Skip to main content
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
เผยแพร่ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555
 
ขอให้นายกฯ พิจารณาทดลองไม่ต่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 3 เดือน
เสริมงานพัฒนา เยียวยาและสานเสวนาตามนโยบายของสมช.และศอบต.
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมส่งจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 3 ลงวันที่  15 มิถุนายน พ.ศ. 2555  โดยระบุว่าเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 คณะรัฐมนตรีได้มีมติขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ จังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ต่อไปอีก 3 เดือน เป็นการขยายระยะเวลาครั้งที่ 27 ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 19 มิถุนายน 2555   โดยจดหมายเปิดผนึกระบุว่าขอให้นายกฯ ทดลองไม่ขยายการประกาศการบังคับใช้พรก.ฉฉฯ ในครั้งต่อไปนี้เป็นระยะเวลาสามเดือน  เพื่อเปิดโอกาสให้มีการทำงานในกรอบนโยบายตามแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช) และการทำงานของฝ่ายบริหารโดยศอ.บต.สามารถดำเนินงานตามแผนที่เน้นการพัฒนาและสร้างสันติภาพดำเนินต่อไปเป็นไปได้   การไม่ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังเป็นส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจให้กับประเทศต่างๆ ในประชาคมอาเซียน
ในห้วงเวลาที่ผ่านมาทางรัฐบาลได้กำหนดให้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) และได้เห็นชอบในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างยุทธศาสตร์ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) เน้นงานด้านการพัฒนา และยังคงให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเน้นงานด้านความมั่นคง ภายใต้กรอบของแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ที่เสนอโดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
มูลนิธิฯ มีข้อมูลอันเป็นที่ประจักษ์ว่า ศอ.บต.ได้นำนโยบายในการพัฒนาดำเนินการเพื่อฟื้นฟูความเข้าใจและลดเงื่อนไขความรุนแรง สู่การปฏิบัติโดยการเปิดนโยบายการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เช่น มีการซ้อมทรมาน การอุ้มหาย การควบคุมตัวโดยไม่ชอบ การวิสามัญฆาตรกรรม และการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวโดยไม่สามารถดำเนินคดีอาญาต่อบุคคลต้องสงสัยนั้นได้ ซึ่งย่อมเป็นการยอมรับโดยรัฐในการใช้อำนาจในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษนั้นที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพและความปลอดภัยของประชาชน นอกจากนี้มูลนิธิฯยังพบว่าศอ.บต.ได้ดำเนินการโดยดำเนินการแก้ไข กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อกฎหายต่างๆที่ขัดต่อวิถีชีวิตอัตลักษณ์ของพี่น้องมุสลิม เป็นการยกระดับบรรยากาศของการยอมรับอัตลักษณ์ของบุคคลที่ได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญและหลักกติกาสากล รวมทั้งการเปิดพื้นที่การพูดคุยด้านสันติภาพต่อสาธารณะมากขึ้น
โดยในส่วนแผนการรักษาความมั่นคง ทางมูลนิธิฯพบว่า    ประชาชนไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือประชาชน
ผู้บริสิทธิ์ ยังคงตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ยังคงความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ขณะเดียวกันการจัดการเพื่อยับยั้งและปราบปราม โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายที่เน้นไปในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัย  การจำกัดสิทธิและเสรีภาพที่ยังก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงญาติและทนายความ  อันนำไปสู่ความไม่โปร่งใสในกระบวนการการซักถาม  
มูลนิธิฯเห็นว่าหากแนวทางนโยบายและการปฏิบัติของฝ่ายศอ.บต.และกอ.รมน.เป็นไปในลักษณะของเส้นขนานกับการบังคับใช้พรก.ฉุกเฉินที่ยังจำกัดสิทธิและละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมต่อไป   จะทำให้โอกาสในการสร้างให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในบรรยากาศแบบสันติภาพย่อมเกิดขึ้นจริงได้ยาก จึงเสนอให้ทดลองไม่ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อนำสู่การพิจารณาเปรียบเทียบถึงความจำเป็นที่จะยังคงมีการประกาศพรก.ฉฉฯต่อไปในอีก 3 เดือนข้างหน้า