Skip to main content
 
เอกรินทร์ ต่วนศิริ
 
 
            สำหรับงานเขียนเกี่ยวกับองค์กรภาคประชาสังคมของชาวไทยมุสลิม ได้แก่ งานวิทยานิพนธ์ของ นาย ภัณฑิต จิตต์หมวด เรื่อง “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของชาวไทยมุสลิม: ศึกษากรณีองค์กรการต่อต้านสงครามอัฟกานิสถาน เป็นการศึกษาถึงองค์กรประกอบการเคลื่อนไหวทางสังคมของชาวไทยมุสลิมในการต่อต้านสงครามในอัฟกานิสถาน ความร่วมมือระหว่างองค์กรที่เคลื่อนไหว และอัตลักษณ์ของชาวไทยมุสลิมที่เกิดจากการร่วมมือดังกล่าว โดยศึกษาจากองค์กรมุสลิมที่มีการเคลื่อนไหว 6 องค์กร ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมดังกล่าว คือ สันติภาพ โดยการเรียกร้องให้ยุติสงครามโดยเร็ว กิจกรรมที่หลายหลายในการเคลื่อนไหว ขับเคลื่อนตั้งอยู่ในแนวทางสันติวิธีในอิสลามสำคัญ โดยนำเอาคำสอนศาสนาของศาสนาอิสลามมาสู่การปฏิบัติในส่วนที่เป็นเป้าหมาย รูปแบบและสาระของขบวนการ ซึ่งทั้งหมดในงานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ร่วมของชาวไทยมุสลิม
 
           
          พินิจพิเคราะห์ในทัศนะของข้าพเจ้า งานชิ้นนี้ก็ไม่มีได้วิเคราะห์ให้เห็นถึง เรื่องของ แนวคิดของประชาสังคมมุสลิม หรือแนวคิดขบวนการเคลื่อนไหวแบบอิสลาม เพียงแต่ได้พยายามกล่าวถึงกิจกรรมเท่านั้น ซึ่งข้าพเจ้าได้เห็นข้อด้อยหรือกล่าวในทางบวกก็คือ น่าเสียดายที่งานวิทยานิพนธ์ ชิ้นนี้ ไม่สามารถอธิบายเรื่อง แก่นความคิดของขบวนการเคลื่อนไหวอย่างดังกล่าว ว่ามีแนวความคิด หรือได้รับอิทธิพลของการเคลื่อนไหวในกรณีดังกล่าวมาจากที่ใดและรูปแบบการเคลื่อนไหวสอดคล้องกับหลักการ แนวคิดเรื่องของประชาชาติมุสลิมอย่างไร ?
          
         ในทางด้านทฤษฏีงานชิ้นนี้มุ่งใช้กรอบแนวความคิดเรื่อง การระดมทรัพยากร การเคลื่อนไหวทางสังคม ในรูปแบบมาจากตะวันตก เพียงอย่างเดียว
 
หนังสือ Islam and Civil Society in Southeast Asia ได้รวมบทความทางด้านวิชาการเกี่ยวกับประชาสังคมของชาวมุสลิม ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีการศึกษาที่เกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวของมุสลิมในสังคมไทย จำนวน 2 ชิ้น ได้แก่
 
การศึกษาของ Chaiwat Satha-anand เรื่อง “Defending Community,Strengthening
Civil Society: A Muslim Minority Contribution to Thai Civil Society ศึกษาการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยการเคลื่อนไหวทางสังคมของชาวมุสลิมในสังคมไทย โดยศึกษากรณีการต่อสู้ชุมชนมุสลิมบ้านครัวเพื่อต่อต้านโครงการการก่อสร้างทางด่วน ซึ่งกล่าวอย่างรวบรัดงานชิ้นนี้ ก็ไม่สามารถอธิบายหรือแสดงความแจ่มชัดทางด้านทฤษฏีขบวนการเคลื่อนไหวทางด้านสังคมของอิสลาม อาจจะเป็นการตั้งโจทย์ของผู้ที่เขียนงานชิ้นนี้ ที่มุ่งการกรอบแนวคิดของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของโลกตะวันตกมากกว่า ที่จะมุ่งอธิบายในรูปแบบของการเคลื่อนไหวของอิสลาม อาจจะเป็นเพราะประเด็นการเคลื่อนไหวนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกระทบกับทางด้านศาสนา แม้ว่าจะมีการพูดถึงประเด็นของมัสยิดบ้านครัวจะถูกถอดหรือรื้อย้ายก็ตาม แต่ขบวนการเคลื่อนไหวมุ่งสนใจเรื่องความเดือนร้อนเรื่องการย้ายที่อยู่อาศัยมากกว่า
      
       การศึกษาของ Preeda Prapertchop เรื่อง “Islam and Civil Society in Thailand: The Role of NGO” ได้ศึกษาถึงบทบาทขององค์กรประชาสังคมในประเทศไทย ได้แก่ สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม กลุ่มญามาอะฮ์ตับลีฆ และมูลนิธิเพื่อการศึกษาและการพัฒนามุสลิมอีสาน ในงานชิ้นนี้ของปรีดา ได้อธิบายถึงกลุ่มทำงานที่เป็นมุสลิมที่ได้พยายามขับเคลื่อน เคลื่อนไหวงานทางด้านสังคม ถือได้ว่าเป็นบทความที่ช่วยให้เห็นถึง การทำงานของกลุ่ม NGO มุสลิม และ ที่สำคัญกลุ่มที่ทำงานทางด้านศาสนา เช่นกลุ่มญามาะฮ์ตับลีฆ(กลุ่มที่เรียกร้องให้มุสลิมมาให้ความสำคัญทางด้านศาสนา)
 
สำหรับงานศึกษาประชาสังคมมุสลิม ( The Concept of Ummah / Muslim Community) ยังไม่มีความแจ่มชัดเพียงพอในการอธิบายให้เห็นถึงความแตกต่าง ต่อปัญหาข้างต้น ในฐานะผู้ที่พยายามศึกษางานเขียนเกี่ยวกับประชาสังคมมุสลิม อาจจะต้องอาศัยกรอบแนวคิด เรื่อง การเมืองอัตลักษณ์ (Political Identity) มาช่วยในการฉายภาพให้เห็นรูปแบบขบวนการเคลื่อนไหวอิสลาม ซึ่งในส่วนตัวข้าพเจ้าได้มีความสนใจตลอด
 
สู่การพินิจพิเคราะห์ การที่ขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามสามารถยกฐานะกลายเป็นกระบอกเสียงและกุมการนำขบวนการชาตินิยมต่อต้านการครอบงำต่างชาติได้ หมายถึงว่าขบวนการนี้ได้เข้ามาแทนที่และสวมบทบาทเดิมของขบวนการฝ่ายซ้ายและขบวนการชาตินิยมในฐานะที่เป็นศูนย์รวมหลัก เพื่อต่อต้านอำนาจและอิทธิพลครอบงำทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของตะวันตกด้วยในฐานะที่กลายเป็นขบวนการนำกระแสความคิดชาตินิยมต้านการครอบงำต่างชาติ กลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามได้กลายสภาพเป้นขบวนการสังคมต่อต้านระบบทุนนิยมโลกที่แข็งกร้าวที่สุดและมีเครือข่ายกว่างขวางที่สุดในโลก
 
ศาสนาอิสลามมีลักษณะเด่นตรงที่ สามารถเป็นไปได้ทั้งอัตลักษณ์ที่ผสมผสานความรู้สึกชาตินิยมและความเป็นชาติพันธ์เข้าด้วยกันได้ขณะเดียวกันก็สามารถพัฒนากลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่มีอุดมการณ์ทางด้านการเมืองต่อต้านอิทธิพลและอำนาจบังคับจากระบบทุนนิยมโลกได้เช่นกัน
 
 
บทส่งท้าย ประเด็นพิจารณาและการศึกษา
         
        ในการศึกษาเรื่องของประชาสังคมโดยผ่านแนวคิดของอิสลามถือว่าเป็นเรื่องที่มีความยากลำบากพอสมควร ด้วยเงื่อนไขที่จะต้องประสบพบเจอก็คือ งานเขียนของนักเขียนที่เป็นมุสลิม ได้พยายามเขียนออกมาอย่างสม่ำเสมอว่าแนวคิดทางด้านสังคมหรือศาสตร์ทางด้านสังคมศาสตร์ที่ปรากฏให้เห็นอยู่นั้น เป็นแนวคิดที่มาจากโลกตะวันตก หรือกล่าวอย่างถึงที่สุดก็คือ เป็นแนวความคิดของพวกยะวูดี (ยิว) ที่มียาพิษแอบแฝงอยู่ ซึ่งในทัศนะของข้าพเจ้าถือว่าการมีอคติต่อความรู้เรื่องทางด้านสังคมศาสตร์ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะว่าอิสลามสอนให้เราเรียนรู้หรือถามผู้รู้ในเรื่องที่เราไม่รู้ เพราะว่าความรู้นั้นไม่ได้เป็นของมนุษย์แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า ที่ให้เราใคร่ครวญในสิ่งที่อัลลอฮ์ประทานลงมาให้แก่มวลมนุษย์
           
ข้าพเจ้าหวังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มประชาสังคม ที่ทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ามีแนวคิดหรือวิธีการทำงานอย่างไร และอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของภาคประชาสังคมที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กลุ่มทางเลือกที่ 3 สามารถจะทำอะไรได้บ้างในบนเงื่อนไขของความขัดแย้งที่ไม่มีผู้ประกาศความรับผิดชอบ หรือ สังคมไทยทั้งหมดจะต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบร่วมกัน มันคือความจำเป็นที่เราจะต้องเดินทางในเส้นหมอกแห่งชะตากรรมทางแพร่งและพงหนามของความรุนแรง และการให้คุณค่าต่อระบอบประชาธิปไตยไทยที่ ไม่ว่าจะเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง หรือการแบ่งปันอำนาจไปสู่ท้องถิ่นไม่ว่าจะรูปแบบ(พิเศษ)ใดๆก็ตาม เราก็ต้องเผชิญความท้าทายนี้ร่วมกันต่อไป...
 

อ่านเรื่องต่อเนื่อง

“อุมมะฮฺ” ประชาสังคมมุสลิม (ตอนต้น)