Skip to main content
ณรรธราวุธ เมืองสุข
 
หลังเกิดเหตุคาร์บอมบ์กลางถนนร่วมมิตร เขตเทศบาลนครยะลา จนสร้างความเสียหายให้ชีวิต ทรัพย์สิน และธุรกิจการค้าในย่านนี้เป็นอย่างมาก วันนี้หน้าตาของถนนสายนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด นอกจากกองกำลังทหารที่เข้ามาตั้งด่านทุกต้นตรอกซอกซอยที่เชื่อมกับถนนร่วมมิตรแล้ว ทางจังหวัดร่วมกับทางเทศบาล และคนในชุมชนร่วมกันออกแบบระบบจราจรใหม่ โดยบังคับให้เดินรถทางเดียว เข้า 7 ทาง ออก 8 ทาง เพื่อให้ดูแลได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการถอดบทเรียนจากหลังเหตุระเบิดเมื่อ 25 ตุลาคมปีที่แล้ว ที่แผนรักษาความปลอดภัยถูกปฏิเสธจากพ่อค้าแม่ค้าเพราะกระทบการค้าการลงทุน แต่รอบนี้กลายเป็นสิ่งที่ถูกเรียกร้อง เพียงแต่ยังต้องหาจุดร่วมกันระหว่างแผนการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดกับการค้าขายที่ลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยังเป็นชาวมลายูมุสลิมที่อาจรู้สึกอึดอัดกับมาตรการเข้มงวดดังกล่าว

แต่ทางออกเรื่องนี้ก็ยังพอมองเห็น นายเดชรัตน์ สิมศิริ ผู้ว่าราชการการจังหวัดยะลาเปิดเผยว่า แผนการรักษาความปลอดภัย “เซฟตี้ โซน 2” ที่ออกแบบขึ้นโดยใช้กองกำลังทหารเข้ามารักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดนั้นเป็นเพียงระยะสั้น แต่ในระยะยาวต้องใช้กำลังอาสาสมัครภาคประชาชน หรือไทยอาสาป้องกันชาติ(ทส.ปช.)เข้ามาในฐานะผู้ช่วยพนักงานตามกฏหมาย เพื่อไม่ให้บรรยากาศการค้าการลงทุนสูญเสียไป
“ทส.ปช.เหล่านี้ก็จะเป็นคนยะลาที่อยู่ในย่านเศรษฐกิจ เหมือนให้ช่วยกันดูแลบ้านของตัวเอง ซึ่งดีกว่าให้ทหารหรือตำรวจเข้ามาดูแล และกำลังของเจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็ไม่เพียงพอ ขณะนี้มีสมัครเข้ามาแล้วร้อยกว่าคน มีการฝึกฝนทั้งด้านความคิด วิธีการปฏิบัติป้องกันตัวเอง และการฝึกยิงปืนโดยใช้อาวุธปืนส่วนตัวมาขึ้นทะเบียนใช้ในราชการ และมีปืนลูกซองให้ตามความจำเป็น หลังสงกรานต์นี้จะเริ่มดำเนินการฝึก” ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลากล่าว
ในขณะที่ทางเทศบาลและหอการค้าจังหวัดเตรียมติดตั้งกล้อง CCTV เพิ่มเติมในย่านธุรกิจเพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยเกิดความเชื่อมั่น    ขณะแผนฟื้นเศรษฐกิจ ล่าสุดมีแผนกระตุ้นด้วยการเปิดลดราคาสินค้า “Yala Grand Sale” เรียกคนมาจับจ่ายซื้อของบนถนนรวมมิตร และดึงคนไปคุ้นเคยกับเซฟตี้โซน แต่งานใหญ่คือวันที่ 28 เมษายน ที่จะเชิญรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงลงมาพร้อมกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอีก 4 กระทรวงทั้ง กระทรวงพาณิชย์ คมนาคม แรงงาน และเกษตร เพื่อกำหนดทิศทางการค้าการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
          “วันที่ 29 คณะรัฐมนตรีก็จะมีการประชุมร่วมกับหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หอประชุมเทศบาลนครยะลา ระดมความเห็นกันว่าจะมีแผนการลงทุนอย่างไร นอกจากฟื้นความเชื่อมั่น ยังเป็นการวางแผนระยะยาวเพื่อรับมือกับการเปิดประชาคมอาเซียนด้วย” ณพพงศ์ ธีระวร ประธานหอการค้าจังหวัดยะลากล่าว

          ประสบการณ์ที่ผ่านพ้นเหตุการณ์รุนแรงมาหลายครั้ง ทำให้ชาวชุมชนย่านถนนรวมมิตรเริ่มฟื้นคืนความรู้สึกพร้อมจะรับมือกับการเยียวยาฟื้นฟูของภาครัฐ อย่าง “อุปถัมภ์ ศิริไชย” เจ้าของกิจการที่ร้านสะดวกซื้อของตนเองถูกระเบิดเสียหายอย่างรุนแรงก็บอกว่า “ก็ต้องสู้ต่อไป เร่งซ่อมเพื่อเปิดให้เร็วที่สุด ถ้าแผนรักษาความปลอดภัยออกมาดีก็เชื่อว่าคนจะกลับมา”  
          ทั้งหมดนี้คือภาพการฟื้นฟู ที่หลายมือพยายามที่จะยื่นเข้ามาช่วยเหลือนำพาชาวยะลาฝ่าวิกฤติคาร์บอมบ์ ฟื้นความเชื่อมั่น เพื่อให้บรรยากาศการค้าการลงทุนกลับมา ซึ่งนั่นหมายถึง อนาคตของคนพื้นที่ด้วยเช่นเดียวกัน.