ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
สานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการแลกเปลี่ยนระหว่างคุณเด่น โต๊ะมีนา และตัวแทนจากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยตัวแทนของสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาได้ทำหน้าที่เอื้ออำนวยให้เกิดเวทีสานเสวนาขึ้น ทั้งนี้ ก็เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
การสานเสวนาเริ่มดำเนินการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2554และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมติที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกันให้มีการดำเนินการจัดสานเสวนาในทุกๆ เดือน ส่วนสถานที่ดำเนินการจัดสานเสวนานั้นให้สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในจังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดยะลา ในปัจจุบันได้ดำเนินการมาจัดสานเสวนาเป็นจำนวนทั้งสิ้น 7 ครั้ง โดยในแต่ละครั้งมีนักการเมืองจากพรรคมาตุภูมิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคแทนคุณแผ่นดิน พรรคดำรงไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคภูมิใจไทย พรรครักสันติ พรรคเพื่อนเกษตรไทย และพรรคประชาธรรม เข้าร่วมสานเสวนาอย่างต่อเนื่อง
หลังจากการสานเสวนาครั้งที่ 1 เสร็จสิ้นลง นักการเมืองที่เข้าร่วมได้เห็นพ้องร่วมกันว่าในการสานเสวนาครั้งต่อๆ ไป หลังจากที่มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างนักการเมืองในช่วงเช้าเสร็จสิ้นลง ควรจะมีการบันทึกสรุปประเด็นทั้งหมด เพื่อเป็นข้อเสนอให้กับรัฐบาลผ่านทางสื่อมวลชนในพื้นที่
และเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2555 ซึ่งเป็นการสานเสวนาครั้งที่ 5 นักการเมืองที่เข้าร่วมสานเสวนาเห็นพ้องร่วมกันเสนอว่า ควรจะรวบรวมข้อเสนอจากการพูดคุยดังกล่าวเพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี โดยได้มีการทำหนังสือนำเรียนไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
การเปิดวงคุยดังกล่าวยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จะยังคงคุกรุ่น หนาแน่นและเบาบางสลับไปตามห้วงเวลาและโอกาสของ “ความรุนแรง” แต่สิ่งนี้ดูเหมือนจะยิ่งตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการนั่งลงและพูดคุยถกเถียงเพื่อแสวงหาทางออก ในแง่หนึ่ง ยิ่งความรุนแรงทับทวีมากเพียงใด ยิ่งจำต้องพูดคุยมากเท่านั้นนั่นเอง
วงสานเสวนาครั้งที่ 8 ซึ่งเป็นครั้งต่อไปนั้นได้กำหนดขึ้นอีกครั้งที่จังหวัดยะลาในวันที่ 10 กันยายนศกนี้
กองบรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้เห็นว่าบทสนทนาดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นกระบวนการระดมความเห็นของบุคคลที่มีฐานะเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือผู้ที่มุ่งมั่นจะได้รับเลือกตั้งเป็นตัวแทนดังกล่าวเท่านั้น หากแต่มีข้อเสนอที่สะท้อนพลวัตในชายแดนภาคใต้ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะประเด็นข้อกังวลที่สะท้อนมาจากประชาชนทั้งในเรื่องความปลอดภัยและปัญหาปากท้อง รวมไปถึงยุทธศาสตร์การพูดคุยเพื่อสันติภาพและความพยายามในการแสวงหารูปแบบการปกครองที่เหมาะสมภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้อเสนออันเป็นผลสรุปจากการเสวนาในแต่ละครั้งยังมีพัฒนาการที่ใคร่ควรแก่การไตร่ตรองต่อทุกฝ่าย จึงได้นำเสนอซ้ำอีกครั้งในที่นี้ หลังจากที่ได้มีการเผยแพร่ในที่ต่างๆ อยู่บ้างแล้ว
{1-2}
เสนอ รมต. ดูแล จชต.
นำร่องยกเลิก พ.ร.ก.
แปลงยุทธศาสตร์ สมช.สู่การปฏิบัติ
สรุปจากข้อเสนอครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม 2554 และวันที่ 30 มกราคม 2555 ตามลำดับ ณ โรงแรมซีเอส จังหวัดปัตตานี
1) ควรมีรัฐมนตรีอย่างน้อย 1 คน ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้รับผิดชอบการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง
2) ตามที่มีร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวกับชาวมุสลิม 4 ฉบับ ที่ตกไปด้วยผลของการยุบสภาผู้แทนราษฎร จึงควรช่วยกันผลักดันร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวต่อไป ได้แก่ พ.ร.บ. ศาลชารีอะห์ พ.ร.บ. กิจการฮัจญ์ พ.ร.บ. อาหารฮาลาล และ พ.ร.บ. กองทุนซะกาต
3) รถยนต์ที่ใช้ในพื้นที่จะต้องมีป้ายทะเบียนรถทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดความหวาดระแวงว่าเป็นรถที่ไม่ปรากฏที่มา และอาจมีความประสงค์ร้าย เรื่องนี้ควรแจ้งให้ฝ่ายราชการ โดยเฉพาะด่านตรวจ เพื่อให้ความสนใจและกวดขัน
4) รัฐบาลควรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการ (อิสระ) เพื่อศึกษาและพัฒนากระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้
5) ควรขยายพื้นที่ที่มีการยกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง เช่น อำเภอสุคิรินและอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส อำเภอกะพ้อและอำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นต้น
6) ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ควรเน้นแนวทางทางการเมืองและการพัฒนาที่เหมาะสมกับพื้นที่
7) ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติกำลังจะพิจารณายุทธศาสตร์ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น จากการพิจารณาร่างนโยบายดังกล่าวพบว่า เป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งฝ่ายปฏิบัติพึงนำไปปฏิบัติใช้ให้เป็นจริงต่อไป
{3}
รับลูก นโยบาย สมช.
หนุนการ ‘พูดคุยสันติภาพ’
พา ‘ปาตานีพลัดถิ่น’ กลับบ้าน
สรุปข้อเสนอครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 ณ โรงแรมอิมพีเรียล จังหวัดนราธิวาส
1) ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ มีนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557 นั้น ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นนโยบายที่จะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ได้ หากมีการดำเนินการอย่างจริงจัง
2) ที่ประชุมได้พิจารณานโยบายดังกล่าวในข้อ 6.2.1“การเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคนในพื้นที่ดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข โดย 1) ดำรงนโยบายการเมืองนำการทหารและใช้พลังทางสังคมในการมุ่งปรับเปลี่ยนทัศนคติ วิธีคิดของทุกฝ่ายจากการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหามาสู่การยึดมั่น “แนวทางสันติวิธี” โดยไม่มองกลุ่มผู้เห็นต่างเป็นศัตรู และมุ่งปรับเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ของกลุ่มที่เลือกใช้ความรุนแรงมาเลือกใช้การต่อสู้ด้วยแนวทางสันติ แทนที่การมุ่งปรับความคิดความเชื่อในเชิงอุดมการณ์เพียงอย่างเดียว” แล้ว มีความเห็นว่ารัฐควรให้โอกาสแก่นักโทษที่เคยใช้ความรุนแรง แต่ได้เปลี่ยนแนวคิดไปใช้แนวทางสันติวิธี (เช่นอดีตผู้นำขบวนการพูโลที่ศาลฎีกาได้พิพากษาคดีให้ลงโทษจำคุกไปแล้ว และนักโทษคดีนี้ได้แสดงออกว่าได้เปลี่ยนความคิดและพร้อมจะสนับสนุนการใช้แนวทางสันติวิธี) โดยให้กรมราชทัณฑ์พิจารณาคำร้องของญาติในการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษด้วยดี
3) ที่ประชุมพิจารณานโยบายดังกล่าว ข้อ 6.2.2 2) “ส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐที่เลือกใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพและเพิ่มความร่วมมือกับต่างประเทศ หรือองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ เพื่อสนับสนุนกระบวนการพูดคุยดังกล่าว” ที่ประชุมมีความเห็นว่าเรื่องนี้สอดคล้องกับเรื่องที่ที่ประชุมเคยเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการ (อิสระ) เพื่อศึกษาและพัฒนากระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงขอเน้นข้อเสนอแนะนี้อีกครั้งหนึ่ง
4) ที่ประชุมพิจารณานโยบายดังกล่าว ข้อ 6.2.5 2) “สร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน” แล้ว มีความเห็นว่า กรณีที่พนักงานสอบสวนทยอยส่งสำนวนคดีให้อัยการที่ละคดี หลังจากที่ศาลยกฟ้องคดีก่อนหน้านี้แล้ว เช่น ในคดีของอับดุลรอซัก คาเดร์ เป็นเหตุให้จำเลยถูกดำเนินคดีและคุมขังไปเรื่อยๆ นั้น ไม่สอดคล้องกับนโยบายข้างต้น รัฐจึงควรจัดให้มีการดำเนินคดีโดยเร็วเพื่อความเป็นธรรมแก่จำเลย
5) ในการเปิดประตูสู่อาเซียน รัฐบาลควรขอความร่วมมือในเรื่องการเรียนการสอนภาษามลายูกับประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในการพัฒนาหลักสูตรและการจัดหาครูสอนภาษา
6) ตามที่มีพลเมืองไทยจำนวนหนึ่งได้หลบหนีไปอาศัยอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย เนื่องจากมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย และสงสัยว่าตนมีหมายจับตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่นั้น รัฐควรสนับสนุนให้คนเหล่านี้ที่สมัครใจได้กลับสู่ภูมิลำเนา โดยให้ความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยและการต่อสู้คดี (ถ้ามี) ในกระบวนการยุติธรรม
7) ควรขยายพื้นที่ที่จะยกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง เช่น อำเภอสุคิริน อำเภอแว้ง อำเภอกะพ้อ อำเภอไม้แก่น และ อำเภอเบตง เป็นต้น
{4}
ตั้ง “คณะกรรมการอิสระ”
หนุน Peace Talk
ดัน “กระจายอำนาจ”
แนะราชการทำแผนปฏิบัติการ
ระดม ‘ความรู้’ แก้ปัญหา
สรุปข้อเสนอครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2555 ณ สวนอาหารยัสมินซีฟู๊ด จังหวัดยะลา โดยที่ประชุมได้ปรึกษาหารือให้พิจารณานโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 - 2557 ที่เสนอโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วในขณะนั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่านโยบายในข้อ 8 เป็นนโยบายที่หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยควรนำไปปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จต่อไป จึงมีข้อเสนอแนะดังนี้
1) จากวัตถุประสงค์ข้อ 8 (2) ของนโยบายดังกล่าว คือ “ให้มีการส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับ กลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐที่เลือกใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” นั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่า รัฐบาลควรจะมีกลไกเป็นรูปธรรมในเรื่องกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ เพราะเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ความสงบสุข ที่ประชุมเคยเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการ (อิสระ) เพื่อศึกษาและพัฒนากระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วยทุกภาคส่วน เช่น นักการเมือง ข้าราชการ ภาคประชาสังคม ซึ่งส่วนใหญ่ควรเป็นคนในพื้นที่ เพื่อเป็นหนึ่งในกลไกดำเนินงานในเรื่องนี้ จึงขอเน้นข้อเสนอแนะนี้อีกครั้งหนึ่ง
2) จากวัตถุประสงค์ข้อที่ 8 (1) คือ "ส่งเสริมการพูดคุยระหว่างกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องหลักการ เป้าหมาย และรูปแบบของการกระจายอำนาจ ที่เหมาะสมบนพื้นฐานความเป็นพหุสังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อยู่ภายใต้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นหลักสากลที่ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน” ซึ่งที่ผ่านมาได้มีความพยายามจากหลายภาคส่วน ตัวอย่างเช่น การศึกษาและรณรงค์ในเรื่องปัตตานีมหานคร โดยคณะทำงานเครือข่ายประชาสังคมเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การศึกษาและรณรงค์เรื่องจังหวัดจัดการตนเอง โดยสภาพัฒนาการเมือง และข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจโดยคณะปฏิรูป เป็นต้น ในขณะที่กำลังศึกษารูปแบบที่เหมาะสมอยู่นั้น ราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรทำการตกลงในเรื่องการโอนอำนาจจากภูมิภาคสู่ท้องถิ่น โดยจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการที่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจนในเรื่องการโอนภารกิจ บุคลากร และงบประมาณในแต่ละปี
