ตูแวดานียา ตูแวแมแง
สถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (YDA)
หลายๆ คนอาจจะรู้สึกว่าเมื่อพูดถึงอดีตหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์นั้น เป็นการพูดที่ไม่สร้างสรรค์บ้าง ไม่ก้าวหน้าบ้าง ตอกย้ำความคับแค้นใจบ้าง บางครั้งถึงขนาดกล่าวหาคนพูดว่าเป็นคนยึดติดกับอดีต “ไม่อยากอยู่กับปัจจุบัน เรื่องอดีตที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไปจะไปรื้อฟื้น ขุดคุ้ยขึ้นมาทำไม เรื่องอดีตมันเกิดขึ้นกับคนในอดีต ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนในปัจจุบันสักหน่อย ชอบพูดเรื่องอดีตนักก็ไปอยู่กับอดีตซะ อย่ามาอยู่ในยุคปัจจุบัน ทำให้เสียบรรยากาศของคนยุคปัจจุบันที่กำลังเสวยสุข” ซึ่งจะเห็นได้ว่าทัศนคติแบบนี้มีมาโดยตลอดควบคู่กับปรากฏการณ์การใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐต่อบุคคลที่ชอบเอาเรื่องประวัติศาสตร์รัฐปาตานีมาพูดในที่สาธารณะ
แต่ในทัศนะของคนปาตานีที่ยังไม่ถูกกลืนกลายจากนโยบายผสมผสานกลมกลืนวัฒนธรรม (Assimilation) นั้น เรื่องราวในประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะมันหมายถึงการรู้จักสถานะความเป็นจริงในสังคมต่อคุณค่าความเป็นตัวตนของตนเอง ว่าเป็นใคร มาจากไหน แล้วทำไมสถานะทางสังคมและทางการเมืองในปัจจุบันถึงได้เป็นอย่างนี้ โดยภาพรวมแล้วคนไทยส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้สึกว่าประวัติศาสตร์มันสำคัญมากเหมือนคนปาตานีรู้สึกและคิดโดยเอาความรู้สึกของตัวเองเป็นบรรทัดฐานมาโดยตลอดว่าคนปาตานีเป็นอนุรักษ์นิยมบ้าง เป็นชาตินิยมสุดโต่งบ้าง ที่เป็นอย่างนี้อาจเป็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่นั้น มีความรู้สึกพึงพอใจกับสถานะทางสังคมและทางการเมืองในปัจจุบันแล้ว แต่ถ้ามองในทางกลับกันอย่างเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อที่จะพยายามรู้ว่าทำไมประวัติศาสตร์จึงสำคัญมากต่อคนปาตานี? โดยการลองนึกย้อนไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สมมติว่าไม่มีขบวนการเสรีไทยหรือทางอเมริกาทำการหักหลังขบวนการเสรีไทยโดยไม่ทำตามข้อต่อรองที่ให้ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่แพ้สงครามร่วมกับญี่ปุ่น คนไทยในปัจจุบันอาจจะเข้าใจในความรู้สึกของคนปาตานีมากขึ้นก็ได้
แต่อย่างไรก็ตามคนปาตานีเองก็ต้องอย่าใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือในการปลุกระดมเพื่อหวังที่จะสร้างความรู้สึกโกรธแค้นอย่างไร้เดียงสาและมองรัฐไทยเป็นศัตรูอย่างเดียว เพราะมันไม่ได้สร้างผลดีอะไรเกิดขึ้นมาเลย นอกเสียจากจะเป็นคนที่ใช้อารมณ์ความรู้สึกนำหน้าเหตุผลและความรู้ สิ่งที่สำคัญของบทบาทของประวัติศาสตร์ตามทัศนะของผู้เขียนนั้น คือเป็นชุดความรู้ที่เป็นบทเรียนให้กับคนยุคปัจจุบันได้ศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ และบริบทในสถานการณ์นั้นๆ ว่าได้สร้างให้เกิดการเปลี่ยงแปลงอะไร อย่างไรบ้าง เพื่อที่ในปัจจุบันและอนาคตจะไม่เป็นอย่างที่เคยผิดพลาดมาแล้วในอดีต
ผู้เขียนจึงรวบรวมเรื่องราวที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ปาตานีจากหลากหลายที่มา โดยมุ่งเน้นที่พลวัตรของพัฒนาการการลุกขึ้นมาต่อสู้ของคนปาตานีเพื่อกอบกู้เอกราชหรือเพื่อการปลดปล่อย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่เป็นดั่งสายธารประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนปาตานี ซึ่งได้ไหลผ่านการเปลี่ยนแปลงของบริบททางโครงสร้างการเมืองการปกครองของความเป็นจักรวรรดินิยมสยาม ตั้งแต่ยุคศักดินา ยุคสมบูรณาญาสิทธิราช ยุคที่ก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตย ยุคประชาธิปไตยมีรัฐธรรมนูญแต่ไม่เต็มใบ และยุคเผด็จการซ่อนรูปประชาธิปไตยในปัจจุบัน เพื่อจะได้ทำความเข้าใจต่อบริบทความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยมากขึ้น และเพื่อนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาอย่างตรงจุดและสถาปนาสันติภาพที่อยู่บนพื้นฐานและหลักการที่ไม่ปฏิเสธความจริงที่ได้เกิดขึ้นแล้วและยังคงเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน
นับตั้งแต่ที่ราชอาณาจักรปาตานีถูกราชอาณาจักรสยามรุกรานด้วยการก่อสงครามเพื่อยึดครองดินแดนและอธิปไตยสำเร็จในปี ค.ศ.1786 การต่อสู้เพื่อปลดแอกและเพื่อกอบกู้เอกราชก็เกิดขึ้นอย่างไม่ลดละ จากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน แต่ช่วงแรกๆ จนถึง 1 ศตวรรษครึ่งของการต่อสู้นั้นจะเป็นการต่อสู้ในลักษณะที่มาจากบทบาทการนำของอดีตเจ้าเมืองกับผู้นำศาสนาอย่างผูกขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน แต่มีพลวัตรของการปรับท่าทีในการต้านทานและต่อต้านภายในตัวของมันเอง แปรผันตามการปรับเปลี่ยนแผนการของผู้ยึดครอง
ปี ค.ศ.1808 ราชอาณาจักรสยามใช้นโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง (divide and rule) ในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี พระยาอภัยสงครามเสนอให้มีการแบ่งปาตานีออกเป็น 7 หัวเมือง คือ ปัตตานี หนองจิก รามัน ยะลา สายบุรี ยะหริ่ง และระแงะ
ต่อมาปี ค.ศ.1821 ราชอาณาจักรสยามใช้นโยบายอพยพคนสยามพุทธภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ตอนบนมาตั้งรกรากในพื้นที่ของหัวเมืองทั้งเจ็ด (Transmigration)
กระทั่งถึงวันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1896 เพื่อต้านทานกับนโยบายขยายอาณานิคมของอังกฤษหรือบริทิชและฝรั่งเศสและเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหัวเมืองใหม่ทั่วราชอาณาจักร โดยนำระบบเทศาภิบาลมาใช้ด้วยการรวบรวมหัวเมืองที่กระจัดกระจายให้เป็นเขตหนึ่งเดียวกันเรียกว่า “มณฑล” ในขณะนั้นทั่วราชอาณาจักรสยามมี 18 มณฑล มีผู้ว่าราชการมณฑลหรือข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้รับผิดชอบ การแต่งตั้งเจ้าเมืองจะกระทำได้โดยพระบรมราชโองการจากพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นการตัดทอนอำนาจเดิมของเจ้าเมืองที่เคยมีมาในอดีต
วันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ.1901 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ออกระเบียบบริหารราชการ 7 หัวเมือง มณฑลปาตานี รศ. 116
วันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ.1901 พระยาศักดิ์เสนีย์ ผู้สำเร็จราชการมณฑลปาตานี นำกำลังทหารเจ้าหน้าที่ ศุลกากรบังคับให้เจ้าเมืองปาตานี คือ ตึงกูอับดุลกอเดร์ ลงนามรับรองระเบียบการปกครองใหม่ รศ. 116 เจตนาคือต้องการปลดตำแหน่งของตึงกูอับดุลกอเดร์ในฐานะเจ้าเมืองปาตานี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อธิปไตยของปวงชนชาวปาตานี จึงทำให้ตึงกูอับดุลกอเดร์โกรธเคืองเป็นอย่างยิ่ง แต่ทางสยามข่มขู่กลับด้วยการจับตัว ต่วนลือเบะห์ เจ้าเมืองรามันไว้ ทำให้ชาวปาตานีรวมตัวกันขึ้นทั้งที่ปัตตานี รามัน ระแงะ สายบุรี ยะลา ยะหริ่ง และหนองจิก ด้วยความคาดหวังว่าฝรั่งเศสที่มีอำนาจและอิทธิพลทางแหลมอินโดนจีนจะเข้าโจมตีสยามทางทิศตะวันออก อันจะเป็นโอกาสให้เจ้าเมืองมือลายู[1]ทั้งหลายประกาศเอกราชเป็นอิสระจากสยาม การเตรียมการลุกขึ้นสู้ครั้งนี้ของเจ้าเมืองมลายูได้ขอความช่วยเหลือสนับสนุนไปยังประเทศตะวันตกต่างๆ และล่วงรู้ไปถึงกรุงเทพฯ
