Skip to main content

“รายอแน”  เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวมลายูมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต ซึ่งเป็นประเพณีที่ไม่มีระบุในศาสนา แต่เป็นวิถีที่มุสลิมในพื้นที่ถือปฏิบัติ หลังจากที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเสร็จสิ้นแล้ว ในศาสนาอิสลามส่งเสริมให้ถือศีลอดต่ออีก 6 วัน ดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ 6 วันนี้แล้ว ชาวมลายูมุสลิม 3 จังหวัดก็ถือโอกาสนี้เฉลิมฉลองอีกครั้งโดยการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษที่เสียชีวิต โดยการอ่านอัลกุรอานและซิกรุลเลาะห์ (รำลึกถึงอัลลอฮฺ) โดยมักจะเลี้ยงอาหาร  เยี่ยมเยียนกูโบร์(สุสาน) ของบรรพบุรุษที่สำคัญเพื่อรำลึกถึงความตาย บางพื้นที่ยังมีการทำความสะอาดบริเวณกูโบร์ร่วมกัน โดยเรียกวันนี้ว่า วัน “รายอแน”

 

ทั้งนี้ “วันอีด” หรือในพื้นที่รู้จักกันว่า “ฮารีรายอ” ในหลักศาสนาอิสลามนั้นมี 2 วันเท่านั้น  คือวัน “อีฎิ้ลฟิตรี”  ซึ่งเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองของการสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ของเดือนเชาวาล เป็นเดือนถัดไปจากเดือนรอมฎอนตามปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม ส่วนวันอีดอีกวันหนึ่งคือ “อีฎิ้ลอัฎฮา”  เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสที่มุสลิมส่วนหนึ่งจากทั่วทุกมุมโลกได้มีโอกาสไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอารเบีย 

 

“รายอแน” เป็นวัฒนธรรมที่มีเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ส่วนมุสลิมในพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศหรือต่างประเทศ จะไม่มีวัฒนธรรม “รายอแน” แต่ก็จะมีกิจกรรมซึ่งต่างกันออกไปแต่ยังสอดคล้องกับหลักศาสนา ดังนั้นจึงน่าตั้งคำถามว่า เหตุใดที่ชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงถือปฏิบัติประเพณีรายอแนเรื่อยมา 

 

นูรุดดีน สารีมิง อาจารย์แผนกอิสลามศึกษา คณะวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี กล่าวถึงวันอีดว่า “ความจริงแล้ว วันอีดในอิสลามนั้น มีแค่ 2 วันเท่านั้น แต่สำหรับวันรายอแนนั้น เป็นประชามติของชาวบ้านที่ถือปฏิบัติกันมา หลังจากที่ถือศีอดอีก 6 วันในเดือนเชาวาล  ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ดี ในอิสลามไม่ได้ห้ามอะไร  โดยมีกิจกรรมหลัก ๆ คือ การเยี่ยมกูโบร์ (สุสาน) ทำความสะอาด ระลึกถึงการตาย ซึ่งการเยี่ยมกูโบร์นั้น ก็เป็นซุนนะฮฺ หรือแบบอย่างการปฏิบัติคำสอนของนบีมูฮัมหมัดและสิ่งที่ท่านยอมรับ  และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมุสลิมอื่น ๆ แล้ว อย่างประเทศแถบอาหารับ เขามีเจ้าหน้าที่คอยดูแลรักษาความสะอาดที่กูโบร์ ซึ่งต่างกับประเทศของเราที่รัฐบาลมีงบประมาณเฉพาะทำรั้วกูโบร์เท่านั้น ดังนั้นคิดว่า เป็นสิ่งที่ดีที่มีการรวมตัวกันและร่วมกันทำกิจกรรม และเป็นกิจกรรมที่ดีด้วย” อาจารย์นูรุดดีนให้ความกระจ่าง

 

อับดุลการีม หะยีอาซา ผู้จัดการสถาบันปอเนาะดารุสลาม อัลฟาตอนีย์ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี  อธิบายถึงประเพณีและคุณค่าของ “รายอแน” ว่า  “มีหะดิษหนึ่งกล่าวความว่า ให้ถือศีลอดครบ 1 เดือนในเดือนรอมฎอน และถือศีลอดเพิ่มอีก 6 วันในเดือนเชาวาล เพราะจะได้รับผลบุญเท่ากับถือศีลอด 1 ปี หลังจากนั้นให้มีการสร้างความสัมพัธ์ระหว่างเครือญาติ หรือ ในภาษาอาหรับเรียกว่า ซีลาตุลเราะฮีม เพราะในหะดิษกล่าวถึงคุณค่าถึงการปฏิสัมพันธ์กับญาติพี่น้อง จะทำให้ บุคคลนั้นได้รับปัจจัยยังชีพโดยง่าย และที่สำคัญจะได้พ้นจากภัยร้ายทั้งปวง และยังมีหะดิษหนึ่งบอกความว่า ใครที่ต้องการปัจจัยยังชีพโดยง่าย คือ  ให้สร้างความสัมพัน์ระหว่างเครือญาติ”  ผู้จัดการสถาบันปอเนาะดารุสลาม อัลฟาตอนีย์กล่าว

 

และอธิบายเพิ่มเติมว่า“ในวันดังกล่าวนั้น มีกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน โดยการทำอาหารเลี้ยงกัน ซึ่งถือเป็นการบริจาคทาน และมีกิจกรรมที่ต่างกับวันอีดปรกติคือ การเยี่ยมกูโบร์ ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นกิจกรรมที่ดี เพราะการเยี่ยมกูโบร์เป็นการระลึกถึงการตาย และทำให้ “อีมาน” หรือ “ความศรัทธา” ของเราเข้มแข็งมากขึ้น นอกจากนั้นแล้วในขณะที่เยี่ยมกูโบร์นั้น ก็มีการอ่านอัลกุรอาน และรำลึกถึงอัลลอฮฺ และหะดิษหนึ่งได้บอกความว่า  ความดีของผู้ที่ถอนหญ้าในกูโบร์แค่ 1 เส้น จะได้รับผลบุญเท่ากับ 10 เส้น เพราะส่งผลทำให้คนที่เดินผ่านไปมา เห็นกุโบร์ที่สะอาดนั้นก็จะรู้สึกสบายใจ” นายอับดุลการีม หะยีอาซากล่าว

 

อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าการเฉลิมฉลองของประเทศอื่น ๆ นั้น จะใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ อย่างประเทศ ซาอุดีอาระเบีย เพราะประเทศเหล่านี้มีฐานะร่ำรวย บางคนถือโอกาสวันอีฎิ้ลฟิตรี เดินทางเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องถึงต่างประทศ ทำให้ต้องใช้เวลานาน หรืออย่างประเทศมาเลเซีย มีการเฉลิมฉลองวันฮารีรายอกันยาวนานนับเดือนซึ่งต่างกับคนไทยใน 3 จังหวัดที่มีฐานะยากจน ไม่ได้ร่ำรวยถึงขั้นเศรษฐี แต่จะจัดงานกินเลี้ยงอาหารเฉพาะในหมู่บ้าน หรือไปมาหาสู่ภายในจังหวัด หรือไปแต่ในหมู่บ้าน เรียกได้ว่าทำบุญหรือบริจาคเท่าที่มีความสามารถ ได้เท่านี้ก็ดีมากแล้ว

 

ส่วนบรรยากาศการเฉลิมฉลองปีนี้ก็ไม่ต่างกับปีก่อนที่ครึกครื้น บนท้องถนนเต็มไปด้วยรถราที่ขับวิ่งไปมา โดยเฉพาะสาย 410  ระหว่างเส้นทางจากอำเภอเมืองปัตตานีถึงตัวเมืองยะลาซึ่งปกติก็มีรถจำนวนมากอยู่แล้ว แต่ในช่วงวันอีด 1 สัปดาห์นี้ มีรถจำนวนมากเป็นพิเศษ เพราะนอกจากผู้คนจะเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องแล้ว ก็มีบางคนถือโอกาสไปเฉลิมฉลองเดินทางเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำตกหรือชายทะเลต่างๆ

 

 

 

รถที่วิ่งไปมา ส่วนใหญ่บรรทุกญาติพี่น้อง และสวมเสื้อผ้ามีสีสันสวยงาม เพื่อเดินทางไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องเนื่องในวันอีดด้วยสีหน้าที่มีรอยยิ้มและมีความสุข  และข้างๆ ทางก็เห็นตัวบ้านเรือนที่ถูกปรับแต่งมองดูสะอาดสะอ้านเรียบร้อยงามตา และบางบ้านเรือนก็เห็นผู้คนที่รวมตัวกันเป็นกลุ่ม บ้างก็นั่งหัวเราะ บ้างก็นั่งรับประทานอาหารร่วมกัน บ้างก็นั่งคุยอย่างสนุกสนาน

 

อย่างในพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี แม้ว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบโดยเฉพาะการเสียชีวิตในเหตุการณ์กรืเซะเมื่อ 2 ปีก่อนจำนวนหลายคน แต่บรรยากาศรอยยิ้มของผู้คนก็ไม่ต่างกับที่อื่น

 

นายยา สาและ วัย 56 ปี ชาวบ้านคลองแตยอ ม.6 ต.ม่วงเตี้ย อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี  บอกว่า วันรายอปีนี้กับปีก่อนไม่ต่างกัน มีคนเยอะเหมือนเดิม แม้ว่าพื้นที่จะมีเหตุการณ์อยู่บ้าง และลองสังเกตแล้วพบว่าปีนี้มีคนมากกว่าปีก่อนเสียอีก โดยเฉพาะที่กูโบร์ เพราะศพทั้งหมดที่เสียชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 ทั้งหมด ถูกฝังที่กูโบร์คลองแตยอทั้งหมด ทั้งที่พวกเขาอยู่ในพื้นที่ ม.4 ม.5  และ ม.1 แต่เพราะพ่อแม่ของพวกเขาเป็นคนดั้งเดิมของคลองแตยอ  ศพทั้งหมดจึงถูกฝังที่นี่ และวันรายอแน ซึ่งเป็นการเยี่ยมเยียนกูโบร์ ญาติพี่น้องพวกเขาต่างก็มาที่นี่ โดยผู้ชายจะเข้าไปทำความสะอาด อ่านอัลกุรอานเพื่อมอบส่วนบุญให้คนที่ล่วงลับ ส่วนกลุ่มผู้หญิงก็จะเตรียมอาหารที่มัสยิด และรับประทานอาหารร่วมกัน

 

“การเข้าไปเยี่ยมกูโบร์ของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์กรือเซะ ไม่ได้ทำให้พวกเขาเคียดแค้นใด ๆ แต่กลับทำให้พวกเขารำลึกถึงความตายมากกว่า รำลึกว่าสักวันเราก็ต้องมาอยู่ที่นี่ และต้องบังคับจิตใจให้ละเว้นทำบาป” นายยากล่าวเพิ่มเติม

 

 นอกจากนั้นเขายังอธิบายอีกว่า วันรายอนอกจากจะไปเยี่ยมกูโบร์แล้ว มีการเยี่ยมเพื่อนบ้าน หรือญาติพี่น้องภายในหมู่บ้าน และมิตรสหาย ซึ่งแต่ละบ้านก็จะเตรียมอาหารตามแต่ฐานะจะเอื้ออำนวย 
 
อย่างไรก็ตามบางพื้นที่ก็มีความเปลี่ยนแปลง จากความครึกครื้นถูกแทนที่ด้วยความเงียบเหงา อย่างพื้นที่ ต. บรรพต อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ปีนี้เงียบเหงากว่าทุกปี เพราะคนในพื้นที่กลับไปร่วมงานฮารีรายอที่บ้านเกิด

 

“คนในพื้นที่ ต.บรรพตส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่นที่เข้ามาทำงาน แต่เมื่อถึงวันรายอต่างก็กลับบ้านเกิด และเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ทำให้คนไม่ค่อยจะอยู่รายอที่นี่ และหลายคนที่ไม่ได้อยู่บ้าน” ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

 

เช่น นางแอเสาะ ดอมอ บ้านของเธออยู่ใกล้มัสยิดและกูโบร์ของบ้านละโอ ต.บรรพต อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส บอกว่า จากการสังเกตวันรายอแน ปีนี้กับปีที่แล้ว บรรยากาศไม่ครึกครื้นเหมือนปีก่อน เพราะปรกติแล้ว หลังจากที่ชาวบ้านละหมาดตอนเช้าเสร็จ ประมาณตี 5 กว่า ๆ ก็จะรีบลงไปทำความสะอาดกูโบร์ หรืออ่านอัลกุรอาน แต่ปีนี้กว่าที่พวกเขาจะไปที่กูโบร์ก็สายแล้ว ประมาณ 6 โมงเช้ากว่า ๆ เพื่อรอให้สว่างก่อน เนื่องจากความกลัวต่อเหตุการณ์ความไม่สงบ และจำนวนคนที่มาที่กูโบร์ก็ลดน้อยลงกว่าทุกปีด้วย

 

นี่คือภาพเหตุการณ์โดยรวมของประเพณี “รายอแน” ในปีนี้ แม้จะต้องพบกับเหตุการณ์ความรุนแรงทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังไม่ละทิ้งประเพณีอันดีงามนี้ ยังยึดถือปฏิบัติกันมาตามแนวทางของบรรพบุรุษ การสร้างความสัมพันธ์ การเยี่ยมเยี่ยนถามข่าวครว ทุกข์ สุข ของญาติพี่น้อง เป็นกิจกรรมที่มุสลิมควรถือปฏิบัติ ซึ่งก็แล้วแต่บุคคลจะถือโอกาสไหนในการไปมาหาสู่ ทั้งนี้สิ่งเหล่านี้จะสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่น ปรองดอง สามัคคี ท่ามกลางไฟแห่งความขัดแย้งที่คุโชนได้

 

การไม่ลืมเลือนรากเหง้าแห่งอดีตของตนเอง และไม่ลืมเลือนแนวทางแห่งศาสนา จะช่วยสร้างสายใยเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ อย่างน้อยก็เป็นการช่วยกันประคับประคองความสันติสุขมิให้ห่างไกลออกไป

 

“พวกเจาทั้งหลายจงยึดมั่นในเชือกของอัลลอฮ และอย่าได้อย่าแตกแยก (จากการยึดมั่นในศาสนาของอัลลอฮฺ)” อัล อิมรอน: 103

 

เรื่องโดย: มัทนี จือนารา และ คอลีเยาะ สาและ
             สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

 

ที่มา:      “รายอแน” ประเพณีเชื่อมสัมพันธ์มลายูมุสลิมชายแดนใต้