รถลาดตระเวนของทหารแล่นเข้ามาในเขตบ้านพักน้ำตกปาโจ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
นักท่องเที่ยวที่มีเพียงเล็กน้อยแยกย้ายกันเข้าที่พัก สามทุ่มเศษแล้ว น่าจะเหลือแต่กลุ่มพวกเราที่ยังนั่งแลกเปลี่ยนพูดคุยกันอยู่กลางลานโล่งแจ้ง
แสงดาวพราวฟ้า อากาศเดือนตุลาฯ กำลังสบาย การปรากฏกายของทหารและอาวุธปืนครบมือทำให้ทุกอย่างสะดุดไม่มีใครพูดอะไรเกี่ยวกับทหาร แต่ก็รู้สึกสัมผัสได้ว่าพวกเขาอึดอัด
“มาทุกวันเลยเหรอ” ผมถามลอยๆ “ก็แบบนี้แหละพี่ วันไหนไม่มาอาจจะเหงา”
จริงของเขา ตอนกินข้าวเมื่อเช้า ทหาร 3-4 นายก็เดินเข้ามาสอบถามตรวจตราว่าพวก
เราเป็นใคร มาทำอะไร ผู้คนที่นี่เขาอยู่กันแบบนี้ วันดีคืนดีทหารนึกจะเดินเข้าออกบ้านไหนเมื่อไรก็ได้
วัดจากประสบการณ์ตรงที่ผมลงมาทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เมื่อปี 2549
และอีกครั้งที่แวะมาหาเพื่อนในเดือนพฤศจิกายน 2551 การกลับมาครั้งนี้ผมเห็นว่ามีทหารเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก นอกเหนือจากด่านตรวจที่มีให้เห็นบ่อย ริมถนนหลายสายมีการวางกำลังเป็นจุดๆ เรียกว่าลงจากเครื่องที่สนามบินบ้านทอน นั่งรถเข้าเมือง สองข้างทางก็เต็มไปด้วยพนักงานต้อนรับในชุดทหารและอาวุธปืนซึ่งเข้าใจไม่ได้ว่าทำไมฝ่ายกองทัพเลือกแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้
7 ปีผ่านไป ตัวเลขผู้เสียชีวิตจำนวนเกือบห้าพันศพชัดเจนอยู่แล้วว่าปืนไม่ใช่ทางแก้ แต่ก็ยังยืนยันทำตามความคิดความเชื่อแบบเดิมๆ
ไปไหนก็เจอแต่ทหาร ไปไหนก็เจอแต่ปืน ความผิดปกติในหมู่บ้านร้านตลาด กลายเป็นความปกติที่เลือกไม่ได้และจำเป็นต้องยอมรับ
ซุลกีฟลี อาแว ไม่ได้ยอม เขาแค่ไม่มีสิทธิปฏิเสธ
ผมลงนราธิวาสอีกครั้ง ด้วยการชวนเพียงประโยคเดียวจากเพื่อนสมัยเรียนหนังสือด้วยกันที่นครปฐม เกือบๆ 20 ปีที่จากกันไปเธอกลายเป็นนักสิทธิมนุษยชนที่รู้เรื่องปัญหาชายแดนภาคใต้มากที่สุดคนหนึ่งของประเทศนี้
บ้านอยู่กรุงเทพฯ แต่อย่างน้อยทุกเดือนก็ต้องหอบผ้าผ่อนลงมาดูเคส ตามสถานการณ์และวิ่งเข้าวิ่งออกศาลราวกับเป็นบ้านที่สอง
เมื่อเกาะติดใกล้ชิด มีผลงานชัดเจน เครือข่ายของเธอจึงแข็งแรงขึ้นตามวันเวลา
รู้จักตำรวจทหาร และอีกด้านหนึ่งก็เป็นเสมือนญาติพี่น้องกับเหยื่อจากควันสงครามกลางเมือง
ล้อเล่นกันได้ไม่ถือสา และสู้ยิบตาในบทบาทหน้าที่อันเกี่ยวโยงกับกฎหมายและสิทธิต่างๆ
ที่มากันวันนี้ว่าไปนี่ไม่ใช่การงานที่เธอต้องทำ แต่ก็อีกนั่นแหละเธอมองเห็นว่าจำเป็นต้องทำ
ซุลกีฟลี อาแว และเพื่อนคนหนุ่มสาวอีกราว 20 คน รวมกลุ่มกันมาเรียนการเขียนที่น้ำตกปาโจ พวกเขาผิดหวังและเหนื่อยหน่ายกับข่าวสารที่พูดถึงสามจังหวัดด้วยประเด็นเดียวคือเรื่องความรุนแรง พูดแบบเดียวคือจากบนลงล่าง พูดด้วยสายตาคนนอก-ใช่,คนนอกที่ไม่สนใจไยดีเลยว่าแผ่นดินนี้ ปัญหานี้มีที่มาที่ไปอย่างไร
ถ้าพูดเองได้บ้างมันก็คงดี
ซุลกีฟลี อาแว มีเรื่องที่อยากพูด มีความเจ็บปวดที่อยากสื่อสารระบาย แต่ไม่รู้วิธี ไม่มีทักษะ
สรุปความแบบสั้นๆ จากการนั่งคุยกันยาวๆ ก็คือถ้าเชื่อในวิธีตาต่อตา ฟันต่อฟัน หรือหมายมั่นว่าปืนและความรุนแรงจะแก้ปัญหาได้ เขาคงไม่มานั่งเรียนการอ่านการเขียนในวัยที่พ้นจากรั้วโรงเรียนนานแล้ว
รอยยิ้มบนใบหน้าสะอาดสะอ้านไม่มีอะไรบ่งบอกเลยว่าเขาเคยติดคุก 4 ปี
ซุลกีฟลี หรือ ‘ลี’ เล่าว่าเขาถูกจับข้อหาวางระเบิดในตัวเมืองยะลา หลังเหตุการณ์ไม่กี่วันรถตู้คันหนึ่งและตำรวจทหารอีกจำนวนหนึ่ง มาจับตัวเขาที่บ้าน พอลากขึ้นรถได้ก็รุมซ้อมและข่มขู่ว่าถ้าไม่สารภาพ ก็อย่าหวังว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไป
นอกจากลี ไม่มีใครรู้ว่าความจริงคืออะไร เขาทำผิดจริงตามข้อกล่าวหาหรือว่าไม่ได้ทำ ข้อเท็จจริงคือในฐานะจำเลย เขาไม่มีสิทธิต่อสู้ใดๆ พรก.ฉุกเฉินให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเต็มร้อย
ผมถามเขาว่าทำใจอย่างไร อยู่อย่างไร โดยเฉพาะสองเดือนแรกที่ถูกขังเดี่ยวและล่ามโซ่ตีตรวน
ลีบอกว่าเขามีชีวิตอยู่รอดได้ด้วยศาสนา
“ขอพระเจ้า ขอให้เราได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ ขอพระเจ้าให้เราจงอดทนและเรียนรู้ชีวิต”
ในคุก แม้ไม่มีกำหนดและไม่รู้อนาคตใดๆ เขามีหวังมีฝันเสมอว่าวันหนึ่งจะต้องคืนสู่อิสรภาพ
มันเป็นจริงจนได้ในวันนี้ แม้ยังต้องต่อสู้คดีอยู่ ดูลีไม่หวั่นไหวเขามั่นใจว่าสุดท้ายความจริงและความถูกต้องย่อมปรากฏ
4 ปีในคุกยาวนานเหลือเกิน เขาจดจำมันได้แม่นยำ จำและตั้งใจอยากเขียนเล่าเรื่อง เพื่อสะท้อนปัญหาของกระบวนการยุติธรรมภายใต้กฎอัยการศึก
รอยยิ้มและแววตาเข้มแข็งของลีบ่งบอกว่าคุกทำอะไรเขาไม่ได้เลย เจ็บปวด แต่เขาไม่ยอมแพ้ เสียใจ แต่เขาไม่อ่อนแอ ตรงกันข้ามดูเหมือนจะกลายเป็นตัวช่วยเพิ่มช่วยผลักให้มีพลังมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ เพราะจากเดิมที่กังวลว่าออกจากคุกมาเพื่อนๆ จะรังเกียจ พอได้เจอได้คุย ทุกคนก็เข้าใจ เชื่อใจและมีความรู้สึกเดียวกันว่าต้องนำเรื่องราวเหล่านี้เสนอต่อสาธารณะ เพื่อชำระล้างมลทินในผืนแผ่นดินในสามจังหวัดชายแดนใต้
นอกจากต่อสู้คดี ผมถามเขาว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่
ลีบอกว่าเรียนหนังสือ ต้องเรียนอีกหลายปีเพราะหยุดไปนานแต่อย่างไรก็จะมุ่งมั่นเรียนให้สำเร็จ เพื่อว่าวันหนึ่งจะได้ทำงานตามความใฝ่ฝันคือเป็นครูสอนศาสนา
“อยากสอนเด็กปอเนาะ” ซุลกีฟลี อาแว ยิ้ม ชั่วชีวิตผมน่าจะลืมรอยยิ้มนี้ยาก มันเป็นรอยยิ้มของคนผ่านร้อนผ่านหนาว ยิ้มอ่อนโยน แต่เด็ดเดี่ยว สงบ คล้ายโลกนี้ไม่มีเรื่องใดต้องหวั่นไหว
ตอนกลางวัน แรกที่พบกันใหม่ๆ ช่วงแนะนำตัว เด็กหนุ่มที่ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการแจกกระดาษให้ทุกคนวาดรูปเพื่อบอกเล่าว่าเป็นใคร ทำอะไรอยู่ และกำลังครุ่นคิดหรืออยากให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย ภาพส่วนใหญ่พูดเรื่องความไม่สงบในพื้นที่ กดดัน บั่นทอน อยากหลุดพ้นภาวะนี้ไปเสียที อับดุลเลาะ บากา ไม่ใช่ศิลปิน แต่จนนาทีนี้ผมยังจำภาพวาด
ที่มีพลังของเขาได้แม่นยำ
ภายใต้โจทย์ความเป็นจริงที่พบเผชิญอยู่ นักศึกษาปริญญาโทคนนี้เขียนลายเส้นด้วยปากกาสีดำบอกเล่าชีวิตคนสามจังหวัดว่าถูกกักขังอยู่ในกรอบ (น่าเศร้าว่ากรอบนั้นคือกฎหมายพิเศษซึ่งคนกรุงเทพฯ คงนึกไม่ออกแล้วว่าทำไมและอย่างไร) นอกกรอบมีรูปคนเขียนบรรยายบนภาพว่า ‘กูเป็นเจ้านาย’
ภาพที่สอง โจทย์บอกว่าให้วาดรูปสิ่งที่อยากเห็น อับดุลเลาะเปิดกรอบหรือคุกที่กักขังนั้นออก หันกระบอกเสียงไปทางเจ้านาย
เรียกร้องขอความยุติธรรม ความอิสระและสันติภาพใต้ภาพ เขาเขียนลายลักษณ์อักษรกำกับว่า ‘เอากรอบที่วางไว้ออกไป’
จากภาพดังกล่าว ผมชวนอับดุลเลาะคุยถึงความอึดอัดในรอบหลายปีที่ผ่านมาว่าคิดอะไร เห็นอะไร ภายใต้กรอบกฎหมายที่แตกต่างจากกฎหมายของคนอีก 70 กว่าจังหวัดทั่วประเทศ ถึงพยายามรวบรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ รณรงค์ให้ยกเลิกแก้ไข กลับไปใช่กฎหมายปกติ
เขาชี้ปัญหาว่า พรก.ฉุกเฉินคือตัวการสำคัญในการลดสิทธิเสรีภาพต่างๆ ของคนสามจังหวัด โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงความยุติธรรมที่พึงควรจะได้รับ วัตรปฏิบัติประเภทนึกจะจับใครก็จับ โดยไม่ต้องมีหมายศาลควรจะหยุดเสียที
คนที่โดนกฎหมายนี้เล่นงาน พอได้รับการปล่อยตัว ชาวบ้านจะมองว่าเขาเป็นแนวร่วมของขบวนการก่อความไม่สงบ และเป็นที่จับตาของรัฐ โทรศัพท์ถูกดักฟังซึ่งแน่นอนว่ามันละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
“เจ้าหน้าที่จทำอะไรก็ได้ ไม่ว่าซ้อม ทรมานด้วยวิธีต่างๆ เพราะกฎหมายนี้คุ้มครอง และยังไงชาวบ้านที่ถูกกระทำก็ไม่กล้าฟ้องร้อง”
อับดุลเลาะบอกว่าผลจากการไล่จับมั่ว มีหลายคนที่โดนเพ่งเล็งต้องหลบหนีเพราะไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม หลายครอบครัวจึงตกอยู่ในสถานการณ์บ้านแตกสาแหรกขาด
“ผมมองว่ายิ่งรัฐเลือกใช้กฎหมายนี้มากเท่าไรก็ยิ่งสร้างศัตรูให้ตัวเองมากขึ้น อย่าลืมว่าคนที่ถูกจับ ถ้าเขาบริสุทธิ์ ทั้งตัวเขาเองและเพื่อนฝูงญาติพี่น้องก็ต้องมองเจ้าหน้าที่รัฐในทางลบ หาทางต่อต้านและมองรัฐเป็นศัตรู”
อับดุลเลาะรักในแผ่นดินเกิด ทรัพย์ในดินสินในน้ำของสามจังหวัดอุดมสมบูรณ์ ผลไม้ท้องถิ่นอย่างมังคุด ลองกอง แค่กินแล้วโยนเมล็ดทิ้งก็งอกเองรอบบ้าน ปูปลาหากินง่าย ทุกอย่างเอื้อต่อการมีชีวิตที่ดี ยกเว้นการจัดการของรัฐและกฎหมายที่กดหัวผู้คน
“อึดอัดที่ออกไปไหนก็ต้องคอยระวังตัว เดี๋ยวโดนตรวจโดนค้นต้องอยู่เงียบๆ ไม่มีใครกล้าแสดงความคิดความเห็นมาก เพราะจะเป็นเป้าและอาจโดนเล่นงานจาก พรก.ฉุกเฉินได้”
เหมือนเพื่อนๆ ทุกคน เขาอยากมีชีวิตอยู่ปกติ ภายใต้กฎหมายปกติ 6-7 ปีที่ผ่านมาอธิบายชัดเจนแล้วว่าปืนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา กฎหมายที่ให้อำนาจรัฐเกินร้อยเช่นนี้หยุดเหตุร้ายในพื้นที่ไม่ได้ ยิ่งแก้ด้วยความรุนแรง ก็มีแต่ได้รับความรุนแรงตอบโต้
อับดุลเลาะ บากา พูดตรงไปตรงมาเหลือเกินว่าถ้าเขาเชื่อในกระบอกปืนก็คงไม่มาเข้าค่าย 3-4 วัน เพื่อฝึกหัดขีดเขียน แต่ด้วยเชื่อในเหตุในผล เชื่อเรื่องการสื่อสาร เขาจึงอยากเขียนบอกเล่าแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อว่าวันหนึ่งสังคมของเราจะได้แก้ปัญหาด้วยการพูดจา ด้วยสติปัญญา ด้วยวิถีแห่งอารยะ
ไม้ใหญ่ริมธารน้ำตกปาโจร่มรื่น 5 ปีก่อนผมเคยแวะมาหา ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ที่นี่ ตอนนั้นช่างภาพสัตว์ป่าเจ้าของผลงาน ‘มิตรภาพต่างสายพันธุ์’ ปักหลักทำงานเรื่องนกเงือกอยู่เป็นปีเฝ้าบันทึกภาพและเขียนสารคดี เพื่อสร้างความรักความเข้าใจระหว่างคนกับสัตว์ และคนจากพื้นที่หนึ่งกับคนอีกพื้นที่หนึ่ง
วันนี้ผมกลับมาที่ปาโจอีกครั้ง กลับมาด้วยความหวังว่าต่อไปถ้ามาอีก คงไม่ต้องคิดเรื่องการขีดเขียนอย่างไรผมก็ไม่มีทางเข้าใจปาโจเท่ากับคนปาโจ ไม่รู้จัก นราธิวาสเท่าคนนราธิวาส พวกเขาอยู่ที่นี่ พวกเขารู้
และมันเป็นสัญญาณที่ดี เมื่อพวกเขาเลือกที่จะพูด
major-bidi;mso-bidi-theme-font:major-bidi">