เผยแพร่วันที่ 3 สิงหาคม 2555
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและพันธมิตรเฝ้าระวังการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ
จัดทำรายงานคู่ขนานCERD
และส่งตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม
ที่กรุงเจนีวาประเทศสวิสเซอร์แลนด์ วันที่9-10สิงหาคมนี้
ในวันที่9-10 สิงหาคมนี้เป็นวันที่รัฐบาลไทยจะได้เข้าร่วมการประชุมพิจารณารายงานรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ โดยมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและเครือข่ายฯได้จัดทำรายงานคู่ขนานเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและส่งตัวแทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับคณะกรรมการCERD ที่กรุงเจนีวาประเทศสวิสเซอร์แลนด์ วันที่9-10สิงหาคมนี้
รายงานของรัฐบาลรายงานคู่ขนานของภาคประชาสังคมและรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ถูกรวบรวมและเผยแพร่ในเวปไซด์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติโดยสามารถค้นคว้าได้ในเวปไซด์ของคณะกรรมการเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติhttp://www2.ohchr.org/english/bodies/cerd/cerds81.htm
รายงานคู่ขนานฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยพันธมิตรเฝ้าระวังการเลือกปฎิบัติทางเชื้อชาติเผยแพร่ฉบับไทยและอังกฤษที่ http://voicefromthais.wordpress.com/2012/08/02/thailand_cerd-shadow-report_-crcf-thai-english-version/ พันธมิตรกลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นเป็นเครือข่ายหลวมๆ หลังการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 "การจัดทำรายงานคู่ขนาน (Shadow Report) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ"โดยศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) ประเด็นนำเสนอครอบคลุมถึงนโยบาย และการปฏิบัติต่อกลุ่มประชากรต่างๆในประเทศไทย เช่น ชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆในประเทศไทยรวมทั้งกลุ่มมลายูมุสลิม ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิงและแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น
แม้ว่าประเทศไทยจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติโดยการแก้ไขกฎหมายระเบียบปฎิบัติ และการปรับปรุงการปฎิบัติต่อประชากรกลุ่มต่างๆในประเทศไทยไปแล้วบ้างอย่างน่าชื่นชม หากยังคงมีสภาพปัญหาที่เป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ เช่น กรณีบุคคลไร้สัญชาติ สิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาล สิทธิในการเดินทางของชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มชาติพันธุ์ และแรงงานข้ามชาติ สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำกินสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองตามแนวชายฝั่งสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งและการลงคะแนนเลือกตั้ง สิทธิในการแต่งงานสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสมต่ออัตลักษณ์ทางภาษาเช่นการศึกษาด้วยภาษาแม่หรือภาษาถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ สิทธิในกระบวนการยุติธรรมการจับกุม ควบคุมตัวการส่งกลับ รวมทั้งปัญหาการคัดกรองบุคคลโดยดูจากลักษณะทางชาติพันธุ์(Racial Profiling)ในการปราบปรามอาชญกรรมเช่นการค้ายาเสพติดการตัดไม้ทำลายป่าต่อชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ และต่อชาวมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้เป็นต้น รายงานคู่ขนานฉบับนี้ได้จัดส่งให้คณะกรรมการCERDเป็นภาษาไทยตั้งแต่วันที่24 กรกฎาคม พ.ศ.2555 จัดทำเป็นเอกสารแปลไทยอังกฤษสามารถค้นคว้าได้ที่ และสามารถศึกษาทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆจากคู่มือทำความเข้าใจเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติhttp://www.crcf.or.th/th/media_de.php?id_media=9 การพิจารณารายงานที่กรุงเจนีวาครั้งนี้มีความสำคัญเนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้ส่งรายงานต่อองค์การสหประชาชาตินับแต่ประเทศไทยได้เข้าเป็นรัฐภาคีในปีพ.ศ.2546 รายงานฉบับนี้ของรัฐบาลจึงเป็นรายงานฉบับแรกรวมกับรายงานPeriodicอีกสองฉบับครอบคลุมการรายงานถึงปีพ.ศ.2550 อีกทั้งมีประเด็นเรียกร้องจากชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย ชาวมลายูมุสลิม เพื่อให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายระเบียบปฏิบัติ รวมทั้งทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐในการปฎิบัติและเคารพต่อความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในประเทศไทยรวมทั้งเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิของบุคคลทุกคนในประเทศไทยอย่างเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