Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

เหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธสงคราม กราดยิงเข้าไปภายในมัสยิดอัลฟรุกอน ต.จวบ อ. เจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อคืนวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบรายและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก สร้างความวิตกว่าอาจทำให้สถานการณ์ชายแดนภาคใต้ที่ร้อนระอุ บานปลายไปเป็นความขัดแย้งทางศาสนา

ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ยกกรณีลอบวางระเบิดมัสยิดแห่งหนึ่ง ในประเทศอิรัก เมื่อปี 2548 ขึ้นมาให้เห็นเพื่อเป็นบทเรียนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันคลี่คลายให้ความคลุมเครือซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งยุติลงโดยเร็วก่อนปัญหาจะบานปลาย

รอง ผอ.ศูนย์มุสลิมศึกษา กล่าวว่า มัสยิดของมุสลิมนิกายชีอะห์ถุกลอยวางระเบิด ในสถานการณ์ที่เกิดความขัดแย้งกันระหว่างมุสลิมนิกายซุนนีย์และชีอะห์ในอิรัก ทำให้กองทัพสหรัฐอเมริกา ที่ควบคุมประเทศอิรักอยู่ในขณะนั้น กล่าวหาว่าเป็นการกระทำของฝ่ายซุนนีย์  ขณะที่มุสลิมนิกายซุนนีย์ตอบโต้ว่า มุสลิมจะไม่ทำลายศาสนสถานของมุสลิมด้วยกัน ยิ่งมัสยิดด้วยแล้วมุสลิมจะไม่ทำอย่างเด็ดขาด และกล่าวหาว่าสหรัฐอเมริกา หรือ ซีไอเอ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

ความคลุมเครือซึ่งไม่อาจระบุชี้ชัดได้ว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ ทำให้มุสลิมในอิรักทั้งสองกลุ่มเกิดความขัดแย้ง หวาดระแวงต่อกัน สายสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมต่างนิกายในชุมชนก็ขาดสะบั้นลง วิกฤติครั้งนี้คลี่คลายลงได้ ด้วยการใช้กระบวนการทางการเมืองเข้าประนีประนอมความขัดแย้งของทั้งสองกลุ่มซึ่งมีจำนวนเท่าๆ กัน นอกจากนี้ประเทศมหาอำนาจของทั้งสองนิกายคือ ซาอุดิอารเบีย ในฐานะผู้นำของนิกายซุนนีย์ และอิหร่าน ในฐานะผู้นำของนิกายชีอะห์ ได้ร่วมหารือเพื่อยุติความขัดแย้งมิให้บานปลายจนส่งผลกระทบต่อโลกมุสลิมโดยรวม

แต่ปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะจนถึงปัจจุบันก็มีบางกลุ่มที่พยายามลากโยงให้เหตุการณ์นี้ เป็นความขัดแย้งทางศาสนา
สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ศราวุฒิเห็นว่ายิ่งเพิ่มความซับซ้อนให้มากขึ้นไปอีก จากความแตกต่างทางศาสนาของประชากรในพื้นที่

“สำหรับสายตามุสลิมด้วยกัน น้อยมากที่จะเชื่อว่ามุสลิมเป็นคนกระทำในเหตุการณ์ครั้งนี้  การยิงมัสยิดอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น หมายถึงความขัดแย้งทางด้านศาสนา เพราะหากเป็นเรื่องนี้จะแก้ไขยากมาก”

ภายใต้ข้อน่ากังวลนี้ เขาเสนอความเห็นเพื่อหาทางระงับมิให้บานปลายว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำศาสนาในท้องถิ่น หรือระดับประเทศ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ ต้องออกมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง มากกว่าการมาปกป้องหน่วยงานของตนเอง ขณะที่กลไกรัฐทุกส่วน จะต้องรักษาความเป็นกลาง สร้างความไว้วางใจแก่ทุกฝ่ายในท้องถิ่น