Skip to main content
อนุกูล อาแวปูเตะ
มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดปัตตานี
 
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2555 เวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฉก.ยะลา 13 ทหารพรานที่ 47 และกำลังฝ่ายปกครองจำนวนหลายนาย ได้ทำการปิดล้อมสวนยางยางพาราเขตรอยต่อหมู่ 6 และหมู่ 3 บ้านตะโล๊ะสะโตร์ ตำบลสะเอะ อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา จนเกิดเหตุการณ์ยิงปะทะกับกับกลุ่มคนร้าย ซึ่งเป็นแกนนำก่อเหตุรุนแรงกลุ่มของนายฮูไบดีละห์ รอมือลี และนายสะกือรี จะปะกียา และพวกอีกจำนวน 14 คน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กลุ่มคนร้ายเสียชีวิต จำนวน 5 คน โดย 1 ใน 5 ศพนั้น คือนายสะกือรี จะปะกียา (สมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุแรงระดับปฏิบัติการ มีหมายจับ 7 คดี)

หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ยึดปืน เอ็ม 16 เล็กยาว จำนวน 1 กระบอก ปืนลูกซอง จำนวน 1 กระบอก ปืนพกสั้นขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นปืนของคนร้ายที่ใช้ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ จนเจ้าหน้าที่ต้องใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้กับกลุ่มคนร้าย ทำให้กลุ่มคนร้ายเสียชีวิตและมีอีกบางส่วนได้หลบหนีไป เหตุการณ์ดังกล่าวนับว่าเป็นเหตุสะเทือนขวัญ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสวนยางของชาวบ้านในหมู่บ้านตะโละสะโตร์  ซึ่งสื่อมวลชนนำไปพาดหัวข่าวในเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำการวิสามัญกลุ่มคนร้ายในระดับแกนนำก่อความไม่สงบ ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าผู้ตายทั้งห้าเป็นกลุ่มคนร้าย จนคนในหมู่บ้านและญาติของผู้ตายมีความรู้สึกหวาดกลัวเป็นอย่างมาก
ต่อมา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2555  นางสาวมารีแย  บือซา  อายุ 43  ปี  มารดาของนายซับรี  ดือราแม  และนายลุกมัน  ดือราแม  กับนายอับดุลมาเละ  ยูโซ๊ะ อายุ 49 ปี  ซึ่งเป็นพ่อเลี้ยงของนายอิสมาแอ   แปเตาะ ทั้งสองคนเป็นผู้สูญเสียบุตรชาย และลูกเลี้ยง  ได้มาร้องเรียนที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดยะลา โดยอ้างว่าตนเองอยู่ในเหตุการณ์วันเกิดเหตุ และทั้งสามคนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบแต่อย่างใด ในวันดังกล่าวผู้ตายทั้งสามกำลังจะไปดักนกในสวนยาง ตามประสาเด็กเยาวชนทั่วไป และได้กระทำเป็นประจำ เพราะอยู่ในช่วงเวลาปิดเทอม และทั้งสามคนกำลังเรียนหนังสืออยู่
วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดยะลา นำโดยประธานสาโรจน์ มะมิง ได้นำผู้ร้องทั้งสอง ไปยื่นหนังสือต่อเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) โดยเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ข้อเท็จจริงจากการนำเสนอของเจ้าหน้าที่ มีความแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่พบจากการไปเก็บข้อมูลในพื้นที่บางประการ ขอให้ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)  ค้นหาความจริงให้ปรากฏ โดยใช้กระบวนการสืบสวนสอบสวนโดยครบถ้วนรอบคอบ และอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่แตกต่าง รวมทั้งการบังคับใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อลงโทษผู้ที่กระทำความผิดต่อไป
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอีกหนึ่งในเหตุการณ์วิสามัญ ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่ายิงปะทะกับคนร้าย และข้อมูลจากการนำเสนอของเจ้าหน้าที่ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว จะมีความแตกต่างกับข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงในพื้นที่ (บางส่วน) แม้เหตุการณ์นี้จะแตกต่างกับเหตุการณ์ที่ทหารพรานยิงชาวบ้าน 4 ศพ ที่ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อคืนวันที่ 29 มกราคม 2555 ที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามคำสั่งของแม่ทัพ ภาค 4 ได้สรุปว่าบุคคลที่อยู่ในรถกระบะเป็นผู้บริสุทธิ์ กำลังจะไปละหมาดศพคนตายในอีกหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าวยังมีผู้รอดชีวิตเหลืออยู่ ที่สามารถให้ความกระจ่างในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ แตกต่างกับเหตุการณ์นี้ที่เสียชีวิตทั้งหมด
แต่หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้างว่า ว่าเฉพาะผู้ตายทั้งสามกำลังจะไปดักนกในสวนยาง ย่อมมีความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติจะต้องอธิบายต่อสาธารณชนว่า พฤติการณ์ในวันเกิดเหตุบุคคลทั้งสามเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร และการตายของทั้งสามคนมีลักษณะอย่างไร โดยเฉพาะมีการขัดขืนหรือต่อสู้กับเจ้าหน้าที่อย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริสุทธิ์ที่อยู่ในเหตุการณ์อย่างนี้ ต้องสูญเสียจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ แม้กระบวนการทางกฎหมายจะต้องมีพนักงานสอบสวนชันสูตรศพร่วมกับพนักงานอัยการ แพทย์ พนักงานฝ่ายปกครอง แต่สิ่งที่จะต้องตระหนักเป็นอย่างมากในเหตุการณ์เช่นนี้ คือญาติของผู้ตายในการที่จะให้ความรู้ความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในรักษาสิทธิของผู้ตายตามกฎหมาย
จากบทเรียนของเหตุการณ์ที่ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก คณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้มีข้อเสนอแนะ ต่อแม่ทัพภาค 4 ให้พัฒนาสถาบันทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ชายแดนภาคใต้ให้เป็นสถาบันอิสระ สามารถรองรับการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน หรือประชาชนทั่วไป กรณีมีเหตุสงสัยเจ้าหน้าที่ที่อ้างว่าต่อสู้กับคนร้าย ทั้งนี้ เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริม ให้มีกระบวนการตรวจสอบพยาน โดยมุ่งไปที่หลักฐานทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการตรวจสอบเขม่าทั้งที่มือของผู้ตาย และอาวุธปืนที่พบในที่เกิดเหตุ รวมทั้งตรวจดีเอ็นเอโดยละเอียดในที่เกิดเหตุ  เพื่อประกอบกับสภาพของศพและร่องรอยบาดแผลรวมทั้งวิถีกระสุน ซึ่งบทบาทการตรวจสอบจากแพทย์นิติวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น  ที่สามารถให้คำตอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  นอกจากคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียว
ต้องยอมรับว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พิเศษ ที่สถานการณ์ในพื้นที่มีความขัดแย้ง และมีความอ่อนไหวต่อความรู้สึกของคนในพื้นที่ในเหตุการณ์เช่นนี้ โดยเฉพาะทุกเหตุการณ์ที่มีการใช้อาวุธ ย่อมสร้างบรรยากาศที่หวาดกลัวต่อประชาชนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ รวมทั้งญาติของผู้ตาย ประกอบกับการนำเสนอข้อเท็จจริงของสื่อก็มาจากการรายงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งย่อมต้องให้ข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อความชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง และเพื่อให้พ้นต่อความรับผิดตามกฎหมาย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนากระบวนการในการตรวจสอบอย่างโปร่งใส เพื่อให้ได้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสามารถอธิบายเหตุการณ์และให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ทั้งนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม และมิใช่อื่นใด นอกจากเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ตายและญาติแล้ว สิ่งสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่คือเป็นการป้องกันข้อครหาจากการใส่ร้ายป้ายสีของผู้ไม่หวังดีนั่นเอง
 
หมายเหตุ: ขอบคุณภาพข่าว จากศูนย์ข่าวอิสรา
เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://th.macmuslim.com/?p=457