ตากใบ : จากคำ “ขอโทษ” ถึงการ “ไต่สวนความจริง”
เอกรินทร์ ต่วนศิริ
ในวันที่ 3 พ.ย. 2549 ปาฐกถาพิเศษของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ต่อหน้าผู้สูญเสียและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ ต่อหน้าประชาชนนับพันคน รวมทั้งผู้ว่าราชการทั้ง 3 จังหวัด ประธานและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้นำศาสนา ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่สำคัญเป็นการพูดต่อหน้าผู้สูญเสียสามีและญาติพี่น้องไปในเหตุการณ์ครั้งนั้น
“ผมขอโทษแทนรัฐบาลชุดที่แล้ว และขอโทษแทนรัฐบาลนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลชุดที่แล้ว ผมมาขอโทษแทน ผมอยากยื่นมือออกไปแล้วบอกว่าผมเป็นคนผิด ผมขอกล่าวคำขอโทษด้วยด้วยใจจริง”
หลังเสียงประกาศของนายกรัฐมนตรี(สุรยุทธ์)จบลง หยดน้ำตาและเสียงปล่อยโฮของผู้สูญเสียและผู้ได้รับผล กระทบในเหตุการณ์ตากใบก็พรั่งพรูออกมา พร้อมกับเสียงปรบมือก็ดังกึกก้องและยาวนานขึ้นอีกครั้ง
นับเป็นคำขอโทษอย่างเป็นทางการครั้งแรกของผู้นำรัฐบาลต่อกรณีเหตุการณ์ตากใบที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 นับเป็นคำขอโทษที่ประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และประชาคมมุสลิมทั้งในและต่างประเทศกำลังรอคอยมาอย่างยาวนาน (http://www.deepsouthwatch.org/node/39)
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 คำสั่งของศาลสรุปว่า ศาลพิเคราะห์ว่าในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกันสลายการชุมนุมและควบคุมผู้ร่วมชุมนุมขึ้นรถไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ตามความจำเป็นแห่งสภาพการณ์เท่าที่เอื้ออำนวยได้ในขณะนั้น อันเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ แม้ปรากฏภาพเหตุการณ์จากวีซีดีว่า บุคคลที่แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าสลายการชุมนุมบางคนทำร้ายผู้ชุมนุมก็ตาม เชื่อว่าเป็นการกระทำของบุคคลดังกล่าวโดยพลการ
เมื่อไม่ปรากฏว่า หลังจากผู้ตายทั้ง 78 คนและผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวขึ้นรถยนต์บรรทุกนำส่งค่ายอิงคยุทธบริหารจนแล้วเสร็จ มีการกระทำต่อผู้ตายทั้ง 78 คนหรือผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวหรือเกิดเหตุร้ายอย่างอื่นกับผู้ตายทั้งหมด จึงสรุปได้ว่าผู้ตายทั้ง 78 คนตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่
อนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 กำหนดให้พนักงานอัยการต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อไต่สวนกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรมของผู้ตายและครอบครัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอ่านคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาในคดีไต่สวนการตายครั้งนี้ มีญาติผู้สูญเสียเดินทางไปร่วมรับฟังอย่างพร้อมเพรียง(http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4641&Itemid=47)
เหตุการณ์หลังจากคำขอโทษได้สร้างความหวังให้แก่คนในพื้นที่เป็นอย่างมาก อย่างน้อยเป็นคำพูดของระดับผู้นำประเทศที่เอ่ยปาก ขอโทษแก่คนในพื้นที่ เป็นครั้งประวัติศาสตร์ จนทำให้น้ำตาหลายๆคนต้องรินไหลออกมา ยิ่งญาติมิตร พี่น้อง ของผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์การชุมนุมที่ ตากใบ “คำขอโทษ” ที่ผ่านมา ถือได้ว่า มีค่าอย่างมาก ในทางนามธรรม หรือทางด้านจิตวิทยา ซึ่งถือว่าเป็นงานทางด้านการเมือง โดยพยายามสร้างความใว้วางใจแก่คนพื้นที่ให้กลับมาเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งได้รับความตอบรับจากคนในพื้นที่จำนวนมาก อย่างน้อยตามหลักการ ความเชื่อ ทางด้านศาสนา ที่รองรับเรื่อง ของการให้อภัย ซึ่งผลของการกระทำครั้งนี้ย่อมส่งผลในแง่บวกอย่างแน่นอน
แต่ทว่า วันนี้ การไตร่สวนของศาลได้ออก มาให้เห็นอย่างเป็นประจักษ์ ในแง่ทางด้านกฎหมายได้บ่งชี้ว่าเหตุการณ์สลายม็อบตากใบ เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติราชการตามหน้าที่(ซึ่งน่าสนใจ ไม่มีการบอกอย่างให้ชัด ว่าผิด หรือไม่ ?) และคนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ สาเหตุเพราะขาดอากาศหายใจ(ซึ่งน่าสนใจ ไม่มีการบอกถึงสาเหตุอื่นๆ เลย) การไตร่สวนความจริงดังกล่าว แน่นอน,เป็นการไตร่สวนที่มีค่ามากกว่าคำขอโทษที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เพราะการตัดสินครั้งนี้ มีผลต่อความรู้สึก ความเข้าใจ ของผู้คนในพื้นที่ต่อเรื่อง “ความยุติธรรม” และความใว้เนื้อเชื่อใจ ที่มีต่อรัฐ อย่างแน่นอน
วันนี้ดูเหมือนว่า น้ำตาของพวกเค้าต้องไหลรินออกมาอีกครั้ง แต่ทว่าครั้งนี้ คงมีความหมายแตกต่างจากการที่ได้ฟังคำขอโทษจากนายกฯ(สุรยุทธ์) เพราะครั้งนี้พวกเค้าได้รับฟังจากศาลแล้ว ซึ่งหนักแน่น และเป็นรูปธรรม และอยากจะบอกว่า “คำขอโทษ ได้รับการไต่สวน” ลงแล้วครับผมท่าน