Skip to main content
วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555
 
แถลงการณ์ด่วน
ขอให้กองทัพภาคที่ 4 ชี้แจงสาเหตุการใช้อำนาจตามพรบ.กฎอัยการศึก
เพื่อการกักตัว นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555 นายธรรมรัตน์ อาลีลาเต๊ะ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารเชิญตัวและควบคุมตัวเมื่อเวลา 19.00 น. ขณะที่นายธรรมรัตน์อาศัยอยู่ในบ้าน หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการสอนหนังสือที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา นายธรรมรัตน์ได้ถูกนำตัวไปควบคุมไว้หน่วยเฉพาะกิจ 11 จังหวัดยะลา ภายใต้พรบ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457  จนถึงขณะนี้ผู้ถูกจับและญาติยังไม่ทราบถึงเหตุแห่งการจับกุมตัว   
 
นายธรรมรัตน์ อาลีลาเต๊ะ เป็นสมาชิกในเครือข่ายของอดีตจำเลยคดีความมั่นคงหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี และเป็นอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลาเคยถูกจับกุมและควบคุมตัว   เมื่อปี พ.ศ. 2550 และถูกดำเนินคดีความมั่นขณะนี้ได้รับการปล่อยชั่วคราวและคดีอยู่ในชั้นพิจารณาคดีของศาลจังหวัดยะลา หลังจากได้รับการประกันตัวแล้วนายธรรมรัตน์ มิได้หลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น และต้องการที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองตามระบบของกระบวนการยุติธรรม จึงเชื่อได้ว่านายธรรมรัตน์ยังมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมหลักการปกครองโดยใช้หลักนิติรัฐของไทย และจากการเข้าร่วมกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนของนายธรรมรัตน์และกลุ่มเพื่อนจำเลยที่เคยถูกดำเนินคดีความมั่นคง ทางกลุ่มฯ ได้รับการยอมรับจากครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงความยุติธรรมตามกระบวนการยุติธรรม   อย่างไรก็ตามการทำงานของนายธรรมรัตน์และกลุ่มเพื่อนในฐานะผู้ที่ทำงานช่วยเหลือประชาชน กลับได้รับผลกระทบเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากสมาชิกของกลุ่มได้ถูกลอบสังหารไปแล้ว 3 ราย และคดีการลอบสังหารของสมาชิกยังไม่มีความคืบหน้าในการติดตามหาตัวผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด  ทำให้เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2555 นายธรรมรัตน์และกลุ่มเพื่อนได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) และได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อถึงการร้องเรียนขอความเป็นธรรมในเรื่องความปลอดภัยและกรณีที่สมาชิกในเครือข่ายฯที่ถูกลอบสังหารจนเสียชีวิตถึง 3 คนในรอบปีที่ผ่านมา[1]
 
มูลนิธิฯ มีข้อสังเกตว่าความพยายามในการตั้งกลุ่มและสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกันและกันในกลุ่มอดีตผู้ต้องขัง หรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง และผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อาจเป็นเหตุให้นายธรรมรัตน์ อาลีลาเต๊ะ เป็นที่ถูกจับตามองของหน่วยงานความมั่นคงเรื่องการเคลื่อนไหวรวมกลุ่มกัน ดังนั้น หากทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยึดมั่นในนโยบายการเมืองนำการทหารและเคารพหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและมีความจริงใจในการสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนกลุ่มที่มีความคิดเห็นต่าง การจับกุมและกักตัวตามอำนาจพรบ.กฎอัยการศึกย่อมเป็นไปด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง
 
แม้ข้อเท็จจริงที่ทางมูลนิธิฯได้รับเบื้องต้นว่า นายธรรมรัตน์จะได้รับการปฏิบัติอย่างดีไม่มีการปฎิบัติโดยไม่ชอบหรือผิดกฎหมาย การจับกุมและกักตัวนายธรรมรัตน์ตามอำนาจกฎอัยการศึกในยามวิกาลนั้นแสดงให้เห็นถึงอำนาจตามกฎหมายพิเศษที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ขาดกระบวนการการตรวจสอบถ่วงดุลจากองค์กรและหน่วยงานอื่นๆ   แม้จะมีการประสานของความร่วมมือกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงว่า หากการควบคุมตัวไม่มีข้อสงสัยว่านายธรรมรัตน์จะได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดร้ายแรงหรือกำลังจะกระทำความผิดกฎหมายในทางใดทางหนึ่ง ก็ควรปล่อยตัวและให้อิสรภาพแก่นายธรรมรัตน์   ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบกลับไม่มีคำตอบและยังคงควบคุมตัวนายธรรมรัตน์เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 19.00 ของวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555 ถึง ปัจจุบันเป็นเวลากว่า 16 ชั่วโมง โดยขาดซึ่งเหตุผลความจำเป็นที่มีสัดส่วนเพียงพอแก่การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอันการกระทำที่ตามอำเภอใจ  
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่กักตัวบุคคลตามอำนาจกฎอัยการศึกได้ชี้แจง ทำความเข้าใจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนในพื้นที่ว่า คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน การเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของตนและของกลุ่มโดยอหิงสาและไม่ใช้ความรุนแรงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกฝ่ายควรยอมรับและเคารพ ซึ่งในห้วงระยะเวลาสองเดือนที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯยังพบว่ามีกรณีของนายซาฮารี เจ๊ะหลง คนทำสื่อทางเลือกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงบังคับใช้พรบ.กฎอัยการศึก นำตัวไปซักถาม ซึ่งได้มีข้อมูลว่าการซักถามภายใต้พรบ.กฎอัยการศึกนั้นเพื่อต้องการทราบถึงการทำงานของสื่อ บทบาท แนวคิดและการทำงานของสื่อที่เน้นไปที่การนำเสนอคดีที่เจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น[2]    การจับกุมกักตัวตามอำเภอใจขาดซึ่งเหตุผลข้อเท็จจริงว่าได้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อวัตถุประสงค์อื่นอันมิได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการก่อเหตุร้ายแรงและโดยปราศจากพยานหลักฐานที่เชื่อถือได้ ย่อมสื่อให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎอัยการศึกนั้นนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกินความจำเป็น จึงเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกในการจับกุมและกักตัวบุคคล ทั้งนี้เพื่อเกิดบรรทัดฐานในการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเกินสัดส่วนความจำเป็นและโดยพลการ