Skip to main content

อนุกูล อาแวปูเตะ
ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี

สืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขตพื้นที่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ ๔ อำเภอคืออำเภอจะนะ เทพา สะบ้าย้อยและอำเภอเทพาของจังหวัดสงขลา ซึ่งภายหลังการประกาศให้เป็นพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว จังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นพื้นที่พิเศษของการบังคับใช้กฎหมายที่แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทย คือ อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกฎหมายพิเศษ ๒ ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ ๒๕๔๘ และในอนาคตอาจจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายพิเศษอีกฉบับหนึ่งคือ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑

ศูนย์ทนายความมุสลิมได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านในพื้นที่ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากปริมาณเรื่องร้องเรียนพบว่ามีปัญหาจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายประการ กล่าวคือ

๑. ในปัจจุบันกฎหมายพิเศษที่ใช้บังคับในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ พระราชบัญญัติ กฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ ๒๕๔๘ ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับมีความมุ่งหมายในการใช้บังคับที่แตกต่างกัน กล่าวคือ กฎอัยการศึกให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารบังคับใช้ซึ่งอยู่เหนือฝ่ายพลเรือน แต่พระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้อำนาจฝ่ายพลเรือน ดังนั้น โดยความมุ่งหมายหากมุ่งที่จะใช้กฎหมายใหม่โดยเห็นว่ากฎหมายเดิมไม่เหมาะสม ก็ควรใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติกลับปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ใช้ทั้งกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่งผลให้มีอำนาจในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยอาศัยทั้งอำนาจของกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

๒. บุคคลที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ ไม่ว่ากฎอัยการศึก หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเพียงผู้ต้องสงสัยไม่ใช่ผู้กระทำความผิดหรือผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่สิทธิของบุคคลเหล่านั้นถูกจำกัดยิ่งกว่าผู้ต้องหา กล่าวคือ ไม่สามารถพบญาติหรือทนายความได้ ถูกจำกัดเวลาในการเยี่ยม มีการย้ายสถานที่เพื่อไม่ให้ญาติทราบถึงสถานที่ควบคุมตัว ถูกกดดันจากการซักถาม โดยวิธีการทรมานเพื่อรีดข้อมูลโดยการดำเนินกรรมวิธีการซักถาม ซึ่งหลายกรณีที่พบว่าหากไม่ให้ข้อมูลหรือไม่ทราบข้อเท็จจริง หรือไม่ยอมรับข้อเท็จจริงจากการซักถาม ถือว่าไม่ให้ความร่วมมือ อาจมีการปฏิบัติที่แตกต่างกันกับผู้ที่ให้ข้อมูล แม้ข้อเท็จจริงที่ให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่นั้นไม่เป็นความจริงก็ตาม

๓. พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรา ๑๑ (๑) ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการที่จะจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เท่าหรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุนการกระทำเช่นว่านั้น หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เท่าที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลนั้นกระทำการหรือร่วมมือกระทำการใด ๆ อันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง หรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง แต่ในทางปฏิบัติเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ไม่สามารถที่จะป้องกันเหตุร้ายโดยอาศัยกฎหมายพิเศษได้ แต่หลายเหตุการณ์กลับพบว่าภายหลังเกิดเหตุได้มีการจับกุมและควบคุมบุคคลที่ต้องสงสัยจำนวนมากซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
 

๔. บุคคลที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ จะต้องเข้าสู่การดำเนินกรรมวิธีในการซักถามข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระบวนการซักถามดังกล่าวเป็นการแสวงหาข้อมูลจากผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ เพื่อเป็นแนวทางในการที่หาตัวบุคคลที่อยู่เบื้องหลังและเป็นแกนนำในการปลุกระดม หรือยุยงส่งเสริมให้ก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ ดังนั้น ผู้ที่จับกุมและควบคุมตัวดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนแหล่งข่าวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในการที่จะวิเคราะห์ข้อมูล ในการที่จะพิสูจน์ข้อมูลที่ได้มา อันเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของการสืบสวนแสวงหาพยานหลักฐาน และป้องกันเหตุการณ์ความไม่สงบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผลการซักถามของผู้ที่ให้ข้อมูล รวมทั้งตัวบุคคลที่ให้ข้อมูลซึ่งเป็นแหล่งข่าว จึงเป็นความลับ ไม่ควรเปิดเผยไปให้แก่บุคคลภายนอกทราบ กระบวนการซักถามจึงไม่ใช่การสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และผลการซักถามจึงไม่อาจที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานยันผู้ถูกซักถามในชั้นพิจารณาคดีของศาลได้ แต่จากการจับกุมและควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษกลับพบว่าหลายต่อหลายคดีได้นำผลการซักถามมาเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้ถูกซักถาม

๕. ในกรณีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ได้มีการปิดล้อมตรวจค้น และจับกุมบุคคลต้องสงสัยตามกฎหมายพิเศษ เป็นกลุ่มหลาย ๆ คน บุคคลที่ถูกควบคุมตัวบางคนได้รับการปล่อยตัว บางคนเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และบางคนแยกไว้เพื่อกันเป็นพยานโดยให้พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำเป็นพยานตามผลการซักถามที่จัดทำขึ้นในชั้นควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ ส่งผลให้ผู้ที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวซึ่งอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันมีการซัดทอดซึ่งกันกัน เกิดความหวาดระแวงในหมู่บ้าน ชุมชนและหมู่บ้านที่เคยสงบสุขกลับต้องอยู่ด้วยความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

๖. หมายจับตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ศาลเป็นผู้ออกหมายโดยอาศัยข้อมูลจากสามฝ่าย คือ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร แต่หลายต่อหลายครั้งพบว่าเจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่ชาวบ้าน โดยเฉพาะการอาศัยบุคคลที่มีรายชื่อตามหมายจับให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมอบรมโครงการต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่จัดขึ้น และให้คำมั่นสัญญาว่าหากเข้าร่วมโครงการแล้วจะลบรายชื่อออกจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ และล่าสุดพบว่ามีการจัดโครงการให้ประกาศนียบัตรแก่ผู้ที่มีหมายจับ โดยเสนอว่าหากเข้าร่วมโครงการแล้วจะปลดหมายจับออก ทั้งที่หมายจับออกโดยศาลซึ่งจะปลดได้ต่อเมื่อได้มีการเพิกถอนหมายจับโดยศาลเท่านั้น และในบางพื้นที่พบว่าภายหลังที่เข้าร่วมอบรมโครงการกับทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายจับมาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

๗. บุคคลที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษภายหลังที่ถูกปล่อยตัวไปแล้ว ไม่สามารถที่จะดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขเยี่ยงคนทั่วไป กล่าวคือ หากมีเหตุการณ์เกิดขื้นในหมู่บ้านเจ้าหน้าที่ก็จะมุ่งสงสัยในบุคคลเหล่านั้น ซึ่งเป็นปัญหาหนักใจของผู้ที่ถูกใช้กฎหมายทั้งที่ตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และอาจมีการออกหมายซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่มีที่สุด ด นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไม่ประสานงานในการเพิกถอนหมาย จะเห็นได้ว่าหลายต่อหลายกรณีที่บุคคลเหล่านี้จะเดินทางไปต่างประเทศ จะพบว่าถูกแบล๊คสิสต์ (บัญชีดำ) ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจคนเข้าเมือง
 

๘. การออกหมายจับโดยพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บุคคลที่ถูกออกหมายจับตกเป็นผู้ต้องหาตามกฎหมาย เนื่องจากในหมายจับได้ระบุข้อกล่าวหาและฐานความผิดไว้ และพนักงานสอบสวนมีพยานหลักฐานที่จะดำเนินคดีตามข้อกล่าวหาได้ เมื่อจับบุคคลตามหมายจับแล้ว พนักงานสอบสวนมีอำนาจในการควบคุม ๔๘ ชั่วโมงหากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น อาจยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาล ดังนั้นผู้ที่ถูกจับตามหมายจับจึงไม่มีอำนาจในการที่จะควบคุมตามกฎหมายพิเศษได้ แต่เจ้าหน้าที่ได้มีการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กล่าวคือ ภายหลังที่มีการจับกุมตามหมายจับแล้วแจ้งข้อกล่าวหา ในชั้นยื่นคำร้องคำร้องขอฝากขังกลับนำตัวผู้ต้องหาไปควบคุมตามกฎหมายพิเศษและเข้าสู่การดำเนินกรรมวิธีการซักถาม กล่าวโดยสรุปแล้วผู้ที่กระทำความผิดในคดีเกี่ยวกับความมั่นคง เป็นผู้ที่หลงผิดและถูกชักจูงให้เข้าร่วมในขบวนการเพื่อให้มีความอคติเกลียดชังเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ที่กระทำความผิดจึงมีความแตกต่างกับอาชญากรในคดีอาญาทั่วไป ดังนั้น การปราบปรามโดยการมุ่งที่จะดำเนินคดีทางกฎหมายเป็นหลักจึงไม่อาจที่จะเปลี่ยนแปลงแนวคิดและอุดมการณ์ของบุคคลเหล่านั้นได้ แต่จะกลับยิ่งขยายแนวร่วมให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมากขึ้น
 

การใช้กฎหมายพิเศษเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการที่สืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงถึงบุคคลที่เป็นแกนนำหรือผู้ร่วมขบวนการ แต่จากการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในสามจังหวัดโดยเฉพาะ พรก. มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๘ จนถึงปัจจุบัน กลับปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถที่จะเข้าถึงกลุ่มบุคคลเหล่านั้นได้ เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากการซักถามของผู้ที่เป็นแกนนำล้วนแต่เป็นชื่อจัดตั้ง และมีการปกปิดเป็นความลับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดจากการใช้กฎหมายพิเศษดังกล่าว กลับปรากฏว่ามีการนำผลการซักถามมาใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี และหลายกรณีบุคคลที่มีรายชื่อในกลุ่มหรือขบวนการถูกซัดทอดจากบุคคลโดยอาศัยเหตุส่วนตัว ความขัดแย้งทางการเมือง

เมื่อประมาณปี ๒๕๕๐ ถึง ๒๕๕๑ ในจังหวัดปัตตานีมีการนำข้อมูลที่ได้จากการซักถามและการรวบรวมรายชื่อของบุคคลที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยมาดำเนินการออกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในข้อหาก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร โดยออกหมายจับในลักษณะเป็นกลุ่มหลาย ๆ คนในหลายตำบลของ อำเภอโคกโพธิ์ อำเภอยะรัง อำเภอสายบุรี ในจำนวนผู้ถูกออกหมายจับได้มีการมอบตัวแล้วหาหลักทรัพย์ในการประกันตัว บางคนไม่มีหลักทรัพย์ต้องหลบหนีเพราะกล้ามามอบตัว เนื่องจากหากถูกดำเนินคดีต้องถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นความสับสนในการใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ เพราะหากมีความประสงค์ในการที่จะใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งเป็นกฎหมายปกติ ก็ไม่ควรที่จะใช้กฎหมายพิเศษ เพราะความมุ่งหมายของกฎหมายมีความแตกต่างกัน กล่าวโดยเฉพาะแล้วในการดำเนินการออกหมายจับตามกฎหมายพิเศษกับกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา ควรมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน เพราะสถานะและความรุนแรงของกฎหมายไม่เหมือนกัน แต่หลายกรณีมีการออกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยอาศัยพยานหลักฐานการซักถามของกฎหมายพิเศษ ที่เป็นเพียงแหล่งข่าวและการบอกเล่า ซึ่งในหลักของกฎหมายว่าด้วยพยานหลักฐานในน้ำหนักหรือคุณค่าของพยานน้อยมาก

ข้อห่วงใยประการสุดท้ายก็คือระบบของกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถที่จะทำหน้าที่โดยการตรวจสอบและถ่วงดุลกันได้ กล่าวคือ กฎหมายพิเศษให้อำนาจเจ้าหน้าที่มาก แต่เจ้าหน้าที่ที่ใช้กฎหมายพิเศษให้ความหวังไว้กับศาลในการลงโทษผู้กระทำความผิด พนักงานอัยการอยู่ในฐานะที่ไม่ได้กลั่นกรองคดีขึ้นสู่ศาลโดยละเอียดเพราะมีเงื่อนเวลาของกฎหมายกำหนดไว้ คดีความมั่นคงจึงไหลเข้าสู่ระบบศาลและอุดตันเกินความจำเป็น ทั้งนี้เพราะบางคดีมีเพียงพยานหลักฐานซึ่งเป็นพยานบอกเล่าที่เป็นเอกสารเท่านั้น ในขณะที่ข้อหามีความรุนแรงอย่างเช่น สะสมกำลังพล สะสมอาวุธ ก่อการร้าย มีผู้ต้องหาและจำเลยหลายคนที่ต้องถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาในเรือนจำ เนื่องจากไม่สามารถที่จะขอประกันตัวได้ และมีบางคดีที่จำเลยขอประกันตัวต่อศาลได้ หรือได้ต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรมโดยต้องถูกคุมขังในเรือนจำ สุดท้ายศาลพิพากษายกฟ้อง แต่ต้องมาถูกฆาตกรรมโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งความหวังในการที่จะมองเห็นสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยิ่งห่างไกลและริบหรี่เต็มที