3) ฝ่ายความมั่นคงประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และพลเรือน ซึ่งควรมีการจัดแบ่งความรับผิดชอบที่ควรเปลี่ยนแปลงสู่ภาวะปกติตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งที่ประชุมเคยเสนอให้ขยายพื้นที่ที่จะยกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง เช่น อำเภอสุคิริน อำเภอแว้ง อำเภอกะพ้อ อำเภอไม้แก่น และ อำเภอเบตง เป็นต้น และในวันดังกล่าวที่ประชุมได้เสนอเพิ่มเติม คือ อำเภอสุไหงโกลก อำเภอตากใบ อำเภอกาบัง และอำเภอธารโต ซึ่งการก่อความไม่สงบในพื้นที่เหล่านี้ได้ลดลง และรัฐบาลควรส่งสัญญาณในทางบวกว่าสถานการณ์ได้เริ่มคลี่คลายไปบ้างแล้ว อันจะฟื้นความมั่นใจทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไป
4) ที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาในพื้นที่จะเน้นการใช้อำนาจและกำลัง จึงควรที่ราชการและทุกภาคส่วน จะหันมาใช้พลังทางสังคม และองค์ความรู้ให้มากขึ้นในการแก้ไขปัญหา และควรมีการระดมความเห็นขององค์กรที่มีอยู่แล้ว เช่น สมาคมโรงเรียนตาดีกา สถาบันการศึกษาปอเนาะ สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สมาคมโรงเรียนเอกชนอื่นๆ มหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่งในพื้นที่ รวมทั้งสถาบันศึกษาของรัฐทุกระดับ มาช่วยกันนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยพลังของสังคมและใช้องค์ความรู้เป็นพลังนำ
{5}
แนะนายกฯ ฟังเสียงประชาชนโดยตรง
ย้ำต้องทบทวนการต่ออายุ พ.ร.ก.
เห็นพ้องจุดยืน เลขา สมช.
‘ความขัดแย้งอัตลักษณ์’ จบที่การ ‘เจรจา’
สรุปข้อเสนอครั้งที่ 5 วันที่ 30 เมษายน 2555 ณ สวนอาหารยัสมินซีฟู๊ด จังหวัดยะลา โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
1) สืบเนื่องจากการมาเยี่ยมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2555 นั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่า การมาเยี่ยมพื้นที่แสดงให้เห็นว่าผู้นำรัฐบาลให้ความสนใจแก่ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ และเป็นนิมิตหมายว่ารัฐบาลมุ่งหวังที่จะแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น แต่ก็มีข้อสังเกตว่า การเยี่ยมเยียนของผู้นำรัฐบาลมักจะพบกับข้าราชการเป็นหลัก อันที่จริง ควรมีการพบปะและการรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนโดยตรงด้วย
2) นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์หลังจากการเยี่ยมจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วว่า มองเห็นปัญหาความเป็นเอกภาพในการสั่งการ จึงดำริที่จะมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา มาเป็นผู้รับผิดชอบการบูรณาการงานของภาครัฐ ที่ประชุมมีความเห็นว่า งานราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสองมิติที่สำคัญ คือ ความมั่นคงและการพัฒนา ซึ่งมีกฎหมายรองรับต่างกัน ในส่วนของงานพัฒนามี พ.ร.บ. ศอ.บต. รองรับ และมีข้าราชการฝ่ายพลเรือนเป็นผู้ปฏิบัติ และสามารถบูรณาการงานด้านนี้ให้สอดคล้องกับงานความมั่นคงได้ โดยใช้นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555-2557 ที่เสนอโดยสภาความมั่นคง และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ตลอดจนได้เสนอให้รัฐสภาพิจารณาและรับทราบแล้ว สำหรับการบูรณาการงานด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรีจะมอบหมายให้พลเอกยุทธศักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแลก็มีความเหมาะสม แต่ควรให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรองนายกรัฐมนตรีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ เป็นรองประธาน เป็นผู้ดำเนินการ หากจะมีการมอบหมายให้มีผู้กำกับดูแลและบูรณาการงานด้านการพัฒนา ก็ควรมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีนายยงยุทธ เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะสอดคล้องกับการให้ความสำคัญแก่งานการพัฒนา และตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย หากต้องการเอกภาพในทั้งสองด้าน กฎหมายก็บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีโดยตรงอยู่แล้ว อนึ่ง รัฐบาลหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้มีรัฐมนตรีผู้หนึ่งทำหน้าที่ประสานงานและรับฟังข้อมูลในพื้นที่เพื่อเสนอต่อรัฐบาลและฝ่ายนโยบายโดยตรง ซึ่งแสดงถึงความเอาจริงเอาจังของรัฐบาล และจะช่วยแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบายได้ดียิ่งขึ้นด้วย ที่ประชุมจึงขอเสนอว่า นายกรัฐมนตรีควรมีการพิจารณาแต่งตั้งรัฐมนตรีคนหนึ่งให้ทำหน้าที่ดังกล่าว
3) ที่ประชุมสานเสวนาเคยเสนอให้ขยายพื้นที่ที่จะยกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงภายในแทน ให้ครอบคลุมอำเภอต่างๆ มากขึ้นแล้วนั้น เข้าใจว่าฝ่ายทหารอาจขอให้คงการประกาศใช้ พ.ร.ก. ดังกล่าวไว้ ทั้งที่ได้ขอต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.ฯ มาร่วม 27 ครั้งแล้ว แต่แม้ว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก. อาจทำให้ฝ่ายทหารทำงานได้โดยสะดวกก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. จะเป็นการเอาชนะใจประชาชนส่วนใหญ่ได้จริงหรือไม่ อีกทั้งนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 เมษายน ว่า “สาเหตุสำคัญเกิดจากความยุติธรรม โดยเฉพาะความยุติธรรมจากการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่มากกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ...ที่ผ่านมาก็ชัดเจนแล้วว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินไม่สามารถช่วยให้เหตุการณ์สงบลงได้ ประชาชนเลยตั้งคำถามว่าเมื่อไรจะเลิกกฎหมายดังกล่าว” ที่ประชุมจึงขอเสนอให้รัฐบาลฟังความเห็นให้รอบด้าน เพื่อประกอบการพิจารณาว่ามีเหตุผลใดบ้างที่จะต่ออายุการใช้ พ.ร.ก. ต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่คำนึงถึงเจตนารมณ์ที่จะให้ใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น
4) เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งสัมภาษณ์ พล.ต.อ. วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ได้ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2555 ว่า ความขัดแย้งที่รุนแรงในด้านอัตลักษณ์ใน 16 ประเทศ ล้วนแก้ไขได้ก็แต่โดยการเจรจาทั้งนั้น ซึ่งที่ประชุมก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง จึงขอให้ฝ่ายรัฐบาลดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยเฉพาะการดำเนินการ “ส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ กับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐที่เลือกใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ” อันเป็นข้อ 8.2 ของนโยบายการบริหารฯ ที่ได้กล่าวถึงแล้ว
{6}
ยุทธศาสตร์ชายแดนใต้ต้องปฏิบัติได้
ย้ำ “รัฐประศาสโนบาย” ผนวก “ข้อวินิจฉัยอดีตจุฬาฯ”
เน้นบรรจุข้าราชการจากคนในพื้นที่
หนุน ‘ต้มยำกุ้ง’ กระชับสัมพันธ์ไทย – มาเลย์
สรุปข้อเสนอครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2555 ที่โรงแรมซีเอส จังหวัดปัตตานี มีเนื้อหาดังต่อไปนี้
1) ตามที่มีนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และในขณะนี้ ศอ.บต. กำลังยกร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557 ให้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวนั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่า ทั้งนโยบายและยุทธศาสตร์ที่ได้เขียนหรือกำลังยกร่างอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่มีข้อสังเกตว่าสิ่งที่สำคัญคือการนำนโยบายและยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติใช้ได้ผลจริงในพื้นที่
2) ตามที่ร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวระบุว่าจะ “น้อมนำหลักรัฐประศาสโนบายของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ข้อที่ 1 ที่ได้ทรงฯ วางไว้ว่า ‘วิธีปฏิบัติการอย่างใด เป็นทางให้พลเมืองรู้สึกเห็นไปว่าเป็นการเบียดเบียนกดขี่ศาสนาอิสลาม ต้องยกเลิกหรือแก้ไขเสียทันที การใดจะจัดขึ้นใหม่ต้องอย่าให้ขัดกับลัทธินิยมของอิสลาม หรือยิ่งทำให้เห็นเป็นการอุดหนุนศาสนามหมัดได้ยิ่งดี’ มาใช้ในการปรับปรุงระเบียบข้อบังคับหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ” นั้น การปฏิบัติตามข้อนี้น่าจะเป็นการปฏิบัติตาม “ลัทธินิยมของอิสลาม” ที่เป็นข้อวินิจฉัย 23 ข้อของอดีตจุฬาราชมนตรีท่านประเสริฐ มะหะหมัด โดยให้ข้าราชการได้รับทราบอย่างกว้างขวาง เช่น ปิดประกาศข้อวินิจฉัยในที่ทำการอำเภอและโรงเรียนทุกแห่ง อนึ่ง ขอให้ผู้บังคับบัญชากำชับข้าราชการให้เคารพประเพณีนิยมโดยเฉพาะในเรื่องทางเพศอย่างเคร่งครัด และจะต้องลงโทษทางวินัยแก่ผู้ที่ละเมิดอย่างจริงจัง
3) ตามที่ร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวระบุว่าจะ “ส่งเสริมให้มีการสรรหาเพื่อบรรจุแต่งตั้งผู้มีภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐเป็นส่วนใหญ่” นั้น การปฏิบัติอาจเริ่มจากการขออนุมัติให้มีอัตรากำลังของข้าราชการเป็นของ ศอ.บต. เพื่อดำเนินการบรรจุแต่งตั้งผู้มีภูมิลำเนาเป็นส่วนใหญ่ และ ศอ.บต. ควรเสนอแนะกระทรวงต่างๆ ส่งข้าราชการที่เข้าใจและตั้งใจจริงมาปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มิใช่ผู้ที่ขาดความสนใจหากต้องการเพียงตำแหน่งและใจจดจ่อกับการขอย้ายออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ ขอให้ปฏิบัติตามหลักรัฐประศาสโนบายของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 อย่างจริงจัง
4) ตามที่ร่างยุทธศาสตร์ระบุว่าจะ “เร่งพัฒนาความยุติธรรมกระแสหลักให้สอดคล้องกับความเป็นจริง รวดเร็ว และเป็นธรรม” นั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมยังมีความล่าช้า การสอบสวนและส่งฟ้องยังไม่เป็นธรรม เช่น มีการ “ผ่อนฟ้อง” และระหว่างปี พ.ศ. 2552 – 2554 มีการยกฟ้องถึง 63 – 78 % เป็นต้น
5) ในประเด็นทางเศรษฐกิจ ตามที่ร่างยุทธศาสตร์ระบุว่าจะดำเนินการถึง 23 เรื่องนั้น ที่ประชุมขอเน้นว่า ขณะนี้ปัญหาความไม่สงบเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยกับการมีงานทำของเยาวชน ซึ่งจะช่วยนำพลังของเยาวชนมาสู่การสร้างสรรค์ อนึ่ง ในปัจจุบันมีพลเมืองไทยไปประกอบอาชีพที่มาเลเซียจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพการขายอาหาร เช่น ต้มยำ อาจมีสูงถึง 200,000 คน จึงขอให้ ศอ.บต.พิจารณาดำเนินการให้มีการตกลงในระดับนโยบายระหว่างรัฐบาลไทยกับมาเลเซีย เพื่ออำนวยความสะดวกและการสนับสนุนการประกอบอาชีพดังกล่าวเป็นการรีบด่วน โดยพัฒนามาตรฐานการประกอบอาชีพ และลดค่าใช้จ่ายและอุปสรรคต่างๆ รวมทั้งการขอใบอนุญาตการทำงานได้สะดวกและมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง
{7}
เสนอแก้ไข รฐน. ม.114 เพิ่มสัดส่วนตัวแทน ‘ชาติพันธุ์’
บังคับใช้กฎหมาย-รุกโซนนิ่งสถานบันเทิง
ผ่อนผันกรณีปัญหาที่ดิน ‘บูโด’
สรุปข้อเสนอครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 ที่โรงแรมอิมพีเรียล จังหวัดนราธิวาส โดยมีเนื้อหาดังนี้
1) ในเรื่องของการมีตัวแทนในระดับชาติ (ส.ส. และ ส.ว.) ในสัดส่วนที่เหมาะสมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ นั้น หากจะยังคงให้มี ส.ว.สรรหา ก็ควรพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 114 วรรคสอง ในเรื่องของการสรรหา ส.ว. ดังนี้
“ในการสรรหาบุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ที่จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานของวุฒิสภาเป็นสำคัญ และให้คำนึงถึงองค์ประกอบจากบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน โอกาสและความเท่าเทียมกันทางเพศ สัดส่วนของบุคคลในกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ สัดส่วนของบุคคลในแต่ละภาคตามวรรคหนึ่งที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งการให้โอกาสกับผู้ด้อยโอกาสทางสังคมด้วย”
ในส่วนของส.ส. แบบบัญชีรายชื่อนั้น การแบ่งเขตเป็นโซนหลายจังหวัดตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติม จะช่วยทำให้มีตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ในสัดส่วนที่เหมาะสมได้ แต่หากจะคงให้มีบัญชีรายชื่อระดับชาติ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1/2554 ก็ขอเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 97 วรรคสอง ดังนี้
“รายชื่อของบุคคลในบัญชีรายชื่อตามวรรคหนึ่งจะต้อง (1) ประกอบด้วยรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ จากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และมีสัดส่วนหญิงชายในลำดับที่มีโอกาสได้รับเลือกตั้งอย่างเป็นธรรม”
2) ในเรื่องของระบบเศรษฐกิจชายแดนไทย – มาเลเซียนั้น มีความเจริญก้าวหน้ามากพอสมควรในบางจังหวัด แต่สำหรับจังหวัดนราธิวาสยังขาดการส่งเสริมสนับสนุนในหลายด้าน นับตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานด้านการส่งออก-นำเข้า เช่น ระบบขนส่ง ระบบศุลกากร ระบบคลังสินค้า ฯลฯ ตลอดจนระบบการจัดการ การพัฒนาให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจมีความรู้ความสามารถในการเพิ่มมูลค่าเพิ่ม และการพัฒนาศักยภาพของการส่งออก – นำเข้าสินค้าที่อยู่นอกระบบให้เข้าสู่ระบบและผ่านช่องทางที่ถูกต้องอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ขอเสนอให้ ศอ.บต. เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้
3) ในเรื่องของสถานบันเทิงนั้น พ.ร.บ. สถานบริการ พ.ศ. 2509 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4/2547 บัญญัติไว้ดังนี้
“มาตรา 5 เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นสมควรจะกำหนดเขตอันมีปริมณฑลจำกัดในท้องที่ใดเพื่อการอนุญาตหรืองดอนุญาตให้ตั้งสถานบริการตามมาตรา 4 ก็ให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”
“มาตรา 7 อาคาร หรือสถานที่ที่ขออนุญาตตั้งเป็นสถานบริการตามมาตรา 4 ต้อง (1) ไม่อยู่ใกล้ชิดวัด สถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา โรงเรียน หรือสถานศึกษา โรงพยาบาล สถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน สโมสรเยาวชน หรือหอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก ในขนาดที่เห็นได้ว่าจะก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่สถานที่ดังกล่าวแล้ว (2) ไม่อยู่ในย่านที่ประชาชนอยู่อาศัย อันจะก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง (3) มีทางถ่ายเทอากาศสะดวก”
แต่ในทางปฏิบัติ ยังไม่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. นี้อย่างจริงจัง รวมทั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีการเสนอให้มีการจัดแบ่งโซนของสถานบริการซึ่งเป็นสถานที่ต้องห้าม (ฮารอม) ในศาสนาอิลาม จึงขอเสนอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาว่าควรดำเนินการแบ่งโชนโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 หรือไม่ อย่างไรก็ดี “พนักงานเจ้าหน้าที่” สำหรับกรุงเทพมหานคร หมายความถึง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในจังหวัดอื่น หมายความถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนั้น ขอเสนอให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพิกถอนใบอนุญาตของผู้ได้รับอนุญาตที่ฝ่าฝืนมาตรา 7 ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยขอเสนอให้ ศอ.บต. ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
4) ในเรื่องของการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ บริเวณเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งมีบางส่วนที่ทับซ้อนกับที่ดินทำกิน (สวนยางและสวนผลไม้) ของชาวบ้านที่ทำมาหากินในพื้นที่มาแต่เดิมนั้น ขอเสนอให้ ศอ.บต. พิจารณาใช้อำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ของ ศอ.บต. มาตรา 10 ผ่อนผันให้ชาวบ้านประมาณหมื่นหกพันกว่ารายที่อาศัยอยู่เดิม เพื่อมีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน โดยสามารถทำมาหากินตามปกติในพื้นที่ประมาณ สองหมื่นห้าพันไร่ดังกล่าว
ลิงค์เกี่ยวเนื่อง: