Skip to main content

อัล อัค เรียบเรียง

          การให้ความเห็นบางอย่างต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอาจทำให้คนๆ นั้นถูกกล่าวหา ว่าเป็นอีกฝ่ายได้ง่ายๆ ยกตัวอย่างนักวิชาการบางท่านต่อต้านอดีตผู้นำอิรัก เมื่อสิบกว่าปีก่อนก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกนิยมอิหร่าน พอช่วงสงครามอ่าวรอบแรก ก็เป็นพวกสอูดียฺ พอมาสงครามอ่าวรอบสอง ก็เป็นพวกสนับสนุนชีอะฮฺและอเมริกา ทั้งที่การต่อต้านอดีตผู้นำท่านนี้อยู่ในประเด็นของการสังหารหมู่ผู้คน บริสุทธิ์ที่มีหลักฐานที่ชัดเจน

          พวกเราชอบเป็นพวกเกลียดใครเกลียดจริง รักใครก็เทให้หมดใจ แบ่งฝ่ายแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจนชนิดที่ว่าศัตรูของศัตรูคือเพื่อนเรา หรือศัตรูของเพื่อนเราต้องเป็นศัตรูของเราด้วย โดยไม่คำนึงว่าใครจะถูกผิดอย่างไร

          ผมยังพบอีกว่าคนมุสลิมที่เคร่งครัดศาสนาจำนวนไม่น้อยออกอาการไม่พอใจอย่างยิ่ง ที่นักวิชาการมุสลิมบางท่านวิจารณ์อดีตผู้นำประเทศเพื่อนบ้านของเรา ซึ่งมีชื่อเสียงในการเผชิญหน้ากับตะวันตกพาลทำให้นักวิชาการเหล่านี้ถูกตั้ง ข้อหาเป็นสมุนตะวันตกได้ง่ายๆ ทั้งที่คำวิจารณ์นั้นเป็นประเด็นเรื่องของการประกาศใช้ชะรีอะฮฺ ไม่ใช่เรื่องต่อต้านชาติตะวันตก

          ตัวอย่างในช่วงสงครามอิรักอิหร่านเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน มุสลิมมักแบ่งเป็นสองฝ่าย หากสนับสนุนฝ่ายใดก็เกลียดอีกฝ่ายหนึ่ง ท่าทีแบบนี้ไม่ใช่ท่าทีที่ผมคิดว่าถูกต้อง เป็นไปได้ว่า การที่คนหนึ่งประณามอีกฝ่าย เขาก็ไม่จำเป็นที่ต้องเห็นด้วยกับอีกฝ่ายหนึ่ง น่าเสียดายที่ผมแทบจะไม่พบใครที่มีจุดยืนเช่นนี้เลย

          การที่เราไม่ชอบใครก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปรักศัตรูของคนนั้นเสมอไป ตรงกันข้ามศัตรูของคนที่เราไม่ชอบ เราอาจจะชิงชังยิ่งกว่าเป็นพันๆเท่าก็ได้

          ในสังคมมุสลิมของเราก็เช่นกัน สมัยหนึ่งผมปวดหัวมากกับการแบ่งขั้วทางการเมืองเป็นประชาธิปัตย์และความหวังใหม่  ในทางแนวคิดศาสนาเราก็แบ่งเป็นใหม่เป็นเก่าชัดเจนเหลือเกิน ชนิดที่ว่าเหมือนกับติดป้ายกันเลย  และตามด้วยการแบ่งเป็นทีมย่อยๆ อีก เป็นใหม่ทีม ก. กับใหม่ทีม ข. หรือเก่าทีมท่านอะลิฟ กับเก่าทีมท่านบา หากใครไม่แบ่งตามนี้ก็หาว่าเป็นพวกไม่มีจุดยืน พาลจะถูกเรียกว่ามุนาฟิกเสียด้วยซ้ำ ทั้งที่เรื่องจุดยืนนี้มันใช้กับเรื่อง “เด็ดขาด” เช่น ละหมาดห้าเวลา อะไรทำนองนั้น

          จริงๆ แล้วท่าทีแบบนี้ มันไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะมุสลิม(ย้ำนะครับว่าคนมุสลิม ไม่ใช่อิสลาม) แต่มันเป็นปัญหาของคนทั่วโลก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเลือกเกลียดเข้าไส้และรักหมดหัวใจ

