Skip to main content

ไต่สวนการตาย ยาการียา ปาโอ๊ะมานิ 

คดีแรกและอาจเป็นคดีเดียวของการผ่าศพพิสูจน์ 

เกาซัร อาลีมามะ 

อาสาสมัครผู้ช่วยทนายความ ศูนย์ทนายความมุสลิม ยะลา 

 ศาลยะลาไต่สวน “หมอพรทิพย์” พยานปากสำคัญผู้ผ่าศพยาการียา ปาโอ๊ะมานิ พิสูจน์สาเหตุของการตายที่เป็นปริศนาขณะอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่  หมอพรทิพย์ชี้เจ้าตัวถูกกระสุนปลิดชีพแต่ไม่สามารถตรวจสอบรถที่คุมตัวได้ทำให้หมดโอกาสวิเคราะห์วิถีกระสุนและที่มา  แต่ผลการพิสูจน์ยืนยันชัดว่าถูกซ้อมจนกระดูกหักก่อนถูกยิง  ด้านลูกเมียผู้ตายยังดิ้นรนหนักเพื่อความอยู่รอดหลังผู้นำครอบครัวเสียชีวิต

เช้าวันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดยะลาได้พิจารณาคดีไต่สวนสาเหตุการเสียชีวิตของนายสาการียา หรือ ยาการียา ปะโอ๊ะมานิ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่ถูกเจ้าหน้าที่กรมทหารพรานที่ 41 อ.รามัน จ.ยะลา ควบคุมตัวเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน  2550  ในการไต่สวนหนนี้มีแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ไปให้ปากคำในฐานะพยานปากแรกและปากเดียวของฝ่ายผู้คัดค้านคือฝ่ายญาติผู้เสียชีวิต การให้ปากคำของพญ.คุณหญิงพรทิพย์ มาจากการผ่าศพผู้เสียชีวิตพิสูจน์ ซึ่งนับว่าเป็นกรณีแรกและอาจจะเป็นกรณีเดียวในบรรดาคดีที่เกี่ยวกับความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการผ่าศพชันสูตรเพื่อหาสาเหตุการตายในส่วนของผู้เสียชีวิตที่เป็นมุสลิม  การไต่สวนมีขึ้นท่ามกลางการเข้ารับฟังของบรรดาญาติผู้เสียชีวิตและผู้สังเกตุการณ์จำนวนมาก

 ในการไต่สวน พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ได้กล่าวถึงลักษณะของบาดแผลสองประเภท คือบาดแผลจากการถูกยิงและบาดแผลที่เป็นรอยฟกช้ำเพื่อประกอบการพิจารณาว่านายยาการียาตายเพราะบาดเจ็บจากบาดแผลฟกช้ำหรือจากการถูกยิง ทั้งยังพูดถึงหลักฐานที่แสดงถึงลักษณะกระสุนและการศึกษาวิถีกระสุนเพื่อดูทิศทางการยิงเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาว่า ข้ออ้างของเจ้าหน้าที่ที่ระบุว่ารถที่นำตัวนายยาการียาถูกซุ่มโจมตีและนายยาการียาถูกกระสุนอาก้าของคนร้ายจนเสียชีวิตนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่

พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ให้การว่าจากการชันสูตรของตนพบว่าร่างกายของนายยาการียา มีบาดแผลจากรอยกระสุนสี่แห่ง เป็นบาดแผลอันเกิดจากกระสุนปืน 2 ชนิด คือ กระสุนจากปืนอาก้า และบาดแผลจากกระสุนปืนลูกโดด ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นกระสุนจากปืนพกสั้น  คำให้การของพญ.คุณหญิงพรทิพย์ในประเด็นนี้นับว่าไม่สอดคล้องกับการให้ปากคำของเจ้าหน้าที่ในชั้นศาลก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า คนร้ายที่ซุ่มยิงใช้อาวุธปืนประเภทปืนอาก้า เท่านั้น

ภายหลังการให้ปากคำ นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ทนายความของฝ่ายผู้คัดค้านในคดีนี้กล่าวกับMACMUSLIM ว่า “มีความแตกต่างระหว่างคำให้การของหมอพรทิพย์และหมอที่ชันสูตรศพของโรงพยาบาลที่ไปร่วมในการพิจารณาในเรื่องทิศทางของกระสุนที่เข้าและออกของบาดแผล 2 แห่ง เนื่องจากหมอพรทิพย์ได้ผ่าศพทำให้สามารถวิเคราะห์ข้อเท็จจริงได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งหมอได้ระบุว่า ผู้ยิงอยู่ทางขวามือของผู้ตาย”  

จากปากคำของเจ้าหน้าที่ก่อนหน้านี้ระบุชัดว่าถูกซุ่มโจมตีจากกลุ่มคนร้ายที่กระทำการจากทางซ้ายมือของผู้เสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม พ.ญ.พรทิพย์ยังกล่าวด้วยว่า ในการทำงานครั้งนี้ตนไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควรในการให้ข้อมูลจากฝ่ายตำรวจและทหารเกี่ยวกับรถที่เป็นพาหนะนำตัวนายยาการียาเดินทาง โดยไม่สามารถเข้าตรวจและเก็บหลักฐานจากรถคันดังกล่าวเพื่อจะพิสูจน์รอยกระสุนปืนที่ปรากฏบนรถได้ ทำให้ไม่สามารถจะวิเคราะห์ได้ว่าลักษณะของการที่คนร้ายยิงผู้ตายเสียชีวิตเป็นการยิงแบบไหน พร้อมกับชี้ว่าหากได้ข้อมูลครบจะสามารถวิเคราะห์ประเด็นนี้ ซึ่งอยู่ในขีดความสามารถของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้

ร่องรอยการซ้อมทรมานทั่วร่างกาย

นอกจากนี้ทนายความในคดียังได้ไต่ถามถึงเรื่องบาดแผลฟกช้ำบนตัวของผู้ตาย  พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ได้ระบุว่า บาดแผลฟกช้ำนั้นมีอยู่ทั่วร่างกาย  ที่มีขนาดใหญ่คือบาดแผลที่บริเวณหน้าอกซึ่งมีความกว้างประมาณ 20 ซม. ดังนั้นเพื่อจะหาสาเหตุที่แท้จริงว่าผู้ตายเสียชีวิตจากการถูกยิงหรือจากบาดแผลฟกช้ำเหล่านั้นจึงได้ตัดสินใจผ่าพิสูจน์และพบว่ากระดูกหน้าอกของผู้ตายหัก แต่กระดูกที่หักนั้นยังไม่ถึงกับทิ่มทะลุปอด และไม่ถือว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต อย่างไรก็ตามรอยฟกช้ำที่ปรากฏโดยเฉพาะที่หน้าอกและกระดูกที่หักน่าจะต้องเกิดจากการที่ถูกกระแทกด้วยวัสดุที่เป็นของแข็งอย่างแรง และเป็นของที่เกิดขึ้นก่อนที่จะถูกยิง พ.ญ.พรทิพย์ระบุว่ารอยฟกช้ำเช่นนี้มักจะพบในกรณีที่ถูกซ้อมทรมาน 

ด้านทนายความในคดีนายสิทธิพงษ์ระบุว่า “น่าจะมีการซ้อมทรมานมาก่อน และผู้ตายน่าจะเสียชีวิตเนื่องจากกระสุนปืนปริศนา ซึ่งจากการเบิกความของทหารที่ควบคุมตัวผู้ตายให้การขัดแย้งกับผลการพิสูจน์ผ่าศพของคุณหญิงหมอพรทิพย์”  

ก่อนหน้าการไต่สวนหนนี้ อัยการได้นำสืบปากคำพยานรวมแปดราย ที่สำคัญมีภรรยาของผู้ตาย  ทหารที่ทำหน้าที่ควบคุมตัว 4 นาย และแพทย์จากโรงพยาบาลศูนย์ยะลา ผู้ชันสูตรพลิกศพ การไต่สวนเป็นไปตามข้อกฏหมายที่ระบุให้ดำเนินการเมื่อมีผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตลงในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวหรือจับกุมโดยเจ้าหน้าที่  สำหรับคดีไต่สวนการตายของนายยาการียานี้ดำเนินต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าสองปีแล้ว และการให้ปากคำของพญ.คุณหญิงพรทิพย์ซึ่งเป็นพยานฝ่ายผู้คัดค้านนั้นจะเป็นการให้ปากคำเป็นรายสุดท้ายก่อนที่ศาลจะอ่านคำพิพากษาในวันที่ 12 มิถุนายน 2552 เวลา 9.00 น. บัลลังก์ 4 ศาลจังหวัดยะลา

 คดีไต่สวนการตาย

จากบทความเรื่อง ไต่สวนการตายกรณีตากใบ : เพื่อความยุติธรรมและชำระความจริง โดย เบญจมาศ บุญฤทธิ์ เผยแพร่ใน deepsouthwatch.org ได้ระบุว่า  การไต่สวนการตายจะเกิดขึ้นในคดีวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งหมายถึง คดีที่ผู้ตายถูกเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ฆ่าตาย (เช่นกรณีที่มีการต่อสู้กันระหว่างผู้กระทำผิดกับเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ได้ยิงผู้กระทำผิดนั้นตาย หรือตายระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ซึ่งหมายความรวมถึงกรณีการถูกจับกุม คุมขัง หรือการจำคุกในเรือนจำในทุกๆ กรณี) เนื่องจากคดีเหล่านี้กฎหมายถือว่าเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ ไม่ใช่การตายโดยสาเหตุทั่วไป และเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงต้องมีการชันสูตรพลิกศพ  โดยให้อัยการ พนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ปลัดอำเภอขึ้นไปหรือเทียบเท่า ร่วมกับพนักงานสอบสวน และแพทย์ชันสูตรพลิกศพ จากนั้นพนักงานสอบสวนจะทำสำนวนส่งให้อัยการ และอัยการจะเป็นผู้ทำคำร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลไต่สวนการตายและมีคำสั่งว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และเพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย การไต่สวนนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความผิดหรือข้อกล่าวหาของผู้ตายแต่อย่างใด 

