนใต้
ประจำเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม พ.ศ. 2555
 
1.คดีนายรายู ดอฆอ  ศาลปกครองสงขลาสั่งให้กอรมน. จ่ายค่าชดใช้กรณีถูกทรมานทำร้ายร่างกาย
วันที่ 14 มีนาคม 2555 ศาลปกครองสงขลานัดฟังคำพิพากษาคดีนายรายู ดอคอ ผู้ฟ้องคดี ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางละเมิดต่อกระทรวงกลาโหม กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีถูกเจ้าหน้าที่ทหารค่ายวัดสวนธรรม อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส จับกุมและควบคุมตัว พร้อมกับอิหม่ามยะผา กาเซ็ง และถูกซ้อมทรมาน ด้วยวิธีการอันโหดร้าย จนเป็นเหตุให้นายรายูได้รับบาดเจ็บต่อร่างกายและจิตใจ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19-21 มีนาคม 2551 ต่อเนื่องกัน
ศาลปกครองสงขลาได้พิพาษาว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ทำร้ายร่างกายนายรายู ดอคอ จริง ตามผลการตรวจของแพทย์โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร และผลการตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของสภาเพื่อการฟื้นฟูผู้ถูกทรมานระหว่างประเทศ  จึงพิพากษาให้หน่วยงานรัฐชดใช้ค่าเสียหายต่อความทุกขเวทนาทางจิตใจ สิทธิเสรีภาพ ในร่างกาย  อนามัย และจิตใจ จากการที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม คุมขัง ทำร้ายร่างกาย ทรมาน ทารุณกรรม หรือลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายไร้มนุษยธรรม การนำไปแถลงข่าวทั้งที่ไม่ยินยอม โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ จำนวน 200,000 บาท  ค่าขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้ จำนวน 10,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนที่หน่วยงานรัฐต้องชดใช้ให้แก่นายรายู ดอคอ ทั้งสิ้น 246,621 .56 บาท
 
2.  กรณีนายมะลูซี มะตีเย๊าะ ยกฟ้องคดีสุดท้าย ฟ้องคดีอาญากลั่นแกล้งนักศึกษา 6 คดี
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555  ที่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชมีคำสั่งยกฟ้องคดีสุดท้ายของนายมะลูซี มะตีเย๊าะ อดีตนศ.มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ถูกฟ้องกลั่นแกล้ง คดีนี้แม้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงแต่เป็นคดีเกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่อัยการจังหวัดนครศรีธรรมราชฟ้องต่อนายมะลูซี   โดยคดีดังกล่าวมีจำเลยซึ่งเป็นคู่คดีของนายมะลูซี ได้ให้การในชั้นศาลว่าถูกตำรวจทำร้ายร่างกายเพื่อให้ทำการซัดทอดว่าไปรับยามาจากที่พักของนายมะลูซี และบังคับให้ชี้ภาพนายมะลูซี ด้วยเหตุนี้ใน ศาลนครศรีธรรมราชจึงได้มีคำพิพากษายกฟ้องนายมะลูซี โดยปราศจากข้อสงสัย  อย่างไรก็ตามชุดตำรวจที่เข้าจับกุมผู้ต้องหาคนแรกนั้นเป็นชุดเดียวกันกับที่จับนายมะลูซีในคดีอาญา 5 คดีแรกของศาลจ.นาทวี ซึ่งขณะนี้คดีทั้ง 5 ศาลได้มีคำสั่งยกฟ้องทั้งหมดแล้ว คดีทั้ง 6 คดีนายมะลูซี มะตีเย๊าะ ได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
นายมะลูซีถูกจับมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 ซึ่งในการถูกจับและดำเนินคดีครั้งนั้น พนักงานสอบสวนได้สอบสวนแล้วเสนอความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง  โดยได้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นไปให้พนักงานอัยการแล้วเนื่องจากผู้ต้องหาได้แสดงพยานหลักฐานที่ชัดแจ้ง สามารถหักล้างพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนจนเป็นที่พอใจ จนเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ต้องหาในคดีนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดทั้ง5 คดีดังกล่าว   พนักงานสอบสวนจึงได้มีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องและมีคำสั่งปล่อยตัวนายมะลูซี ไปเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2550  แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกือบปี  คือเมื่อเดือนมิถุนายน 2551 นายมะลูซี ได้ถูกจับ และต่อมาได้ถูกพนักงานอัยการกลับมีคำสั่งฟ้องนาย มะลูซี ทั้ง 5 คดี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2551 วันที่ 8 กรกฎาคม 2551 และวันที่ 12 กันยายน ปีพ.ศ. 2551 ตามลำดับ
ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนาทวีในวันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551 เพื่อขอให้ศาลไต่สวนมูลฟ้องกรณีที่พนักงานอัยการส่งฟ้องนายมะลูซี  มะตีเย๊าะ ในข้อหาหนักทั้ง 5 คดี ดังกล่าวศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ทำให้นายมะลูซี กลายเป็นจำเลยในคดีอาญาทั้งหมด 5 คดีโดยญาติไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว กระทั่งทนายความของจำเลยได้ขอเข้าพบหัวหน้าศาลจ.นาทวีเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการประกันตัว ทำให้นายมะลูซีได้รับการปล่อยชั่วคราวและกลับเข้าไปรับการศึกษาจนกระทั่งสำเร็จการศึกษา โดยมีรายละเอียดสถานะคดีอาญา 5 คดีของศาลจ.นาทวี ดังนี้
1. คดีดำที่ 1462/51 คดีแดงที่ 2366/54 ศาลจ.นาทวี มีคำพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2554 คดีนี้มีจำเลยสองคน นายมะลูซีศาลมีคำสั่งยกฟ้อง ส่วนจำเลยอีกราย (ไม่ทราบชื่อ) ศาลมีคำสั่งตัดสินตลอดชีวิต คดีอยู่ระหว่างการขยายระยะเวลาการอุทธรณ์ของอัยการ
2. คดีดำที่ 1463/51 คดีแดงที่ 673/53 ศาลจ.นาทวี มีคำพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2553 โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีถึงที่สุด
3. คดีดำที่ 1029/51 คดีแดงที่ 1470/53 ศาลจ.นาทวี มีคำพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 แม้ว่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 9 มีความเห็นแย้งว่าควรลงโทษ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น และวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกฟ้องเช่นเดียวกัน โจทก์ไม่ฎีกา คดีถึงที่สุด
4. คดีดำที่ 1464/51 คดีแดงที่ 2227/53 ศาลจ.นาทวี มีคำพิพากษายกฟ้อง วันที่ 27 ตุลาคม 2553 โจทก์อุทธรณ์ เมื่อวันที่ 11  กพ.54 ศาลอุทธรณ์่ยกฟ้อง และโจทก์ไม่ฎีกา คดีถึงที่สุด
5. คดีดำที่ 887/51 ศาลจ.นาทวี มีคำพิพากษายกฟ้อง วันที่ 30 ส.ค.2554 คดีนี้โจทก์ขอขยายอุทธรณ์
 
3.  คดีซ้อมทรมานนายซูลกิฟลี ซีกะ ศาลมีคำสั่งคุ้มครองผู้ถูกควบคุมตัวตามหมายฉฉ. และสั่งให้ตำรวจทหารทำรายงานส่งศาล
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 ทนายความของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาส กรณีนายซุลกิฟลี ซีกะ ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 วัดสวนธรรม เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 เวลาประมาน 10.00น. เจ้าหน้าที่ได้จับกุมและควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ไว้ที่กรมทหารพรานที่ 46 ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส และต่อมาได้ถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหารต่อจนกระทั่งญาติได้มาร้องให้ยุติการทรมานทำร้ายร่างกาย ญาติได้ติดตามไปเพื่อเยียมน้องชาย เจ้าหน้าที่ทหาร.ฉก.30  แจ้งว่าได้ส่งตัวไปที่ ค่ายทหารพราน ที่ 46 (เขาตันหยง) ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส  จึงได้ติดตามไปเยี่ยมทันที แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2555  ญาติได้เดินทางไปเยี่ยมและสังเกตุเห็นใบหน้าน้องชาย มีคราบเลือดติดอยู่บนคิ้วด้านซ้าย โดยระบุว่าถูกตีด้วยของแข็งและได้เล่าให้ฟังว่าเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตเปลี่ยนเสื้อผ้าไม่สามารถประกอบศาสนกิจ(ละหมาด) โดยนายซูลกิฟลีน้องชายอ้างว่าเจ้าหน้าที่บังคับให้รับสารภาพในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลายเหตุการณ์     
