ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
Deep South Watch
หลังจากที่ซุ่มทำนานหลายเดือน ดีพเซ้าท์ บุกกาซีนก็ได้ฤกษ์วางแผงในห้วงเวลาที่สถานการณ์ความรุนแรงที่ชายแดนภาคใต้ ปะทุรุนแรงขึ้นอีกคำรบ หลังจากการขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีท่าทีต่อกรณีไฟใต้ที่แตกต่างกับรัฐบาลชุดก่อนๆ แต่ถึงกระนั้น ใน ณ ขณะนี้ รูปธรรมของสิ่งที่เรียกว่า "การเมืองนำการทหาร" ยังเป็นสิ่งที่ต้องหาคำตอบกันอยู่
ดีพเซ้าท์ บุกกาซีน ฉบับนี้จึงให้ความสนใจไปยังท่าทีที่ "เปลี่ยน" ไปดังกล่าว และดูเหมือนจะตั้งคำถามอยู่ในทีว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะยังสาระใหม่และแนวทางใหม่ต่อการดับไฟใต้จริงหรือ ไม่ ในขณะที่ที่พัฒนาการของความรุนแรงในฐานะที่เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง ก็ได้ก้าวเข้าสู่ภาวะที่ต้องจับตามอง
โดยเฉพาะการแสวงหาช่องทางการสานเสวนา ที่อาจนำไปสู่การหารือเพื่อหาข้อยุติการต่อรองด้วยการใช้ความรุนแรง การพิจารณาถึงรูปแบบการปกครองเหนือพื้นที่ความขัดแย้งดังกล่าวที่มีลักษณะ ที่แตกต่างกันออกไปจากพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ หรือแม้แต่การผลักดัน - สกัดกั้นวาระของไฟใต้ในเวทีระหว่างประเทศ
แต่ดูเหมือนว่า บุกกาซีนเล่มที่ 4 ของ "คณะทำงานสนามข่าวสีแดง" อันเป็นทีมงานสื่อสารมวลชนของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มุ่งให้ความสนใจการผลักดันเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาค ใต้ มุ่งให้ความสนใจการผลักดันเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก "ภายใน" เป็นด้านหลัก
ในรายงานพิเศษ "ถามถึงความรุนแรงที่ยังรุมเร้าฯ" ที่พาไปฟังทัศนะของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กุมนโยบาย และรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายอย่างถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการริเริ่มและข้อจำกัดของพวกเขาในฐานะที่กุมอำนาจบริหาร รัฐไทย
ขณะที่ "การเมือง ทำลาย การเมือง ดุลอำนาจสุมไฟใต้" ซึ่งเป็น รายงานขนาดยาวได้ฉายภาพให้เห็นว่า แม้ท่าทีของรัฐบาลประชาธิปัตย์จะส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงหลายประการ แต่ถึงกระนั้นก็ต้องเผชิญกับด่านตรวจสกัดของกองทัพ ซึ่งเป็นฐานทางอำนาจในการขึ้นครองอำนาจบริหาร ภาวะดังกล่าวทำให้สิ่งที่ควรจะเกิดอย่างเอกภาพในทางยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ยังคง เป็นสิ่งที่ต้องลุ้นอีกนาน
