Skip to main content

 

ฉันไม่ทราบว่าเหตุการณ์ระเบิดกลางเมืองยะลา บนถนนรวมมิตร  และที่โรงแรมลีการ์เด้นท์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 31 มีนาคม 2555  เป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดหรือไม่ นับตั้งแต่ปี 2547 ที่เริ่มต้นเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดสงขลา หรือย้อนไปเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา
เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่มีการต่อสู้ และมีคนเสียชีวิตจำนวนมาก  
กรณีกรือเซะ เมื่อเดือนเมษายน 2547  ชาวบ้านปะทะกับเจ้าหน้าที่บริเวณมัสยิดกรือแซะ  ภาพการกราดยิงเข้าสถานที่สำคัญทางศาสนา ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ทำพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม ที่เราเจนตากับภาพที่คนมุสลิมคุกเข่าละหมาดบูชาอัลเลาะห์  เหตุการณ์นี้มีคนเสียชีวิต 32 คน  
หรือกรณีการสลายการชุมนุมประท้วงหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส  ภาพชายนับร้อยไม่ใส่เสื้อ มือถูกมัดไพล่หลัง ถูกบังคับให้นอนราบลงกับพื้นถนน ถูกจับโยนใส่รถจีเอ็มซี กองทับซ้อนกันนาน 3 ชั่วโมงเพื่อเดินทางจากอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี  ในบ่ายวันหนึ่งของเดือนตุลาคม 2547  ภาพต่อจากนั้น คือ “ร่าง” ที่ถูกยกลงมาจากรถจีเอ็มซี นับสิบ นับร้อยราย  ทั้งเสียชีวิต ทั้งบาดเจ็บ  เหตุการณ์ครั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 84 คน สาเหตุหลักมาจากการขาดอากาศหายใจ
ทั้งสองเหตุการณ์เป็นการสูญเสียจากการปะทะและต่อสู้ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ที่ทั้งสองฝ่ายมีอาวุธไม่เท่ากัน   
เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่ไม่มีการต่อสู้  แต่มีผู้ถูกทำร้ายโดยตรง 
กรณีตันหยงลิมอ  เดือนกันยายน 2548  ทหารเรือ 2 นายถูกคุมตัวเพราะสงสัยว่าจะเป็นผู้ก่อเหตุยิงชาวบ้าน มีการเจรจาขอให้ปล่อยตัว และเมื่อการเจรจาจบลง ก็พบเพียงร่างไร้วิญญาณของทหารเรือทั้ง 2 นายที่ถูกทำร้ายอย่างทารุณจนเสียชีวิต ทั้งๆ ที่มีอาวุธที่จะต่อสู้ป้องกันตัวได้   
หรือ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 กรณีครูจูหลิง ที่ถูกจับเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองให้ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยฆ่านายทหารเรือทั้ง 2 นายข้างต้น และสุดท้ายครูจูหลิงถูกรุมทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส ถูกตีจนสมองกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง และนอนไม่รู้สึกตัวนานกว่า 7 เดือน ก่อนจะเสียชีวิต 
ทั้งสองเหตุการณ์นี้  เป็นการสูญเสียจากการถูกทำร้ายฝ่ายเดียวจนถึงชีวิต   
นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์นับพันเหตุการณ์ ตั้งแต่ปี 2547  ที่มีผู้เสียชีวิต  ผู้บาดเจ็บ ที่เป็นเป้าหมายโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ  ครู ทหาร ตำรวจ  หรือแม้กระทั่งพระ  และคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย เฉกเช่น ประชาชนทั่วไป  มีบ้านเรือน  ร้านค้า  สถานที่ราชการเสียหาย จำนวนมากบ้าง น้อยบ้าง ในแต่ละคราวไป 
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกครั้ง เป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดสำหรับคนอย่างน้อยหนึ่งคนเสมอ และเป็นทุกครั้งที่สร้างความเศร้าสะเทือนใจไม่ต่างกัน
แต่เหตุการณ์ระเบิดกลางเมืองครั้งล่าสุดที่ถนนรวมมิตร จังหวัดยะลา มีคนเสียชีวิต 11 คน  บาดเจ็บ 127 คนและที่โรงแรมลีการ์เด้นท์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีคนเสียชีวิต 4 คน  บาดเจ็บกว่า 350 คน  เป็นเหตุการณ์ที่ฉันคิดว่าเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุด   
ไม่ใช่เพราะจำนวนคนเสียชีวิตและบาดเจ็บที่นับรวมกันมากที่สุดครั้งหนึ่ง  แต่เป็นเพราะครั้งนี้ คนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ เป็นคนที่ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ  ไม่มีใครคาดคิด ไม่มีใครรู้ตัว ไม่อาจต่อสู้เพื่อรักษาชีวิตตัวเอง ไม่มีผู้ถูกกระทำที่เป็นเป้าหมายโดยตรง   
ที่โรงแรมลีการ์เด้นท์ หลังจากระเบิดและเกิดไฟไหม้  พบเด็กน้อยอายุ 2 เดือน ถูกห่อตัวด้วยเสื้อของพ่อที่ถอดออกแล้วเอามาชุบน้ำ เพื่อป้องกันลูกจากไฟ  และพ่อเอาตัวกอดกำบังไฟให้ลูกน้อยอีกชั้นหนึ่ง จนตัวเองหมดสติ  
ที่ร้านขายข้าวมันไก่  ถนนรวมมิตร กลางเมืองยะลา  เจ้าของร้านเพิ่งกลับมาจากไปเยี่ยมบ้านที่จังหวัดระยอง และที่บ้านก็ท้วงว่าน่าจะย้ายออกมาจากยะลาได้แล้ว  แต่เจ้าของร้านยังยืนยันที่จะกลับมายะลา  และเปิดร้านขายข้าวมันไก่ในวันรุ่งขึ้นที่กลับถึง เจ้าของร้านเสียชีวิตทันทีจากแรงระเบิด โดยยังมีผ้ากันเปื้อนติดกับตัว 
นั่นคือ ส่วนหนึ่งของคนบริสุทธิ์ที่ได้รับผลกระทบ ยังไม่รวมซากอาคาร บ้านเรือน สภาพเมือง ที่ทำร้ายซ้ำ ย้ำความรู้สึกสูญเสียของคนเช่นกัน   
ภาพกลุ่มควันดำลอยสูงลามตึกโรงแรมลีการ์เด้นท์  ภาพผู้คนที่บ้างก็วิ่งหนีตายอย่างอลหม่าน บ้างก็ห้อยโหนลงจากชั้นสูงของโรงแรมเพื่อเอาชีวิตรอด  ภาพกระจกของร้านค้าต่างๆ บนชั้นหนึ่งแตกกระจายเพราะแรงระเบิดจากที่จอดรถใต้ถุนตึกที่สะเทือนมาถึงชั้นบน ภาพซากรถ และความเสียหายของที่จอดรถใต้ถุนโรงแรม   
ภาพที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นถนนรวมมิตร กลางเมืองยะลา ที่มีผู้คนใช้ชีวิตประจำวัน กินข้าว จับจ่ายซื้อของ  ที่วันนี้มีสภาพยับเยินเพราะถูกระเบิดจากคาร์บอมบ์ 2 คัน ที่มีถังก๊าซ 30 กิโลกรัม 2 ถัง ทำลายย่อยยับ เศษซากที่ไม่อาจบอกได้ว่ามาจากสิ่งใด หรือเคยเป็นสิ่งใดมาก่อน กระจัดกระจายเกลื่อนถนน รถยนต์หลายคันที่ถูกแรงระเบิดพลิกตลบ และไฟไหม้เหลือแต่ซาก  ภาพเศษเหล็กที่มองไม่ออกว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นรถมอเตอร์ไซค์มาก่อน  
ภาพสภาพตึกแถวที่เหลือแต่ซากปรักหักพัง ชั้นล่างถูกแรงระเบิดเสียหายทั้งหมด และบางส่วนของชั้น 2 ทรุดตัวลง เศษเหล็ก สายไฟฟ้า ระเกะระกะ  เหลือแต่เสาโรมัน หน้าอาคารพาณิชย์ที่เป็นสัญลักษณ์ของถนนสายนี้ ที่ยังไม่หักโค่น ท่ามกลางซากปรักหักพัง เป็นหลักฐานยืนยันว่า ครั้งหนึ่ง ที่ตรงนี้เคยเจริญรุ่งเรือง เคยเป็นเมืองที่มีชีวิต 
ภาพที่บอกทุกสิ่งทุกอย่างได้มากกว่าคำพูดทุกคำมารวมกัน   ภาพที่สะท้อนจากตา เข้าไปสะเทือนถึงใจ สั่นไหวขวัญและกำลังใจ สั่นคลอนความรู้สึก  ที่ไม่คิดว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้น จะได้เห็นในบ้านเมืองนี้ ในชีวิตนี้
...ทุกเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น  เป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดสำหรับคนอย่างน้อยหนึ่งคนเสมอ
...หากแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 31 มีนาคม 2555  เป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดเท่าที่คนหาดใหญ่ และคนยะลา รวมถึงคนทั้งประเทศจะสามารถจินตนาการได้ถึง  
กล่าวเฉพาะยะลา  นับจากระเบิดบนถนนสายเดียวกัน เมื่อตุลาคม 2554 ไม่ถึงครึ่งปี วันนี้ 31 มีนาคม 2555เหตุการณ์เดิม เกิดซ้ำที่เดิม รุนแรงกว่าเดิม  
แต่ที่มากกว่าเดิม มากจนประเมินไม่ได้ คือ บาดแผลเดิมที่ยังไม่ทันหาย ถูกกรีดให้เปิดกว้างและลึกลงกว่าเดิม ที่ไม่รู้ว่าจะรักษา เยียวยา และปลอบประโลมจิตใจของผู้คนในพื้นที่กันต่อไปอย่างไร  
กลางดึกวันที่ 31 มีนาคม 2555   ฉันได้เห็นภาพถ่ายถนนสายรวมมิตรที่ถูกระเบิดย่อยยับ ไม่ต่างอะไรจากสงครามกลางเมือง  ภาพที่มองอย่างไรก็มองไม่ออกว่า ต่างจากสงครามกลางเมืองที่เคยเห็นจากภาพข่าวสงครามในประเทศอิรัก ไปได้อย่างไร   
อยากจะคิดว่า เมื่อตื่นขึ้นมาในวันที่ 1 เมษายน 2555 หรือ เอพริลฟูลล์เดย์ (April Fool’s Day) วันแห่งการโกหกของฝรั่ง ภาพที่เห็น เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้น เป็นข่าวเท็จ เป็นเรื่องไม่จริง
อยากจะหลับฝันเห็นเมืองยะลาที่ยังสงบ และสวยงาม 
อยากจะขอให้มีใครเพียงซักคนที่ช่วยยืนยันว่า ภาพที่เห็นก่อนนอนนั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง
อยากให้เป็นเช่นนั้นเหลือเกิน