Skip to main content

 

จากเหตุการณ์คนร้ายกระจายกำลังออกปฎิบัติการลอบวางเพลิงโกดังสินค้า โกดังจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ร้านจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์  รวมทั้งลอบวางระเบิดโรงแรม  ห้างสรรพสินค้า โชว์รูมรถยนต์ และธนาคาร  ในเขตเทศบาลนครยะลา รวม 9 แห่ง โดยจุดที่เกิดเหตุทั้งหมด อยู่รอบนอกพื้นที่การจัดงานสมโภชหลักเมือง และงานกาชาด จังหวัดยะลา ประจำปี 2552   ในช่วงเช้าของวันที่ 27 พฤษภาคม 2552  ที่ผ่านมา

 

 

โดยกลุ่มคนร้ายเริ่มการก่อเหตุด้วยการลอบวางเพลิงโกดังศรีสมัย ถนนเฉลิมชัย  และโกดังศรีสมัย ถนนจารู  พร้อมกับลอบวางเพลิงร้านอภิรักษ์เฟอร์นิเจอร์ ถนนเปรมจิตต์-สุรพันธ์   และโกดังสินค้าร้านยะลาย่งฮวด  ถนนเพชรเกษม  ได้รับความเสียหาย  รวมทั้งยังลอบวางเพลิงเสาส่งสัญญานโทรศัพท์มือถือทรู ที่ ต.เป๊าะเส้ง อ.เมือง จ.ยะลา  และกลุ่มคนร้ายยังได้ลอบวางระเบิดหน้าโรงแรมยะลารามา  ลอบวางระเบิดป้ายโชว์รูมบริษัทปัตตานีเจริญเทรดดิ้ง ซึ่งจำหน่ายรถยนต์กระบะอีซูซุ   ลอบวางระเบิดข้างตู้เอทีเอ็มหน้าธนาคารกสิกรไทย สาขายะลา ถนนปราจีณ   และลอบวางระเบิดภายในห้างซุปเปอร์ยะลา  ปฎิบัติการในครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 9 แห่ง

 

หากวิเคราะห์กรณีดังกล่าว ถึงการลงมือก่อเหตุของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในครั้งนี้ เพื่อต้องการทำลายฐานเศรษฐกิจของจังหวัดยะลา  เนื่องจากสถานประกอบการที่ถูกลอบวางเพลิง และลอบวางระเบิดทั้ง 8 แห่ง  ถือเป็นหัวใจของเศรษฐกิจในจังหวัดยะลาที่เติบโตที่สุด  เพราะการทำลายระบบเศรษฐกิจ เป็นยุทธวิธีที่กลุ่มก่อความไม่สงบมักจะใช้ และได้ผลเนื่องจากทำให้ระบบธุรกิจหยุดชะงัก ผู้ประกอบการค้า มีความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มีความมั่นใจในมาตรการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่รัฐ  ทำให้ประชาชนรู้สึกหวาดผวา  ทางรัฐบาลจะต้องมีการทบทวนต่อมาตรการในการรักษาความปลอดภัย ให้กับผู้ประกอบการและประชาชน  หลังเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเวลากว่า 5 ปี 

 

 

 

นายวิรัช อัศวสุขสันต์ ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นนักธุรกิจในพื้นที่ได้สะท้อนความคิดเห็น ว่า  จากกรณีที่เกิดเหตุคนร้ายลอบวางเพลิง และลอบวางระเบิดแหล่งธุรกิจในพื้นที่จังหวัดยะลา ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักธุรกิจในพื้นที่เป็นอย่างมาก เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นตั้งปี 2547 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลากว่า 5 ปีนั้น ได้มีการพูดคุย และประชุมกับทางภาครัฐหลายครั้ง เกี่ยวกับเหตุการณ์ และครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นกับนักธุรกิจในจังหวัดยะลา ได้มีการประชุมร่วมกับแม่ทัพภาค 4 ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และได้มีการให้ความเห็นหลาย ๆ อย่าง แต่เหตุการณ์ก็ยังคงเกิดขึ้นอีก ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นมาก และที่สำคัญ ขวัญและกำลังใจของผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ หดหายจึงอยากให้ภาครัฐใช้ความเข้มข้นในการป้องกันเหตุร้าย และระงับเหตุให้เร็วที่สุด สำหรับเหตุการณ์คนร้ายลอบวางเพลิงโกดังสินค้า วางระเบิดโชว์รูมรถ และสถานบันเทิง ในครั้งนี้ มีลักษณะเช่นเดียวกับการเกิดเหตุการณ์ เมื่อปี 2548 ที่เกิดเหตุไฟฟ้าดับทั่วเมือง และมีการลอบวางเพลิงร้านค้า จนได้รับความเสียหาย และเหตุการณ์ดังกล่าวกำลังย้อนกลับมาในรูปแบบเดิมแสดงให้เห็นว่าการปราบปรามหรือมาตรการต่าง ๆ ของรัฐยังไม่ได้ผลเต็มที่ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะคณะรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีได้มีการแต่งตั้งให้เข้ามาแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการประชุม หรือเรียกตัวแทนของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นหอการค้า และสภาอุตสาหกรรม เข้าไปประชุมหารือ เกี่ยวกับมาตรการในการพัฒนา และการดูแลรักษาความปลอดภัย ซึ่งควรจะต้องรีบมีการประชุม และเรียกผู้ประกอบการทั้งตัวแทนภาคธุรกิจต่าง ๆ มาให้ความเห็น เพื่อร่วมมือกันในการรักษาให้ผู้ประกอบการในพื้นที่สามารถประคองธุรกิจให้อยู่ได้ และมีให้มีกำลังใจในการที่จะประกอบการธุรกิจต่อไป

 

 

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในพื้นที่ ได้มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดตั้งชุมชนเข้มแข็ง ดูแลความปลอดภัยพื้นที่ แต่การดูแลโดยภาคประชาชน หรือภาคท้องถิ่นยังคงไม่เพียงพอ และต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนมาก และคนที่จะมาทำงานต้องเสียสละจริง ๆ จึงอยากให้ภาครัฐได้เพิ่มงบประมาณให้กับท้องถิ่น หรือผู้ประกอบการในการดูแลรักษาความปลอดภัย และการติดตั้งระบบสื่อสาร โดยเฉพาะกล้องวงจรปิดซึ่งที่ผ่านมาไม่แน่ใจว่ามีการติดตั้งครบทุกจุดหรือไม่ และแต่ละจุดที่มีการติดตั้งสามารถใช้งานได้ทุกจุดหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาการร้องเรียนมาตลอด บางครั้งมีกล้อง แต่ไม่เห็นภาพ หรือระบบไม่สามารถดำเนินการได้ ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา  กล่าว

 

นอกจากนั้นยังมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุ ต้องการสร้างเหตุการณ์ยกระดับการก่อเหตุ เพื่อให้ต่างประเทศให้ความสนใจในปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ประชุมอิสลาม (โอ.ไอ.ซี)  ที่จะมีการประชุมช่วงเดือนพฤษภาคม 2552 ที่กรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย  ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของหน่วยข่าวด้านความมั่นคงไว้ก่อนหน้านี้ 

 

ซึ่งหน่วยข่าวดังกล่าวได้วิเคราะห์สถานการณ์ ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพบว่า ยังคงมีการก่อเหตุต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยกลุ่มก่อความไม่สงบพยายามสร้างสถานการณ์ให้ดูรุนแรงขึ้น เพื่อเป็นการดิ้นรนและแสดงให้เห็นว่ายังมีศักยภาพในการก่อเหตุ  หลังจากในช่วงที่ผ่านมาได้เพลี่ยงพล้ำทั้งทางด้านการทหารและมวลชนต่อเจ้าหน้าที่ขณะเดียวกันในบางพื้นที่ยังก่อเหตุตอบโต้กรณีแกนนำ สมาชิกระดับปฏิบัติการได้รับความสูญเสียและจับกุม รวมทั้งยังเป็นการแสดงการต่อต้านนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล และต้องการสร้างสถานการณ์ให้ดูเหมือนว่ารัฐบาลกำลังประสบปัญหารุมเร้าในทุกด้าน ที่สำคัญคือการดึงความสนใจจากประชาคมโลกโดยเฉพาะ การประชุมองค์การการประชุมอิสลาม(OIC) ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 52 ต่อเนื่องถึงเดือนพฤษภาคม 52

 

 

ยังมีความเป็นไปที่กลุ่มคนร้ายก่อเหตุในครั้งนี้ เพื่อโชว์ศักยภาพให้กับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ยังคงมีความพร้อมในการก่อเหตุร้ายในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง  และจังหวัดยะลา  เป็นศูนย์กลางของส่วนราชการต่างๆ เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)  ศูนย์ปฎิบัติการสำนักงานตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) และ เป็นที่ตั้งของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า  ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างจาก จ.ยะลา เพียง 1 กิโลเมตร  การก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดยะลา เท่ากับเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือ ของหน่วยงานหลักด้านความมั่นคง ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ

 

 

พล.ต.ต.พีระ  พุ่มพิเชษฐ์ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบ.ศชต.) กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการก่อความไม่สงบ ส่วนวัตถุประสงค์ที่เขาทำเชื่อว่าเพื่อสร้างข่าว หลังจากที่ทาง จ.ยะลา สามารถดูแลไม่เกิดเหตุการณ์ขึ้น ประกอบกับช่วงนี้มีงานสมโภชหลักเมืองด้วย  ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังดูแลพื้นที่จัดงานอย่างเข้มแข็ง ทั้งในช่วงเวลากลางวัน และกลางคืน แต่ทางกลุ่มคนร้ายพยายามที่จะก่อเหตุก่อกวน ในช่วงที่เป็นช่องว่างในเวลากลางดึกในพื้นที่รอบนอก ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ดูแลเข้มงวด และหลังจากที่กลุ่มคนร้ายมีการปรับแผนในการก่อเหตุ เป็นช่วงเวลาที่มีการสับเปลี่ยนกำลังนั้น ทางเจ้าหน้าที่ก็จะมีการปรับแผนเพิ่มเติมคงต้องมีการประสานกับฝ่ายทหาร และฝ่ายชุมชนในพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตามในจังหวัดยะลา ที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ได้ดูแลอย่างดี ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นช่องว่าง เพราะว่าจังหวัดยะลาเป้าหมายหนึ่งของกลุ่มคนร้ายที่ต้องการสร้างสถานการณ์ในพื้นที่

 

 

 

 

 

 

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี  จะต้องให้ความสำคัญ ดูแลปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง

 

"เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนในพื้นที่ซะที"