ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มอ.ปัตตานี
สถิติความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 65 เดือนนับตั้งแต่มกราคม 2547 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2552 เกิดเหตุการณ์ยิง ระเบิด วางเพลิงและการก่อกวนอื่นๆ จำนวนประมาณ 8,908 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 3,471 คน และบาดเจ็บประมาณ 5,740 คน รวมเป็นผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันทั้งสิ้น 9,211 คน กล่าวโดยรวม เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 65 เดือนหรือ 5 ปีกับอีก 5 เดือนที่ผ่านมา มีผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและการบาดเจ็บสูญเสียของผู้คนทั้งฝ่ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ รวมแล้วเกือบถึงหมื่นคนแล้ว
ความรุนแรงรายเดือนดูเหมือนจะลดระดับลงมากอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ต้นปี 2552 แนวโน้มเหตุการณ์ดูเหมือนจะเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้น แม้โดยทั่วไปจะดูต่ำกว่าระดับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2547-2549 แต่แนวโน้มเหตุการณ์ความรุนแรงรายวันและรายเดือนตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา ระดับความรุนแรงขยับขึ้นสูงถึงประมาณ 100 ครั้งต่อเดือน โดยเฉพาะในเดือนมกราคม มีนาคมและเดือนเมษายน มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 86, 103, และ 98 ครั้งโดยประมาณ เหตุการณ์ที่เพิ่มสูงขึ้นเกิดจากการปฏิบัติการที่เกิดจากการยิงสังหารรายวัน และการวางระเบิดซึ่งมีจำนวนสูงขึ้น
คำถามก็คือว่าเหตุใดสถานการณ์โดยภาพรวมยังคงเป็นเช่นนี้ ทั้งที่นโยบายของรัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงในการแก้ปัญหาในพื้นที่นำมาซึ่งการทุ่มกำลังคนและงบประมาณจำนวนมากกว่า 100,000 ล้านบาทและกำลังทหาร ตำรวจอีกมากกว่า 60,000 คนลงมาในพื้นที่ในรอบ 6 ปีกว่า คำตอบส่วนหนึ่งน่าจะอยู่ที่การระดมกำลังทหาร ตำรวจ ทหารพรานและอาสาสมัครรักษาดินแดน เข้าควบคุมพื้นที่สามารถได้ใจประชาชนในท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด
ในการนี้สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (CSCC) โดยการสนับสนุนของสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าในพื้นที่ การสำรวจได้ดำเนินการไปครั้งหนึ่งแล้วในเดือนมกราคมและกุมพาพันธ์ ที่ผ่านมาซึ่งได้รายงานไปแล้ว
ในรอบที่สองระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2552 ทีมวิจัยได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนอีกครั้งหนึ่ง โดยได้กลุ่มตัวอย่างในเขตเมืองและชนบทในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 1,995 คน ผลการสำรวจส่วนหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทมนการเข้าถึงและการให้บริการประชาชนในพื้นที่ชุมชนต่างๆ (basic services delivery) โดยพบว่าความถี่ของหน่วยงานในการเข้าชุมชนที่มากที่สุดก็คือหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ รองลงมาอันดับสองคือกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นฝ่ายปกครอง
ส่วนหน่วยงานที่เข้าถึงประชาชนมากเป็นอันดับสามตามมาก็คือทหารหน่วยสัมพันธ์มวลชนซึ่งเข้าไปในพื้นที่เพื่อให้บริการและช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ อีกสถาบันที่เข้าถึงประชาชนก็คือผู้นำศาสนา เช่นอิหม่าม ข้อน่าสังเกตก็คือบทบาทของหน่วยทหารที่ไปในชุมชนมีระดับความถี่ค่อนข้างสูง ซึ่งสะท้อนออกมาในสายตาของประชาชน
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความรู้สึกเชื่อถือที่มีต่อหน่วยงานต่างๆโดยให้ชั่งน้ำหนักคะแนนความน่าเชื่อถือไว้วางใจในสายตาประชาชน หน่วยงานที่ได้รับการยอมรับเป็นอันดับแรกก็คือผู้นำทางศาสนา อันดับที่สองก็คือครู อันดับสามคือหมอพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณะสุข ลำดับที่สี่คือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ลำดับที่ห้าและหกคือนักวิชาการมหาวิทยาลัย และกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าหน่วยงานที่อยู่ลำดับท้ายสุดของคะแนนความเชื่อถีอไว้วางใจก็คือตำรวจและทหาร นอกจากนี้ยังรวมถึงนักการเมืองระดับต่างๆ ด้วย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าแม้ในแง่ของการเข้าถึงและให้บริการ ทหารจะทำได้ค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคือการเอาชนะจิตใจประชาชนหรือการสร้างความเชื่อถือและยอมรับ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าตำรวจและทหารเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความสงบซึ่งต้องใช้อำนาจสูงในสถานการณ์ความไม่สงบในการปิดล้อมตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำผิด ในการปฏิบัติการมีแนวโน้มที่จะสร้างความรู้สึกกลัวและหวาดระแวงแก่ประชาชนในพื้นที่ได้ง่าย
งานการเมืองเพื่อเอาชนะจิตใจของคนในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงจึงเป็นตัวแปรที่สำคัญในการทำงานของกองกำลังรักษาความสงบ เพื่อให้ดำเนินนโยบายพัฒนาและสร้างสันติให้เกิดขึ้นในสถานการณ์ความไม่สงบที่กำลังแรงอยู่ในขณะนี้
ความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ยังสะท้อนให้เห็นว่าไม่ค่อยเห็นด้วยกับการใช้วิธีการทางทหารในการจัดการกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังจะเห็นได้จากคำถามที่ว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการที่รัฐบาลจะยังคงใช้กำลังทหารมาจัดการกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ผู้ตอบร้อยละ 50.7 สะท้อนว่า ไม่เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง กับแนวทางดังกล่าว ในขณะที่ร้อยละ 18.6 บอกว่าเห็นด้วยกับแนวทางนี้ ส่วนอีกร้อยละ 30 มีความเห็นกลางๆ
กล่าวโดยสรุปก็คือ การแก้ปัญหาความรุนแรงที่ซับซ้อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงต้องอาศัยแนวทางการเมืองนำการทหารอย่างละเอียดอ่อนโดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับทุกฝ่ายด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง