Skip to main content
  •  ·       ปัญหาผู้อพยพและสิทธิที่ทำกินในกะลิมันตันทางตอนกลางและทางตะวันตกเมื่อ ค.ศ.1996-2001
          กะลิมันตันทางตอนกลางและทางตะวันตกเป็นดินแดนที่ตั้งอยู่บนเกาะเบอร์เนียวซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศสามประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซียและบูรไน ดินแดนส่วนใหญ่ของเกาะครอบคลุมพื้นที่อินโดนีเซีย ปัญหาของดินแดนแถบนี้คือการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมากมายเพราะดินแดนแถบนี้มีธรรมชาติค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ผลกระทบของการบุกรุกพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมากเช่นนี้ทำให้เกิดการเผาป่าเป็นจำนวนมากทำให้เกิดปัญหาหมอกควันปกคลุมไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังเกิดความรุนแรงระหว่างชนพื้นเมืองและผู้อพยพชาวมุสลิมซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ ค.ศ. 1996 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 3,000 กว่าคน กระทบต่อผู้อพยพและจำนวนประชากรกว่า 5-6 ล้านคน ความขัดแย้งเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มดยักซึ่งเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองโจมตีผู้อพยพชาวมุสลิมเมาดูริสจากเกาะเมาดูรา แต่ต้นเหตุของปัญหาการพัฒนากลับไม่ได้รับความสนใจ เช่นการตัดไม้ การเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ของการปลูกปาล์ม การสกัดเอาถ่านหิน น้ำมันหรือว่าแร่ธาตุอื่นๆด้วย[1]
 
          เมื่อย้อนกลับไปสู่ยุคภายใต้การปกครองประธานาธิบดีซูฮาร์โต กฎหมายใหม่เปิดโอกาสให้รัฐบาลมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและอนุญาตให้ชาวมุสลิมเมาดูรีสเข้ามาอาศัยและทำกินในพื้นที่แห่งนี้ จากเดิมที่ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชาวดยัก ทั้งการล่าสัตว์ การเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่การทำการเกษตรกรรมต่างๆ ของชาวเมาดูริสกลับสร้างความปั่นป่วนและความเป็นศัตรูให้กับชาวดยัก ประกอบกับไม่นานชาวดยักก็กลับมาเปลี่ยนนับถือศาสนาคริสต์ผสมผสานกับความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติและมีองค์กรเคลื่อนไหวที่เป็นของตนเองในประเด็นเรื่องสิทธิทำกินเหล่านี้ด้วยเหล่านี้ อย่างไรก็ตามภาพความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างประชาชนทั้งสองกลุ่มกลับกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวคริสเตียนและมุสลิม  ทั้งๆสาเหตุหลักที่แท้จริงไม่ใช่ประเด็นศาสนาโดยตรง แต่เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเรื่องของการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งระหว่างชาวคริสเตียนและชาวมุสลิมขึ้น อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งความรุนแรงไม่ได้แพร่ขยายไปยังรัฐซาราวักของมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในดินแดนเกาะเช่นเดียวกับอินโดนีเซียอาจเป็นไปได้เพราะว่าผู้อพยพในฝั่งมาเลเซียได้รับความปลอดภัยและความมั่นคงกว่าในเขตแดนของมาเลเซียที่ติดกับจังหวัดของอินโดนีเซีย[2]
 
 
  • ·       ความรุนแรงในนามของศาสนาที่จังหวัดโมลุกกะและจังหวัดโมลุกกะเหนือ ค.ศ.1999-2004
       
         ค.ศ.1999 ดินแดนของเกาะโมลุกกะแบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกันคือจังหวัดโมลุกกะและจังโมลุกกะตอนเหนือที่ทอดยาวจากทางเหนือถึงดินแดนทางตอนใต้เป็นความยาวกว่าจำนวนกว่า 1,000 กิโลเมตร   ความรุนแรงที่เกาะโมลุกกะเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นชาวมุสลิมและคริสเตียนในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านของอินโดนีเซียมาสู่ยุคประชาธิปไตย ส่งผลทำให้เกิดปรากฏการณ์การสู้รบกันระหว่างกองกำลังมุสลิมและคริสเตียนโดยอ้างถึงปกป้องศาสนาของตนเองจนทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงระหว่าง ค.ศ.1999-2003 อย่างน้อยกว่า 5,000 คน นอกจากนี้ความรู้สึกไม่พอใจของชาวมุสลิมต่อการที่สหรัฐอเมริกาส่งกองกำลังไปยังอัฟกานิสถาน เมื่อ ค.ศ.2001 ยิ่งทำให้กระตุ้นให้ความขัดแย้งในนามของศาสนาเลวร้ายลงไปอีกด้วย[3]
 
 
           โมลุกกะเป็นดินแดนที่ประกอบไปด้วยชนกลุ่มน้อยชาวคริสเตียนคาทอลิกที่มีความเป็นมาตั้งแต่ศตวรรษที่16 และได้เปลี่ยนมาสู่นิกายโปรแตสแต้นท์ในเวลาต่อมา แต่กว่า 85 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวมุสลิม แม้ว่าดินแดนโมลุกกะประกอบไปด้วยชาวมุสลิมกว่าสองในสาม แต่ทว่า ความแตกแยกกันระหว่างชาวมุสลิมและคริสเตียนยังคงเกิดขึ้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ.1999 เกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาใหม่และปัญหาเก่ามาเจอกัน เดิมชาวคริสเตียนในอัมบนต่อสู้เคียงข้างดัชท์ในช่วงที่อินโดนีเซียต่อสู้เพื่อเอกราช ขณะที่ชาวจีนที่เป็นชวาที่อาศัยอยู่ในอัมบนพยายามแยกดินแดนออกไปทางตอนใต้ไปเป็นสาธารณรัฐโมลุกกะโดยได้รับการสนับสนุนจากชาวคริสเตียน ต่อมาในช่วงท้ายของยุคซูฮาร์โต หลายพื้นที่ของโมลุกกะเกิดการย้ายถิ่นฐานของชาวมุสลิมและการแพร่ของศาสนาอิสลามทั้งในเชิงสัญลักษณ์และรูปธรรม เป็นผลทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชนสองกลุ่มในประเด็นศาสนาที่แพร่ไปอย่างรวดเร็ว ความรุนแรงเริ่มต้น ค.ศ.1999 ตั้งแต่ในช่วงของรัฐบาลบีเจ ฮาร์ บีบี ที่เกิดขึ้นมาจากกรณีเล็กๆ ระหว่างชาวอัมบนที่นับถือศาสนาคริสต์และผู้อพยพชาวมุสลิม เหตุการณ์ความรุนแรงกินเวลากว่าสองเดือนทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,000 คน ความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งในจังหวัดโมลุกกะและโมลุกกะเหนือ ก่อให้เกิดการสู้รบระหว่างกองกำลังติดอาวุธมุสลิมและคริสต์ที่ค่อนข้างควบคุมสถานการณ์เป็นไปอย่างยากลำบาก[4]
 
 
            เมื่อกล่าวถึงกลุ่มกองกำลังนอกแบบชาวมุสลิมที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ คือกลุ่ม Laskar jihad นำโดย Ja’afar Umat Thalib  ผู้นำของกลุ่มที่สามารถเกณฑ์ผู้คนกว่า 7,000 คน ได้ในเวลาอันสั้นเพื่อเป็นอาสาสมัครกองกำลังติดอาวุธเพื่อที่ต่อสู้กับกลุ่มที่อ้างว่าเข่นฆ่าชาวมุสลิมในพื้นที่นั้น ความขัดแย้งในโมลุกกะเป็นความรุนแรงที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ช่วงประธานาธิบดีอับดุลเราะห์มาน วาฮิด ต่อเนื่องมาถึงช่วงประธานาธิบดีเมกาวาตี ซูการ์โน บุตรี ประกอบกับการที่ Laskar Jihad มีปัญหาด้านการเงินเพิ่มและมีความแตกแยกภายในกลุ่ม อีกทั้งผู้นำของกลุ่มไม่ได้รับความความชอบธรรมในด้านการตีความทางศาสนาเพื่อทำการต่อสู้ในพื้นที่นั้นอีกต่อไป ในช่วง ค.ศ.2002 เกิดการเจรจาและการทำสัญญาสันติภาพเกิดขึ้น ความขัดแย้งจึงเริ่มคลี่คลายมากขึ้น ใน ค.ศ.2004 และทำให้ความนิยมในตัวของ Ja’afar Umat Thalib  ค่อยๆ ลดน้อยลงไปอีกแม้เขาเริ่มที่จะฟื้น Laskar Jihad ขึ้นมาสั้นๆ ก็ทางกลุ่มก็ต้องยุติบทบาทไปตั้งแต่ ค.ศ. 2004[5]
·      
  • ปัญหาผู้อพยพที่เมืองโปโซ เกาะสุลาเวสีกลาง ค.ศ.1998-2007  
 
           สุลาเวสีเป็นเกาะใหญ่ทางตะวันออกของเกาะบอร์เนียวรู้จักกันดีนามของเกาะเซเรเบรสซึ่งเป็นเกาะสวยงามอยู่ใกล้กับทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ หลังยุคระเบียบใหม่ เมืองโปโซซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสุลาเวสีเป็นหนึ่งในพื้นที่แรกๆ ที่มีความขัดแย้ง ความขัดแย้งที่โปโซเกิดขึ้นเนื่องจากการล่มสลายของวัฒนธรรมและศาสนาหลังเจ้าอาณานิคมเข้ายึดครองดินแดนแถบนี้ ก่อนหน้าที่ชาวต่างชาติและชาวมาเลย์มุสลิมจะเข้ามาตั้งรกราก ผู้คนบนเกาะแห่งนี้ส่วนใหญ่นับถือผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ ส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางศาสนาของกลุ่ม Toraja คือ พิธีกรรมการล่าหัวมนุษย์ แต่ต่อมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เจ้าอาณานิคมดัชท์ก็ยกเลิกพิธีกรรมเหล่านี้ออกไปส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการมาตรการรักษาความปลอดภัย ต่อมาพวกเขาจึงเข้าไปเผยแพร่ศาสนาและเปลี่ยนให้คนเหล่านี้รับถือศาสนาคริสต์ ผู้คนที่รับการศึกษาดีก็เดินทางออกจากบ้านเกิดและเข้าไปทำงานรัฐ เช่นเสมียนหรือครู เพื่อเปลี่ยนให้ตัวเองเป็นชนชั้นที่สูงมากขึ้น[6]
 
 
          ในช่วงเวลาเดียวกันชาวดัชต์ได้นำชาวนาซึ่งร่ำรวยทั้งจากชวาและบาหลีเข้ามาตั้งถิ่นฐานในภูเขาแถบนี้ เพื่อสร้างรายทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ นอกจากนี้ยังมีผู้อพยพที่มาจากที่อื่นทั้งพ่อค้าชาวมุสลิมซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทางตอนใต้ของสุลาเวสี คือ ชาวบูกิส (Bugis) หรือไม่ก็เป็นชาวมินังกาเบาทางสุมาตราตะวันตก ทำให้สัดส่วนของชาวพื้นเมืองต่างถิ่นที่เป็นชาวมุสลิมมีมากขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของคลื่นความรุนแรงลูกแรกที่เกิดขึ้นระหว่างชาวคริสเตียนและชาวมุสลิมเริ่มตั้งแต่ ค.ศ.1950 ในช่วงที่ขบวนการดารุลอิสลามจากสุลาเวสีใต้แพร่ขยายอุดมการณ์เข้ามายังดินแดนที่ชาวคริสเตียนอาศัยอยู่ทางตอนเหนือ ชนวนแห่งความความรุนแรงระหว่างชาวคริสเตียนและชาวมุสลิมเกิดขึ้นครั้งแรกรอบๆ สถานีรถบัสของโปโซในเดือนธันวาคม ค.ศ.1998  ในเดือนธันวาคมใน ค.ศ.2001 Jusuf Kalla ผู้นำทางการเมืองมุสลิมคนสำคัญของอินโดนีเซียและดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีใน ค.ศ.2004 ได้ริเริ่มข้อตกลงสันติภาพขึ้นที่เมืองโปโซ แต่ในช่วงนั้นพบว่ายังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนักเพราะความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นโดยเฉพาะผู้ก่อความไม่สงบยังคงมีแผนการสังหารเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนมาก และมีรายงานต่างๆว่ากลุ่ม JI ก็ได้สร้างค่ายฝึกอาวุธที่โปโซ เพื่อฝึกอาวุธให้กับกองกำลังมุสลิมจากทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ร่วมกับชาวอินโดนีเซียด้วย
 
 
           โดยสรุป กรณีความขัดแย้งทั้งสามกล่าวได้ว่ามีมิติที่เกี่ยวข้องกันอยู่แต่อาจมีจุดเน้นที่แตกต่างกันไป กล่าวคือ กรณีความขัดแย้งที่โมลุกกะในนามของกลุ่มศาสนาค่อนข้างที่จะเด่นชัดกว่าที่อื่นๆ แต่ในกะลิมันตัน ปัจจัยความขัดแย้งมีหลายสาเหตุที่เป็นปัจจัยในระดับท้องถิ่นที่สะสมมาเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควรและยังไม่ได้รับการแก้ไขตั้งแต่ช่วงรัฐบาลซูฮาร์โต ผนวกรวมกับปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากนั้น ส่วนสถานการณ์ที่เมืองโปโซเกิดขึ้นจากปัญหาการเข้ามาตั้งรกรากของกลุ่มต่างๆจากที่อื่นๆ ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นไม่ว่าระหว่างชนเผ่าดั้งเดิมกับเจ้าอาณานิคมดัชท์ อีกทั้งยังเกิดจากการย้ายถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ หลังจากนั้นอันเนื่องด้วยการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจ  ในเวลาต่อมาคลื่นความรุนแรงอันเนื่องด้วยสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมของประเทศที่แพร่กระจายไปสู่สาธารณะอย่างรวดเร็ว ประกอบกับรายงานที่เกี่ยวเนื่องกันในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ที่เข้าใจกันอย่างง่ายๆว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างศาสนาเป็นหลัก จึงมีความพยายามเชื่อมโยงประเด็นดังกล่าวเข้ากับประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นเดิม เช่น ในพื้นที่สุมาตราตะวันตกที่ส่วนใหญ่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่กำลังถูกคุกคามโดยชาวคริสเตียนนิกาย evangelicals หรือการที่มุสลิมชวามีการรับรู้ข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งในโมลุกกะต่างๆก็สมัครเข้ามาเพื่อร่วมกับกองกำลังเพื่อปกป้องชาวมุสลิม
 
           ดังนั้นจึงปฏิเสธความเป็นจริงไม่ได้ว่าความไม่พอใจที่เป็นทุนเดิมต่อกลุ่มมุสลิมชาติพันธุ์ต่างๆที่อพยพเข้ามาทำการค้าและบางส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจก็สร้างความไม่พอใจต่อคนในท้องถิ่นอย่างมากและถึงแม้ว่าจะมีการปฏิรูปการเมืองโดยกระจายอำนาจในระดับท้องถิ่นตามระบอบประชาธิปไตยก็อาจไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าแนวทางดังกล่าวจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงเสมอไป เพราะยังมีปัญหาเรื่องของการแบ่งพื้นที่การปกครองที่ทำเกิดปัญหาตามมา ตัวอย่างเช่นในโมลุกกะก็มีการการแบ่งเขตการเลือกตั้งอย่างไม่ยุติธรรมเช่นเดียวกันที่สุลาเวสีกลางที่ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางการปกครองที่กลุ่มชาติพันธุ์และศาสนาต่างๆยังคงยึดถือตามกลุ่มศาสนาหรือความเชื่อของตัวเองอยู่  นอกจากนี้ยังมีประเด็นใหญ่เรื่องของสิทธิในการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติก็เป็นเรื่องที่ใหญ่มากและเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ในขณะที่ศูนย์กลางของอินโดนีเซียเองยังคงมีความสับสนและความวุ่นวายในเรื่องของการปฏิรูปทางการเมืองโดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ แม้ว่ารัฐบาลต่างๆหลังจากยุคประธานาธิบดีซูฮาร์โต จะมีความพยายามในการเข้ามาปฏิรูปการเมืองตั้งแต่ประธานาธิบดี บี เจ  ฮาร์บีบี  ประธาธิบดีอับดุลเราะห์มาน วาฮิด จนถึงยุคของประธานาธิบดีนางเมกาวาตี ซูการ์โน บุตรี ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ในเรื่องของความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ เพราะการเมืองจากศูนย์กลางยังคงที่ถูกควบคุมโดยกองกำลังทางการทหารที่ยังคงเป็นจุดอ่อนและยังคงไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงในระดับชุมชนได้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 9,000 คน อีกทั้งมีผู้อพยพเป็นจำนวนมากกว่า 9 ล้านคน จนกระทั้งหลังจาก ค.ศ.2003 ความรุนแรงต่างๆ เริ่มสงบลงอันเนื่องจากรัฐบาลเริ่มมีความจริงจังในการแก้ไขปัญหาด้วยข้อตกลงสันติภาพโดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดที่เมืองโปโซ เกาะสุลาเวสีกลาง
 
            เมื่อกลับพิจารณาสิ่งที่ Tambiya ได้วิจารณ์เอาไว้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียหลังการล่มสลายของยุคระเบียบใหม่เป็นความรุนแรงระดับชุมชน (communal violence) ที่เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ.1997-2005 ที่เป็นลักษณะความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์และศาสนาทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมากดังเช่นที่เกิดขึ้นในโมลุกกะหรือที่สุลาเวสีกลาง อย่างไรก็ตามกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ เช่นในอาเจะห์ ติมอร์ตะวันออก ดังที่เรารับรู้กันเป็นกรณีที่แตกต่างออกไปไม่ได้เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือว่าความรุนแรงระหว่างชุมชนเป็นหลัก แต่เป็นผลของการต่อสู้ของผู้คนมาช้านานเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง
 
            ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสังเกตว่าในอินโดนีเซียมีพื้นที่ที่เกิดความรุนแรงในเชิงศาสนาและชาติพันธุ์เกิดขึ้นที่เป็นความขัดแย้งระดับชุมชน(ที่เป็นปัญหาผสมผสานที่เกิดมาอย่างเรื้อรังระหว่าง ชาติพันธ์ ศาสนา) อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีการต่อสู้ของกลุ่มที่มีเป้าหมายทางการเมืองมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน


[1] Robert Pringle,  Understanding Islam in Indonesia: Politics and diversity,1st (Singapore: Mainland Press Pte Ltd,  2010), pp.145.
[2] Ibid.,p.146.
[3] Ibid.,pp.146-147.
[4] Ibid.,p.147.
[5] Ibid.,pp.148-150.
[6] Ibid.,p.150.