Skip to main content
สมัชชา นิลปัทม์
 
หลังจากที่ได้อ่านบทที่ 3 ของหนังสือชื่อ “พลังกลุ่มไร้สังกัด” (Here Comes Everybody) ของเคลย์เชอร์กี้ (Clay Shirky) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผลกระทบของอินเทอร์เน็ตต่อสังคม ซึ่งมีเรื่องที่น่าบอกกล่าวเล่าถึงผู้อ่านอยู่เหมือนกันครับ
เชอร์กี้ กล่าวถึง ผู้ทำงานในตำแหน่ง “อาลักษณ์” ใน ศตวรรษที่ 15 ว่า ในสมัยที่ประชากรส่วนน้อยเท่านั้นที่“เขียนหนังสือ” ได้ ภูมิปัญญาและความรู้ทั้งปวงจึงถูกจดจารทีละบรรทัดลงบนต้นฉบับที่แสนจะเปราะบางและสามารถย่อยสลายลงไปได้ตามกาลเวลา กลุ่ม “อาลักษณ์” คือผู้ถนอมวัฒนธรรมความทรงจำให้กับสังคมพวกเขาทำการลอกต้นฉบับด้วยลายมือ การผลิตซ้ำกระทำด้วยวิธีการเดียวกันในปริมาณอันน้อยนิดและเชื่องช้า
            “อาลักษณ์” จึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้ทรงปัญญาทั้งนี้ยังเป็น “วิชาชีพ” ที่มีทั้ง “สถานภาพ” และ “อำนาจ” อันเป็นที่ยอมรับในสังคม
            ชัดเจนว่าภายใต้บริบทแวดล้อมขณะนั้นบทบาทของพวกเขาต่อภูมิปัญญาทางสังคมจะปราศจากเขาหรือหาสิ่งใดมาทดแทนย่อมหาไม่ได้
ปลายศตวรรษที่ 15 โยฮันส์ กูเต็นเบิร์ก (Johannes Gutenburg) ประดิษฐ์แท่นพิมพ์สำเร็จ งานในการสำเนาต้นฉบับงานเขียนได้ลดความยุ่งยาก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มนุษย์สามารถ “สำเนา” (copy) ต้นฉบับได้เร็วกว่าการ “อ่าน” หนังสือเสียอีก บรรดา “อาลักษณ์” ซึ่งถูกให้ค่าว่าเป็นผู้อุทิศตนให้กับการรู้หนังสือแบบดั้งเดิม มีการให้ความหมายของหนังสือในฐานะ “คุณธรรม” ที่อิงแอบกับศาสนจักรอันสูงส่งอาจรู้สึกสับสนว่า “ตัวพิมพ์” หมายถึงอะไร

ประเด็นก็คือความรู้และเทคนิคในการทำหนังสือซึ่งเคยเป็น “ทักษะ” แสนยาก ที่สร้างให้ “อาลักษณ์” เป็นผู้มีความสำคัญ เมื่อถูกทดแทนด้วยการพิมพ์ (แบบโบราณ) ในความเร็วและปริมาณที่มากว่าเดิมหลายเท่า “ทักษะแสนยาก” ที่สั่งสมในระบบการศึกษาแบบโบราณมานานหลายชั่วคนถูกทดแทนอย่างง่ายดายทั้งยังทำหน้าที่ได้สมบูรณ์มากกว่าอีก
นี่จึงเป็นคำถามบนทางแพร่งที่ว่า เราจะเลือกเมินเฉยต่อประเพณีดั้งเดิมหรือจะยังยึดมั่นกับวิธีการเก่าๆ ดี
ผลกระทบจากการคิดค้นแท่นพิมพ์ของกูเต็นเบิร์กก็คือ บาทหลวงมาร์ตินลูเธอร์ (Martin Luther) สามารถเขียนบทโจมตีโบสถ์คาธอลิก 95 ข้อและคัมภีร์ไบเบิลภาษาท้องถิ่นก็สามารถแพร่ขยายอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นเป็นปัจจัยที่ทำให้คนในท้องถิ่นสามารถเข้าใจศาสนาด้วยตนเองแทนที่จะผู้ขาดอยู่แต่ในมือของนักบวชและที่สำคัญมันช่วยให้การประท้วงของ มาร์ตินลูเธอร์ สัมฤทธิ์ผลจนนำมาสู่การสถาปนานิกายโปรเตสเตนส์ในเวลาต่อมา
ปลายศตวรรษที่ 15 บทบาทหน้าที่หลักของ “อาลักษณ์” ถูกทดแทนด้วยตัวพิมพ์ไปแล้วอย่างสมบูรณ์ แต่กระนั้นความรู้สึกของพวกเขาว่ามีความสำคัญต่อสังคมก็ยังคงเข้มข้นอยู่ถึงขั้นที่นักบวชในโบสถ์อันศักสิทธิ์ออกหนังสือเพื่อปกป้องประเพณีของอาลักษณ์ที่ชื่อว่า “บทสรรเสริญอาลักษณ์” (De Laude Scriptorum) เพื่อพยุงอาชีพนี้ไว้ตราบนานเท่านาน
กรณีดังกล่าว เคลย์ เชอร์กี้ เขียนไว้ในบทที่ 3 ของหนังสือว่า นี่คือผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผู้ที่ทำตัวเป็น “ผู้เฝ้าประตู” (gate keeper) ด้วยการทำบทบาทที่สังคมอยากได้หรือสังคมต้องมีมักมีความวิตกกังวลและหวงแหนสถานภาพดั้งเดิมในช่วงเวลาที่เป็น รอยต่อของระบบนิเวศที่ระบบเดิมกำลังล่มสลายและระบบใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนที่แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะผลดีต่อสังคมส่วนรวมก็ตาม
เรื่องเล่าของ “อาลักษณ์” กับ “แท่นพิมพ์” ไม่รู้ว่าพอจะเทียบเคียงกับ บริบทแวดล้อมของการเติบโตอย่างยิ่งของ “กล้องดิจิตอล” ที่ใครๆ ก็ “ถ่ายรูปได้” กับการมาของระบบเวบ 2.0 ที่ใครๆ ก็สื่อสารและบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้ด้วยตนเอง รวมถึงการขยายตัวของสื่อสังคมออนไลน์ที่มีลูกเล่นใหม่ๆ ให้ศึกษาไม่รู้จบได้หรือไม่
นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งของการเฝ้ามอง ณ รอยต่อของการเปลี่ยนผ่านด้วยความระทึกว่า “บทสรรเสริญอาลักษณ์” ที่เคยสร้างมาแล้วในปลายศตวรรษที่ 15 หากถูกนำมา “ฉายซ้ำ” ในศตวรรษที่ 21 เราอาจต้องมารอดูกันว่า “บทสรรเสริญ...”  นี้จะถูกแต่งขึ้นมาให้ใคร
 
หมายเหตุ: ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “ข้างกำแพง” หนังสือพิมพ์โฟกัสภาคใต้ ฉบับวันที่ 14 – 20 เมษายน 2555