การเมืองเรื่องการเปลี่ยนสภาพพรุในพื้นที่ชายแดนใต้:
วาระซ่อนเร้นที่มากไปกว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิต
พื้นที่พรุชุ่มน้ำผืนกว้างใหญ่ของพรุบาเจาะที่มีทุ่งหญ้า ป่าเสม็ด ป่ากก และป่าสาคูแทรกตัวสลับกันไปมาจนเต็มพื้นที่เกือบแสนไร่ที่กินขอบเขตไปถึงสี่อำเภอของจังหวัดนราธิวาสและปัตตานี ที่ชาวบ้านเล่าให้ฉันฟังนั้น ช่างดูแตกต่างจากสิ่งที่ฉันเห็นอยู่ตรงหน้า ยากเหลือเกินที่จะจินตนาการได้ถึงลักษณะพื้นที่พรุในอดีตของสวนปาล์มน้ำมันสุดลูกหูลูกตาของนิคมสหกรณ์บาเจาะ ปัจจุบันที่นี่ดูเผินๆ แล้วไม่ต่างจากสวนปาล์มน้ำมันในแถบภาคใต้ตอนบนแถวจังหวัดกระบี่ ชุมพร หรือสุราษฎร์ธานี ที่เป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันที่สำคัญมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ ๒๕๒๐ สิ่งเดียวที่ต่างออกไปก็คือสวนปาล์มน้ำมันที่พรุบาเจาะมีร่องระบายน้ำที่ถูกขุดเป็นโครงข่ายซับซ้อนโยงใยกันไปทั่วทั้งผืน
พรุบาเจาะเป็นกรณีตัวอย่างที่สำคัญของการเปลี่ยนสภาพของระบบนิเวศน์อย่างสิ้นเชิงโดยฝีมือมนุษย์ด้วยการระบายน้ำออกและทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำกลายเป็นพื้นที่แห้ง นัยว่าเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและเพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรม น่าสนใจว่าการเปลี่ยนสภาพพรุนี้สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความพยายามของ “รัฐไทย” ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นต้นมาที่จะได้รับความสวามิภักดิ์จากคนมาเลย์มุสลิมในเขตสามจังหวัดภาคใต้ ขณะเดียวกันก็เกี่ยวข้องกับสถานะที่ไม่อาจวิจารณ์ได้ถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพพรุเนื่องจากลักษณะเฉพาะทางการเมืองการปกครองของประเทศไทย นอกจากนั้นปรากฏการณ์ระดับโลกอย่างวิกฤติน้ำมัน ซึ่งนำมาสู่ความตื่นตัวในการหาพืชพลังงานทดแทน รวมทั้งการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมันอันนำมาสู่การส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่พรุ ได้เข้ามาบดบังอำพรางจนยากที่จะมองเห็นได้ถึงปัญหาที่ซับซ้อนเป็นลูกโซ่และเกิดขึ้นมายาวนานจากการเปลี่ยนสภาพพรุมาตั้งแต่ต้น
โครงการพัฒนาพรุ: เปลี่ยนพื้นที่พรุ เปลี่ยน “ตัวตน” คนใช้พรุ
ในเขตสามจังหวัดภาคใต้ พรุเป็นทรัพยากรธรรมชาติพื้นฐานในการดำรงชีวิตของชาวบ้านมาตั้งแต่อดีต ดังตัวอย่างของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในแถบตอนกลางของลุ่มน้ำสายบุรีที่ในช่วงก่อนการขยายตัวของการปลูกยางพาราและไม้ผลเชิงพาณิชย์ ชาวบ้านดำรงชีวิตอยู่ด้วยสองฐานทรัพยากรสำคัญคือพรุและพื้นที่ราบริมแม่น้ำ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทั้งสองส่วนนี้ก่อให้เกิดระบบการผลิตที่หลากหลายที่สามารถครอบคลุมความจำเป็นขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่ของชีวิตได้ พวกเขาทำนาพรุ ทำสาคู เลี้ยงควาย และจับปลาในพรุ อีกทั้งทำนาหว่านและนาดำบริเวณขอบพรุ จับปลาในแม่น้ำ และเก็บผลไม้จากสวนผสมผสานบริเวณที่ราบริมน้ำใกล้กับที่ตั้งบ้าน (สวนดุซง) แม้กระทั่งในปัจจุบันที่การเกษตรเชิงเดี่ยวเชิงพาณิชย์ขยายตัวอย่างกว้างขวางและกลายเป็นวิถีการผลิตหลักของคนที่นั่นไปแล้ว พรุก็ยังคงมีความสำคัญต่อชาวบ้านบางส่วนในฐานะที่เป็นอีกแหล่งรายได้หนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเลี้ยงควายในพรุ และเป็นการสร้างหลักประกันแก่ครอบครัวว่าจะมีข้าวกินตลอดปีจากการทำนารอบพรุไม่ว่าราคายางจะสูงหรือต่ำก็ตาม ที่สำคัญพรุยังเป็นที่ทำมาหากินของคนยากจนในชุมชนที่ไม่มีที่ดินหรือไม่เงินมากพอในการลงทุนประกอบอาชีพอื่น เนื่องจากการหากินในพรุนั้นไม่ต้องลงทุนมากพวกเขาก็สามารถมีรายได้จากต้นจากหรือต้นสาคู รวมทั้งปลาแห้ง ปลาเค็ม หรือปลาส้มที่หาวัตถุดิบได้จากพรุ
พื้นที่พรุในเขตสามจังหวัดภาคใต้มีมากถึงหนึ่งในสามของพื้นที่พรุทั้งหมดในประเทศ ที่ผ่านมา “รัฐไทย” ให้ความสำคัญกับพรุในเขตนี้มาก เนื่องจากแทนที่จะใช้นโยบายกลืนกลายแบบบังคับดังเช่นในอดีต โครงการพัฒนาพรุ รวมทั้งโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ เป็นเครื่องมือที่ออกจะดูดีกว่าที่จะช่วยให้ “รัฐไทย” ได้รับความสวามิภักดิ์และความจงรักภักดีจากชาวมาเลย์มุสลิมในพื้นที่ที่ซึ่งความรุนแรงและความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ความสนใจต่อพื้นที่พรุนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงที่ “รัฐไทย” กำลังถูกท้าทายอย่างหนักจาก “ภัย” คอมมิวนิสต์ ดังนั้น ความมั่นคงของชาติจึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งของนโยบายรัฐ โครงการพัฒนาพรุมีขึ้นบนฐานความคิดที่ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจะนำมาสู่ความมั่นคงแห่งชาติ และช่วยป้องกันไม่ให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับขบวนการคอมมิวนิสต์และขบวนการ “ก่อความไม่สงบ” ในภาคใต้ ทั้งนี้ โครงการพัฒนาพรุในสามจังหวัดเกิดขึ้นครั้งแรกในฐานะโครงการตามพระราชดำริในช่วงกลางทศวรรษ ๒๕๒๐ ซึ่งในเวลานั้นสถาบันกษัตริย์ยังไม่มีอำนาจเข้มแข็งนัก โครงการพัฒนาพรุได้ขยายตัวกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่พื้นที่และขอบข่ายงานตามความเข้มแข็งของสถาบันดังกล่าว
การพัฒนาพื้นที่พรุในระยะแรกเน้นการระบายน้ำออกจากพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนพรุจากพื้นที่ชุ่มน้ำให้เป็นพื้นที่แห้ง มีการควบคุมปริมาณและการไหลของน้ำด้วยการสร้างประตูกั้นน้ำและการทำโครงข่ายคลองระบายน้ำ น่าสนใจอย่างยิ่งว่าโครงการพัฒนาพรุเหล่านี้วางอยู่บนฐานความคิดที่มองพื้นที่พรุว่าเป็นพื้นที่ไร้ประโยชน์ เสื่อมโทรม และไม่ก่อให้เกิดผลผลิต และมองว่าพรุควรถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นทรัพยากรที่มีประโยชน์ทางการเกษตร ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่าความซับซ้อนในเชิงระบบนิเวศของพรุ และองค์ความรู้และการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ จากพรุของคนท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่อดีตได้ถูกละเลยไปจากโครงการพัฒนาพรุโดย “รัฐไทย” อย่างสิ้นเชิง
อนึ่ง การพัฒนาพรุของ “รัฐไทย” ไม่มีได้เฉพาะเพียงแค่การเปลี่ยนสภาพของพรุเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนตัวตนของชาวมาเลย์มุสลิมผู้ใช้ประโยชน์จากพรุจากสถานะของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีศาสนาที่แตกต่างให้มาเป็นพสกนิกร อันถือเป็นคุณลักษณะสำคัญในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ “รัฐไทย” การละเลยความสัมพันธ์ในเชิงระบบนิเวศของพื้นที่พรุและการละเลยองค์ความรู้และภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากพรุของชาวบ้านนั้น ได้สร้างความชอบธรรมให้กับความพยายามในการเปลี่ยนตัวตนดังกล่าว เพราะเป็นการให้ภาพคนมาเลย์มุสลิมในฐานะกลุ่มคนที่ยากจน ไร้การศึกษา ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ขาดศักยภาพในการแก้ไขปัญหาในชีวิต ไม่มีแม้กระทั่งความสามารถในการนำที่ดินพรุรกร้างเสื่อมโทรมรอบๆ ตัวมาทำให้เกิดประโยชน์ได้ ภาพลักษณ์นี้สอดคล้องกับสถานะของพสกนิกรที่ความผาสุกในชีวิตจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการปกป้อง คุ้มครองและช่วยเหลือจาก “รัฐไทย”
การเปลี่ยนสภาพพรุ : ปัญหาลูกโซ่ต่อเนื่องไม่รู้จบ (ที่ไม่มีใครกล่าวถึง)
การทำพรุให้แห้งสร้างผลกระทบตามมามากมาย ดินพรุที่แห้งขึ้นจากการระบายน้ำออกไม่มีความเหมาะสมกับการเพาะปลูกเอาเสียเลยเนื่องจากดินเปรี้ยว เมื่อดินพรุขาดน้ำก็จะอัดตัวกันแน่นและระดับน้ำใต้ดินต่ำเปิดโอกาสให้แร่สารประกอบกำมะถัน (pyrite)ใต้ดินที่เกิดจากซากใบไม้ทับถมทำปฏิกิริยากับออกซิเจนจนกลายเป็นกรดกำมะถันเข้มข้นชนิดหนึ่งที่ส่งผลทำให้ดินเปรี้ยว ขณะที่น้ำที่ระบายออกมาจากพรุโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนก็จะมีความเป็นกรดสูงจึงส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกรอบข้าง อีกทั้งยังทำให้น้ำในคลองธรรมชาติเปรี้ยวไปด้วยจนชาวบ้านที่เลี้ยงปลาในกระชังในคลองธรรมชาติที่รองรับน้ำจากพรุได้รับความเดือดร้อนเพราะปลาตาย การระบายน้ำยังทำให้ดินพรุชั้นบนที่เกิดจากซากใบไม้ทับถม (peat) แห้งสนิทในหน้าแล้งจึงเกิดไฟไหม้ได้ง่าย
มีงานศึกษาทดลองวิจัยจำนวนมากของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่พยายามจะแก้ปัญหาดินเปรี้ยวเพื่อให้สามารถทำการเกษตรในพื้นที่พรุที่แห้งแล้วได้ มีการทดลองปรับปรุงดินด้วยวิธีต่างๆ เช่น การใช้หินปูนฝุ่น ปูนขาว การใช้น้ำชะล้าง การใช้หินปูนฝุ่นผสมน้ำ และทดลองปลูกกับพืชชนิดต่างๆ แต่ความพยายามดูจะประสบผลสำเร็จเฉพาะในแปลงทดลองหรือหมู่บ้านพื้นที่กลุ่มเป้าหมายที่มีงบประมาณอัดฉีดเพียงพอเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นในบางพื้นที่ไม่ว่าจะพยายามอย่างไรปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น ดังที่ชาวบ้านรายหนึ่งที่เป็นสมาชิกรุ่นแรกของนิคมสหกรณ์บาเจาะเล่าว่า “ตอนนั้นที่ดินที่นี่ปลูกอะไรไม่ได้เลย ผมเข้ามาอยู่ก็ปลูกข้าวได้เพียงสามปี พอปีที่สี่ที่ห้าก็ไม่ได้ผลผลิตอะไรเลย จากนั้นก็ไม่ได้ปลูกอะไรอีก หากินด้วยการไปรับจ้างในเมือง ตกเย็นก็กลับเข้าบ้านที่นิคม... มีช่วงหนึ่งพยายามจะปลูกมะเขือ ปลูกผัก แต่ปลูกยังไงก็ไม่ขึ้น เจ้าหน้าที่ศูนย์พิกุลทองเขาก็ไม่เชื่อว่าปลูกไม่ได้ ตอนหลังพวกเขามาทดลองปลูกก็พบว่าปลูกไม่ได้จริงๆ“
ขณะที่การแก้ไขปัญหาปลาในกระชังตายเนื่องจากน้ำเปรี้ยวจากพรุถูกระบายออกทางคลองธรรมชาติก็เป็นการส่งเสริมให้ “ราษฎร” ทำ “กระชังปลาติดแอร์” (กระชังปลาที่สามารถใช้ผ้าใบคลุมทับเมื่อการกระบายน้ำออกจากพรุลงคลอง โดยจัดให้มีระบบอากาศถ่ายเทอย่างเพียงพอในกระชัง) นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาที่กรมชลประทานต้องการจะปัดฝุ่นโครงการสร้างเขื่อนสายบุรีขึ้นมาอีกครั้งเพื่อผันน้ำจืดมาปรับสภาพดินเปรี้ยวของพรุบาเจาะ ชาวบ้านในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับผลกระทบที่จะตามมาและได้เคยร่วมคัดค้านการก่อสร้างร่วมกับสมัชชาคนจนกระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรีในสมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ให้ยกเลิกโครงการไปในที่สุดในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ทุกวันนี้กรมชลประทานยังคงไม่ละความพยายามที่จะทำให้โครงการสร้างเขื่อนสายบุรีเกิดขึ้นได้จริง
ขณะที่พรุขนาดเล็กกว่าหลายแห่งแม้จะไม่มีโครงการระบายน้ำออกจากพรุโดยตรง แต่โครงการพัฒนาพรุเหล่านี้ก็วางอยู่บนแนวคิดเดียวกันที่มองว่าพรุเป็นที่รกร้างไร้ประโยชน์ ในหลายแห่งบางส่วนของพรุถูกเปลี่ยนเป็นอ่างเก็บน้ำนัยว่าเพื่อจัดหาแหล่งน้ำและเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม สิ่งนี้ทำให้สภาพพรุเปลี่ยน เส้นทางการไหลของน้ำในพรุเปลี่ยน การใช้ประโยชน์ดังเดิมไม่สามารถทำได้อีกต่อไปและพรุก็ถูกทิ้งร้างไปในทีสุด
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพื้นพรุมีความเป็นมาที่ยาวนาน มีความสลับซับซ้อน ต่อเนื่องผูกพันกันเป็นลูกโซ่จนยากแก่การทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่มา ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีการนำความผิดพลาดจากการเปลี่ยนสภาพพรุมาตั้งแต่ต้นมาถกเถียงแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นบทเรียนในอนาคต เนื่องจากข้อจำกัดบางประการของระบอบการเมืองการปกครองของประเทศไทย
ปาล์มน้ำมันช่วยอำพรางความผิดพลาด
นอกจากความผิดพลาดที่ค่อยมีใครกล่าวถึงแล้ว กระแสตื่นตัวเรื่องพืชพลังงานในระดับสากลที่ส่งผลให้มีการขยายตัวของการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างกว้างขวางนั้นได้ช่วยอำพรางความพลาดในการเข้าเปลี่ยนสภาพพรุ ความสำเร็จจากปลูกปาล์มในพื้นที่พรุของประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียกลายมาเป็นต้นแบบในอุดมคติของไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำการทดลองวิจัยและส่งเสริมให้ราษฎรปลูกปาล์มในพื้นที่พรุ รวมทั้งมีการก่อสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและมีการทดลองผลิตน้ำมันไบโอดีเซลในพื้นที่ด้วย
ปาล์มน้ำมันดูจะเป็นพืชชนิดเดียวที่พอจะเติบโตและให้ผลผลิตได้ในพื้นที่พรุเปลี่ยนสภาพ ชาวบ้านหลายรายที่นิคมสหกรณ์บาเจาะเริ่มมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการขายผลปาล์ม หลังจากที่ลองผิดลองถูกและเผชิญกับล้มเหลวในการปลูกพืชชนิดต่างๆ มานับครั้งไม่ถ้วนอยู่นานนับสิบปีจนต้องไปมีอาชีพหลักอยู่นอกภาคเกษตร เรื่องราวของปาล์มน้ำมันถูกนำเสนอต่อสังคมในฐานะเป็นคำตอบที่สดใสสำหรับการพัฒนาพื้นที่พรุ “เสื่อมโทรม” ในเขตสามจังหวัดภาคใต้ อย่างไรก็ดี การปลูกปาล์มในพื้นที่พรุเปลี่ยนสภาพนั้นให้ผลผลิตน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการปลูกในพื้นที่ราบเนินเขาในแถบภาคใต้ตอนบน จึงต้องมีการใช้ปุ๋ยเคมีเสริมอย่างหนักอันเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศโดยรวมและระดับน้ำใต้ดินที่เกิดจากการปลูกปาล์มน้ำมันเชิงเดี่ยวในพื้นที่จำนวนมหาศาล รวมทั้งปัญหาไฟไม้สวนปาล์มบริเวณพรุที่มักเกิดขึ้นเสมอและยากยิ่งแก่การป้องกันแก้ไข
นอกจากนั้น การรับรู้ของสังคมไทยเรื่องปาล์มน้ำมันในพื้นที่พรุในเขตชายแดนใต้ก็ยังจำกัดอยู่เพียงแค่ว่าเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่พรุเสื่อมโทรม เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของ “ราษฎร” โดยไม่เข้าใจถึงสาเหตุที่มาที่เกิดจากการพยายามเปลี่ยนสภาพพรุมาตั้งแต่ต้น อาจกล่าวได้ว่าภาพความสำเร็จของปาล์มน้ำมันที่ดูสวยงามผ่านสื่อต่างๆ ได้ช่วยกลบเกลื่อนอำพรางความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการเข้าจัดการพื้นพรุโดยโครงการพัฒนาต่างๆ รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความชอบธรรมของ “รัฐไทย” ในการเข้าจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชายแดนใต้และในการเปลี่ยนตัวตนของผู้คนที่นั่นมาสู่ฐานะของผู้มีชีวิตที่ผาสุกจากความช่วยเหลือเมตตาของ “รัฐไทย”
จริงอยู่ที่การปลูกปาล์มดูเหมือนจะทำให้ชีวิตของชาวบ้านส่วนหนึ่งดีขึ้น ดังข้อความในแผ่นป้ายขนาดใหญ่ที่ฉันเห็นตรงทางเข้านิคมสหกรณ์บาเจาะที่ว่า “โรงงานของเรา ปาล์มของเรา...ปาล์มทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น“ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าที่พวกเขาเคยเผชิญนับตั้งแต่พื้นที่พรุถูกทำให้แห้ง แต่นี่จะเป็นชีวิตที่ดีขึ้นบนฐานความยั่งยืนทางสังคม สิ่งแวดล้อม หรือเศรษฐกิจหรือไม่ รวมทั้งบนฐานของการได้ร่วมคิดและกำหนดอนาคตของตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี เสมอหน้า และเท่าเทียม โดยมิได้มีสถานะเป็นเพียงผู้รอรับความเมตตาที่หลั่งรินลงมาจาก “รัฐไทย” หรือไม่นั้น ยังเป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันหาคำตอบต่อไป
mso-ascii-font-family:Calibri;mso-hansi-font-family:Calibri">**หมายเหตุ** บทความชิ้นนี้เขียนมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ เขียนลงในเว็บไซต์สำนักข่าวประชาธรรม ขอนำมาเผยแพร่อีกครั้งเนื่องจากเห็นว่ามีเนื้อหาไปกันได้ดีกับข่าวการบรรยายพิเศษของรองสมุหราชองครักษ์ในที่ประชุม กอ.รมน. เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา และข่าวการเสียชีวิตของป๊ะวาเด็ง ปูเต๊ะ ที่สื่อมวลชนให้ความสนใจนำเสนอกันมาก (โดยที่สื่อมวลชนเหล่านี้คงไม่ได้ต้องการที่จะพูดถึงผู้เฒ่าท่านนี้ มากเท่าๆ กับต้องการจะเน้นย้ำพระราชภารกิจในการจัดการน้ำ รวมทั้งพื้นที่พรุ ในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้)