23 ตุลาคม ค.ศ.1901 พระยาศรีสหเทพ รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย ได้เข้าพบตึงกูอับดุลกอเดร์ เจ้าเมืองปาตานี เพื่อขอทราบเหตุผลความไม่พึงพอใจและได้รับการชี้แจงว่า กรณีความขัดแย้งนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่สยามได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการและข้าราชการสยามมาปกครองปาตานี ทำให้ความเป็นอยู่ของเจ้าเมืองปาตานีถูกดูหมิ่นและถูกลิดรอนอำนาจ ราษฎรต้องได้รับเคราะห์ในหลายๆเรื่อง เพื่อแก้ปัญหานี้เจ้าเมืองปาตานีมีข้อเสนอ ดังนี้
1. เจ็ดหัวเมืองขอปกครองเหมือนเคดะห์ (เขตปกครองพิเศษ) ส่วนใดที่เป็นอำนาจของสุลต่านสามารถนำกฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์) ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานของอิสลามออกมาบังคับใช้เองได้ ยกเว้นการพิจารณาคดีที่ลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต
2. ให้ใช้ภาษามือลายูเป็นภาษาราชการ
จะเห็นได้ว่าทั้งสองข้อเสนอข้างต้นมีความคล้ายคลึงกับข้อเรียกร้อง 7 ข้อของหะยีสุหลง มีการยกตัวอย่างของรัฐเคดะห์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษขึ้นมาเปรียบเทียบ ภายใต้นโยบายของอังกฤษในแหลมมือลายูที่ให้อิสระแก่หัวเมืองมือลายูในการปกครองตัวเองระดับหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากนโยบายของสยามที่ปกครองหัวเมืองมือลายูแบบบังคับควบคุมหัวเมืองมือลายูจึงต้องการอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษมากกว่าสยาม
สยามจึงต้องแสดงให้อังกฤษเห็นว่าปาตานีและหัวเมืองทั้ง 7 ยอมรับการปกครองของสยาม พระยาศรีสหเทพจึงได้เดินทางเข้าพบตึงกูอับดุลกอเดร์ด้วยหนังสือฉบับหนึ่งที่เป็นภาษาไทย อ้างว่าเป็นหนังสือคำร้องเรียนของตึงกูอับดุลกอเดร์เพื่อนำเสนอต่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระยาศรีสหเทพรับรองว่าหนังสือดังกล่าวไม่ใช่เอกสารสัญญาและไม่มีข้อผูกพันใดๆ ตึงกูอับดุลกอเดร์ขอให้ล่ามแปลเป็นภาษามือลายูเสียก่อน พระยาศรีสหเทพจึงได้จัดให้มีคนมาแปลและให้คำรับรองว่าหนังสือไม่เกี่ยวกับสัญญาที่มีข้อผูกมัด หากจะให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารขึ้นใหม่ก็สามารถทำได้ภายหลัง ตึงกูอับดุลกอเดร์จึงได้ลงนามในเอกสารนั้น พระยาศรีสหเทพรีบเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์เข้าพบ Sir Frank A. Swettenham ข้าหลวงใหญ่อังกฤษซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ว่าการตะวันออกเฉียงใต้ของอังกฤษ และแสดงหนังสือที่ตึงกูอับดุลกอเดร์ลงนามไว้ว่ามีการยอมรับรูปแบบการปกครองใหม่ของสยามที่ได้กำหนดขึ้น และได้รายงานว่าปัญหาความไม่พอใจของชาวมือลายูปาตานีนั้นไม่มีแล้ว
ฝ่ายตึงกูอับดุลกอเดร์นั้น หลังจากที่พระยาศรีสหเทพได้เดินทางออกไป ก็ได้ให้เลขานุการแปลเอกสารดังกล่าว ปรากฎว่าแตกต่างตรงข้ามกันจากที่พระยาศรีสหเทพและล่ามคนสยามได้แปลไว้ แต่เอกสารที่พระยาศรีสหเทพได้นำไปแสดงต่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งตึงกูอับดุลกอเดร์ลงนามไปแล้วนั้นเป็นเอกสารแสดงเจตจำนงยอมรับในการปกครองตามระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน รศ.116 ต่อมาพระศรีสหเทพเรียกประชุมเจ้าหัวเมืองทั้ง 7 เพื่อชี้แจงรูปแบบการปกครองเมืองปาตานีใหม่ แต่ตึงกูอับดุลกอเดร์ไม่ยอมเข้าร่วมประชุมด้วย
จากนั้นมีการรวมหัวเมืองปาตานีใหม่ตามกฎหมาย รศ.116 เป็น 2 เขตคือ
1. ส่วนของปาตานีจะรวม ปาตานี หนองจิก รามัน ยะลา
2. ส่วนของสายบุรี จะรวมสายบุรี กะลาพอ และระแงะ
ในแต่ละส่วนจะมีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการ ผู้ช่วยผู้พิพากษา หัวหน้าการคลังรวมทั้งผู้ช่วยของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะผู้ว่าฯ จะรับผิดชอบการบริหารราชการทั้งปวงภายใต้การดูแลของผู้สำเร็จราชการ มีอำนาจคัดค้านและยกเลิกคำสั่งของเจ้าเมืองที่ขัดต่อกฎหมายของสยาม อำนาจที่ปลัดเมืองหรือเจ้าเมืองไม่อาจกระทำได้คือ
1. การออกกฎหมาย
2. การรับเหมาเก็บภาษีจากประชาชน
3. การให้สัมปทานเหมืองแร่ ทำไม้ กับบริษัทหรือองค์กรต่างประเทศ
4. การลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตแก่จำเลย
เงื่อนไขทั้งสี่ข้อนี้เท่ากับเป็นการลิดรอนอำนาจทั้งหมดของเจ้าครองนครต่างๆ ตึงกูอับดุลกอเดร์ไม่ยอมลงนาม พร้อมทั้งได้ทำหนังสือคัดค้านมอบให้พระยาศรีสหเทพเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระจุลจอมเกล้า แต่กรุงเทพฯ ไม่สนใจต่อการคัดค้านจากเจ้าเมืองมือลายูปาตานี เพราะต้องการยกเลิกการปกครองแบบสุลต่านหรือราชาของชาวมือลายู ในหนังสือถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่าท่านเสียใจมากต่อการกระทำดังกล่าวของสยามซึ่งได้เคยให้เจ้าเมืองมือลายูปาตานีได้ปกครองบ้านเมืองตัวเองเป็นปกติสุขอย่างที่เคยปกครองมาแต่อดีต ทั้งๆ ที่อดีตพระมหากษัตริย์ได้ออกหนังสือแต่งตั้งและรับรองให้เจ้าเมืองปาตานีได้ปกครองบ้านเมืองของตัวเองอย่างเป็นธรรมเช่นเดียวกับบรรพบุรุษในอดีต ในหนังสือท่านได้เตรียมข้อเสนอ เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสยามกับปาตานี ความว่า ”สยามต้องให้เกียรติ์และเคารพต่อเอกราชของปาตานีเพื่อเป็นการรักษารูปแบบการปกครองเมืองมือลายูปาตานีในอดีต”
ข้อเสนอของเจ้าเมืองปาตานีต่อสยามในขณะนั้น ได้แก่
1. เจ้าเมืองปาตานีต้องมีอำนาจในการแต่งตั้งหรือถอดถอนข้าราชการสยามที่กระทำผิด
2. เจ้าเมืองปาตานียินยอมที่จะให้กำลังตำรวจ 60 นาย พร้อมอาวุธปฏิบัติในดินแดนมือลายูปาตานี
3. ให้ใช้ภาษามือลายูเป็นภาษาในการติดต่อราชการไม่ใช่เฉพาะภาษาสยาม
4. ยินยอมที่จะส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองให้ทางกรุงเทพเช่นเดียวกับประเพณีที่ปฏิบัติมาในอดีต
ทั้งนี้ สยามได้ขอให้ Swittenham ในฐานะข้าหลวงใหญ่ที่รับผิดชอบอาณานิคมในภาคตะวันออกเฉียงใต้เป็นตัวกลางในการเจรจากับเจ้าเมืองปาตานี
ข้อเสนอของสยามต่อเจ้าเมืองปาตานีในขณะนั้น ได้แก่
1. สยามไม่ต้องการพิจารณาข้อเรียกร้องต่างๆ ของเจ้าเมืองปาตานีและต้องการตัดทอนอำนาจเจ้าเมือง
2. ตั้งผู้แทนจากอังกฤษเข้าไปในปาตานีเพื่อพิสูจน์ความจริงที่อังกฤษตั้งข้อกล่าวหา
3. สยามมอบความไว้วางใจแก่อังกฤษทำความเข้าใจกับเจ้าเมืองมือลายู ส่วนการปกครองในเมืองปาตานี สยามจะให้คนปาตานีปกครองเอง
Swittenham จึงขอให้ปาตานีส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองไปยังเมืองหลวงเหมือนเดิม
การเจรจายืดเยื้อต่อไป Swittenham ขอให้เจ้าเมืองมือลายูได้ใช้ภาษามือลายูเป็นภาษาราชการในเมืองปาตานี กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงปฏิเสธการที่ตึงกูอับดุลกอเดร์จะเป็นตัวแทนเจ้าเมืองมือลายูทั้ง 7 เพื่อต่อรองเกี่ยวกับกฎระเบียบฉบับใหม่ พระองค์ทรงเห็นว่าการต่อรองเท่ากับเป็นการท้าทายอำนาจสยาม
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1902 เวลาบ่ายสามโมงเจ้าหน้าที่สยามไปตามตึงกูอับดุลกอเดร์มาพบพระยาศรีสหเทพ เมื่อละหมาดฟัรดูอาซัรเรียบร้อยแล้ว ตึงกูอับดุลกอเดร์พร้อมด้วยผู้ติดตาม 20 คน เดินทางไปพบพระยาศรีสหเทพ พระยาศรีสหเทพได้ขอให้ตึงกูฯ ลงนามในเอกสารเห็นด้วยกับระเบียบในการปกครองส่วนภูมิภาค แต่ตึงกูอับดุลกอเดร์ไม่ยอมลงนาม จึงถูกจับกุมตัวลงเรือเพื่อนำไปยังจังหวัดสงขลา ตึงกูอับดุลกอเดร์ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏและถูกสั่งจำคุก 10 ปี โดยถูกนำเข้าคุมขังที่จังหวัดพิษณุโลก ตำแหน่งเจ้าเมืองปาตานีของตึงกูอับดุลกอเดร์ถูกประกาศให้สิ้นสุดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1902 ตึงกูอับดุลกอเดร์จึงเป็นพระยาเมืองชาวมือลายูที่ปกครองปาตานีเป็นคนสุดท้าย
วันที่ 18 มีนาคม 1902 ผู้สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช พระยาสุขุม ได้รับคำสั่งให้จับกุมเจ้าเมืองระแงะ ตึงกูเงาะห์ วัมซูดิน พร้อมด้วยบริวาร 8 คน และนำตัวไปควบคุมไว้ที่จังหวัดสงขลา เจ้าเมืองสายบุรี ตึงกูอับดุลมุตตอลิบ ก็ถูกจับกุมด้วยอีกคนหนึ่ง ต่อมาต่วนลือเบะห์ ลงรายา เจ้าเมืองรามันก็ถูกจับกุมตัวถูกนำไปไว้ที่สงขลา ระหว่างที่นำตัวไปกรุงเทพ ท่านได้เสียชีวิตลงโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ประชาชนในแหลมมลายูและหนังสือพิมพ์ต่างๆ ที่ออกในมือลายูต่างเรียกร้องให้อังกฤษเข้าไปแทรกแซง ให้สยามปลดปล่อยปาตานีไปอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษเช่นเดียวกับเมืองมือลายูอื่นๆ
Swittenham แสดงความผิดหวังและไม่พอใจต่อสยามที่กระทำต่อมือลายูเช่นนั้น Swittenham ได้จัดสถานที่ให้อดีตเจ้าเมืองและชาวปาตานีลี้ภัยเข้าไปอยู่ในดินแดนมือลายูภายใต้การปกครองของตน
ภายหลังสยามได้ตัดสินใจปล่อยบรรดาเจ้าเมืองที่ถูกคุมขังและจองจำให้เป็นอิสระ ตึงกูอับดุลกอเดร์ได้รับการปล่อยตัวเป็นคนสุดท้าย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 1904 หลังจากถูกควบคุมตัวนาน 27 เดือน กล่าวว่าเป็นเพราะผู้ว่าพิษณุโลกบังคับให้ยอมรับว่าการที่ฝ่าฝืนไม่ยอมลงนามตั้งแต่แรกเพราะการยุยงของ Swittenham ผู้แทนอังกฤษ หลังจากถูกปล่อยตัวปีรุ่งขึ้น 1906 ตึงกูอับดุลกอเดร์พร้อมด้วยครอบครัวเดินทางออกจากปาตานีไปอาศัยอยู่ในรัฐกลันตัน
ปาตานีได้มีการเปลี่ยนแปลงจาก 7 หัวเมืองอีกครั้ง โดยแยกรวมกันใหม่อีกคือ ปาตานี หนองจิก ยะหริ่ง รวมเป็นจังหวัดปัตตานี รามัน ยะลา รวมกันเป็นจังหวัดยะลา ตะลุบัน ระแงะ สายบุรี รวมกันเป็นจังหวัดสายบุรี ภายหลังให้สายบุรีไปรวมในจังหวัดปัตตานี และแยกระแงะไปรวมกับจังหวัดนราธิวาส เป็นอันสิ้นสุดอาณาจักรปาตานี รัฐมือลายูอิสลาม
ปี คศ.1909 สยามกับบรีทิชหรืออังกฤษทำสนธิสัญญาแบ่งดินแดนกัน ภายใต้สัญญาที่ชื่อว่า Anglo-Siamese Treaty และเมื่อปี ค.ศ.1923 เกิดขบวนการปลดแอกปาตานีขึ้นครั้งแรก โดยการกลับมาจัดตั้งของตึงกูอับดุลกอเดร์ เจ้าเมืองปาตานีคนสุดท้าย ชื่อว่า Pakatan Mempertahankan Agama Islam (PMAI[2]) แปลว่า “ความร่วมมือเพื่อปกป้องศาสนาอิสลาม” ซึ่งมีที่ปรึกษาเป็นผู้รู้ศาสนาอิสลามจากประเทศตุรกี ด้วยความที่ไม่มีการจัดตั้งมวลชน PMAI จึงมีการต่อสู้ปะทะกันกับเจ้าหน้าที่รัฐสยามได้แค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือเกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจบ้านบลูกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส จากนั้น ตึงกูอับดุลกอเดร์ ก็ลี้ภัยเข้าไปอยู่ที่รัฐกลันตันอีกครั้ง จนต่อมาก็ได้เสียชีวิตที่นั่น
ต่อมาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้มีขบวนการชื่อว่า Gabungan Melayu Patani Raya (GAMPAR) แปลว่า สมาคมมลายูปาตานียิ่งใหญ่ สมาคมนี้ได้จัดพิธีเปิดในวันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ.1948 ณ Madrasah Muhammadiyyah สำนักงานคณะกรรมการอิสลามและขนบธรรมเนียมประเพณีมลายูกลันตัน (อาคารเก่าที่ถนนสุลต่าน Kotabaru) มีผู้เข้าร่วมในพิธีเปิดประมาณ 200 คน ส่วนใหญ่จะเป็นชาวมลายูมุสลิมปาตานีโดยกำเนิดพร้อมด้วยชาวมลายูมุสลิมกลันตันและอื่นๆ ตึงกูอิสมาอีล บิน ตึงกู นิ (Tengku Ismail bin Tengku Nik) ได้รับเลือกให้เป็นประธานของขบวนการ GAMPAR ส่วน ตึงกูมะห์มูด มะห์ยิดดีน (Tengku Mahmud Mahyideen) ซึ่งเป็นลูกชายของตึงกูอับดุลกอเดร์ ไม่ได้เข้าร่วมในพิธีจัดตั้งขบวนการ GAMPAR และไม่มีตำแหน่งใดๆ ในขบวนการแต่ก็เชื่อว่า ท่านเป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลัง ในการจัดตั้งขบวนการนี้
ขบวนการ GAMPAR มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ซึ่งได้คัดมาจากแถลงการณ์ของ GAMPAR มีใจความดังต่อไปนี้
1. ต้องรวม 4 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล เป็นรัฐมลายูอิสลาม และปลดปล่อยชนชาติมลายูที่อยู่ใน 4 จังหวัดจากการดูถูกข่มเหง กดขี่ เอารัดเอาเปรียบ
2. ต้องจัดให้มีการปกครองที่เหมาะสมกับความต้องการและจุดยืนของชนชาติมือลายู ขนบธรรมเนียมประเพณี และศาสนาอิสลาม
3. ต้องยกฐานะของชนชาติมือลายู และคุณภาพชีวิตในฐานะภูมิบุตร มีสถานภาพสูงในด้านมนุษยธรรม ความยุติธรรม เสรีภาพ และการศึกษาที่เหมาะสมกับกาลเวลา
บทบาทของ GAMPAR ก็คล้ายๆ กับขบวนการเสรีไทย คือทำการต่อรองกับทางอังกฤษ ด้วยข้อแลกเปลี่ยนคือ ตึงกูมะห์มูด มะห์ยิดดีน ซึ่งเป็นนายทหารอังกฤษหรือบรีทิชยศพันเอก รวมคนมือลายูมาร่วมรบต่อต้านญี่ปุ่น ถ้าอังกฤษชนะ ปาตานีขอแยกตัวจากการยึดครองของสยามมารวมกับทางอาณานิคมอื่นๆ ของอังกฤษที่อยู่ในแหลมมือลายูซึ่งตอนนั้นเป็นที่รู้จักว่ามือลายา ปรากฏว่าเมื่ออังกฤษชนะจริง ทางอังกฤษไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญา เพราะสืบเนื่องจากรัฐไทยยื่นข้อต่อรองที่ทำให้ทางอังกฤษสนใจมากกว่า คือรัฐไทยเสนอข้าวสารให้ฟรีๆ ในจำนวนที่ทางอังกฤษพึงพอใจ เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงกองกำลังทหารที่กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ ของดินแดนอาณานิคมที่อังกฤษทำการยึดครองอยู่ ประกอบกับทางรัฐไทยได้ขอร้องทางสหรัฐอเมริกาให้กดดันทางอังกฤษอีกทางหนึ่ง ด้วยการยอมสวามิภักดิ์เป็นกลไกในการเผยแพร่ลัทธิประชาธิปไตยซ่อนรูปเสรีนิยม ในฐานะรัฐกันชนกับอุดมการณ์สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นการแลกเปลี่ยน
ต่อมาในปี ค.ศ.1954 ตึงกูมะห์มูดมะห์ยิดดีน ได้เสียชีวิต บางกระแสข่าวเชื่อว่าถูกวางยาพิษ และในปีเดียวกันนี้ หะยีสุหลง ซึ่งมีบทบาทจัดตั้งมวลชนในพื้นที่ก็ได้ถูกทำให้หายตัวไปหลังจากที่ได้เสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ซึ่งตรงกับช่วงที่รัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ก่อนหน้านั้นการรัฐประหารในปี 1947 รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ มีนโยบายที่จะประนีประนอมกับชาวมือลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย จึงจัดตั้ง “คณะกรรมการสอดส่องสภาวการณ์ 4 จังหวัดภาคใต้” ในโอกาสที่คณะกรรมการสอดส่องมาลงพื้นที่ ท่านหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ได้จัดประชุมคณะกรรมการและประชาชนจำนวนหนึ่ง ประมาณ 200 คน เมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1947 เพื่อจัดทำข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมการสอดส่องฯ โดยข้อเรียกร้องมีทั้งหมด 7 ข้อ จัดทำเป็นหนังสือเสนอต่อคณะกรรมการสอดส่องฯ เมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ.1947 แต่ข้อเสนอของท่านหะยีสุหลงไม่ได้ถูกนำไปพิจารณาหรือปฏิบัติแต่อย่างใด ในทางกลับกันกลับส่งผลร้ายถึงชีวิตให้กับตัวท่านเอง เนื้อหาข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ของหะยีสุหลง มีดังต่อไปนี้
1. ขอให้มีการปกครองใน 4 จังหวัด ปัตตานี สตูล ยะลา และนราธิวาส โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งอย่างสูงให้มีอำนาจในการศาสนาอิสลามและมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการใน 4 จังหวัดโดยสมบูรณ์ และให้ออกโดยเหตุบางประการต่างๆ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งสูงนี้ต้องเป็นมุสลิมใน 4 จังนี้ และเป็นผู้ที่ได้รับเลือกจากปวงชนมุสลิมภาคนี้ โดยจะให้มีกำหนดเวลาดำรงตำแหน่งตามทางราชการก็ได้
2. ข้าราชการแต่ละแผนกใน 4 จังหวัดนี้ ให้มีมลายู 80 เปอร์เซนประกอบอยู่ด้วย
3. การใช้หนังหนังสือในราชการให้ใช้ภาษมะลายูและใช้ควบกับภาษาไทยด้วย เช่น แบบฟอร์มหรือใบเสร็จต่างๆจะต้องให้มีภาษามลายูใช้ด้วย
4. การศึกษาโรงเรียนชั้นประถมให้มีการศึกษาภาษามะลายูตลอดประถมบริบูรณ์
5. ขอให้มีศาลรับพิจารณาตามกฎหมายอิสลามแยกออกจากศาลจังหวัดที่มีแล้ว มีโต๊ะกาลีตามสมควร และมีเสรีในการพิพากษาชี้ขาดความโดยจะฟังเสียงผู้ใดไม่ได้ นอกจากผิดหลักกฎหมาย
6.ผลประโยชน์รายได้ต่างๆ จะต้องใช้จ่ายในภาค 4 จังหวัดนี้ โดยไม่แบ่งจ่ายให้กับที่อื่นเลย
7. ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนี้มีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติการศาสนาอิสลาม โดยเห็นชอบผู้มีอำนาจสูง (ตามข้อ 1)
หลังจากที่ตึงกูมะห์มูดมะห์ยิดดีนเสียชีวิตและหะยีสุหลงได้ถูกทำให้หายตัวไปนั้น ก็ไม่ปรากฏบทบาทของ GAMPAR ในการต่อสู้เพื่อการปลดแอกปาตานีอีกเลย
ในปี ค.ศ.1959 เกิดขบวนการ BNPP มาจากชื่อเต็มว่า Barisan National Pembebasan Patani แปลว่า ขบวนการแนวร่วมแห่งชาติปลดปล่อยปาตานี จัดตั้งโดย ตึงกูญะลาลนาเซร ลูกชายของตึงกูอับดุลมุตตอลิบ เจ้าเมืองตะลูบันหรือสายบุรี หลังจากที่ได้ต่อสู้ในแนวทางทางการเมืองแบบรัฐสภา ด้วยการสมัครเป็น ส.ส.โดยใช้ชื่อว่า อดุลย์ ณ สายบุรี และได้รับเลือกจากประชาชนในพื้นที่ ถือว่าเป็น ส.ส.คนแรกของชาวปาตานี แต่ด้วยความที่รัฐสภาไทยไม่ให้ความสำคัญต่อปัญหาปาตานี ซึ่งถูกสะท้อนผ่านโดยท่านนั้น ตึงกูญะลาลานาเซร จึงเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ด้วยการก่อตั้งขบวนการ BNPP ต่อมาจนถึงปี ค.ศ.1987 ได้เปลี่ยนเป็น BIPP ชื่อเต็มว่า Barisan Islam Pembebasan Patani แปลว่า ขบวนการแนวร่วมอิสลามปลดปล่อยปาตานี เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสการต่อสู้ของอิสลามทั่วโลกขณะนั้น ปัจจุบันได้ยุติการเคลื่อนไหวในประเทศไทยแล้ว แต่ยังคงปรากฏความเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองในประเทศมาเลเซีย
ในปี ค.ศ.1960 เกิดขบวนการ BRN ชื่อเต็มว่า Barisan Rivolusi Nasional แปลว่า ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ ได้จัดตั้งขึ้นในวันที่ 13 มีนาคม 1960 ต่อมาได้แยกออกมาเป็น 3 ฝ่าย
1. กลุ่ม BRN-Coordinate กลุ่มนี้มักจะไม่ปรากฏข่าวสารการเคลื่อนไหว แนวทางการต่อสู้จะเน้นงานการเมืองเป็นหลัก
2. กลุ่ม BRN Congress กลุ่มนี้มีนายรอซะ บูรากอ เป็นประธานกลุ่ม แนวทางการต่อสู้จะเน้นงานการทหารเป็นหลัก
3. กลุ่ม BRN Ulama กลุ่มนี้มีนายหะยีอับดุลการีม เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งปัจจุบันได้เสียชีวิตแล้ว แนวทางการต่อสู้จะเน้นงานการศาสนาเป็นหลัก
ในปี ค.ศ.1968 เกิดขบวนการ PULO ชื่อเต็มว่า Patani United Libration Organization แปลว่า องค์การปลดปล่อยรัฐปาตานี จัดตั้งขึ้นในวันที่ 22 มีนาคม 1968 โดยนายตึงกูบีรอ กอตอนีลอ ซึ่งปัจจุบันได้เสียชีวิตแล้ว แนวทางการต่อสู้จะเน้นหนักไปทางการเมืองระหว่างประเทศเสียส่วนใหญ่
ในปี ค.ศ.1985 เกิดขบวนการ BMP ชื่อเต็มว่า Barisan Mujahidin Patani แปลว่า แนวร่วมนักรบศาสนาแห่งปาตานี มีเป้าหมายการต่อสู้เพื่อปลดแอกรัฐปาตานี แกนนำส่วนใหญ่แยกตัวมาจากขบวนการ BIPP
ในปี ค.ศ.1989 เกิดขบวนการ BERSATU แปลว่า ขบวนการร่วมเพื่อเอกราชปาตานี จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1989 จากแนวความคิดที่จะรวมกลุ่มต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งแกนนำทุกกลุ่มประกอบด้วย BIPP, BRN Conggress, BMP และ PULO
ส่วนในปี ค.ศ.2004 จนถึงปัจจุบัน เกิดปรากฏการณ์การต่อสู้ที่ใช้วิธีการแบบจรยุทธ์หรือกองโจร ไม่เปิดเผยองค์กรนำและความเป็นสมาชิกภาพ เปลี่ยนจากยุทธบริเวณการต่อสู้ที่ชัดเจนและเจาะจงในป่าเขา มาเป็นการต่อสู้ในเมืองและชุมชนชนบท เป้าหมายของการต่อสู้ไม่ได้ถูกชูออกมาอย่างเป็นทางการ เพื่อเกิดการแสวงจุดร่วมจากมวลชนและกลุ่มองค์กรก้าวหน้าต่างๆ แต่อย่างใด มีเพียงแต่ข้อความ PATANI MERDEKA ซึ่งแปลว่า ปาตานีเอกราช ตามท้องถนนเท่านั้น
อนาคตต่อไปหลังจากนี้สายธารประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนปาตานีจะเป็นไปในทิศทางใด จะยกระดับหรือลดระดับ ตัวแปรสำคัญน่าจะขึ้นอยู่กับมวลชนว่า จะเลือกสนับสนุนใครระหว่างรัฐไทย กับ ขบวนการข้อความ PATANI MERDEKA บนท้องถนน หรือมวลชนจะมีทางเลือกที่สามที่เป็นความต้องการของตนเองเฉพาะ ก็ย่อมทำได้ ทั้งสามทางเลือกนี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงอนาคตคนปาตานี ยกเว้นกรณีที่มวลชน ขอสงวนท่าที ขออยู่เฉยๆ เป็นทองไม่รู้ร้อน ทำมาหากินปรกติ แต่ในใจนั้นกระวนกระวายตลอดเวลา ท่าทีแบบนี้ไม่เพียงแต่จะไม่เป็นปัจจัยสร้างการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ในทางกลับกันกลับเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีในการหล่อเลี้ยงวงจรความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในขณะนี้เหมือนอาการของคนอยู่ในเขาวงกตที่กำลังมึนงง สับสน และท้อแท้ แต่ไม่ยอมแพ้ เลยจัดการกับความท้อแท้ของตนเองด้วยความบ้าบิ่นกับการหาทางออก มีแต่เพียงคนที่อยู่ข้างนอกเขาวงกตแห่งความรุนแรงเท่านั้น นั่นคือมวลชน ที่จะสามารถหยุดความรุนแรงได้ ด้วยการส่งเสียงดังๆ ไปยังคนที่อยู่ในเขาวงกตว่าทางออกอยู่ทางไหน อยู่ทางทิศใต้ หรือ ทิศเหนือ หรือ ทิศตะวันออก หรือ ทิศตะวันตก
ข้อมูลอ้างอิง
Nik Anwar Nik Mahmud. (1999). Sejarah Perjuangan Melayu Patani 1785-1954. Bangi: Penerbit Universiti Kebangsaan Malaysia.
“การเยียวยาเหยื่อเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้”. เอกสารประกอบการสนทนาปัญหายุทธศาสตร์ครั้งที่ 6/55 จัดโดยศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ วันศุกร์ ที่ 11 พฤษภาคม 2555 ณ ห้องประชุม ศศย.สปท. กรุงเทพฯ.
ชลิดา ทาเจริญทรัพย์ (บรรณาธิการ). (2555). “ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และทางออกในการแก้ปัญหาร่วมกัน ความเห็นของผู้หญิง เยาวชน และผู้นำชุมชน” ใน เวทีรวม: เสวนาข้ามศาสนาครั้งแรกของประชาชน ไทยพุทธ มลายู ชาวไทยเชื้อสายจีน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิศักยภาพชุมชน.
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2551). ความรุนแรงกับการจัดการ “ความจริง”: ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. (2547). “ประวัติศาสตร์และการเมืองของมุสลิมในรัฐไทย”. เอกสารประกอบการสัมมนา "อิสลามในอุษาคเนย์:จากเปอร์เซียสู่สุวรรณภูมิ" วันที่ 18 มกราคม 2547 ณ ,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ.
พระพิพิธภักดี (ต่วนกูมูดอ). (มปป.). การก่อการร้ายในสี่จังหวัดภาคใต้และความคิดเห็นในการแก้ไข. เอกสารอัดสำเนา.
มะอีซอ โซมะดะ, งามพล จะปะกิยา และ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (2553). เรื่องเล่าจากหมู่บ้านเชิงเขาบูโด กรณีบ้านตะโหนด. กรุงเทพฯ: โครงการเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อศึกษาท้องถิ่นในสามจังหวัดภาคใต้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
มูฮำมัดอายุบ ปาทาน. (2544). “ผ่าขบวนการโจรก่อการร้าย (ขจก) องค์กรนำ-สถานการณ์-ศักยภาพจากอดีตถึงปัจจุบัน”. ใน มติชน (24 มิถุนายน). หน้า 5.
อารีฟิน บินจิ, อ.ลออแมน และ อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง. (2543). ปาตานี ดารุสสลาม. ยะลา: ศูนย์วัฒนธรรมชายแดนภาคใต้