Skip to main content
Muang Chinvarasopak

ตุลาคม 2554
ฉันกลับมายะลาหลังระเบิด  1 วัน  วันรุ่งขึ้น ฉันเดินผ่านบริเวณที่โดนระเบิดหลายแห่งบนถนนรวมมิตร  ผ่านหน้าร้านเย็นตาโฟที่โดนระเบิด มีเชือกกั้นหน้าร้าน มีรถมอเตอร์ไซค์ที่ถูกไหม้ทั้งคัน แต่ยังเหลือซากอยู่ด้านในเชือก  บนฟุตบาท ยังมีรถเข็นขายข้าวต้ม และเย็นตาโฟที่พร้อมขาย  มีถ้วยชามวางซ้อนกัน  มีเครื่องเคราเย็นตาโฟหลายอย่างอยู่หน้ารถเข็น ผักบุ้งเหี่ยวห้อยอยู่ที่ราว   ฉันนึกสงสัยว่า ทำไมไม่มีคนมาเก็บร้าน  แต่ก็นึกได้ว่า เจ้าของร้านโดนระเบิดด้วย ก็เลยคงไม่มีคนมาเก็บ  แต่เมื่อถามร้านข้างๆ  ก็ได้รับคำตอบว่า ยังไม่เก็บ เพราะต้อง “เก็บ” ไว้ให้ “ผู้ใหญ่” มาดู   วันที่ 4 หลังจากระเบิด ร้านจึงถูกเก็บ
ถนนบางสายที่ยะลา จะมีเขตที่จอดมอเตอร์ไซค์แล้วต้องเปิดเบาะ เช่น  ถนนรวมมิตร  ครั้งหนึ่งฉันซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปซื้อของแถวนั้น  มีรถมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งเข้ามาจอดต่อ แล้วไม่เปิดเบาะ  เจ้าหน้าที่ในชุดสีกากี  เดินข้ามถนนมาทันที แล้วบอกว่า  “เปิดเบาะด้วยครับ  ช่วยกันสร้างภาพหน่อย”  แต่บางวัน  เจ้าหน้าที่ก็ยืนเฉยๆ  ใครไม่เปิดเบาะก็ไม่เป็นไร
วันหนึ่ง ผู้ใหญ่ของกองทัพ มาเยี่ยม  วันนั้น  เฮลิคอปเตอร์บินว่อนทั้งวัน ทหารเดินกันเต็มเมือง  และมาเดินตามบ้าน-ร้านค้า บอกให้เปิดเบาะมอเตอร์ไซค์ เพราะเดี๋ยวนายจะผ่านถนนเส้นนี้  ให้วันนั้น ฝนตก  มีคนออกมาโวยวายว่า เปิดทำไม  ถ้าน้ำฝนเข้าไปในถังน้ำมัน แล้วจะทำยังไง  ทหารตอบไม่ได้  บอกแต่เพียงว่า  เค้าให้ผมสั่งให้เปิด  ฉันเลยถามว่า จะมีระเบิดอยู่ใต้เบาะรถเหรอ  ทหารบอกว่า ไม่ใช่หรอก  ฉันเลยถามว่า แล้วเปิดทำไม  ทหารบอกซื่อๆว่า ก็เค้าสั่งให้เปิด ก็ต้องเปิด  เดียวนายจะผ่านมา  นายมันกลัว  ฉันถามทหารว่า  แล้วทหารกลัวไหม  ทหารบอกว่า กลัวเหมือนกัน
...แล้วก็มีเสียงดังขึ้นว่า   นายมา 2-3 ขั่วโมง ยังกลัว  ยังตรวจกันขนาดนี้  แล้วชาวบ้านจะอยู่ยังไง...  
...แล้วก็ได้เห็นขบวนของนายที่ผ่านถนนสายนี้ ยาวเหยียด ทั้ง รถนำ รถตาม ปิดถนน มีทหารยืนเต็มตามถนน แถมมี  เฮลิคอปเตอร์บินวนอยู่บนฟ่้าอีก  มากไปกว่านั้น  ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ รวมถึง สัญญาณอินเตอร์เน็ต อีกต่างหาก... 
