Skip to main content

มติชนสุดสัปดาห์ 29 พฤษภาคม 2552 ฉ.1502

 

     ประโยคบอกเล่าซึ่งถูกกล่าวขานว่าการกลับมาของกลุ่มพันธมิตรฯ หลังจากภารกิจชุมนุมบนถนน 193 วัน ยุติลงชั่วคราว จะเป็นการกลับมาในรูปแบบของพรรคการเมือง

แยกอีกร่างหนึ่งเข้าไปสู่การต่อสู้ในรัฐสภา

แม้จะคาดเดาได้โดยง่ายว่า "พรรคประชาธิปัตย์" ต้องรู้ร้อนรู้หนาวอยู่บ้างกับกระแสของประโยคบอกเล่าดังกล่าว อย่างน้อยก็ในฐานะผู้กุมฐานเสียงในภาคใต้แบบผูกขาดมาหลายสมัย

แต่ก็ไม่อาจฟันธงได้ว่าบริบททางการเมืองของ "พรรคพันธมิตร" หรือ พปป.ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะกลายเป็นมิตรหรือศัตรู หรือคู่แข่ง กับ พรรคสะตอ ในอนาคต

เมื่อหมู่มวล "มิตร" ส่วนใหญ่ของ พปป. คือฐานเสียงของ ปชป.

สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรฯ และโฆษกประจำตัว นายสนธิ ลิ้มทองกุล วิเคราะห์ระยะทางที่พันธมิตรได้ใช้เวลาก้าวเดิน รวมถึงเส้นทางที่กำลังจะมุ่งไปในอนาคต

เส้นทางของพันธะแห่งการสร้างมิตร ซึ่งสอดรับเป็นจังหวะเดียวกับที่มิตรอาจจะแปรเป็นพันธะ

สุริยะใสมองว่าช่วงที่พันธมิตรฯ ยุติการเคลื่อนไหว ต้องใช้โอกาสนี้สำรวจ วิเคราะห์ขุมกำลังว่าที่ผ่านมา หรือข้างหน้า ใครบ้างเป็นแนวร่วมที่ถาวร ใครที่พร้อมเป็นมิตร ใครที่ถอยตัวออกห่าง ด้วยเงื่อนไขหรือทัศนะแบบไหน

เพราะ สุริยะใสเชื่อว่า การเป็นพรรคจะช่วยยกระดับการต่อสู้ของพันธมิตรฯ ในฐานะการเมืองภาคประชาชน ที่ถูกบังคับด้วยสภาพทางกฎหมาย มีกติกา มีสาขาพรรค

"แต่เราไม่ได้คิดว่าพันธมิตรฯ ต้องไปขึ้นกับพรรค พรรคเป็นแค่เครื่องมือชนิดหนึ่งของการต่อสู้ในสถานการณ์ใหม่ นี่อาจเป็นเงื่อนไขการจัดตั้งมวลชนของเรามีความเข้มแข็ง ไม่เหมือนแต่ก่อนที่พันธมิตรฯ มันหลวมๆ พอเป็นพรรคโอกาสการจัดตั้งเชิงอุดมการณ์มันมีค่อนข้างสูงกว่าพันธมิตร"

"พันธมิตรฯ เองก็ยอมรับว่าคิดมาก ว่าจะไปต่อกันอย่างไร หรือเอาแค่ไล่ทักษิณจบแล้วกลับบ้าน ก็จะเห็นว่าพอหลังรัฐประหาร 2549 เราก็ยุติภารกิจ ก็คือแยกย้ายกันกลับ แต่การต่อสู้รอบใหม่เรารู้ว่ามันไม่ใช่ เวลาเราพูดเรื่องกู้ชาติ ปี 2549 เราพูดกันเต็มๆ กู้ชาติแล้วใครได้ กู้ชาติไปให้ใคร ดึงอำนาจจากฝ่ายการเมืองกลับมาให้สังคม แล้วก็มีนักการเมืองจอมปลอม นักเลือกตั้งคนใหม่เข้ามาสวาปาม ใช้อำนาจไปในทางเอื้อประโยชน์พวกพ้อง มันก็แค่นั้น

เพราะฉะนั้น เราคิดว่าเวลาที่เราพูดเรื่องกู้ชาติ เราต้องคิดเรื่องสร้างชาติด้วย

เพราะฉะนั้นปี 2550-2551 ผมว่ามันเป็นกระแสสร้างชาติแล้ว จึงเป็นที่มาของการคิดเรื่องการเมืองแบบใหม่ ต้องทำอะไรใหม่ๆ โดยเฉพาะสถาบันการเมืองที่ผูกเกี่ยวอยู่กับอำนาจรัฐ ต้องปฏิรูปกันใหม่ ซึ่งนัยหนึ่งก็คือภารกิจของการสร้างชาติ ที่ไปไกลกว่ากู้ชาติ"

