|
ผศ. ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐะนะนักวิชาการหลักของศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยให้ภาพรวมแล้วครั้งหนึ่งว่า สถานการณ์ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 มีแนวโน้มสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ลักษณะของเหตุการณ์ กล่าวโดยภาพรวม สถานการณ์ในช่วงแปดเดือนแรกของปีนี้มีลักษณะขึ้นๆลงๆ ยังคงรักษาระดับของความรุนแรงโดยเกิดเหตุการณ์ยิงและระเบิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสิ้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมาสถิติความรุนแรงเกิดขึ้นในระดับสูงมากถึง 286 ครั้ง ดังนั้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจึงนับเป็นเดือนที่มีระดับความรุนแรงสูงสุดในรอบปี พ.ศ. 2549
เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าในรอบ 32 เดือนนับตั้งแต่ต้นปี 2547 มีคลื่นสูงสุดของความรุนแรงเกิดขึ้นในภาคใต้สามครั้ง กล่าวคือเดือนพฤษภาคม ปี 2548 เป็นเดือนที่มีสถิติการก่อเหตุในพื้นที่สูงสุดจำนวน 345 ครั้ง ส่วนในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมานี้เกิดเหตุการณ์สูงสุดเป็นลำดับสองจำนวน 286 ครั้ง และเดือนเมษายน พ.ศ. 2547 เกิดเหตุการณ์สูงถึง 266 ครั้ง
อย่างไรก็ดี ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้นในช่วงต้นเดือนกันยายนซึ่งเป็นเดือนที่เก้าของปีนี้ จุดสูงสุดที่เป็นสัญญานของความเลวร้ายของเหตุการณ์ในช่วงนั้นก็คือการวางระเบิดที่กลางเมืองหาดใหญ่ในวันที่ 16 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลสะเทือนไปทั่วประเทศ สะท้อนภาพในแง่ของความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหาภาคใต้และยังส่อเค้าว่าเหตุการณ์ความรุนแรงจะบานปลายขยายตัวออกไปสู่พื้นที่อื่นๆของประเทศ
จนกระทั่ง 3 วันต่อมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลประชาธิปไตยของ พ. ต. ท. ทักษิณ ชินวัตร และยกเลิกรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศไทยฉบับ ปี พ.ศ. 2540 พร้อมทั้งยุติกระบวนการการเมืองแบบประชาธิปไตยในประเทศไทยที่ยาวนานมากว่า 15 ปี ข้ออ้างที่สำคัญของการยึดอำนาจก็คือการปกครองของรัฐบาลทักษิณก่อให้เกิดการแตกแยกและคอรัปชั่น แต่นัยความหมายของการยึดอำนาจครั้งนี้ที่ไม่ได้พูดอย่างเปิดเผยก็คือความล้มเหลวของรัฐบาลทักษิณในการแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ในรอบสองปีกว่าที่ผ่านมา
"หลังจากการยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายนแล้ว คำถามทางการเมืองที่ตามมาก็คือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและระบอบการปกครองนั้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางนโยบายในเรื่องภาคใต้หรือไม่และการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระดับของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ ? " นี่คือคำถามสำคัญ
ในงานวิจัยนี้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ ได้ชี้ให้เห็นข้อสรุปบางประการ กล่าวคือ เหตุการณ์ความไม่สงบซึ่งเกิดขึ้นในภาคใต้ช่วงเดือนกันยายนอันเป็นเดือนที่เกิดการรัฐประหารมีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเหตุการณ์ในเดือนสิงหาคมเกิดขึ้นจำนวน 286 ครั้ง ในขณะที่เดือนกันยายนเกิดเหตุการณ์จำนวน 86 ครั้งและเดือนตุลาคมเกิดเหตุการณ์ (1-23 ตุลาคม) จำนวน 83 ครั้ง เดือนกันยายนและตุลาคมจึงเป็นเดือนที่นับว่าเกิดเหตุการณ์ค่อนข้างต่ำใกล้เคียงกับเดือนกรกฎาคม อาจจะถือได้ว่าเป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์ต่ำในรอบ 10 เดือนของปี พ.ศ. 2549 นี้
อย่างไรก็ดี เรายังไม่อาจจะสรุปได้อย่างชัดเจนถึงเหตุการณ์ในเดือนตุลาคมเพราะสถิติที่เกิดขึ้นยังไม่ครบเดือน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากตัวแปรอีกตัวหนึ่งก็คือช่วงเหตุการณ์ในเดือนรอมฏอนซึ่งสถิติแสดงให้เห็นว่าทำให้มีแนวโน้มเหตุการณ์แรงมากขึ้น ..
อ่านต่อทั้งหมดที่นี่
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลังการยึดอำนาจของคปค..doc
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้หลังการยึดอำนาจของของคปค.pdf