ศาลได้มีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้องเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์และและเห็นว่านายซุลกิฟลี ถูกควบคุมตามหมายจับที่ ฉฉ.15/2555 จึงมีคำสั่งให้ศูนย์พิทักษ์สันติจังหวัดยะลา และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรศรีสาคร ผู้ควบคุมตัวให้มาศาลในวันที่ 24กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 10.00น. โดยให้ผู้ควบคุมแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่า การควบคุมตัวเป็นการชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  กำหนดวันนัดไต่สวน ในวันที่24 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลได้สอบถามผู้ควบคุมตัวจากศูนย์พิทักษ์สันติจังหวัดยะลา ซึ่งได้มาแถลงต่อศาลว่าขณะนี้ได้ทำการปล่อยตัวนายซุลกิฟลีแล้ว โดยผู้ถูกควบคุมได้เข้าร่วมโครงการดะวะห์ตามโครงการของทหารทำให้ไม่สามารถนำตัวมาที่ศาลได้แต่เนื่องจากการควบคุมตัวของนายซุลกิฟลีเป็นการควบคุมตัวตามหมายพรก.ฉุกเฉิน ซึ่งประธานศาลฎีกาได้วางแนวไว้ตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องขอจับกุมและควบคุมตัวบุคคล ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ได้ประกาศ ณ วันที่ 1 มีนาคม 2554  โดยในคดีนี้ศาลจังหวัดนราธิวาสจึงได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งผู้บังคับบัญชาของศูนย์พิทักษ์สันติ จังหวัดยะลา เพื่อชี้แจงเรื่องนี้ให้ศาลทราบโดยเร็ว ส่วนทางฝ่ายผู้ควบคุมหรือหน่วย ฉก.30 นราธิวาส เป็นผู้ควบคุมตัวผู้ถูกควบคุมไปส่งที่ค่ายอิงคยุทธ จังหวัดปัตตานี แต่ไม่นำตัวมาศาล จึงให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยเฉพาะกิจที่ 30 นราธิวาสรายงานเรื่องนี้ต่อศาลเป็นหนังสือเช่นกัน ซึ่งเท่ากับว่าศาลจังหวัดนราธิวาสที่ใช้อำนาจหรือวางบทบาทในการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวเพื่อรวมกันแก้ไขปัญหาการซ้อมทรมานที่เกิดขึ้นระหว่างการควบคุมตัว
 
4.  ความคืบหน้ากรณีนายอาหามะ มะสีละถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิต คดีไต่สวนการตายและคดีแพ่ง
ในคดีแพ่ง  เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลจังหวัดยะลาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่สำคัญ คือ คดีหมายเลขแดงที่ 176/54 กรณีครอบครัวนายอาหามะ มะสีละเสียชีวิตจากการกระทำที่เกินกว่าเหตุโดยทหารนายหนึ่งยิงนายอาหามะเสียชีวิต มีคำพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารต่อศาลยุติธรรม   โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นและให้รับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา ญาติรอวันกำหนดนัดหมายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและค่าเสียหายทางแพ่งต่อการเสียชีวิตของนายอาหามะ มะสีลาต่อศาลจังหวัดยะลาต่อไป
ในวันที่ 4 สิงหาคม   2554   ศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณา โดยเห็นว่าเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือการกระทำอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง  ครอบครัวผู้เสียชีวิตไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม2554 และศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีดังกล่าวเป็นการกระทำในลักษณะเดียวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจในการยิงนายอาหามะ มะสีละ จนถึงแก่ความตายข้อพิพาทในคดีจึงเป็นคดีที่มิใช่คดีที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองแต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม การกระทำของเจ้าหน้าที่ฯ เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุอันเป็นเหตุให้นายอาหามะ มะสีละ เสียชีวิต และยังมีการให้ข่าวเผยแพร่ไปในทางสาธารณะว่านายอาหามะ  มะสีละ เป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่  ขณะที่ญาติยืนยันว่านายอาหามะมิได้ส่วนเกี่ยวข้องการก่อความไม่สงบ อีกทั้ง นายอาหามะ มะสีละ เป็นผู้ป่วยด้วยโรคร้ายแรงอาการอยู่ในระยะสุดท้าย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้สร้างความเศร้าเสียใจและความสูญเสียแก่ครอบครัวอย่างมาก
ในคดีไต่สวนการตาย วันที่ 5 มีนาคม 2555 ศาลจ.ยะลามีคำสั่งว่านายอาหามะ เสียชีวิตเนื่องจากถูกส.อ.สมเกียรติ อ่อนกลิ่น ยิงในขณะปฏิบัติหน้าที่ คู่ความสามารถขอคัดคำสั่งศาลฉบับเต็มได้ในวันที่ 20 มีนาคม 2555วันที่ 5 มีนาคม 2555 ที่ห้องพิจารณาคดี 5 ศาลจังหวัดยะลา นัดฟังคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายอาหามะ มะสีละ ที่ถูกทหารร้อย ร.15222 หน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 12 ยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2553 ที่หมู่ที่ 5 ตำบลจะกว๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา คดีหมายดำ ช.10/2553 ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดยะลา ผู้ร้อง กับนางอุงุง กูโน ผู้ร้องคัดค้าน ศาลอ่านคำสั่งสรุปว่า เวลาประมาณ 17.30 น. วันที่ 27  กรกฎาคม 2553 ทหารชุดลาดตระเวนของหน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 12 รวม 11 นาย มี จ.ส.อ.เสกสรรค์ จันทร์ศรีทอง เป็นหัวหน้าชุด ลาดตระเวนถึงหมู่ที่ 5 ตำบลจะกว๊ะ ซึ่งเป็นป่าสวนยางพารา พบผู้ชายประมาณ 3 - 4  คนยืนจับกลุ่มใต้ต้นใหญ่ จ.ส.อ.เสกสรรค์ จึงสั่งให้ปิดล้อมพื้นที่ ชายกลุ่มดังกล่าวรู้ตัวและวิ่งหนีไปคนละทิศทาง จ.ส.อ.เสกสรรค์ สั่งให้ ส.อ.สมเกียรติ อ่อนกลิ่น ไล่ติดตามชายคนหนึ่ง ซึ่งวิ่งหนี และชายดังกล่าวใช้ปืนยิงมาที่ ส.อ.สมเกียรติ 1 นัด แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ายิงไปทิศทางใด  คำสั่งสรุปว่า จากนั้น ส.อ.สมเกียรติ ใช้อาวุธปืนเล็กกลขนาด.223 หรือ 5.56 มม. เลขหมายประจำปืน 9103445 ยิงไป 1 นัดเพื่อป้องกันตัวถูกชายคนดังกล่าวจนล้มลงและเสียชีวิต
 
5. ทนายและอัยการไม่อุทธรณ์ผลคดีศาลปกครองสั่งให้กอรมน. ชดใช้กรณีนายอัสอารี สามาแอเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว
ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 อันเป็นวันครบกำหนดการยื่นอุทธรณ์คดีนายอัสอารี สะมkแอฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายกรณี เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวนั้น ปรากฎว่าทั้งทนายและอัยการไม่อุทธรณ์ส่งผลให้คดีสิ้นสุด  โดยคดีดังกล่าวศาลปกครองสงขลาได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่  39/2553 เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555 มีคำสั่งให้สำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของกอ.รมน.   ชดใช้ค่าเสียหายทางละเมิดแก่นางแบเดาะ สะมาแอ  มารดาของนายอัสฮารี    สะมาแอ  ผู้เสียชีวิต    เนื่องจากเชื่อว่าบาดแผลตามร่างกายของนายอัสฮารีกับพวกไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เองโดยไม่ถูกทำร้ายร่างกาย    และเกิดขึ้นในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ทำการจับกุมและควบคุมตัว   การจับกุมและควบคุมตัวนายอัสฮารีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้  ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากมาตรา   16 พรบ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ที่บัญญัติว่า   ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใดในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารบุคคลจะร้องขอค่าเสียหายไม่ได้นั้น  ก็ไม่ได้หมายความว่า  หากเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ใช้อำนาจไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อบุคคลอื่นแล้วจะไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด   อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานของรัฐมิใช่เจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้  ดังนั้นจึงสามารถฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและตำรวจที่กระทำละเมิดได้ พิพากษาให้กอรมน. ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นางแบเดาะ สะมาแอ จำนวนกว่า 500,000 บาท   
6.ความคืบหน้าคดีไต่ส่วนการตายและคดีแพ่งกรณีนายสุไลมาน แนซา
วันที่  20 กุมภาพันธ์ 2555  ศาลอาญากรุงเทพใต้มีการนัดสืบพยานคดีไต่สวนการตายนายสุไลมาน แนซาที่เป็นการส่งประเด็นมาจากศาลจังหวัดปัตตานี    พยานที่นำสืบวันนี้หนึ่งปากคือ พ.ต.ท. พงศ์ศิริเดช สุตสาครเย็น (ชื่อเดิม พ.ต.ต.ปิยะพงษ์ สาครแป้น)  เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลตำรวจ สังกัดกลุ่มงานตรวจพิสูจน์ สถาบันนิติเวชวิทยา ส่งสำนวนกลับศาลจังหวัดปัตตานี พิจารณาคดีครั้งต่อไปวันที่ 19 มีนาคม 2555 โดยมีกำหนดนัดหมายเพิ่มเติมคือวันที่ 17, 18, 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
สำหรับคดีแพ่งนั้น ตามที่บิดาและมารดาของนายสุไลมานได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกองทัพบกเป็นจำเลยพร้อมทั้งยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลเนื่องจากโจทก์มีฐานะยากจน ที่ศาลจ.ปัตตานีไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2554  ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2555 พนักงานอัยการในฐานะทนายความฝ่ายจำเลยแถลงต่อศาลว่าจำเลยประสงค์ของต่อสู้คดี จึงไม่ต้องการให้มีการไกล่เกลี่ย คู่ความทั้งสองฝ่ายจึงขอให้ศาลชี้สองสถานและกำหนดวันนัดสืบพยาน อย่างไรก็ตามเนื่องจากผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนี้ แจ้งว่าจะต้องย้ายไปปฏิบัติราชการที่จังหวัดอื่น คดีจึงต้องไปอยู่ในความรับผิดชอบของผู้พิพากษาท่านอื่น คู่ความในคดีจึงตกลงให้ผู้พิพากษาท่านใหม่เป็นผู้กำหนดวันชี้สองสถาน  โดยเลื่อนกำหนดเป็นวันที่ 9เมษายน 2555 เวลา 13.30 น.  ศาลจังหวัดปัตตานี
7.คดีคุ้มครองผู้บริโภค กรณีสหกรณ์ครูจังหวัดยะลาและนายมะยาเต็ง มะระนอ  สหกรณ์ครูจังหวัดยะลาอุทธรณ์คำสั่งศาลจังหวัดยะลา
เมื่อวันที่  10 มกราคม  สหกรณ์ครูจังหวัดยะลาได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นของศาลจังหวัดยะลาได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.865/2554 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ให้สหกรณ์ครูจังหวัดยะลารับนายมะยาเต็ง มะรานอกลับเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลา และให้สหกรณ์ฯ ดำเนินการจ่ายเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืน  และจ่ายเงินตามสิทธิในฐานะสมาชิกกองทุนสงเคราะห์ผู้เสียชีวิตร่วมทั้งจ่ายเงินเรือนหุ้นคืน  ทั้งนี้ทางโจทก์ต้องชำระค่าหุ้นของนายมะยะเต็งเดือนละ 500 บาทตั่งแต่เดือนเดือน กรกฎาคม 2550 – เดือนกันยายน 2552 รวมเป็นเงินจำนวน 13,500 บาท    สรุปสหกรณ์ออมทรัพย์ครูยะลามีหน้าที่ชำระเงินคืนทั้งสิ้นไม่เกินจำนวน 967,250 บาทแก่โจทก์ผู้ฟ้องซึ่งเป็นภรรยาและบุตรสองคนของนายมะยาเต็ง มะรานอ  โดยมีกำหนดให้ทนายความของนายมะยาเต็ง มะรานอ ยื่นคำแก้อุทธรณ์ในวันที่ 25 ม.ค.55
 
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณา ติดต่อ ปรีดา ทองชุมนุม โทร 02-6934939