"เราเริ่มเห็นและตกผลึกกันว่า มันไม่ใช่เรื่องทักษิณแล้ว ที่เป็นปัญหาขณะนี้มันมีอะไรมากมายกว่าทักษิณ เช่นปัญหาเรื่องโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาความยากจน ปัญหาระบบการเมืองแบบเก่า มันใหญ่กว่าเรื่องทักษิณ ฉะนั้น ถ้าเราคิดว่าพันธมิตรมีต้นทุน มีพลัง มีความเสียสละ มีความกล้าหาญ พวกเราน่าจะทำอะไรให้บ้านเมืองได้มากกว่ามาไล่รัฐบาลที่เราคิดว่าคอร์รัปชั่น และเป็นรัฐบาลที่ทรราชย์ อันนี้เป็นที่มาเรื่องพรรคจึงถูกนำมาคิด"

"แล้วผมก็กล้าพูดได้เลยว่า หลังการชุมนุม 193 วัน กระแสเรื่องพรรคถูกจุดจากข้างล่าง ผมยืนยัน ถูกจุดจากมวลชน ยอมรับว่าปี 2549-2550 เรานั่งคิดนั่งคุย แกนนำประชุมก็คุยกันเรื่องพรรคตลอด แต่พอลงถนน 193 วัน รอบสองนี้ปี 2551 เราหยุดเรื่องนี้เลย หยุดหมายความว่าไม่คิดด้วย แล้วไม่ได้คิดว่าเลิกชุมนุมแล้วจะคิดเรื่องพรรค

พอ 3 ธันวาคม 2551 เรายุติการชุมนุมสลายกลับบ้านใครบ้านมัน เราคิดแต่เรื่องการช่วยเหลือเยียวยาคนเจ็บคนตายอย่างไร เรื่องคดีเราจะสู้ต่ออย่างไร เรื่องการเมืองแบบใหม่ผมยอมรับเลยว่า เราโยนโจทย์นี้ให้กับสังคมด้วยซ้ำไป ไม่ได้คิดว่าพันธมิตรฯ ต้องเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงอะไร เพราะโจทย์นี้มันใหญ่เกินกว่าที่พันธมิตรฯ จะทำลำพัง"

"แต่หลายคนเจอเหมือนกันว่า มวลชนเดินมาหลังเวที พูดว่า เลือกประชาธิปัตย์มาทั้งชีวิต ไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไหน ตั้งพรรคเถอะ รอประชาธิปัตย์ไม่ไหวแล้วถ้าอยู่กันแบบนี้

นี่เป็นคำพูดของชาวบ้าน ของคนที่รู้สึกผูกพันกับประชาธิปัตย์ เจอแบบนี้เป็นกระแสมากขึ้นโดยลำดับ นี่ไม่ได้พูดเพื่อให้รู้สึกปลอบใจอะไร แต่มันก็น่าคิด และผมคิดว่าคงมีคนไม่น้อยที่เขารู้สึกแบบนี้

ผมเลยเชื่อว่าถ้าพันธมิตรฯ ตั้งพรรคขึ้นมาแล้วประกาศลงสนามเลือกตั้งในภาคใต้ ประชาธิปัตย์ต้องคิดมาก ในแง่จะปรับตัวอย่างไร"

ส่วน "มิตร" ที่ชื่อ "ประชาธิปัตย์" สุริยะใส บอกว่า มวลชนภาคใต้ที่ส่วนใหญ่เป็นประชาธิปัตย์ ก็เริ่มมีลักษณะของการตั้งคำถาม หวาดระแวงไว้ระดับหนึ่ง ว่าสุดท้ายพันธมิตรฯ จะมาคิดเรื่อง แข่งกับประชาธิปัตย์เอง หรือเปลี่ยนจุดยืนจากภาคประชาชนเป็นเรื่องผลประโยชน์ เป็นเรื่องของอำนาจหรือเปล่า

"มีคนเสนอสูตรว่า ต้องหลบกัน บางเขตก็ไม่ต้องส่ง มันก็เป็นอีกสูตรหนึ่ง แต่ผมคิดว่าเมื่อถึงที่สุด มันก็ต้องสู้กัน ถ้าประชาธิปัตย์ไม่ปรับตัว ยังเป็นพรรคที่คิดว่าการเมืองแบบนี้ไปได้ ก็ต้องสู้กับประชาธิปัตย์ ผมคิดว่าไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นคู่แข่งทางการเมือง ถ้าเราเสนออะไรใหม่ๆ แล้วมันก้าวหน้ากว่าประชาธิปัตย์ ก็จะบีบให้พรรคประชาธิปัตย์ปรับตัว"

"ผมยังไม่ได้มองว่าต้องไปเจาะฐานประชาธิปัตย์ หรือต้องไปเปลี่ยนสีฟ้าประชาธิปัตย์เป็นสีเหลือง ผมไม่คิดขนาดนั้น เพราะผมเองก็เข้าใจว่าอย่างไรเสียพันธมิตรฯ จะคิดบันไดกี่ขั้นก็ตาม ในระยะนี้ประชาธิปัตย์เป็นแนวร่วมที่สำคัญ เช่นกัน พันธมิตรฯ ก็ต้องถือว่าประชาธิปัตย์เป็นแนวร่วม ปฏิเสธไม่ได้หรอก ในภาวะที่ต้องพึ่งพิงพึ่งพากัน ผมจึงไม่ได้คิดว่าต้องเอาให้ได้ ต้องลงเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ควรจะปักธงขนาดนั้น แต่ถ้าทุกอย่างราบรื่น ก็ต้องดูจังหวะยุบสภา จังหวะเลือกตั้งอีกที มันก็ไม่แน่

แต่ผมคิดว่ายังไม่ควรไปปักธงภายใน 3 เดือน ปีนี้ หรือปีหน้า ต้องพร้อมจริงๆ ต้องคุยให้มันตกผลึกจริงๆ"

"แน่นอน ผมคิดว่าเมื่อเราคิดเรื่องพรรค เราต้องคิดเรื่องการเข้าสู่อำนาจ ต้องคิดเรื่องยึดอำนาจรัฐ ต้องคิดเรื่องเป็นรัฐบาล ซึ่งเรามีสิทธิคิด ได้ไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเราคิดตรงนั้น เราก็ต้องคิดว่าเราเสนอใครให้เป็นตัวเลือกสังคมถ้าเราเป็นรัฐบาล แต่ผมไม่ได้คิดไกลว่า ว่าที่นายกฯ ต้องเป็นใคร มันยังต้องใช้เวลา แต่เราต้องเตรียมการบ้านเหล่านี้ไว้"

"ประเด็นขณะนี้มาอยู่ในจุดที่มีความคืบหน้าที่จะจัดความสัมพันธ์กับพันธมิตรฯ กับ 5 แกนนำอย่างไร เราเดินมาถึงจุดนี้ เรื่องของโมเดล เรื่องของอุดมการณ์ การบริหารจัดการ เรื่องนโยบาย ผมคิดว่าเราคุยกันจนค่อนข้างได้เรื่องได้ราวแล้วในทัศนะผม แต่มันติดอยู่ตรงนี้ ติดอยู่ว่าจะจัดความสัมพันธ์ 5 แกนนำ กับพันธมิตรฯ อย่างไร เพื่ออย่างน้อยๆ ต้องมีที่ยืนให้กับคนที่เห็นต่าง หรือแนวร่วมที่ไม่ได้แฮปปี้กับสูตรนี้ แต่พร้อมที่จะเข้าร่วมกับเรา พร้อมที่จะโหวตให้พรรคถึงแม้ไม่ใช่สมาชิกพรรค

การจัดความสัมพันธ์ตรงนี้ ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งยังมีเวลาพูดคุยกัน วันที่ 24 พฤษภาคม ที่จะมีการจัดสัมมนา ตรงนี้อาจจะมีความชัดเจนขึ้น ผมคงต้องสอบถามแกนนำหัวเมืองในต่างจังหวัดด้วยว่าเขาคิดอย่างไร"

บนความเคลื่อนไหวทั้งหลายทั้งปวง ปฏิเสธไม่ได้ว่า มิตรแท้และศัตรูถาวรไม่มีทางการเมือง

จึงไม่แปลก หากสุริยะใสจะบอกว่า การตั้งพรรคพันธมิตรฯ อาจเป็นเหตุแห่งพันธะเพียงข้อเดียวที่ต้องสร้างและรักษามิตรเอาไว้

หรืออีกนัยหนึ่ง อาจเป็นเพราะพันธะอย่างประชาธิปัตย์ จึงทำให้เกิดพรรคพันธมิตรฯ