Skip to main content

ฟารีดา ขจัดมาร

3. “ความมั่นคงภายใน” หลังยุคซูฮาร์โต
         
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่แสดงบทบาทสำคัญของความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานนับ 30 กว่าปี  โดยคงตำแหน่งสำคัญในสมาคมอาเซียน (ASEAN) และความร่วมมือทางด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียน-แปซิฟิก (ARF) เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 1997 และตามมาด้วยการสิ้นสุดของการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีซูฮาร์โตในปี 1998 ดูเหมือนว่าอินโดนีเซียต้องเผชิญกับการรื้อฟื้นโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมใหม่ เศรษฐกิจอินโดนีเซียยังไม่เจริญเติบโต เนื่องจากมีอัตราการว่างงานและเงินเฟ้อสูง การฟื้นตัวหลังวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 1997 ยังไม่ดีมากนัก เนื่องจากยังไม่สามารถกับปัญหาหลักๆ ได้ หนี้สาธารณะยังไม่ได้รับการแก้ไขและระบบศาลก็ยังไม่น่าเชื่อถืออีกทั้งยังไม่มีความไว้วางใจในจากการลงทุนจากต่างชาติ เนื่องจากนักลงทุนยังสับสนกับสถานการณ์ทางการเมืองของอินโดนีเซียที่ปรากฏท่ามกลางสายตาชาวโลก[1]
 
 ในวันที่ 21 พฤษภาคม 1998 เกิดการเดินขบวนประท้วงใหญ่ขึ้นก่อให้เกิดการจลาจลและความรุนแรงขยายทั่วไป จากจาการ์ตาไปสู่ยอร์กยาการ์ตา บันดุงและสุราบายา ตลอดทั้งปี1998 เกิดขบวนการประท้วงของนักศึกษาในการเรียกร้องให้มีการยุติการคอรัปชั่น การสมรู้ร่วมคิดและการรักษาผลประโยชน์ของเครือญาติของชนชั้นนำ และมีการเสนอแก้ไขปรับปรุงระบอบการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นสถานการณ์เปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่เป็นอันตราย แต่ก็นำมาสู่การเลือกตั้งซึ่งสามารถสร้างรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยและมีก่อเกิดภาคประชาสังคมที่อาจต้องใช้เวลาสร้างความเข้มเข็ง อย่างไรก็ตามกลุ่มทหารซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่าก็ยังไม่หมดอิทธิพลลงไป เนื่องจากยังสามารถครองที่นั่งในสภาได้ถึง 7.6 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นผู้แทนสภา (MPR) ของอินโดนีเซียที่โหวตเพื่อเลือกประธานาธิบดีคนใหม่นั้น กว่า 34 เปอร์เซ็นต์ได้รับการแต่งตั้งจากเหล่าทหารและชนชั้นนำทางการเมือง[2]
 
แม้ว่าอินโดนีเซียกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง แต่ประเทศนี้ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญหนึ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข คือ การทบทวนบทบาททางการเมืองของกองทัพอินโดนีเซีย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเพียงสถาบันเดียวที่สามารถรวมอินโดนีเซียเข้ากันเป็นหนึ่งเดียวได้ ดังนั้นจึงการกล่าวถึงบทบาทของกองกำลังทหารของอินโดนีเซียเพื่อให้เข้าใจถึงสภาพและการเปลี่ยนแปลงบทบาทของกองกำลังทหารจึงสำคัญไม่น้อย
 
๐ จาก ABRI ถึง TNI[3]
           
แต่เดิมกองกำลังทางทหารของอินโดนีเซียในช่วงของประธานาธิบดีซูฮาร์โต นั้นมีชื่อเต็มว่า The Armed Forces of Indonesia หรือ Angkatan Bersenjata Republik Indonesia (ABRI)  ซึ่งเป็นกองกำลังในการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ ที่ควบรวมกิจการการทำงานของตำรวจและระบบการทำงานของรัฐในทุกระดับ โครงสร้างทางอำนาจของระบอบทหารมีระบบการปรึกษา การให้อำนาจพิเศษและระบบข่าวกรองที่มีการดำเนินการอยู่ในทุกๆ หน่วยงานของรัฐบาล
 
ในช่วงนี้เองแทบจะไม่มีการพูดถึงหรือการวิจารณ์การทำงานของกองกำลังทหารในพื้นที่สาธารณะ นอกจากนี้การปฏิบัติการทางทหารยังทำงานในระดับที่เป็นทางการน้อยมาก เช่น การใช้มาตรการโจมตีทางทหารในอาเจะห์ ไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือมีการใช้ความพยายามในการดำเนินการทางการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหา
 
ในช่วงปีสุดท้ายก่อนการก้าวลงประธานาธิบดีซูฮาร์โต มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกองทัพแห่งชาติ จนมาสู่การปฏิรูปกองกำลังทหารมาเป็นกองทัพแห่งชาติ (Indonesian National Military, Tentara Nasional Indonesia หรือ TNI) ให้อยู่ภายใต้สถาบันทางการเมืองและมีการแยกกิจการของตำรวจออกไป
 
อย่างไรก็ตาม กองกำลังแห่งชาติยังมีความสำคัญทางการเมืองอยู่ การปฏิรูปหรือ Reformasi นี้เป็นการพยายามดึงกองกำลังแห่งชาติออกมาจากการผูกขาดในกิจการการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ แต่ก็มีปฏิกิริยาสะท้อนกลับต่อการเรียกร้องให้ทหารเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมือง มีการเดินขบวนประท้วงใหญ่และเกิดการจลาจลเกิดขึ้นในจาการ์ตาในช่วงของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในเดือนพฤษภาคมปี 1998 ความตึงเครียดยังคงดำรงอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน 1998 และเดือนพฤศจิกายนในปี 1999 ในพื้นที่ต่างๆ คือ จาการ์ตา กูบัง ติมอร์ตะวันตก โปโซ สุลาเวสีกลาง และ โมลุกกะ บางกรณีชี้ชัดว่ามีทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครั้งนี้ 
 
 ในช่วงของประธานาธิบดีอับดุลเราะห์มาน วาฮิด มีการพยายามปฏิรูปการทำงานของกองทัพอีกครั้ง ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับกองทัพแห่งชาติ ดังนั้น วาฮิด จึงต้องการขยายอำนาจของตำรวจให้มากขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าตำรวจไม่ต้องการความช่วยเหลือจากทหารในการจัดการกับปัญหาความไม่สงบอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตำรวจไม่สามารถพิสูจน์การทำงานได้และกองกำลังทางทหารยังเป็นที่ต้องการอยู่ดี 
 
ในช่วงของประธานาธิบดีเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี ก้าวมามีอำนาจในช่วงปี 2001 การปฏิรูปกองทัพยังไม่คงเป็นไปอย่างล่าช้า เมกาวาตียังคงปล่อยให้กองทัพแห่งชาติเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายเพื่อเข้ามาจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ ในช่วงหลังเหตุการณ์ระเบิดที่บาลีเมื่อปี 2002  นำมาสู่การขยายอำนาจในการจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายภายในประเทศ
 
นอกจากนี้รัฐบาลเมกาวาตีพยายามสร้างความเข้มแข็งให้หน่วยงานข่าวกรองแห่งชาติ  (National Intelligence Agency, Badan Inteligen Negara หรือ BIN) นอกจากนี้ยังมีการยอมรับความช่วยเหลือจากนานาชาติมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปกองทัพแห่งชาติยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ทำให้เกิดปัญหาในการทำงานที่ทับซ้อนกับระหว่างหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ กับกองทัพแห่งชาติ เช่น การต่อต้านการก่อความไม่สงบ การต่อต้านการก่อการร้าย การปราบปรามยาเสพติดและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงอื่นๆ
 
๐ แนวโน้มวิกฤตชาติพันธุ์
 
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นภายในประเทศอินโดนีเซียถือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อความมั่นคงของภูมิภาคในหลายยุคหลายสมัย หลังการปกครองของประธานาธิบดีซูฮาร์โตความตึงเครียดภายในประเทศก็มีมากขึ้น ทั้งในเชิงศาสนา ชาติพันธุ์และภูมิศาสตร์ ซึ่งกระตุ้นโดยความสำเร็จของชาวติมอร์ตะวันออกและตามมาด้วยความกดดันในการแบ่งแยกดินแดนอาเจะห์และปาปัวตะวันตก และอาจจะส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้นในภูมิภาค 
 
