Skip to main content

 

 

วันที่ 4 พฤษภาคม 2555

แถลงการณ์ร่วม
ประณามเหตุสังหารกำนันสายบุรีและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองรวม 4 คน
สนับสนุนนโยบาย สมช. เรียกร้องรัฐบาลบูรณาการนโยบาย จชต. ระหว่างองค์กรรัฐในพื้นที่
ส่งเสริมการมีส่วนรวมของประชาชน สร้างโอกาสพัฒนารองรับสมาคมอาเซียนปี พ.ศ.  2557

 

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 บนถนนทางหลวงสาย 42 ระหว่าง นราธิวาส-ปัตตานี ม.6 บ้านบาโงมูลง ต.เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี  ได้เกิดเหตุคนร้ายจำนวนมากกว่า 5 คน ยิงนายสังวรณ์ สุวรรณราช อายุ 57 ปี กำนันตำบลทุ่งคล้า อ.สายบุรี ,นายปรีชา ทองเอียด 48 ปี เป็นสารวัตรกำนัน, นางสุภาพร เจริญสุข อายุ 45 ปี ผู้ช่วยกำนัน และนางสาวพรทิพย์ โพธิ์เงิน อายุ 43 ปี ผู้ช่วยกำนัน พร้อมทั้งได้นำอาวุธปืนและเงินจำนวนหนึ่งไปด้วย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดมาได้สะท้อนถึงความรุนแรงและการไม่แสดงความรับผิดชอบในการกระทำของผู้กระทำว่ามีจุดมุ่งหมายใด เพียงการก่ออาชญากรรมมุ่งให้เกิดความสูญเสียที่มิอาจประเมินค่าได้ เหตุในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินซึ่งปรากฏว่ารัฐไม่สามารถสืบสวนสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่นำคนผิดมาลงโทษ และไม่มีมาตรการป้องกันเหตุที่เหมาะสมเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงและปลอดภัยให้กับประชาชนและสังคมสาธารณะ  เรียกร้องให้ทุกฝ่ายสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)[1] และบูรณาการนโยบายจังหวัดชายแดนใต้ระหว่างองค์กรรัฐในพื้นที่พร้อมทั้งส่งเสริมการมีส่วนรวมของประชาชน สร้างโอกาสพัฒนารองรับสมาคมอาเซียนปี พ.ศ. 2557  

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจ จังหวัดสงขลา ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้สูญเสียในทุกกรณี และขอประณามการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ ไม่ว่าการก่อเหตุดังกล่าวจะมีเหตุจูงใจจากการก่ออาชญากรรมหรือการก่อความไม่สงบที่นำมาสู่ความสูญเสียทั้งร่างกายและจิตใจ และทำลายคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และทำลายบรรยากาศความพยายามของทุกฝ่ายในการจัดการปัญหาความขัดแย้งแบบสันติวิธี ความสับสนและความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ 

จากเหตุการณ์รายวันที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2555 จนถึงปัจจุบัน พิจารณาได้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ยิ่งเลวร้ายลง ผู้ได้รับผลกระทบประกอบไปด้วยประชาชนผู้นับถือศาสนาพุทธ มุสลิม ประชาชนผู้ทำงานให้กับราชการหรือประชาชนที่ทำงานทั่วไป เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงติดอาวุธ และไม่เว้นแม้แต่เด็ก สตรี และคนชรา

อย่างไรก็ดีทุกฝ่ายต้องมีความหวังและให้โอกาสการแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธี และยืนยันที่จะไม่ใช้ความรุนแรงและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการใช้ความรุนแรงใดใด รัฐบาลควรส่งเสริมการพูดคุยสาธารณะเรื่องรูปแบบการปกครองแบบพิเศษ การจัดตั้งสมัชชาประชาสังคมชายแดนใต้ การทำงานของภาคประชาสังคมในพื้นที่ ดังที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับรองนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พ.ศ. 2555-2557 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555  ซึ่งสะท้อนให้เห็นโอกาสที่ประเทศไทยจะก้าวผ่านความขัดแย้งสู่สันติภาพที่จะส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่สมาคมอาเซียนได้   หากทุกฝ่ายเร่งปรับปรุงแผนและแนวทางในการปฏิบัติงานในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ให้สอดคล้องกับนโยบายการบริหารและการพัฒนาของ สมช. ดังปรากฏเป็นนโยบายระดับชาติที่สำคัญ  

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกลุ่มด้วยใจ จ.สงขลา ขอแสดงความเห็นต่อแนวทางการดำเนินการตามกรอบนโยบายของ สมช. ให้สัมฤทธิ์ผลอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

1. ขอสนับสนุนแนวทางของรัฐบาลที่ได้ริเริ่มการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในวันที่ 17 พฤษภาคม 2555 เพื่อบูรณาการนโยบายแผนงาน งบประมาณ และการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงานมีความสอดคล้องกับนโยบายการบริหารและแผนพัฒนาของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ปี 2555-2557 เพื่อให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน) เป็นหน่วยปฏิบัติที่ทำงานสอดคล้องกันตามกรอบนโยบายของรัฐบาล

2. ขอให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยในพื้นที่บูรณาการนโยบายดังกล่าวสำหรับการดำเนินการแผนงานของสมช. โดยทันที ทั้งมีแผนงานที่ให้ประชาชนในท้องถิ่นทุกกลุ่ม ทุกส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแผนงานของรัฐได้จริงตามแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน

3.  ขอให้ กอ.รมน. ปรับปรุงแผนและแนวทางในการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงให้สอดคล้องกับแนวทางสันติภาพ โดยมีนโยบายและแนวทางลดจำนวนเจ้าหน้าที่ติดอาวุธตามลำดับ และนำไปสู่การยอมรับให้มีการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้โดยเร็ว  เพื่อให้มีการนำกฎหมายปกติที่ประกาศใช้ทั่วประเทศหรือการมีกฎหมายความมั่นคงในรูปแบบที่เหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่ามาใช้  ทั้งนี้พื้นที่ความขัดแย้งในประเทศไทยในจังหวัดชายแดนใต้ที่ยังคงมีการประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรงและพื้นที่ภายใต้กฎอัยการศึกอาจเป็นอุปสรรคสำคัญในจำกัดโอกาสพัฒนาพื้นที่รองรับเขตเสรีเศรษฐกิจอาเซียนพ.ศ. 2557ที่จะถึงนี้

4. ขอเรียกร้องให้สมัชชาภาคประชาสังคมดำเนินการตรวจสอบแนวทางการนำนโยบาย สมช. ไปปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการวางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่นทั้งทุนทางสังคมและทุนทางเศรษฐกิจของชาวไทยพุทธ มุสลิม จีน เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านการศึกษา การจัดสรรทรัพยากร และโอกาสการทำงานของคนในพื้นที่ เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม สร้างความเป็นธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งนี้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนเองได้จริง

5. ขอให้ ศอ.บต. กำหนดแนวทางการเยียวยาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม โดยมีกรอบการดำเนินการที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติและมุ่งเน้นการสร้างความสมานฉันท์ และการฟื้นฟูสภาพจิตใจ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่ง จะฟื้นฟูความไว้วางใจระหว่างรัฐกับประชาชน  

6. ขอให้ ศอบต. กำหนดแนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต่อคดีความมั่นคงและแนวทางการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบให้มีกลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในขณะเดียวกันสร้างความเชื่อมั่นว่าการใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมตามหลักนิติรัฐซึ่งจะฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมและทั้งต่อหน่วยงานด้านยุติธรรมทั้งตำรวจ อัยการ ศาล รวมทั้งหน่วยงานความมั่นคงที่มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษหากยังมีการบังคับใช้

7. ขอให้ทุกฝ่ายปรับเปลี่ยนทัศนคติ วิธีคิดของทุกฝ่ายร่วมทั้งฝ่ายที่อ้างการใช้ความรุนแรงเรียกร้องความเป็นธรรม โดยขอให้ทุกฝ่ายยึดมั่น แนวทางสันติวิธี เปิดโอกาสให้การเจรจาทุกระดับและกับกลุ่มที่มีความเห็นต่างกับรัฐ ให้เกิดขึ้นโดยปราศจากการคุกคาม ข่มขู่ และการทบทวนและถอดถอนรายชื่อบุคคลที่มีหมายจับตามประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญาและตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อให้เกิดความไว้วางใจอันและอาจเป็นการให้ความเชื่อมั่นกับผู้บริสุทธิ์ให้กลับบ้านหรือกลับเข้าสู่การต่อสู้ทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตยและแนวสันติวิธีและสร้างกลไกที่นำไปสู่ความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมเพื่อป้องกันการจับกุมผู้บริสุทธิ์ซึ่งจะกลายเป็นวงจรของความไม่เป็นธรรมที่เป็นเงื่อนไขในการใช้ความรุนแรงอย่างไม่สิ้นสุด

นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อาจไม่สามารถยุติความรุนแรงได้ในทันทีทันใด แนวนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรวมทั้งประชาชนในพื้นที่ที่ต้องเปิดใจและสื่อสารอย่างสร้างสรรค์เพื่อให้นโยบายนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง รวมทั้งการที่ฝ่ายความมั่นคงที่ต้องอดทนอดกลั้นต่อเหตุการณ์ความรุนแรงและความสูญเสียที่ยังเกิดขึ้นในระยะเวลาเปลี่ยนผ่านจากความขัดแย้งสู่สันติภาพ อันจะสร้างให้เกิดความปลอดภัยและความปกติสุขในพื้นที่โดยเร็ววัน 8 ปีความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ นำไปสู่โอกาสในการสร้างสันติภาพในเวลาสามปี เพื่อสร้างโอกาสพัฒนารองรับสมาคมอาเซียนปี พ.ศ. 2557 ได้จริง

 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
กลุ่มด้วยใจ จังหวัดสงขลา

 

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ  มูลนิธิผสานวัฒนธรรม โทร 086-7093000 และอัญชนา หะมิน๊ะ  กลุ่มด้วยใจ จ.สงขลา  โทร  081-8098609



 

 


[1]ศึกษานโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557 ฉบับเผยแพร่ได้ที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/3019#en