ณรรธราวุธ เมืองสุข
สื่อมวลชนมีส่วนขยายและยกระดับปัญหาภาคใต้ให้รุนแรงขึ้นหรือไม่ เคยเป็นคำถามสำคัญชวนให้ถกเถียงกันมาตั้งนาน แต่ 4 ปีก่อนสมาคมนักข่าวฯ ปฏิวัติตนเองครั้งใหญ่โดยการลงมือก่อตั้งศูนย์ข่าวอิศรา โต๊ะข่าวภาคใต้พร้อมกับส่งนักข่าวมืออาชีพจากส่วนกลางลงมาทำงานร่วมกับนักข่าวท้องถิ่นในภายหลังที่เหตุการณ์ภาคใต้ปะทุขึ้นมาปีกว่าๆ
ด้วยข้อกล่าวหาฉกาจฉกรรจ์ว่าสื่อเสนอแต่ภาพความรุนแรง ขาดแง่มุมทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความจริงบางด้านที่ไม่เคยนำเสนอ ผลที่ได้รับคือชิ้นงานกว่า 1,000 ชิ้นในห้วงเวลานั้น ผ่านเหตุการณ์สำคัญที่มีความรุนแรงในระดับที่โยกคลอนความรู้สึกนึกคิดของสังคมไทยให้สลัดจากความชาชินเพราะเหตุร้ายรายวันได้พอควร อาทิ เหตุตันหยงลิมอ ครูจูหลิง ฯลฯ
แต่ผลของการโยกคลอนนั้นก็เป็นไปเพียงชั่วครูชั่วคราว ยากที่จะกะเทาะเปลือกอุปนิสัยแบบลืมง่ายหน่ายเร็วของคนไทย เมื่อผสานกับเรื่องราวอันเข้มข้นของเหตุการณ์บ้านเมืองในส่วนกลาง ดูเหมือนข่าวใต้จะเป็นเพียงที่รับรู้ว่ายังมีการแบ่งแยกดินแดนที่ภาคใต้ และกลุ่มคนเหล่านี้ ก็ยังสร้างความรุนแรงอยู่ทุกวี่วัน
สื่อมวลชนท้องถิ่นถูกตราหน้าว่าเป็น “กระจกที่ไร้เงาสะท้อน” ผู้กล่าวคำนี้คือคอลัมนิสต์ชื่อดังของนิตยสารใหญ่เล่มหนึ่งเมื่อ 4 ปีก่อน พร้อมขยายความว่า พวกเขา(สื่อท้องถิ่น)ทำได้เพียงขายข่าวหาเงิน แลกกับรอยเลือดและความเจ็บปวดของพี่น้องมุสลิมในภาคใต้โดยไม่ได้สะท้อนความจริงให้สังคมไทยฟังว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่น
ฟังดูดีที่ข้อเขียนนั้นอาบไว้ซึ่งน้ำเสียงแห่งทุกข์และเป็นห่วงเป็นใยต่อพี่น้องมุสลิมร่วมชาติ สิ่งที่ขาดวิ่นในบทความชิ้นนั้นคือการไม่ได้ลงมาพบประสบกับเหตุการณ์จริงในชายแดนใต้ ครั้งแรกและครั้งเดียวที่เขาเดินทางมาในภาคใต้ คือโครงการที่กองทัพบกพาสื่อมวลชนลงมาออนทัวร์ในพื้นที่ เยี่ยมชมโครงการมวลชนที่ทหารเข้าไปบุกเบิกลงมือทำในแต่ละจังหวัด และกลับไปพร้อมกับการแบกรับความเห็นอกเห็นใจต่อพี่น้องร่วมชาติและกลั่นมันผ่านออกมาทางข้อเขียน
ไม่มีการถามสักคำว่า สื่อมวลชนท้องถิ่นทำงานกันอย่างไร ต้องประสบพบเจอกับอะไร ยากหรือง่ายเพียงใดต่อการนำมาซึ่งภาพหรือข่าวสารให้หนังสือพิมพ์ในส่วนกลางได้เติมให้เต็มหน้ากระดาษ
และ “ความจริง” ที่อ้างว่าสังคมไทยยังไม่ได้ฟังนั้นคืออะไร ทุกวันนี้ข่าวสารที่แพร่กระจายออกไปสิ่งไหนเกินไปจากความจริงหรือบิดเบือนความจริงบ้าง
การเปลี่ยนแปลงของศูนย์ข่าวอิศรากลายเป็นสถาบันอิศรา เปลี่ยนบุคลากรและผู้กุมโครงสร้าง แต่แนวคิดเรื่องสื่อสันติภาพที่ต้องอธิบายปรากฏการณ์และถ่วงดุลข่าวสารยังคงมีอยู่ ไม่นับกลุ่มคนที่ตีปีกออกมาจากศูนย์ข่าวอิศราเดิมดูเหมือนว่าสื่อมวลชนท้องถิ่นหลายคนได้เรียนรู้เรื่องสื่อสันติภาพและพยายามนำพาตนเองมาสู่ที่ยืนใหม่ ภาพและเรื่องราวเชิงลึกจำนวนมากไหลออกจากพื้นที่ สังคมไทยได้ตื่นตากับเรื่องเล่า และภาพที่ไม่เคยเห็นทั้งมิติวิถีชีวิตวัฒนธรรม หรือการเสพข้อมูลเชิงวิเคราะห์แบบรู้ลึกรู้จริงมากขึ้น แม้พื้นที่ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์จะถูกแย่งชิงด้วยข่าวการเมืองอันร้อนแรง แต่สื่ออินเทอร์เน็ตก็ยังเป็นตัวชี้วัดสำคัญ เมื่อเกิดสำนักข่าวใหม่ๆ สื่อใหม่ๆ ที่รายงานเรื่องราวภาคใต้จำนวนมาก อย่างน้อยก็มากกว่าเมื่อ 4 ปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด
เห็นความพยายามกันอยู่ทนโท่ แต่สื่อมวลชนทั้งหลายก็ยังไม่วายโดนตราหน้าว่าเสนอข่าวใต้เกินจริง...
ล่าสุด พล.ท.พิเชษฐ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวในงานสัมมนาที่หาดใหญ่ว่ารายงานข่าวใต้เกินจากความเป็นจริง และมีส่วนทำให้ตนเองโดนตัดคะแนน พร้อมยกเหตุการณ์ระเบิดเมืองยะลาล่าสุดมาเป็นตัวตั้ง พร้อมชี้ว่า นอกจากเรื่องความมั่นคง ปัญหาภาคใต้ยังทับซ้อนในเรื่องการขัดผลประโยชน์ทั้งทางธุรกิจเถื่อนและการเมืองท้องถิ่น ยาเสพติด หรือปัญหาทางด้านอื่นๆ อีกมาก ไม่ได้มีแต่เรื่องแบ่งแยกดินแดน แต่พอเกิดเหตุก็จะเสนอข่าวพุ่งเป้าไปสู่เรื่องความมั่นคงทันที
ฟังอย่างนี้ สรุปเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากจะโทษว่าสื่อมีส่วนขยายปัญหาภาคใต้ให้ลุกลามใหญ่โตอีกแล้ว และคงเหมือนเดิม ที่สื่อในพื้นที่ไม่ได้นำเสนอความจริง(เดียว)ที่ฝ่ายความมั่นคงมองว่าน่าจะเป็นทิศทางที่ถูกต้อง
อย่างไรเสีย มองเฉพาะเหตุระเบิดที่เมืองยะลา เมื่อไม่กี่วันก่อน แหล่งข่าวในหน่วยความมั่นคงรายหนึ่งยังบอกว่า มีหลักฐานบ่งชี้ว่าผู้ก่อเหตุเป็นชุดเดียวกันที่เคยลงมือก่อเหตุระเบิดธนาคาร 22 จุดเมื่อ 31 สิงหาคม 2549 ภายในตัวเมืองยะลา ยะหา บันนังสตา และเบตง ที่น่าสนใจคือสองเหตุการณ์นั้นมุ่งเน้นทำลายสถานประกอบการทางธุรกิจและการเงิน พูดชัดๆ คือหวังทำลายเศรษฐกิจในพื้นที่นั่นเอง
เมื่อมีการเชื่อมโยงด้วยหลักฐานเช่นนี้ จึงมีน้ำหนักไม่พอให้วิเคราะห์ว่าเป็นเรื่องการเมืองท้องถิ่นอย่างที่แม่ทัพภาคที่ 4 ให้ข้อสังเกต
พล.ท.พิเชษฐยังบอกว่า หากนำเสนอข่าวออกไปในลักษณะเกินจริง ผู้ได้ประโยชน์คือกลุ่มผู้ก่อเหตุ เพราะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เรื่องนี้ถกเถียงกันมายาวนานว่า ข่าวความรุนแรงในภาคใต้มีฝ่ายใดได้หรือเสียประโยชน์ เหตุผลมาจากหลายทาง ทางหนึ่งบอกว่าถ้ากลุ่มผู้ก่อเหตุต้องการประชาสัมพันธ์ ถึงขณะนี้ชื่อคงติดตลาดไปนานแล้ว แต่ผลที่ได้ไม่ใช่ความนิยม กลับเป็นความเกลียดชังและความกลัว ซึ่งถ้าหากบางกลุ่มต้องการผลเช่นนี้ก็ไม่อาจปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนได้ ในทางกลับกัน การเสนอข่าว เท่ากับเป็นการประจานให้โลกเห็นว่า กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงในภาคใต้กำลังแสวงหาสันติภาพด้วยคราบเลือดและหยดน้ำตาของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องปิดข่าวหรือบิดเบือนความจริงแต่อย่างใด
ถ้าข้อมูลเหล่านี้หลุดมาสู่ผู้สื่อข่าว บทวิเคราะห์ก็คงจะเลี่ยงไปทางอื่นไม่ได้ เพราะมันชี้ให้เห็นความจริงในด้านนี้ แต่ถ้าหากหน่วยความมั่นคงมีข้อมูล หรือ ‘ชุดความจริง’ ด้านอื่นที่จะมาหักล้างว่าข่าวที่สื่อออกไปผิดเพี้ยน ผิดพลาด หรือเกินจริงก็น่าจะปล่อยออกมาหรือแถลงให้เป็นเรื่องเป็นราว มีข้อมูลหลักฐานว่าใช่หรือไม่ใช่แต่อย่างใดประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน
ยังดีว่าที่จะปล่อยให้นักข่าวทำกันไป โดยที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่รอดูว่ามีอะไรน่าสนใจ กระทบตนเองเมื่อไหร่แล้วค่อยส่งเสียงว่านักข่าวเสนอข่าวเกินจริง
เหตุการณ์ลักษณะปูพรมระเบิดที่ยะลาไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ถ้าก้าวข้ามไปจากประโยชน์ส่วนตน หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่จะพบว่างานด้านการข่าวของตนเองล้มเหลวเพียงใด เหตุไฉนจึงยังปล่อยให้ปฏิบัติการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่างซ้ำซาก และดูเหมือนกลุ่มขบวนการ(บางกลุ่มที่อาจเป็นกลุ่มอำนาจอื่นๆ ในพื้นที่นอกเหนือจากกลุ่มขบวนการใต้ดินแบ่งแยกดินแดนอย่างที่แม่ทัพภาคที่ 4ให้ความเห็น) ยังมีความสามารถก่อเหตุได้ทุกครั้งที่มีความพร้อม
เช่นเดียวกัน สถานการณ์ภาคใต้กินเวลามานาน 5 ปี มีสักกี่เหตุการณ์ที่ผลทางกระบวนการยุติธรรมในท้ายที่สุดบ่งชี้ว่าต่างจากที่สื่อมวลชนเสนอ ถ้าเร่งทำความจริงให้ปรากฏก็คงไม่มีข่าวไหนที่เกินจริง เกิดเหตุขึ้นหากตำรวจตั้งประเด็นออกไปมากกว่าทางที่สร้างสถานการณ์ และถ้าเร่งสืบสวนคลี่คลายคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
เพราะไม่เช่นนั้น สื่อมวลชนก็ยังตกเป็นเบี้ยกล่าวโทษว่าเสนอข่าวเกินจริงอยู่วันยันค่ำ ซึ่งก็ไม่รู้เกินจากความจริงของใครบ้าง จะมองทางอื่นไม่ได้ นอกจากนั่นคือความอคติหรือการฟาดงวงฟาดงาภายหลังจากที่ไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์เรียกความนิยมได้
ทั้งที่นักข่าวในพื้นที่หรือสื่อมวลชนท้องถิ่น ก็ไม่ได้เสนอข่าวสารเรื่องสถานการณ์อย่างเดียว บ่อยครั้งที่ช่วยประชาสัมพันธ์งานราชการหลายๆ ฝ่ายอย่างเต็มอกเต็มใจ เข้าใจว่าเป็นลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า นักข่าวยังต้องการแหล่งข่าวในฝ่ายความมั่นคงหรือเพื่อการประสานข้อมูลและการเข้าพื้นที่เกิดเหตุที่บางคราวต้องอาศัยร่วมไปกับหน่วยทหารและตำรวจ ประเด็นเดียวที่นักข่าวในพื้นที่อาจถูกวิพากษ์ได้ คือความรอบด้านของข้อมูลในบางกรณี การไม่ได้นำเสนอข่าวแบบเจาะลึกในบางเหตุการณ์ แต่เหตุผลอาจแตกต่างกันไป บ้างเพราะต้นสังกัดในส่วนกลางไม่ต้องการ(ก็ไม่รู้จะเจาะลึกมาทำไม)หรือบางข่าวบางเรื่องราว สังคมไทยก็ไม่ชอบอ่าน แต่ก็นั่นแหละ ถ้าพูดจากมุมหน่วยความมั่นคงก็ไม่รู้ว่าจะอยากให้นักข่าวท้องถิ่นมีความรอบด้านมากน้อยแค่ไหน
มาถึงยุคที่นายกรัฐมนตรีไม่เชื่อว่าความเป็นกลางมีจริง เหตุใดปัญหาไฟใต้ที่ปะทุลุกลามมานาน 5 ปี แต่นักข่าว/ผู้สื่อข่าว/สื่อมวลชนก็ยังถูกมองว่ามีส่วนทำให้เหตุการณ์รุนแรงเกินจริง.