ขณะเดียวกันบุคคลที่เป็นญาติผู้ตายข้างต้นก็มีสิทธิที่จะขอให้ศาลเรียกผู้เชี่ยวชาญอื่นมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือให้ความเห็นเพิ่มเติมจากความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเรียกมาได้ ซึ่งตามหลักการถือว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะจะช่วยปกป้องรักษาประโยชน์และความเป็นธรรมให้แก่ผู้ตาย โดยเฉพาะสาเหตุของการตาย หากไม่มีการคัดค้านมีการไต่สวนไปฝ่ายเดียวและศาลมีคำสั่งว่าการตายของผู้ตายเกิดขึ้นด้วยอุบัติเหตุหรือโดยสาเหตุใดๆ ที่มิใช่ความผิดของเจ้าหน้าที่ ข้อเท็จจริงย่อมยุติตามนี้  อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการนำสืบพยานเสร็จสิ้นและศาลมีคำสั่งแล้ว คำสั่งศาลถือเป็นที่สุด ผู้เกี่ยวข้องไม่อาจอุทธรณ์หรือฎีกาได้อีก    

 

ย้อนรอยการเสียชีวิตของยาการียา

แม้จะผ่านมาเกือบสองปีแล้ว แต่สำหรับชาวบ้านที่บ้านคอลอบาแล อำเภอบันนังสตา เหตุการณ์ที่พวกเขาถูกทหารเข้าปิดล้อมจับกุมเมื่อเช้าตรู่วันที่  23 มิถุนายน 2550   เกือบสองปีที่แล้วยังคงสดใหม่ในความทรงจำเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันวาน

 เช้าวันนั้นชาวบ้านเห็นทหารกลุ่มใหญ่กระโดดลงจากรถที่เข้าไปจอดในหมู่บ้าน  เสียงรองเท้าบู้ทคู่แล้วคู่เล่ากระแทกพื้นดังพรึ่บพรั่บ ตามมาด้วยเสียงตะโกนสั่งการให้ชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้นเข้าไปหลบในบ้าน ในครั้งนั้นรัฐบาลเปิดนโยบายยุทธการพิชิตแดนใต้  และ แผนพิชิตบันนังสตา เป็นหนี่งใน 17 แผนของยุทธการนี้ 

ความหวาดกลัวว่าจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านคอลอบาแลไปรวมตัวกันที่มัสยิดประจำหมู่บ้าน  พวกเขายังเชื่อมั่นว่ามัสยิดเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดในช่วงเวลานั้น อีกอย่าง การอยู่ร่วมกันและการได้ปฏิบัติศาสนกิจร่วมกันยังเป็นการช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้พวกเขาด้วย ปริมาณของชาวบ้านที่หวังพึ่งพิงมัสยิดจึงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ   

แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ก็ได้เข้าปิดล้อมบริเวณมัสยิดและเข้าไปตรวจค้น พวกเขาไม่พบสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด เมื่อตรวจค้นเสร็จมีชาวบ้านทั้งชายและหญิงในราว 30-40 คนถูกควบคุมตัวไปขึ้นรถของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้ยึดทรัพย์สินของทางมัสยิดไปด้วย อาทิ หม้อ กระทะ จาน แก้ว ข้าวสาร ส่วนชาวบ้านนั้นถูกนำตัวไปควบคุมตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ค่ายอิงคยุทธบริหาร ค่ายทหารพรานที่ลำพญา  ค่ายทหารที่สนามกอล์ฟเขื่อนบางลาง ค่ายที่โรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตร ฯลฯ เป็นต้น

 หลังเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านไปเพียงสองวัน  ก็มีเจ้าหน้าที่เข้าไปจับกุมคนในหมู่บ้านคอลอบาแลอีก และยาการียา  ปาโอ๊ะมานิ คือหนึ่งในคนกลุ่มหลังนี้ เขาถูกจับกุมในเวลาไล่เลี่ยกันกับที่มีการจับกุมนายมะยาเต็ง  มะรานอ ภารโรงโรงเรียนบ้านบางลาง หมู่ 3 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นบุคคลสูญหายไปแล้ว  

 เมื่อนายยาการียาถูกจับกุมตัวไปนั้นครอบครัวของเขาไม่มีหนทางในอันที่จะไปเยี่ยมได้ หนึ่งนั้นเพราะไม่ทราบว่าเขาถูกควบคุมตัวไว้ ณ ที่ใด ประกอบกับเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ชาวบ้านออกไปจากหมู่บ้าน อันเนื่องมาจากประกาศเคอร์ฟิวตามกฎอัยการศึก ในวันที่นายยาการียา ถูกควบคุมตัวไปนั้น ลูกชายคนเล็กร่ำร้องขอตามพ่อไปด้วย ทว่าเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ผู้ใดติดตามไป  หลังจากนั้นลูกคนเล็กก็ร้องหาพ่อตลอดเวลา ไม่ยอมกินข้าว บอกกับแม่ว่า จะกินก็ต่อเมื่อพ่อกลับมาเท่านั้น แม่ปลอบลูกชายว่าพ่อออกไปทำงาน อีกไม่นานก็คงจะกลับ แต่คำปลอบนั้นใช้ได้ก็เพียงชั่วคราวเพราะพอรุ่งเช้าเด็กน้อยก็ร้องหาพ่ออีก 

 จนเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2550 เพื่อนบ้านซึ่งเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลได้ไปบอกกับครอบครัวนายยาการียาว่า นายยาการียา ได้เสียชีวิตลงแล้ว ศพของเขาอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา เมื่อได้ทราบข่าวเช่นนั้น นางฮัสน๊ะ ภรรยาของนายยาการียาถึงกับหมดสติไป หลังจากรู้สึกตัวขึ้นมา ทุกคนในบ้านก็พากันไปที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา เพื่อไปรับศพกลับมาประกอบพิธีทางศาสนา ที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลได้แจ้งให้ทางญาติของนายยาการียา ทราบว่า ศพของนายยาการียาถูกผ่าพิสูจน์เพื่อชันสูตรหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิต ญาติได้นำศพกลับไปบ้านและได้เห็นสภาพศพของนายยาการียาที่มีร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกายรวมทั้งร่องรอยการผ่าพิสูจน์ พวกเขาเริ่มตระหนักถึงความผิดปกติของการเสียชีวิตในครั้งนี้

 ครอบครัวที่ขาดเสาหลัก

หลังจากนายยาการียาเสียชีวิตไป ครอบครัวของเขาก็ประสบกับความลำบาก ไม่มีผู้นำครอบครัวที่เป็นหลักในการหาเลี้ยงชีวิต ทำให้ลูกสาวคนโต ลูกชายคนรอง ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เพิ่อจะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้เป็นแม่ในการทำงานหาเลี้ยงครอบครัว อย่างไรก็ตามก่อนที่จะเสียชีวิตนั้น นายยาการียากำลังเริ่มก่อสร้างบ้านหลังเล็ก ๆ ซึ่งแม้จะยังไม่แล้วเสร็จและเขาจากไปเสียก่อน แต่ครอบครัวของนายยาการียาก็ได้แรงใจและแรงงานจากเพื่อนบ้านที่ไปช่วยกันสร้างบ้านให้จนเสร็จและสามารถเข้าอยู่อาศัยได้ หลังจากสามีตายได้ประมาณเดือนกว่า ๆ ภรรยานายยาการียาก็ขอร้องให้ลูกสาวคนโตแต่งงานเพื่อที่ว่าครอบครัวทั้งหมดจะได้มีผู้นำ..........

และทั้งๆที่เธอใฝ่ฝันอยากจะเรียนต่อและไม่พร้อมที่จะแต่งงาน แต่ในที่สุดลูกสาวคนนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะสงสารแม่และน้อง ๆ  จากการไปเยี่ยมครอบครัวของนายยาการียาเห็นได้ชัดว่าสภาพของพวกเขาต้องการเสาหลักค้ำจุน ผู้เป็นแม่เล่าให้ฟังว่า จนถึงวันนี้เมื่อใครถามถึงพ่อลูกคนเล็กก็จะร้องไห้ และมักถามแม่ว่า พ่อจะกลับเมื่อไหร่  

เรื่องที่นายยาการียา เสียชีวิตระหว่างที่ถูกควบคุมตัวนี้ ศูนย์ทนายความมุสลิมและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านกฏหมายแก่ประชาชนได้เข้าไปช่วยเหลือครอบครัวของนายยาการียา  และตลอดเวลาที่ศาลนัดไต่สวนสาเหตุการตายของเขา  ภรรยาและลูกๆต่างเดินทางไปรับฟังการไต่สวนโดยตลอด ลูกๆของนายยาการียาเล่าว่า  พวกเขาอยากเข้าฟังการไต่สวนทุกครั้ง เพราะอยากรู้ความจริงว่า “ใครทำให้พ่อของเขาเสียชีวิต”