ในขณะที่ผู้กุมอำนาจรัฐไทยยัง "เล่นการเมือง" กันเองนี้ การปรับตัวของขบวนการใต้ดินก็กระทำอยู่อย่างเงียบๆ ไม่โฉ่งฉ่าง หลังจากที่ถูกมาตรการหนักหนากดทับลงพื้นที่ในห้วงรัฐบาลก่อนหน้านี้ การปรับตัวดังกล่าวจะส่งผลอย่างไร เร็วๆ นี้ (หรืออาจเกิดขึ้นแล้ว) คงปรากฏให้เห็นชัดเจน แม้ว่าจะได้เปรียบในการสร้างความชอบธรรมต่อการใช้ความรุนแรงจากสำนึกของ ชาติพันธุ์มลายูและความเป็นพี่น้องมุสลิม แต่กระนั้น พลวัตรภายในสังคมมลายูเองก็น่าสนใจ เนื่องจากก็ใช่ว่าจะมีผู้ที่เห็นด้วยกับ "วิธีการต่อสู้" ของนักรบมลายูปาตานีเสมอไป
บทสัมภาษณ์พิเศษของ "สรายุทธ สกุลนาสันติศาสน์" หรือ "หมอดิง" ที่ เคยเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในสังคมชายแดนใต้เมื่อเกือบยี่สิบปีที่ แล้วในฐานะแกนนำการชุมนุมประท้วงอันยืดเยื้อที่มัสยิดกรือเซะก็ให้ภาพถึง พัฒนาการทางความคิดของขบวนการใต้ดิน โดยเฉพาะบีอาร์เอ็น โคออดิเนต ตลอดจนบทวิพากษ์ทั้งต่อรัฐไทยในประเด็นการรับมือกับความขัดแย้งและต่อ ขบวนการติดอาวุธในปัจจุบันที่แท้จริงแล้วไม่อยู่บนพื้นฐานของ "อิสลาม" ซึ่งตัวเขาเองมีประสบการณ์ในการต่อรองกับทั้งสองฝ่ายอย่างเข้มข้นเมามัน
การสู้กับ "ชาตินิยม" ด้วย "อิสลาม" จึงเป็นข้อเสนอของอดีตผู้นำมวลชนซึ่งถูกตั้งข้อหา "กบฏ" ผู้นี้ ทว่ารูปธรรมที่ก่อตัวขึ้นในสถานการณ์ร่วมสมัยคือการพยายามก่อร่างโครงการ ชุมชนศรัทธาในหลายหมู่บ้านที่ชายแดนภาคใต้เพื่อจัดการกับปัญหาอันหลากหลาย ด้านที่ชุมชนต้องเผชิญด้วยแนวคิดทางศาสนา โดยให้ความสำคัญกับ "อีหม่าม" และผู้รู้ทางศาสนาในชุมชนให้เป็นหนึ่งในแกนหลักในการพัฒนาชุมชน โดยตรวจสอบถ่วงดุลกันทั้งทางโลกและทางศาสนา
ในอีกด้านหนึ่งที่ถ่วงดุลกัน คือ ทัศนะของลุงนำ แววทองคำ ชาวบ้านในตำบลตาลีอายร์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ในคอลัมน์ "ผลึกคิด" ที่ให้มุมมองเตือนสติต่อผู้ที่อยู่ในท่ามกลางไฟความรุนแรง
แต่ถึงแม้ว่าชุมชนจะมีการปรับตัวที่จะก้าวไปข้างหน้า หรือรับมือกับสิ่งที่ต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอย่างไร เงื่อนไขความขัดแย้งเชิงโครงสร้างก็ยังดำรงอยู่ โดยที่ยังไม่มีการปรับตัวจากภาครัฐมากนัก
เรื่องเก่าซ้ำซากอย่างโครงการสร้างเขื่อนสายบุรี ที่กรมชลประทานกำลังปัดฝุ่นขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งที่สวนทางกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และดูเหมือนว่าการสร้างเงื่อนไขจากโครงการของรัฐเหล่านี้ จะยังไม่ได้รับการตระหนักว่า ส่งผลต่อสถานะความเป็นพื้นที่สีแดงอย่างไร ทั้งหมดสะท้อนอยู่ในสกู๊ปพิเศษเรื่อง "ปมร้าวแห่งทัศนะชุมชน บนเงื่อนไขซ้ำซาก จากอุทยานบูโด ถึงเขื่อนสายบุรี" ของ ธนก บังผล
นอกจากนี้ กลุ่มพลังที่ถูกเรียกร้องให้มีการทบทวนและเปลี่ยนแปลงบทบาทของตัวเองอีก กลุ่มคือกลุ่มภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรง รายงานพิเศษ "พิเคราะห์พิจารณ์ ภาคประชาสังคมชายแดนใต้" ของ เอกรินทร์ ต่วนศิริ ได้สำรวจความเห็นในการทบทวนตัวเองของคนที่ทำงานในกลุ่มภารกิจต่างๆ ทั้งด้านเยียวยา ด้านสันติวิธี และด้านสิทธิมนุษยชนและช่วยเหลือด้านกฎหมาย พร้อมทั้งชี้แนวโน้มและความเป็นไปได้ของการร่วมมือกัน
ในขณะที่แง่งามวิถีชีวิตผู้คนในพื้นที่ความแห่งความรุนแรงก็ยังคงดำเนิน อยู่อย่างต่อเนื่อง โดยที่ทั้งปรับตัวและทั้งเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับบริบทแวดล้อมที่พลวัตร ณรรธราวุธ เมืองสุข ฉายภาพใน "ธุรกิจสวนวิกฤต..ร้านทอง" ว่าแม้จะประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจรุมเร้า แต่ความนิยมสวมใส่ทองของวัฒนธรรมคนมลายูได้ทรงธุรกิจดังกล่าวนี้ไม่ให้หนักหน่วงตามไปมากนัก
นอกจากนี้ "แหวนมลายู : ตัวตนกับความหมายบนเรียวนิ้ว" ที่ สมัชชา นิลปัทม์ สะท้อนเรื่องราวและที่มาที่ไปของวัฒนธรรมการสวมใส่แหวนหัวพลอยของชาวมลายูปา ตานีบนฐานคติความเชื่อทางศาสนา ตลอดจนความเป็นไปของ "วิชาชีพ" เฉพาะด้านอันเก่าแก่ของช่างแหวนแห่งสายบุรี
ขณะที่ วิน วนาดร เขียนเรื่องสั้น "อุบาย" ที่ให้ภาพความขัดแย้งย่อยที่ดำรงอยู่ภายใต้ความขัดแย้งใหญ่เหนือพื้นที่ชายแดนภาคใต้ได้อย่างคมคาย
ในดีพเซ้าท์บุกกาซีนฉบับนี้ ยังคงตั้งใจถอดบทเรียนความขัดแย้งจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกเพื่อพินิจถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ชายแดนใต้ ตติกานต์ เดชชพงศ พยายามอธิบายผ่านรายงานของเธอใน "ศึกภายในปาเลสไตน์ ปัจจัยดับฝันสันติภาพ" โดยขยายภาพจากวิกฤตที่ฉนวนกาซาเมื่อต้นปีด้วยการพิจารณาถึงความขัดแย้งภายใน ขบวนการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ที่ส่งผลให้การต่อรองทางการเมืองต้องพลิกผันไป
เหล่านี้ ล้วนเป็นเนื้อหาที่บรรจุอยู่ในดีพเซ้าท์ บุกกาซีน เล่ม 4 ฉบับ "Change ไฟใต้" ที่ให้ภาพการต่อรองทางการเมืองในแง่มุมอันหลากหลาย ไม่เฉพาะการเมืองที่ "ทำลาย" การเมืองระหว่างกลุ่มพลังสำคัญของรัฐไทยเท่านั้น หากแต่ยังจับจ้องไปยังความเคลื่อนไหวต่อรองซึ่งกันและกันระหว่างชาวบ้านใน พื้นที่ด้วยกันเอง กลุ่มขบวนการติดอาวุธ หรือแม้แต่กลุ่มองค์กรในภาคประชาสังคม
การต่อรองกันลักษณะนี้นี่เองอาจเป็นรูปธรรมของ "การเมือง" ที่นำ "การทหาร" โดยที่ทางกองทัพอาจถูกวางตัวให้เป็นเพียงแค่ผู้เล่นคนหนึ่งที่ต้องลดละบทบาท ของการเป็น "พระเอก" ไป
หมายเหตุ : ดีพเซ้าท์ บุกกาซีน ฉบับดังกล่าวจะวางขายตามร้านหนังสือทั่วไปในปลายเดือนนี้ ในกรณีที่ต้องการติดต่อสั่งซื้อโดยตรง กรุณาแจ้งไปยัง ตู้ ปณ.160 ปณจ.สามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 อีเมล์ [email protected] หรือโทรศัพท์ 081-713 4949 หรือ 073-312 302 หรือติดต่อโดยตรงที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ อาคารบ้านพักรับรอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี