Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
www.deepsouthwatch.org

 

          การกราดยิงในมัสยิดที่เจาะไอร้องเมื่อดึกวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมาเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ช็อกความรู้สึกอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ไล่เรียงต่อเนื่องในห้วงเวลาไม่นานนี้ ความรุนแรงที่มีคุณภาพและส่งผลต่อความรู้สึกสูงเช่นนี้ยังรวมถึงเหตุการณ์สังหารครูที่ช่วงเปิดเทอมหลายราย การวางระเบิดคาร์บอมบ์กลางอำเภอยี่งอ จุดระเบิดฮัมวี่ลาดตระเวน หรือแม้แต่การก่อเหตุหลายจุดกลางเมืองยะลา ซึ่งเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ที่ใกล้เคียงกัน แม้จะต่างพื้นที่และรูปแบบ แต่การระเบิดขึ้นของเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง หลังพื้นที่ของสื่อมวลชนถูกความเคลื่อนไหวอื่นๆ ช่วงชิงไป ล้วนเป็นแนวโน้มของสถานการณ์ที่น่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะการอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้โดยภาพรวม

           แม้ว่าผู้ให้ความเห็นจากฝั่งกองทัพจะมองว่าปรากฏการณ์ทำนองนี้เป็นฝีมือของ “ฝ่ายตรงกันข้าม” เพื่อต้องการยกระดับให้สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่คลี่คลายไปตามเป้าประสงค์ของพวกเขา แต่ดูเหมือนว่าคำอธิบายหลังเหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เป็นการยืนยันโดยตัวเองว่า แม้จะมีกำลังทหารมากมายเต็มพื้นที่ เหตุรุนแรงก็ยังคงเล็ดลอดปรากฎกายอยู่ได้ทุกเมื่อเชื่อวัน

           อีกทั้งสัญญาณจากชาวบ้านจากเหตุการณ์ล่าสุดที่สะท้อนผ่าน นัจมุดดีน อูมา ส.ส.พรรคมาตุภูมิ ที่มุ่งให้ความสนใจต่อคำถามถึงต้นเหตุของเหตุการณ์กราดยิงกลางมัสยิดด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้โจทย์ของทางการหนักหน่วงมากขึ้น 
 
           นัจมุดดีน อธิบายว่า เหตุความรุนแรงหลายครั้งในระยะนี้ หลายเหตุการณ์เป็นที่ชัดเจนว่าเกิดจากฝีมือของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ทั้งชุดเหตุการณ์ที่ยะลา หรือแม้แต่การวางระเบิดรถยนต์ที่ยี่งอ แต่ในกรณีล่าสุด เสียงสะท้อนจากการก่อเหตุสังหารในมัสยิดว่าเป็นฝีมือของใครส่งผลสะเทือนต่อผู้คนในชุมชนอย่างมาก

           “ทางการต้องให้คำตอบกับพวกเขา” นักการเมืองจากนราธิวาสกล่าว

           สิ่งที่เขากังวลคือแนวโน้มของสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะเข้าร่องรอยเดิมที่เคยเกิดขึ้นที่ยะลาเมื่อสองสามปีก่อน นั่นคือ การใช้ความรุนแรงตอบโต้กัน โดยที่ทางการไม่สามารถให้ความกระจ่างแจ้งได้ ทว่าสิ่งที่เขาเรียกร้องต่อรัฐบาลหาได้มีเพียงการเปิดเผยความจริงและจัดการกับผู้กระทำความผิดอย่างไม่เลือกหน้าเท่านั้น หากแต่มุ่งไปสู่การใช้แนวทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม โดยมีรูปธรรมคือการผลักดันกฎหมายจัดตั้งสำนักบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเขาแนะว่ารัฐบาลควรนำเสนอต่อรัฐสภาในช่วงการเปิดประชุมสมัยวิสามัญกลางเดือนนี้โดยเร็วที่สุด

           แม้ว่าในพื้นที่ความขัดแย้งไม่อาจละเลยการประเมินความรู้สึกของผู้ที่จมอยู่กับความรุนแรงได้  ทว่าในการวิเคราะห์สถานการณ์บนฐานของข้อมูลก็เป็นสิ่งบ่งชี้แนวโน้มของสถานการณ์และโจทย์หลักที่รัฐบาลต้องมุ่งคลี่คลายด้วยเช่นกัน

           ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้  (CSCC) วิเคราะห์ว่า จากความถี่และความเข้มข้นของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้บ่งชี้ว่าแนวโน้มของการก่อเหตุความรุนแรงจะยังยกระดับขึ้นสูงอีก แม้ว่าจะมีจำนวนของเหตุการณ์ไม่สูงเท่ากับช่วงก่อนปี 2551 แต่ทิศทางยังคงเป็นไปในทำนองนี้

           เหตุที่เป็นเช่นนั้น ศรีสมภพ แจกแจงว่า จากสถิติของเหตุการณ์ แนวโน้มดังกล่าวมีข้อน่าสังเกตตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากก่อนหน้านั้นจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงลดต่ำลงกว่า 100 เหตุการณ์ต่อเดือน ทว่านับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา เหตุการณ์ได้พุ่งสูงขึ้นเกิน 100 เหตุการณ์ต่อเดือน  ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง การอธิบายความถี่ของเหตุการณ์ในเดือนมิถุนายนก็มีสถิติรองรับว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของคลื่นความรุนแรงรอบนี้ พบว่าเดือนมิถุนายนของทุกปีมีสถิติของเหตุการณ์ความรุนแรงมากที่สุดในรอบปี จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นวงรอบของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา

           เขายังอธิบายต่อว่า ผลกระทบของเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในพื้นที่เหล่านี้อาจพบว่าส่งผลต่อหลายปัจจัยด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือการส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชนจำนวนไม่น้อย ซึ่งสะท้อนผ่านการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดย CSCC ซึ่งล่าสุดพบว่าความรู้สึกของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ความมั่นคงยังไม่ค่อยดีมากนัก เนื่องจากยังคงมีความไม่ไว้วางใจอยู่สูง ซึ่งเป็นไปได้ว่าเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายและการใช้อำนาจหน้าที่ของที่ไปกระทบกับประชาชนในบางกรณี

           สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ทหารจะมีโอกาสในการเข้าถึงพื้นที่และชุมชนได้มากที่สุดในบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนจะมีบทบาทลดลง เนื่องจากอาจเกิดภาวะอาการกลัวจะได้รับผลกระทบจากการก่อเหตุที่เป้าโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบโดยมากคือพวกเขา

           “แม้ว่าทหารจะเข้าถึงและพยายามที่จะให้บริการของรัฐต่อประชาชน แต่หากมองในทางกลับกันก็พบว่าได้รับความไม่ไว้วางใจในบางพื้นที่ไม่มากนัก การทำงานของหน่วยงานเหล่านี้จึงต้องปรับปรุงตัวเองอีกมากด้วย”

           นอกเหนือจากการวิเคราะห์จากแนวโน้มของเหตุการณ์ผ่านสถิติเหตุการณ์ความรุนแรงและการสำรวจความคิดเห็นแล้ว การพิจารณาในมิติของการต่อสู้ระหว่างคู่ขัดแย้งก็เป็นประเด็นที่เขาให้ความสำคัญ ศรีสมภพ ระบุว่า เป็นไปได้เช่นกันที่สถานการณ์ที่หนักหน่วงในขณะนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่ศาลมีคำสั่งในคดีชันสูตรไต่สวนกรณีตากใบเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างสำคัญ เนื่องจากอาจเรียกได้ว่า “ผิดความคาดหมาย” ไปจากความรู้สึกของคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ และจุดนี้อาจไปกระตุ้นให้เป็นเงื่อนไขสร้างความชอบธรรมในการตอบโต้ด้วยความรุนแรง

           ไม่เฉพาะปัจจัยภายในที่ร่วมสมัยเท่านั้น เขายังเชื่อมโยงต่อเหตุการณ์ภายนอกสำคัญอย่างความเคลื่อนไหวในการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศมุสลิม (ที่ประชุม OIC)   ที่ประเทศซีเรียเมื่อปลายเดือนก่อน ซึ่งพบว่ารัฐบาลไทยประสบผลความสำเร็จในการเลื่อนวาระการพิจารณาของ OIC ต่อกรณีปัญหาที่ชายแดนภาคใต้ของไทยออกไป เป็นเหตุให้กลุ่มติดอาวุธภายในประเทศจำเป็นต้องเร่งเร้าสถานการณ์ภายในประเทศเพื่อยกระดับของสถานการณ์ให้เป็นที่สนใจเพื่อต่อรองทางการเมืองในระดับการเมืองระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมา  ความสนใจขององค์กรระหว่างประเทศต่อกรณีความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงในภาคใต้ตอนล่างของไทยมีเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวมุสลิมในพื้นที่

           “ผมคิดว่าพวกเขาคงยังไม่หยุด เพราะการผลักดันเรื่องเหล่านี้ในเวทีสากลยังคงต้องดำเนินการต่อไป  จำเป็นต้องเรียกร้องความสนใจและสร้างพื้นที่ในสื่อเพื่อนำไปต่อรองในเวทีเหล่านี้”

           อย่างไรก็ตาม ศรีสมภพ ตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเมื่อพิจารณาแนวโน้มและปัจจัยเกื้อหนุนของเหตุการณ์ ผนวกกับฐานข้อมูลของสถานการณ์อาจเข้าใจได้ว่า ในช่วงกลางปีที่เกิดวงรอบของความรุนแรงหนาแน่นเหล่านี้อาจสัมพันธ์กับการประชุมของ OIC ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเวลากลางปีเช่นเดียวกัน เหตุการณ์ความรุนแรงเป็นสารในการตอกย้ำถึงสถานภาพของกระบวนการต่อสู้ของชาวมลายูมุสลิมของพื้นที่นี้ก็เป็นได้

           นอกจากสารที่ส่งตรงถึงประเทศมุสลิมแล้ว เขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สารแห่งความรุนแรงเหล่านี้อาจต้องการส่งสัญญาณไปยังทางการมาเลเซีย เพื่อบีบให้ยกระดับบทบาทของประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ให้เป็นตัวกลางในการเปิดช่องพูดคุยและเจรจาระหว่างทางการไทยและขบวนการติดอาวุธ

           ศรีสมภพ จึงประเมินว่าการเร่งกระแสด้วยการรุกทางด้านการทหารเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองเป็นสิ่งจำเป็นของขบวนการติดอาวุธที่ชายแดนภาคใต้ เพราะที่ผ่านมาอาจเรียกได้ว่าแนวทางการเมืองที่จะต่อรองกับรัฐไทยนั้นเริ่มตีบตัน เนื่องจากรัฐบาลเองก็ไม่ยอมรับการเจรจา ซ้ำยังสามารถหว่านล้อมที่ประชุม OIC ให้รับฟังข้อเรียกร้องของทางการไทยได้ ส่วนในพื้นที่ก็มีกองกำลังของรัฐกุมสภาพพื้นที่เอาไว้ แม้ว่าจะมีช่องให้ก่อเหตุรุนแรงได้อยู่ก็ตาม นอกจากนี้ รัฐบาลก็พยายามปรับทิศทางการแก้ไขปัญหาโดยการประเมินการใช้กฎหมายพิเศษ ก่อนที่จะผลักดันให้บังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง โดยภาพรวมแล้วฝ่ายรัฐบาลถือว่ายังคงได้เปรียบ

           แต่ถึงกระนั้น ฝ่ายทหารซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการปัญหาของรัฐไทยเองก็มีจุดอ่อน ทั้งจากกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายกรณีและการไม่พร้อมรับผิด โดยเฉพาะล่าสุดในกรณีตากใบก็บ่งชี้ให้เห็นว่าหากเงื่อนไขเหล่านี้ยังดำรงอยู่ เท่ากับว่ายังคงเปิดช่องให้ฝ่ายตรงกันข้ามรัฐสามารถรุกทางการทหารและสร้างพื้นที่ข่าวเพื่อส่งแรงกดดันต่อรัฐได้อีก

           ข้อสังเกตถึงแนวโน้มของสถานการณ์เหล่านี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของการย้ำเตือนให้สังคมไทยและผู้กำหนดนโยบายของรัฐไทยตระหนักรู้ถึงปัญหาที่กำลังเผชิญ พร้อมกับต้องตั้งคำถามเดิมๆ ด้วยว่า วิธีการเดิมๆ ที่ยึดมั่นปฏิบัติการอยู่ในขณะนี้สามารถตอบคำถามต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายหรือไม่?