นอกจากนี้ยังมีความห่วงกังวลของประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นผู้อพยพ ซึ่งหากอินโดนีเซียต้องเผชิญกับปัญหาการแบ่งแยกดินแดนแล้วก็จะก่อให้เกิดการอพยพตามมาของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะการอพยพของชาวจีน
 
ขณะที่อินโดนีเซียพยายามต่อสู้กับวิฤตการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทั้งปัญหาการเมืองส่วนกลางและความรุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับการแบ่งแยกดินแดนในอาเจะห์และอิเรียนจายา รัฐบาลสหรัฐอเมริกาของประธานาธิบดีบุชได้มีการทบทวนการให้ความช่วยเหลือทางการทหารต่ออินโดนีเซีย ความร่วมมือทางการทหารระหว่างสหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซียยังคงมีลักษณะจำกัดอยู่เนื่องมาจากการออกกฎหมายของสหรัฐอเมริกาและความไม่เรียบร้อยของการเงินและระบบราชการในอินโดนีเซียเอง อย่างไรก็ตามการขยายขอบข่ายความร่วมมือการค้าอาวุธและโครงการอบรมทางการทหารนั้นจะมีนัยสำคัญต่อความมั่นคงของจาการ์ตาและวอชิงตัน ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวเป็นเสมือนตัวชี้วัดความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซียไปด้วยนั่นเอง
 
อย่างไรก็ตาม ประเด็นในเรื่องการยกระดับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหารอินโดนีเซียและความต้องการของอินโดนีเซียในการปฏิรูปทางการทหารเพื่อจัดการกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและความขัดแย้งต่างๆ นั้น ยังคงถูกตั้งคำถามว่าจะจัดการความสัมพันธ์ในทางการทหารอย่างไร
         
4. รื้อฟื้นสัมพันธ์ทางทหาร
 
จากสภาพของความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้นภายในประเทศอินโดนีเซียและปัญหาการก่อการร้าย ทำให้สหรัฐอเมริกามีความพยายามในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทหารกับอินโดนีเซียอีกครั้ง มีประเด็นที่ควรพิจารณา คือ ประการแรก สหรัฐอเมริกามีสถานภาพอย่างไรต่อประเด็นนี้ ทั้งเรื่องการฟื้นฟูโครงการศึกษาและการฝึกอบรมทางการระหว่างประเทศ (IMET) และงบประมาณทางการทหารต่างประเทศ ซึ่งแก้ไขปรับปรุงโดยพระราชบัญญัติการจัดสรรงบประมาณเมื่อปี 2001
 
และประการที่สอง ข้อกังวลของนักสิทธิมนุษยชนและสหรัฐอเมริกาเองเกี่ยวกับมาตรฐานของการปฏิรูปทางการทหารเพื่อให้มีความโปร่งใสและมีความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งความกังวลที่มีมากขึ้นนี้เองเป็นผลจากเหตุการณ์สังหารหมู่เดือนพฤศจิกายนที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1991 โดยทหารได้สังหารประชาชนร่วม 200 คนในเมืองดิลิ ติมอร์ตะวันออก ประเด็นนี้ได้ถูกนำเข้าสู่สภาคองเกรสในวาระที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดการค้าอาวุธ การให้การศึกษาและการอบรมทางด้านการทหารระหว่างประเทศ (IMET) ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990
 
๐ ช่วยเหลือแฝงผลประโยชน์
  
          การช่วยเหลือทางด้านยุทโธปกรณ์ทางด้านทหารและการฝึกอบรมให้กับกองกำลังทหารในอินโดนีเซียไม่ได้หยุดนิ่งไปเสียทั้งหมด แม้ว่าโครงการ IMET จะถูกเลื่อนออกไป แต่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐยังคงให้ความสนับสนุนอย่างมหาศาลในการฝึกอบรมกองกำลังพิเศษ ภายใต้โครงการความร่วมมือการอบรมและการแลกเปลี่ยน (Joint Combined Exchange and Training program  หรือ JCET) ความพยามเหล่านี้ไม่ได้เป็นการละเมิดกฎหมายแต่อย่างใด
 
ในขณะที่กองกำลังทหารพิเศษที่สหรัฐอเมริกาฝึกอบรมผ่านโครงการ JCET นั้น มุ่งตรงไปสู่ชนชั้นนำของอินโดนีเซียคือกลุ่ม Kopassus ซึ่งเป็นหน่วยในกองกำลังทางการทหารที่จัดว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก อย่างไรก็ตาม โครงการ JCET ก็ถูกเลื่อนออกไปอีกครั้งในปี 1998 เนื่องจากยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนักหน่วงของกลุ่มทหาร Kopassus ในติมอร์ตะวันออกและมีเพิ่มการตรวจสอบอย่างละเอียดของสื่อมวลชน[4]
 
          นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลืองบประมาณบางส่วนของโครงการ IMET ซึ่งได้ถูกรื้อฟื้นขึ้น ในปี 1995 โดยมีการควบคุมทางการทหาร คือ มีการจำกัดการฝึกอบรมในการให้ความรู้ทางการทหาร และการจำกัดในการส่งอาวุธจากสหรัฐอเมริกาสู่อินโดนีเซีย ตลอดช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งในช่วงนั้นเองสหรัฐอเมริกามีการให้ความช่วยเหลือในด้านอาวุธและยุทโธปกรณ์ทางด้านการทหารเป็นจำนวนมากกว่า 148 ล้านเหรียญสหรัฐมาตั้งแต่ปี 1993 การช่วยเหลือทั้งหมดรวมไปถึงการค้าอาวุธยุทโธปกรณ์และการเติมเต็มข้อแก้ไขสัญญาแก้ไขต่างๆ ที่มีเคยอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ประธานาธิบดีซูฮาร์โตเองในช่วงนั้นก็ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชนในอินโดนีเซียที่ได้ถูกเสนอโดยสภาครองเกรสและประกาศในปี 1997 ว่า อินโดนีเซียจะไม่สนใจซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป 
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากรูปแบบการให้ความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาจะเห็นได้ว่าสหรัฐอเมริกายังให้ความในสนใจในการรักษาความสัมพันธ์กับอินโดนีเซียอยู่ ทั้งๆ ที่มีความกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติของรัฐบาลอินโดนีเซียและกองกำลังทางการทหารเมื่อช่วงทศวรรษที่ผ่านมา[5]
 
          อาจกล่าวได้ว่าความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกามีความไม่ต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ลงประชามติในวันที่ 30 สิงหาคมปี 1999 และมีการเรียกร้องให้ติมอร์ตะวันออกแยกออกจากอินโดนีเซีย รัฐบาลคลินตันได้เลื่อนเวลาในการให้ความร่วมมือในการฝึกฝนทางการทหารออกไปอีกครั้ง ทั้งการค้าอาวุธและโครงการอบรมต่างๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความร่วมมือทางการทหารก็ถูกจำกัดลง โดยในปี 2000 งบประมาณก็ถูกจำกัดลงในโครงการ IMET  
 
แต่เงินจำนวน 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐก็ถูกการจัดสรรขึ้นอีกครั้งในปี 2001 ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีการดำเนินภายใต้เงื่อนไขของการรับรองโดยประธานาธิบดี มีเพียงสัญญาทางทหารเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางระหว่างสหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซีย ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ ปี 1999 นั้นคือ การฝึกกองทัพเรือและเรือรบ (Cooperation Afloat Readiness and training - CARAT) ที่มีขึ้นในทุกปี นอกจากนี้เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียยังเป็นส่วนหนึ่งของผู้สังเกตการณ์การฝึก “Cobra Gold” ที่เป็นการฝึกทางการทหารในประเทศไทยและมีการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนของเครื่องบิน CN 235  ที่สร้างในอินโดนีเซียเพื่อส่งต่อไปขายยังเกาหลีใต้ และชิ้นส่วนของเครื่องบินขนส่ง Hercules ในเดือนพฤศจิกายนในปี 2000 อีกด้วย[6] 
 
          อาจกล่าวได้ว่าภายใต้การจำกัดการให้ความช่วยเหลือก็ยังมีความช่วยเหลือของสหรัฐในด้านอื่นๆ อีก เช่น การฝึก Cobra Gold และ CARAT   การประชุมในระดับภูมิภาค การสัมมนาและการพบปะระหว่างเจ้าหน้าที่ การพูดคุยเกี่ยวกับการทำงานของทำเนียบขาวในการให้คำปรึกษาด้านการบังคับบัญชาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Pacific Command) แม้ว่าจะมีการตั้งประเด็นในเรื่องของสิทธิมนุษยชนขึ้น แต่รัฐบาลบุชก็ยังดำเนินการแบบยืดหยุ่นเพื่อขยาย ความสัมพันธ์ทางการทหารในด้านการให้ความช่วยเหลือหรือการฝึกอบรมที่มีต่อรัฐบาลอินโดนีเซียนั้นที่จะต้องทำอยู่ภายใต้เงื่อนไขของข้อบัญญัติทางกฎหมาย ทั้งโครงการ IMET และการอุดหนุนงบประมาณให้กองทัพต่างชาติ (Foreign Military Financing - FMF) ซึ่งสหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซียจะดำเนินการได้นั้นต้องผ่านเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้คือ[7]
 
1.มีมาตรการสำคัญในการนำสมาชิกของกลุ่มทหารติดอาวุธและกองกำลังติดอาวุธเข้าสู่ กระบวนการยุติธรรมในกรณีที่พบหลักฐานการละเมิดสิทธิมนุษยชน
2. มีมาตรการสำคัญในการนำสมาชิกของกลุ่มทหารติดอาวุธและกองกำลังติดอาวุธเข้าสู่ กระบวนการยุติธรรมในกรณีที่พบหลักฐานว่าช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธ
3. อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพกลับไปยังติมอร์ตะวันออกได้ รวมทั้งจัดหาหนทางที่ดีในการเคลื่อนย้ายผู้อพยพจากติมอร์ตะวันตก
4.ไม่ขัดขวางการทำงานของสหประชาชาติในการเปลี่ยนผ่านอำนาจในติมอร์ตะวันออก
5. แสดงให้เห็นถึงคำมั่นในการปกป้องการรุกล้ำของกองกำลังติดอาวุธจากติมอร์ตะวันตกที่เข้ามายังติมอร์ตะวันออก[8]
 
          อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางการทหารของทั้งสองฝ่ายยังดำเนินไปได้โดยไม่มีประสิทธิภาพมากนัก ในการสนับสนุนกองทัพอินโดนีเซียให้บรรลุถึงมาตรฐานของกองกำลังที่มีความทันสมัยภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือนในการก่อให้เกิดความมั่นคงในระยะยาวให้กับอินโดนีเซีย แม้นายกรัฐมนตรีโทนี่ แบร์ แห่งอังกฤษจะประเมินในปี 2000 ว่า อินโดนีเซียค่อยๆ ก้าวเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงและมีการปรับปรุงสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นที่น่าจับตา แต่เขาก็ได้กล่าวว่ากองทัพแห่งชาติ (TNI)ยังคงมีความไม่ชัดเจนในการปฏิรูป TNI ยังคงเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนทางการเมืองสำคัญและยังไม่สามารถควบคุมกองกำลังติดอาวุธในติมอร์ตะวันตกได้ เป็นผลทำให้เกิดทำให้เกิดการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติสามคนและยังไม่สามารถนำผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าสู่การพิจารณาของศาลได้
 
ในขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียมีความพยายามที่จะจัดการกับพื้นที่ความขัดแย้งโดยมีการจัดระเบียบกองทัพและถอนรากถอนโคนการที่กองทัพเข้าไปมีส่วนร่วมกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น และเพื่อที่จะควบคุมการรั่วไหวของอาวุธยุทโธปกรณ์ไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของเอกชน แม้สหรัฐอเมริกายืนยันความร่วมมือในการปฏิรูปกองทัพอินโดนีเซีย แต่สหรัฐอเมริกาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับรูปแบบในการปฏิรูปมากไปกว่าการรักษาความมั่นคงแห่งชาติของตน เช่น การสร้างความสมดุลในแถบเอเชียตะวันออก การสร้างความมั่นคงในเส้นทางการเดินเรือ และการสร้างความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย
 
อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ได้รับการช่วยเหลือทางด้านการเงินมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงปี 2002 และ 2004  โดยที่ฟิลิปปินส์ได้รับงบประมาณช่วยเหลือทางด้านการทหารเป็นจำนวนเงิน 122.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และงบประมาณช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ เป็นจำนวนเงิน 243 .11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ระหว่างการการพบปะกันระหว่างประธานาธิบดีบุชและประธานาธิบดีอาโรโย ในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2003 รัฐบาลของเธอได้รับเงินช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและสังคมมากอีกว่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 2007 งบประมาณความช่วยเหลือทางด้านการทหารนั้นพุ่งสูงถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ[9]
 
ในขณะที่ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐอเมริกายังเสนอต่อสภาครองเกรสในการอนุมัติเงินจำนวน 16 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงินงบประมาณในปี 2002  ตามกฎหมายด้านการจัดสรรเงิน ครึ่งหนึ่งของเงินจะใช้ในการฝึกอบรมตำรวจเพื่อที่ต่อสู้กับการก่อการร้าย และอีกครึ่งหนึ่งเพื่อใช้สำหรับการฝึกอบรมและการจัดอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ในหน่วยงานทางการทหารเพื่อเป็นกองกำลังในการรักษาสันติภาพภายในระเทศ ในดินแดนที่มีปัญหาต่างๆ นอกจากนั้นยังมีงบประมาณเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องคือเงินงบประมาณจำนวน 400,000 เหรียญสหรัฐสำหรับฝึกอบรมพลเรือนในหลักสูตรภายใต้โครงการฝึกอบรมทางการทหารและการศึกษาระหว่างประเทศ (IMET) เพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  
 
          นอกจากความช่วยเหลือทางด้านการทหารแล้วอินโดนีเซียยังได้รับความช่วยเหลือทางด้านสุขภาพ การศึกษา และการพัฒนา ระหว่างการเยือนบาหลีในปี 2003 ประธานาธิบดีบุชได้แวะมาเยือนที่บาหลีและยืนยันว่าสหรัฐอเมริกาจะให้ความช่วยเหลือเงินเป็นจำนวน 157 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสนับสนุนโรงเรียนในอินโดนีเซีย[10]
 
๐ ปฏิกิริยาต่อความสัมพันธ์
 
อย่างไรก็ตาม การฟื้นคืนความสัมพันธ์ระหว่างอินโดนีเซียและสหรัฐอเมริกานั้นไม่เป็นที่พอใจท่ามกลางชนชั้นนำทางการเมืองในจาร์กาตา นักการเมืองจากพรรคการเมืองมุสลิมจากรัฐสภาอินโดนีเซียได้หยิบยกความกังวลที่ว่าองค์กรอิสลามจะเป็นเป้าของการต่อต้านการก่อการร้ายและอินโดนีเซียจะเป็นหลักประกันให้กับประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่คนหนึ่ง คือ พลเอก Sudrajut ซึ่งเป็นอธิบดีกรมยุทธศาสตร์การป้องกัน กระทรวงกลาโหม ได้แสดงความห่วงใยว่า การมีส่วนร่วมในโครงการอบรมเจ้าหน้านี้รัฐเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศและนักปกป้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็มีความห่วงใยในการต่อต้านการก่อการร้ายซึ่งจะเป็นการเปิดช่องให้มีการกดขี่และการรื้อฟื้นระบอบซูฮาร์โตกลับมา
 
ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในฝ่ายการเมืองสายอนุรักษ์นิยมนี้เองทำให้มีการหยิบยกประเด็นขึ้นมาตอบโต้ว่า รัฐบาลของอินโดนีเซียและจีนยังให้ความสำคัญกับการต่อต้านภายในประเทศท่ามกลางบริบทของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย จีนเองยังตีตราขบวนการเรียกร้องในการแบ่งแยกตนเองในจังหวัดซินเกียงซึ่งเป็นจังหวัดที่มีประชากรมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดว่าเป็นการก่อการร้าย เช่นเดียวกับรัฐบาลอินโดนีเซียที่พยายามเชื่อมโยงขบวนการแบ่งแยกดินแดนอาเจะห์
 
วาทศิลป์ต่างๆ ที่สหรัฐอมริกาหยิบยกมาว่าจะเป็นการขับเคลื่อนประชาธิปไตยและการต่อต้านการก่อการร้ายนั้น ไม่ได้สร้างกิจกรรมที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยและการปกป้องสิทธิมนุษยชนในอินโดนีเซียเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อเกิดการทรมานนักโทษในอ่าวกวนตานาโมขึ้น และหลังจากมีการเปิดเผยภาพการทรมานผู้ถูกจำคุกในเรือนจำอบูกรออิบ (Abu Ghraib) สิ่งนี้ทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือของสหรัฐอเมริกามากยิ่งขึ้น สหรัฐอเมริกาถูกกล่าวหาว่ากำลังใช้สองมาตรฐานและกำลังเผชิญกับการต่อต้านการเมืองแบบเสรีนิยมที่เกิดขึ้นในระดับรัฐและในระดับสังคม ขณะที่ยังคงยืนหยัดในการต่อสู้เพื่อยกระดับแนวคิดของสิทธิมนุษยชนขึ้นมาและสร้างประชาธิปไตย
 
กระแสการต่อต้านการให้การสนับสนุนการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกาไม่ใช่เกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นนำเท่านั้น ในฐานะที่อินโดนีเซียเป็นผู้นำในขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้ความรู้สึกนี้ยังคงมีความเข้มแข็งอยู่ คลื่นการประท้วงเกิดขึ้นทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการแทรกแซงทหารในอิรักช่วงปี 2001 การประท้วงมีความเข้มข้นมากขึ้นเมื่อสหรัฐอเมริกาปฏิบัติการบุกอิรักในปี 2003  ต่อมาไม่นานประธานาธิบดีเมกาวาตีกลับเปลี่ยนจุดยืนของตนเอง โดยการสนับสนุนการต่อต้านการก่อการร้ายกับสหรัฐอเมริกาจากการเยือนสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2001 ในปีเดียวกันประธานาธิบดีเมกาวาตีก็ไม่ได้วิจารณ์การบุกอัฟกานิสถานของสหรัฐอเมริกา เพียงแต่แสดงการตำหนิการใช้ความรุนแรงในการต่อต้านการก่อการร้าย ต่อมาเมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าโจมตีอิรักและเกิดคลื่นการประท้วงมากขึ้นในปี 2003 เธอมีความชัดเจนว่าไม่สามารถสนับสนุนรัฐบาลวอชิงตันได้อีกต่อไปเนื่องจากแรงกดดันภายในประเทศ[11]  
 
กระแสต่อต้านการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกานี่เองที่ทำให้รัฐบาลของนางเมกาวาตี ขึ้นมาควบคุมสถานการณ์การต่อต้านในประเทศได้โดยลังเลที่จะให้ความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เนื่องจากกลัวว่าจะมีการมุ่งทำลายตำแหน่งทางการเมืองโดยกลุ่มพรรคการเมืองอิสลามที่เคยขัดขวางเธอในการก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งแรกในช่วงปี 1999[12] และเพื่อควบคุมสถานการณ์ความไม่พอใจในหมู่ชาวมุสลิมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
 


[1] Pual Dibb, “Indonesia: The Key to South-East Asia’s Security,” International Affairs Vol.77,No.4 (Oct., 2001): p.838.
[2] Alan Collins, Security and Southeast Asia Domestic,Regional, and Global issues, (Singapore : Institute of Southeast Asian Studies, 2003), p.78.
[3] International Crisis Group, “Indonesia: Rethinking internal security strategy,” International Asia Report, No.90(December,2004): pp.2-4.
[4] International Crisis Group, “Indonesia-U.S. Military ties,” Indonesia Briefing Paper,
(July,2001): p.3.
 
[5] Ibid.
 
[6] Ibid.,p.4.
 
[7] Ibid.,p.4.
[8] Ibid.,p.4-5.
 
 
[9]Rosemary Foot, Framing Security agendas,(Washington: East-West Center,2008), p.11.
[10]Ibid.
[11] Ibid.,p.15.
[12] Vedi R. Hadiz, “Indonesia,Order and terror,” in Empire and Neoliberalism in Asia, p.132.