ที่ร้านขายกาแฟเก่าแก่แห่งหนึ่ง ที่มีคนเข้าร้านตลอดเวลาตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง  เป็นคล้ายๆ ที่สังสรร พูดคุยกัน  ทั้งชาวบ้าน และข้าราชการ  เช้าวันหนึ่ง มี “ผู้ใหญ่” ไปดื่มน้ำชา-กาแฟ พลาง คุยพลาง  ตอนหนึ่งพูดกันว่า  มีระเบิดเข้ามาแล้ว 30 ลูก
เสียงลือเรื่องระเบิดเข้ามาในเมืองมีอยู่มากมาย เป็นระเบิดในรูปแบบต่างๆ  เช่น  รถกระบะ หรือ กระป๋องน้ำอัดลม  หรือ กระทั่ง คนระเบิดพลีชีพ  ในจำนวนที่แตกต่างกันตั้งแต่ 30 ไปจนถึง 300  ลูก  พร้อมกับเสียงเตือนว่าอย่าไปที่นั่นที่นี่  และที่ยะลา  ก็จะบอกกันว่า  มีเวลาที่เป็น prime time ของการวางระเบิด คือ ก่อน 9 โมงเช้า หรือ หลัง 6 โมงเย็น  แต่ตอนนี้ คงไม่ใช่ เพราะระเบิดเกิดขึ้นได้ทุกเวลาแล้ว 
ฉันคุยกับน้องที่ขายของในตลาดว่า เค้าบอกว่ามีระเบิดเข้ามาอีก มาขายของไม่กลัวเหรอ  น้องบอกว่า  กลัวก็กลัว  แต่ถ้าไม่ออกมาขาย ก็ไม่มีจะกิน จะให้ทำไง 
เราลองมานึกกันดูไหมว่า ทำไม และ เพราะอะไร
1.  ที่ ”เก็บ”รถเข็นขายเย็นตาโฟ พร้อมผักบุ้งเหี่ยวๆ หลังโดนระเบิด  เพื่อรอให้ ”ผู้ใหญ่” มาดูให้เห็นกับตา  เมื่อผู้ใหญ่มาดูแล้ว  ผู้ใหญ่จะเห็นอะไร คิดอะไรออก แล้วจะทำอะไรต่อไป เพื่อจะได้ไม่ต้องเกิดเหตุการณ์ที่จะต้อง ”เก็บ” ซาก ให้ผู้ใหญ่มาดูอีก   
การที่ ”ผู้ใหญ่” ดูของจริง กับ ภาพถ่ายพร้อมบรรยายสรุป ต่างกันตรงไหน  เปรียบเทียบกับ การที่เก็บ "ซาก" ให้เกิดความสลดหดหู่ ตอกย้ำความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ยังไม่รวมถึง การเก็บ "ซาก" ประจานตัวเองในความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า
2.  การที่เจ้าหน้าที่ให้เปิดเบาะรถมอเตอร์ไซค์ และบอกว่า “ช่วยกันสร้างภาพหน่อย”  บอกเป็นนัยว่า นโยบายนี้ น่าจะถูกสั่งการจาก “ผู้ใหญ่” ลงมาให้ปฏิบัติ  เป็นนโยบายที่ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ออกนโยบาย ไม่รู้ว่าเวลานี้ ระเบิดไม่ได้อยู่ใต้เบาะรถมอเตอร์ไซค์แล้ว 
วันนี้  ระเบิดถือกันให้เห็นจะๆ ไม่ต้องซ่อนไว้ใต้เบาะแล้ว การเปิดเบาะ จึงน่าจะเป็นเพียงการรักษาหน้าของผู้ใหญ่ ว่าได้วางระบบความปลอดภัยไว้แล้ว และได้บังคับให้ปฏิบัติตามนโยบายนี้แล้ว  โดยไม่ได้ดูความเป็นไปของ “ระเบิด” ที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปเลย 
3  การที่ “ผู้ใหญ่” รู้ว่ามีระเบิดเข้ามาในเมือง จะเป็นข่าวจริงหรือข่าวลือ หรือไม่ก็ตาม  ก็ไม่เห็นมีใครออกมาทำอะไร  เพื่อให้ประชาชนระวังตัว หรือ เกิดความสบายใจว่าเป็นเพียงข่าวลือ  เฮลิคอปเตอร์ที่ออกมาบินว่อนเมือง ให้ดูเหมือนปลอดภัย หรือ ให้น่ากลัวยิ่งขึ้นก็ไม่อาจรู้ได้ 
ตามทฤษฎี นโยบายสาธารณะที่ดี เป็นนโยบายที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด เข้ากับสถานการณ์ เกิดผลกระทบน้อยที่สุด ในทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด โดยมีรัฐบาลเป็นผู้บูรณาการและขับเคลื่อนนโยบายนั้น ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ โดยมีการประเมินผล และปรับนโยบายตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ในทางปฏิบัติ  นโยบายที่ดีที่สุดในพื้นที่นี้  คงจะเป็น นโยบายที่ให้ประชาชนพึ่งตัวเอง ระวังตัวกันเอง ช่วยเหลือกันเอง เช่นเดียวกับ ในระดับชาติ ในมหาอุทกภัย ที่ประชาชนช่วยเหลือตัวเองกันเอง โดยมีรัฐบาลที่มีก็เหมือนไม่มี  ที่มีก็ไม่น่าเชื่อถือ  ที่มีก็รังแต่จะสร้างความวุ่นวาย  ที่มีก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย    
รัฐบาลที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองมีหน้าที่ทำอะไร 
หรือ อีกนัยหนึ่ง  รัฐบาล "รู้" และได้ทำ "อะไร" ไปแล้ว  ได้ "อะไร" ไปแล้ว  แต่ทำดูเหมือนว่าไม่ได้ทำอะไร  หากแต่เป็นเราต่างหาก ที่ไม่รู้  ยังไม่รู้  รู้ไม่หมด หรือ รู้ไม่ทัน
มีนาคม 2555
นับจากระเบิดบนถนนสายเดียวกัน เมื่อตุลาคม 2554  ไม่ถึงครึ่งปี  วันนี้ 31 มีนาคม 2555 เหตุการณ์เดิม เกิดซ้ำที่เดิม รุนแรงกว่าเดิม 
แต่ที่มากกว่าเดิมมากนัก มากจนประเมินไม่ได้  คือ วันนี้ บาดแผลเดิมที่ยังไม่ทันจางหาย ถูกเปิดให้กว้างและลึกกว่าเดิม  ที่ไม่รู้ว่าจะรักษา เยียวยา และปลอบประโลมจิตใจผู้คนต่อไปกันอย่างไร