          บางทีท่าทีแบบนี้มันก็ไร้เหตุผลจนไม่รู้จะขำดีหรือเปล่า เช่นสมัยก่อนเวลาบอลพม่ามาแตะกับไทย ด้วยความที่คนไทย(ยุคผม)ถูกยัดเหยียดให้เรียนประวัติศาสตร์โดยเอาพม่าเป็น เป้าแห่งความเป็นศัตรู เพื่อปลุกวิญญาณชาตินิยม คนไทยมักใส่อารมณ์เครียดแค้นนักบอลพม่าเสียเหลือเกิน ทั้งที่ฝ่ายพม่าเขาไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น ศัตรูของพวกเขาเป็นชาติอาณานิคมคืออังกฤษ พม่าก็คงแปลกใจไม่น้อยว่า ทำไมพวกเอ็งจงเกลียดจงชังข้านัก(ว่ะ) เราก็ชาวพุทธเหมือนกัน

          ผมสังเกตว่า คนในโลกตะวันตกกำลังอยู่ในอารมณ์ที่รุนแรงแบบนี้กับคนมุสลิมหลายเท่านัก อารมณ์ชนิดนี้แสดงให้เห็นทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุโจมตีคนตะวันตก ถึงขนาดออกมาจากปากของผู้นำตะวันตกบางคนที่พูดจาดูหมิ่นอิสลาม มันเป็นอารมณ์ที่ขาดการนั่งตรวจสอบที่มาที่ไป เบื้องหน้าเบื้องหลัง แล้วให้เหตุผลที่ฟังดูแล้วอยากร้องให้เสียเหลือเกินอย่าง “มัน(มุสลิม)อิจฉาเรา” มันถึงทำอย่างนี้กับเรา

          อาการเหล่านี้เป็น “อารมณ์” รักและเกลียดที่ขาดการควบคุมมันจึงพัฒนาไปแบบสุดขีดสุดขั้ว แสดงออกด้วยการเป็น “ข้างเรา” และ “ข้างมัน” อย่างชัดเจน

          ผมพบว่าคำสอนอิสลามเอาจริงเอาจังมากกับการจัดการกับอารมณ์เหล่านี้ให้สมดุลและมีทิศทางที่ถูกต้อง เริ่มจากการนำ “ความรัก-ความเกลียด” ผูกกับอีหม่าน(ความศรัทธา)ดังที่เราเคยได้ยินบ่อยๆว่า “รักเพื่ออัลลอฮฺ และเกลียดเพื่ออัลลอฮฺ” และให้ความรักที่มีต่ออัลลอฮฺและนบีเป็นแก่นแท้ของศรัทธาที่เรียกว่า “ความหวานแห่งอีหม่าน” (ดังปรากฏรายงานของมุสลิม)

          ความรักและความเกลียดที่ถูกนิยามใหม่นี้ เป็นความรักที่ต้องแสดงออกด้วย “การปฏิบัติตาม” บรรทัดฐานของอิสลาม ดังที่ปรากฏในอัลกุรอานว่า  “จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮฺ ก็จงปฏิบัติตามฉัน อัลลอฮฺก็จะทรงรักพวกท่าน..” (อัลกุรอาน 3:31)

          การตามนี้เองทำให้เราพบกับการปฏิบัติที่สมดุลต่อ “กลุ่มของเรา”  ด้วยแนวทางที่ท่านนบีเคยกล่าวว่า “จงช่วยเหลือพี่น้องของท่านไม่ว่าเขาเป็นผู้กดขี่หรือผู้ถูกกดขี่” บรรดาเศาะฮาบะฮฺก็แปลกใจ เพราะเมื่อถูกกดขี่นั้นเข้าใจได้ แต่การช่วยเหลือผู้ที่กดขี่นั้นจะช่วยแบบไหน ท่านนบีตอบว่า “ยับยั้งเขาจากการกดขี่” (อ้างจากเศาะฮีฮฺ อัต ติรมิซียฺ 2255)

          การสร้างอีหม่านบนพื้นฐานของ “รักเพื่ออัลลอฮฺ และเกลียดเพื่ออัลลอฮฺ” และเงื่อนไขของความรักคือการ “การปฏิบัติตาม” บรรทัดฐานของอิสลาม เป็นเรื่องเร่งด่วนของการสร้างสังคมมุสลิมเรา

          เพราะถ้าเราขาดเรื่องนี้เราจะความแตกต่างอะไรกันเล่า กับศัตรูที่ได้ยึดครองดินแดนของเรา