ข่าวการเจรจากับแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มปรากฏเป็นระยะในห้วง 3 เดือนที่ผ่านมา และมีความชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ทว่าในความชัดเจนนั้น แทบจะเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวหากเปรียบเทียบกับสิ่งที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากฝ่ายความมั่นคงของไทยรับรู้และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องราวๆ 1 ปี
รูปธรรมแรกอันเป็นผลจากการเจรจาที่คนไทยได้สัมผัสก็คือ การจัดชุมนุมในโครงการ "สันติจังหวัดชายแดนภาคใต้" เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2549 ที่มัสยิดกลางจังหวัดยะลา ซึ่งจัดโดยศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ที่มี พล.ท.ไวพจน์ ศรีนวล ผบ.ศรภ. (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่
อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวถูกจัดขึ้นและจบลงไม่ต่างอะไรกับคลื่นกระทบฝั่ง เพราะแทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ ตามมา และในวันงานก็ไม่ปรากฏร่างเงาของ "อดีตแนวร่วมคนสำคัญ" มาประกาศจุดยืนสร้างสันติภาพดังที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้
นี่คือความเคลื่อนไหวเดียวที่เป็นรูปธรรมจริงๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการเจรจากับกลุ่มก่อความไม่สงบ นอกเหนือไปจากการรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศ และความคิดความเห็นที่ออกมาจากทางฝั่งมาเลเซีย ซึ่งล้วนเป็นข่าวระดับพาดหัวหนังสือพิมพ์ทั้งสิ้น
ไม่แปลกหากปฏิบัติการในเรื่องลักษณะนี้จะต้องทำกันอย่างลับๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ไม่มีความชัดเจนใดๆ มากนัก แต่เมื่อ นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ถึงกับยอมออกมายืนท่ามกลางสปอตไลท์ และยอมรับจากปากของตัวเองว่า เป็นตัวกลางประสานการเจรจาระหว่างแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยจริง
มิหนำซ้ำยังมีการเปิดเผยเอกสารที่เรียกว่า Road Map to Peace in Southern Thailand : Join Peace and Development Plan for South Thailand หรือแผนสันติภาพและพัฒนาร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย อีกด้วย
คำถามก็คือ เหตุใดทางการไทยยังคงนิ่ง และไม่มีความชัดเจนใดๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าว?
ทีมข่าว "สถาบันข่าวอิศรา" ได้มีโอกาสเดินทางไปยัง "กัมปง ตก เซนิค" รีสอร์ทหรูบนเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย ฐานที่มั่นสำคัญของ นายมหาธีร์ ในวันที่หันหลังให้กับการเมือง
รีสอร์ทแห่งนี้ถูกระบุว่าเป็นสถานที่พบปะหารือหลายครั้งระหว่างแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่ม กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย โดยมี นายมหาธีร์ เป็นผู้ประสาน ในฐานะประธานมูลนิธิขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่ชื่อ Perdana Global Peace Organization หรือ พีจีพีโอ
การพบปะหารือเริ่มขึ้นครั้งแรกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2548 โดยมี นายอานันท์ ปันยารชุน สมัยที่ยังนั่งเป็นประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เป็นผู้จุดประกาย และเชื้อเชิญ นายมหาธีร์ มาเป็น "คนกลาง" ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพของอดีตผู้นำมาเลเซียผู้นี้ ซึ่งครองอำนาจรัฐยาวนานถึง 22 ปี
การพูดคุยในรูปแบบที่เรียกว่า Langkawi Peace Talk ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง และเมื่อยิ่งมากครั้ง ผู้ร่วมในวงหารือก็ยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมี พล.ท.ไวพจน์ เป็นแกนสำคัญของฝ่ายไทย
กระทั่งถึงวันแห่งความรัก วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2549 จึงได้มีการลงนามของบรรดาแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ ในเอกสารที่เรียกว่า Peace Proposal หรือรายงานข้อเสนอเพื่อสันติภาพ
เมื่อไล่เรียงรายชื่อของผู้ที่ร่วมลงนาม สลับกับการเพ่งพิศภาพเหตุการณ์ที่บันทึกเอาไว้ในแผ่นวีซีดี จะรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อย เพราะแต่ละคนล้วนเป็นระดับนำของขบวนการก่อความไม่สงบทั้งสิ้น ได้แก่ ดร.วัน กาเดร์ เจ๊ะมัน ประธานกลุ่มเบอร์ซาตู , อุสตาซมูฮัมหมัด บิน อับดุลเราะห์มาน ประธานกลุ่มจีเอ็มพี (มูจาฮีดีนปัตตานี) , นายรอซี บิน ฮัดซัน รองประธานกลุ่มพูโล และ อุสตาซอับดุลเลาะห์ บิน อิสมาแอล ประธานกลุ่มบีอาร์เอ็น คองเกรส
โดยมี ดาโต๊ะ ชาซ์ริล เอสเคย์ บิน อับดุลละห์ กงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ประจำเกาะลังกาวี คนสนิทของ นายมหาธีร์ ร่วมลงนามในฐานะ "ผู้ไกล่เกลี่ย" หรือ Mediator
อย่างไรก็ดี จากการเปิดเผยของ ดาโต๊ะ ชาซ์ริล ได้รับการยืนยันว่า การลงนามใน Peace Proposal ไม่ใช่ข้อตกลง แต่เป็นข้อเสนอการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่พวกเขาเห็นร่วมกันเท่านั้น
การประชุมพบปะในลักษณะ Peace Talk ยังคงเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ทั้งที่ลังกาวี และปุตราจายา ศูนย์กลางราชการของมาเลเซีย กระทั่งนำมาสู่การจัดทำ Peace Plan ซึ่งน่าจะหมายถึง "แผนสันติภาพและพัฒนาร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย" ในเดือนกรกฎาคม 2549 และแผนดังกล่าวนี้ถูกส่งถึงมือ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในเดือนสิงหาคม ก่อนการรัฐประหารประมาณ 1 เดือน
กระบวนการส่งแผนสันติภาพให้กับรัฐบาลไทย (ในขณะนั้น) เป็นการส่ง "ถึงมือ" พล.ต.อ.ชิดชัย จริงๆ เพราะมีการนัดพบกันที่โรงแรมหรูแห่งหนึ่งกลางกรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของ พีจีพีโอ ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย
แต่หลังจากวันนั้น ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในระดับรัฐบาล กระทั่งเกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
1 เดือนต่อมา ทีมข่าว "สถาบันข่าวอิศรา" ได้รับเชิญให้ไปร่วมสังเกตการณ์การพบปะกันระหว่าง นายมหาธีร์ กับผู้นำมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่ได้รับการเชื้อเชิญให้ไปร่วม "เปิดบวช" ในเทศกาลถือศีลอดที่ "กัมปง ตก เซนิค รีสอร์ท" บนเกาะลังกาวี ท่ามกลางกระแสโจมตีนายมหาธีร์จากหลายฝ่ายที่มองว่าอดีตผู้นำมาเลเซียกำลังแสวงหาประโยชน์ทางการเมืองบางประการจากการทำหน้าที่เป็น "คนกลาง" เจรจาสันติภาพในครั้งนี้
และทั้งหมดคือที่มาแห่งการรับรู้ขั้นตอนกระบวนการเจรจาตั้งแต่ต้นจนจบ นั่นคือการส่ง "แผนสันติภาพ" ให้กับรัฐบาลไทย
แม้จะเกิดการรัฐประหารและเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ดูเหมือน นายมหาธีร์และทีมงานจะยังไม่ละความพยายามที่จะเดินหน้าแผนสันติภาพต่อไป โดย ดาโต๊ะ ชาซ์ริล เผยว่า ได้จัดทำสรุปรายงานรวม 18 บท ตั้งแต่เริ่มกระบวนการเจรจา วิเคราะห์ปัญหา จำแนกกลุ่มขบวนการ รวมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ส่งให้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผ่านทาง พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งรับรู้การเจรจามาตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติด้วย
ทว่าจนถึงวันนี้ ท่าทีของรัฐบาลไทยก็ยังคงนิ่ง แม้แต่การเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของ พล.อ.สุรยุทธ์ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็ไม่ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นหารือ
ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ดูจะมีข้อสังเกตอยู่ 2-3 ประการที่สามารถอธิบายท่าทีของรัฐบาลไทยได้พอสมควร คือ
1. ตลอดกระบวนการเจรจาเกือบ 1 ปี ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้ลดระดับลงเลย แสดงว่าแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เข้าร่วมใน Peace Talk ไม่ใช่ "ตัวแทนที่แท้จริง" ของผู้ที่ก่อเหตุร้ายรายวันอยู่ในขณะนี้
แม้ ดาโต๊ะ ชาซ์ริล จะอ้างกับผู้สื่อข่าวว่า "ในเมื่อผมรู้จักคนพวกนี้ ก็ต้องรู้จักคนอื่นๆ ด้วย" ซึ่ง หมายความว่าเขาและทีมงานของนายมหาธีร์ รู้เส้นสนกลในของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงรายวันในปัจจุบันเป็นอย่างดี แต่ก็ยังไม่มีอะไรยืนยันนอกจากคำพูดของเขาเพียงเท่านั้น
2. รัฐบาลไทยหวั่นเกรงว่า การเปิดโต๊ะเจรจาอย่างเป็นทางการ จะเป็นการรับรองขบวนการแบ่งแยกดินแดนให้มี "ที่ยืน" บนเวทีโลก ทั้งๆ ที่หลายกลุ่มน่าจะไม่มีศักยภาพใดๆ อีกแล้ว
3. บทบาทของนายมหาธีร์กับทีมงาน ซึ่งหากรัฐบาลไทยยอมรับการเจรจาที่มีอดีตผู้นำมาเลเซียเป็น "คนกลาง" อาจตกเป็น "เครื่องมือ" ท่ามกลางปัญหาการเมืองภายในของมาเลเซียก็เป็นได้
และนี่เองที่อาจส่งผลให้การเจรจาสันติภาพ เป็นแค่เพียงสายลมที่พัดมาแล้วก็ผ่านไป ท่ามกลางไฟใต้ที่นับวันจะยิ่งคุโชน!
ปกรณ์ พึ่งเนตร
สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย