สถาบันการป้องกันและยุทธศาสตร์ศึกษา ประเทศสิงคโปร์ เปิดเวทีฟังเสียงประชาชนชายแดนใต้ เพื่อสะท้อนแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ในมุมมองของคนพื้นที่ พร้อมสรุปรายงานสัมมนาเสนอรัฐบาลไทย
ดร.โจเซพ ลีเยา นักวิชาการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคมนี้ สถาบันการป้องกันและยุทธศาสตร์ศึกษา (Istitute of Defence and Strategic Studies :IDSS) ประเทศสิงคโปร์ ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อเรื่อง“ธรรมนูญสันติภาพและยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่โรงแรมซีเอส จ.ปัตตานี เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในระดับล่าง ซึ่งจะเป็นการสะท้อนให้ผู้มีอำนาจ รวมทั้งสังคมโลกได้รับทราบเสียงของประชาชน ต่อปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เนื่องจากที่ผ่านมานั้นเสียงและความคิดของประชาชนไม่ได้รับการเหลียวแล และต้องการให้นักวิชาการและนักวิจัยได้มาพูดคุยและเปลี่ยนความคิดเห็นในแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ร่วมกัน
ดร.ลีเยา เปิดเผยอีกว่า สำหรับผู้เข้าร่วมในสัมมนาครั้งนี้ประกอบด้วย ประชาชนในพื้นที่ นักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ ในส่วนของงบประมาณในการจัดสัมมนาในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Institute of Peace :USIP)
เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยที่ผ่านมา ดร.ลีเยากล่าวว่า รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เน้นการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ ซึ่งก็รวดเร็วดี แต่นโยบายก็ต้องดีขึ้น ไม่ใช่ยิ่งเพิ่มปัญหากับประชาชน
สำหรับมุมมองการแก้ปัญหาของรัฐบาลสิงคโปร์ในเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมดร.ลีเยากล่าวว่า รัฐบาลสิงคโปร์มีความระวังเกี่ยวกับนโยบายการก่อการร้ายมากเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่ต้องการให้มุ่งประเด็นไปในเรื่องศาสนา ในประเทศสิงคโปร์มีการใช้กฎหมายความมั่นคงภายใน (Intenal Security Act :ISA) สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยจะใช้ ISA ไม่ได้ แต่ความจริงแล้วในประเทศไทยมี พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินใช้อยู่ แต่อย่างไรก็ตามสิงคโปร์ ก็ยังมองว่า ISA มีความสำคัญในการแก้ปัญหาความมั่นคงของประเทศ
ดร.ลีเยากล่าวว่า คาดหวังต่อการสัมมนาในครั้งนี้ว่า รัฐบาลไทยรับฟังความคิดเห็นจากงานสัมมนาในครั้งนี้ โดยจะสรุปรายงานจากการสัมมนาเสนอต่อรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริการ เนื่องจากได้นำเสนอความคิดเห็นและเสียงของประชาชนในพื้นที่ สำหรับประเด็นในการสัมมนา ประกอบด้วย วันที่ 30 ตุลาคม ช่วงเช้ามีการนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับรากเหง้าของปัญหา การเมืองและความขัดแย้ง ในภาคบ่าย มิติทางประวัติศาสตร์ที่นำไปสู่ความรุนแรง ความกลัวคือปัจจัยของความขัดแย้ง ส่วนวันที่ 31 ตุลาคม ช่วงเช้า บทบาทขององค์กรต่างประเทศ การปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่องสังคมมุสลิมและความขัดแย้ง การศึกษาศาสนา ในช่วงบ่ายมีการแสดงความคิดเห็นทั่วๆไป
ด้านดร.อิตี อับราฮัม จาก East-West Center Washington (EWCW) ซึ่งเป็นสถาบันที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัย ด้านสันติวิธีเผยแพร่ให้กับผู้ที่มีอำนาจหรือผู้ที่สามารถตัดสินใจต่อการแก้ปัญหาต่างๆ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญในการสัมมนาครั้งนี้คือ การอธิบายคำพูดสนทนาให้คนธรรมดาได้เข้าใจ ให้ผู้เข้าเข้าร่วมมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ นอกจากนั้นก็จะได้ทราบว่าการพูดคุย หรือการเจรจาได้รับการปฏิบัติแล้วหรือ หรือยังมีข้อใดบ้างที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ ตัวอย่างเช่น ถ้าพูดว่าจะให้ความรุนแรงจบภายในหกเดือน หลังจากหกเดือนนี้ประชาชนต้องรู้ ต้องเข้าใจ ต้องรู้ว่าทำไมไม่สามารถแก้ปัญหาได้ดังที่เคยกล่าวมา ไม่ใช่อยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไร
ที่มา: สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย