Skip to main content

ฟารีดา ขจัดมาร

 

 

 

5.การถ่วงดุลอำนาจในเอเชียอาคเนย์

         

สงครามต่อต้านการก่อการร้ายและสงครามในอิรักไม่เพียงทำให้ต้องกลับมาพิจารณาถึงการใช้อำนาจของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ทำให้เราต้องมีการประเมินถึงความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกากับภูมิภาคอื่นๆ ด้วย ไมว่าจะทั้งในเอเชียตะวันออก หรือแม้แต่ยุโรป 

 

๐ การทะยานขึ้นของจีน

 

มีผู้สังเกตการณ์หลายท่านกล่าวว่ากระบวนการของโลกได้รับการพิจารณาโดยปัจจัยภูมิภาคที่หลากหลาย ซึ่งกระทบทุกอย่างตั้งแต่การแข่งขันในเรื่องของความมั่นคงและเศรษฐกิจจนถึงความมั่นคงในภูมิภาค ตราบเท่าที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ตระหนักดีถึงตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองซึ่งถูกครอบงำโดยระบบโลกที่นำโดยสหรัฐอเมริกาและระเบียบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกซึ่งมหาอำนาจประเทศนี้ได้แสดงบทบาทสำคัญ

 

ในช่วงหลังสงครามเย็น ญี่ปุ่นได้แสดงบทบาทอันสำคัญ แต่เร็วๆ นี้กลับเป็นจีนซึ่งกำลังแสดงบทบาทสำคัญ ซึ่งจะพิจารณาคือปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง  คือ พลังงานและอาวุธ

 

          ความต้องการทางด้านพลังงานนั้นเป็นประเด็นที่มีความสำคัญของแต่ละประเทศ โลกาภิวัตน์ได้ผสมผสานชาตินิยมและนโยบายการป้องกันประเทศเข้าด้วยกัน สำหรับจีน แม้ว่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะถูกบริโภคในสัดส่วนที่น้อย แต่จีนได้กลายมาเป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันใหญ่เป็นอันดับสองของโลกเมื่อปี 2003 และเป็นผู้นำเข้าใหญ่เป็นอันดับหนึ่งเมื่อปี 2005  การบริโภคน้ำมันนั้นมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มมากขึ้นในปี 2005  น้ำมันกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ถูกส่งเข้ามายังจีนผ่านช่องแคบมะละกาในทะเลจีนใต้ (ซึ่งขยายตั้งแต่ช่องแคบไต้หวันจนถึงช่องแคบมะละกา) ประธานาธิบดีหู จิง เทา ได้แสดงเจตจำนง ผ่านคำพูดว่า ต้องการที่จะปกป้องช่องทางสำคัญ ซึ่งเป็น ภาวะที่หาทางออกไม่ได้ของจีน [1]เนื่องจากทะเลจีนใต้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติและเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ

 

          ตามรายงานของที่เสนอต่อสำนักงานป้องกันความมั่นคงแห่งสหรัฐอเมริกา (US defense security office) ระบุว่า จีนกำลังสร้างความสัมพันธ์ตลอดเส้นทางน่านน้ำจากตะวันออกกลางสู่เอเชียใต้ในเชิงที่เป็นการพยายามบอกถึงตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในปกป้องผลประโยชน์ทางด้านพลังงาน และเพื่อประโยชน์ในการสร้างความมั่นคง จีนไม่เพียงแต่มองหาศักยภาพทางด้านกองทัพเรือเพื่อควบคุมน่านน้ำ แต่ยังคงพัฒนาการวางทุนระเบิดใต้น้ำและศักยภาพทางด้านขีปนาวุธ เพื่อป้องกันการทำลายการนำเข้าทางด้านพลังงานจากภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะจากกองทัพเรือของสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีความขัดแย้งกับไต้หวันเกิดขึ้น [2]

 

          นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีมากขึ้นระหว่างประเทศในอาเซียนและจีนแสดงให้เห็นถึงการขึ้นมาของจีนในการเป็นตัวแสดงสำคัญในด้านเศรษฐกิจการค้าในภูมิภาค

 

ตารางที่หนึ่งแสดงให้เห็นถึงสัดส่วนทางการค้าของจีนที่เพิ่มมากขึ้นกับอาเซียน ซึ่งเพิ่มขึ้นมา 4 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปี 1995 ซึ่งขณะนั้นสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนการค้าลดลงประมาณ 3-4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนญี่ปุ่นก็มีสัดส่วนทางการค้าลดลงประมาณประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์จากส่วนแบ่งของสินค้านำเข้าโดยประเทศอาเซียน 

 

นอกจากนี้จากตารางที่สองแสดงตัวเลขทางสถิติขณะที่ ข้อตกลงการค้าเสรี จีน-อาเซียนนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการส่งออกระหว่างจีนและอาเซียนเป็นมูลค่ากว่า 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ  การส่งออกของอาเซียนไปสู่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นนั้นลดลงกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ  และ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ ขณะที่การส่งออกของญี่ปุ่นสู่อาเซียนนั้นร่วงลงกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงแสงสว่างที่กำลังเปลี่ยนทิศทางมาสู่จีนซึ่งเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[3]  

 

ตารางที่หนึ่ง การค้าของอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น

ที่มา: Evelyn Goh,  “Great power and Hierarchical Order in Southeast Asia  Analysis Regional Security Strategies,” International Security, Vol.32, No.3 (Winter,2007/08): p.141.

 

ตารางที่สอง แสดงให้เห็นผลลัพธ์ของการเจรจาการค้าเสรี จีน-อาเซียน

  

 

ที่มา: Evelyn Goh,  “Great power and Hierarchical Order in Southeast Asia  Analysis Regional Security Strategies,” International Security, Vol.3, No.3 (Winter,2007/08): p.142.

 

๐ อุตสาหกรรมอาวุธและบทบาทอเมริกา

 

นอกจากนี้แล้วอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศยังเป็นเครื่องแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจและในภูมิภาคอีกด้วย การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศทำให้ชาติมหาอำนาจแข่งขันกันเองในการผลิตอาวุธและยุทโธปกรณ์ต่างๆ ความจริงแล้วมหาอำนาจนั้นยังครอบงำประเทศกว่า 20 ประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมอาวุธที่ใหญ่ที่สุดของโลก ประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ที่มีการลงทุนทำอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศยังคงจำเป็นต้องนำเข้าวัสดุจากประเทศมหาอำนาจต่างๆ  แม้ว่าบางประเทศพยายามจะผลิตอาวุธขนาดเล็กเพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศ

 

อย่างไรก็ตามการผลิตอาวุธยังคงถูกผูกขาดอยู่กับประเทศมหาอำนาจอยู่ดี  ประเทศในอาเซียนต่างๆ ยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาอำนาจต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งยังคงเกี่ยวข้องกับประเทศมหาอำนาจต่างๆ ในการผลิตอุตสาหกรรมอาวุธ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมต่อเรือและสร้างเครื่องบิน

 

ในบรรดาชาติมหาอำนาจทั้งหลาย สหรัฐอเมริกายังคงเป็นแหล่งการส่งผ่านเทคโนโลยีทางการทหารที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในการทำข้อตกลงทางด้านอาวุธทั่วโลก ในปี 2004 สหรัฐอเมริกาเป็นที่หนึ่งของประเทศผู้ส่งออกอาวุธทั่วโลก ซึ่งทำรายได้เป็นมูลค่ากว่า 18 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 54.4 เปอร์เซ็นต์ต่อสัดส่วนการค้าอาวุธทั่วโลก[4]

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ฟิลิปปินส์และประเทศไทยซึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศที่เป็นพันธมิตรทางการทหารของสหรัฐอเมริกา  แต่ก็ยังมีประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาที่มีความพยายามแลกเปลี่ยนการอำนวยความสะดวกทางด้านการทหารกับความร่วมมือกองทัพเรือและกองทัพอากาศของสหรัฐอเมริกา โดยมีการฝึกอบรมทั้งในความร่วมมือในระดับพหุภาคีและทวิภาคี

 

นโยบายต่างๆ เหล่านี้ทำให้สหรัฐอเมริกายังคงดำรงศักยภาพอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นการใช้ยุทธศาสตร์ทางอ้อมอย่างหนึ่งเพื่อใช้ในการถ่วงดุลกับจีนในภูมิภาค การคงยุทธศาสตร์ทางอ้อมนี้ ถือได้ว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นได้หยิบยืมอำนาจทางการทหารของสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งในการต่อต้านภัยคุกคามทางทหารจากจีน

 

ประเทศสำคัญในภูมิภาคที่แสดงบทบาทดังกล่าวนั้นคือ สิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีความกระตือรือร้นอย่างมากในการให้สหรัฐอเมริกายังคงอยู่ในภูมิภาคนี้หลังช่วงสงครามเย็นโดยอนุญาตให้สหรัฐอเมริกาคงฐานทัพไว้และให้จอดเรือเทียบท่าและตั้งแต่เหตุการณ์ 11 กันยายนปี 2001  สิงคโปร์ก็ดำเนินยุทธศาสตร์ระยาวกับสหรัฐอเมริกาโดยให้ความร่วมมือในการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย  นอกจากการให้ความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายแล้ว สิงคโปร์ยังต้องการใช้ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาในการถ่วงดุลกับจีนอีกด้วย

 

หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001  ประเทศต่างๆ ในอาเซียนนั้นได้เพิ่มความสามารถของตนเองในการต่อต้านการก่อการร้ายเพิ่มมากขึ้น แต่จุดประสงค์ของการนำไปใช้นั้น ดังที่นักวิเคราะห์ท่านหนึ่งได้กล่าวเอาไว้ว่า ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการก่อสงครามระหว่างรัฐ ในบรรดาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ นั้นประกอบไปด้วยเครื่องบินต่อสู้  เรือรบและเรือดำน้ำ นอกจากนี้ยังมีการใช้จ่ายมากขึ้นในการซื้ออาวุธจากประเทศที่พัฒนาแล้วดังตารางที่แสดงให้เห็นถึงประเทศสิบอันดับแรกที่มีการนำเข้าอาวุธมายังประเทศที่กำลังพัฒนา โดยมีประเทศอาเซียนสองประเทศที่มีการนำเข้าอาวุธจากประเทศที่พัฒนาแล้ว[5]

 

ตารางแสดงการส่งอาวุธไปยังประเทศกำลังพัฒนาในปี 2003  : แสดงให้เห็นถึงประเทศผู้รับ 10 อันดับแรก จากทั่วโลก

 

ที่มา: Rommel C. Banlaoi,  “Globalization’s impact on defence industry in Southeast Asia” in Globalization and defence in the Asia-Pacific Arm across Asia,p.208

 

เป็นที่น่าสนใจว่าประเทศในอาเซียนนั้นกำลังสำรวจความหลากหลายของแหล่งเทคโนโลยีทางการทหารที่สำคัญส่วนอื่นๆ ของโลกจาก ประเทศมหาอำนาจอื่นๆ เช่น รัสเซียและจีน  ในช่วงสงครามเย็นอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียนั้นถูกส่งผ่านไปยังประเทศที่มีอุดมการณ์จากค่ายเดียวกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่น กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม หลังจากช่วงสงครามเย็น  รัสเซียเริ่มที่จะส่งอาวุธไปยังประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซียและประเทศไทย ในช่วงปี 2001-2004 แสดงให้เห็นว่า รัสเซียนั้นอยู่อันดับสองในบรรดาผู้ส่งออกอาวุธไปยังประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งทำมูลค่ากว่า 21.7 พันล้านเหรียญตามข้อตกลงที่ได้ทำเอาไว้[6]

 

๐ การรับมือของอินโดนีเซีย

          สำหรับประเทศอินโดนีเซียนั้น ก่อนที่จะถึงช่วงวิกฤติการณ์ที่ติมอร์ตะวันออกสหรัฐอเมริกายังคงเป็นผู้จัดส่งอาวุธที่สำคัญและยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้กับอินโดนีเซีย  หลังจากมีข้อจำกัดในการส่งอาวุธเนื่องมาจากเหตุการณ์ดังกล่าว อินโดนีเซียได้มีการต่อรองในการนำเข้าอาวุธจากรัสเซียในปี 1997  อินโดนีเซียได้สั่งเครื่องบินรบ Su-30 จำนวน 12 ลำจากรัสเซีย

 

วิกฤติเศรษฐกิจปี 1997 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ รัสเซียและอินโดนีเซียได้ฟื้นธุรกิจการทำการค้าอาวุธ ทำให้เกิดมีการเซ็นสัญญาในการส่งเครื่องบินรบ Su-27SK สองลำ เครื่องบิน Su-30MK สองลำและ เฮลิคอปเตอร์ต่อสู้ Mi-35 สองลำ ในปี 2004 อินโดนีเซียแสดงความสนใจในการซื้อเครื่องบินรบจากรัสเซียอีก 8 ลำ แต่ต้องหยุดชะงักลงเสียก่อนเนื่องจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ[7]

 

          จะเห็นได้ว่าในการกลับมาของจีนและรัสเซียทำให้สหรัฐอเมริกามีการสนับสนุนกำลังทางการทหารในภูมิภาค เพื่อก่อให้เกิดศักยภาพในการถ่วงดุลภายในภูมิภาค โดยการพยายามให้ความช่วยเหลือทางด้านการทหารโดยการฝึกอบรมการศึกษาและการค้าการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในประเทศอาเซียน 

 

สหรัฐอเมริกาได้ลงทุนมากขึ้นเพื่อป้องกันการสูญเสียอิทธิพลให้จีน  ประการที่หนึ่งคือสิ่งที่สหรัฐอเมริกาพยายามผลักดันการฟื้นฟูทางการทหารระหว่างอินโดนีเซียในปี 2005  แม้ว่าจะมีการเลื่อนความสัมพันธ์ทางการทหารกับสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี 1991 แต่สิ่งที่ทางสหรัฐอเมริกาต้องการให้อินโดนีเซียปรับปรุงสภาพของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองกำลังแห่งชาติ เป็นสิ่งที่ทางอินโดนีเซียต้องจัดการกับปัญหาภายในประเทศให้ได้

 

อย่างไรก็ตาม TNI  นั้นต้องเผชิญกับความยากลำบากกับการห้ามขนส่งอาวุธ ทำให้ไม่สามารถจัดการกับปัญหาภายในประเทศได้เนื่องจากเกิดเหตุการณ์สึนามิขึ้นในปี 2004 ซึ่งเป็นช่วงที่ความกดดันมากขึ้นต่อการห้ามส่งอาวุธ ช่วงระหว่างปี 2005 เจ้าหน้าที่รัฐของอินโดนีเซียและนักวิเคราะห์เริ่มเล็งเห็นว่าอินโดนีเซียควรจะเริ่มที่จะหันหน้าเข้ามาสู่จีน รัสเซีย หรือยุโรปตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งการผลิตอาวุธรายใหญ่รายหนึ่ง

 

ในช่วงเดือนเมษายนปี 2005 ประธานาธิบดีหู จิง เทา ได้มีข้อตกลงร่วมกันกับประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุทโธโยโน ในการขยายการให้กู้ยืมเงินเป็นจำนวนกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และกว่าอีก 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการลงทุนภาคส่วนเอกชนเพื่อทำการลงทุนในอินโดนีเซีย ซึ่งข้อตกลงทำสัญญาเหล่านี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่อาทิตย์ ก่อนหน้าที่สหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซียจะทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการให้เงินช่วยเหลือเป็นจำนวนกว่า 74 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงนั้นเองอินโดนีเซียมีความต้องการอาวุธอย่างมากซึ่งจำเป็นต้องนำเข้าจากจีนและรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาวุธที่สำคัญ  ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ปี 2005 รัฐบาลที่วอชิงตันได้ตกลงฟื้นโครงการ IMET และ FMF ที่อินโดนีเซียขึ้นอีกครั้ง ในขณะที่อินโดนีเซียต้องเผชิญหน้ากับการประท้วงประเด็นในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองกำลังแห่งชาติซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลง [8]

 

 

 

 




[1] Rommel C. Banlaoi,  “Globalization’s impact on defence industry in Southeast Asia” in Globalization and defence in the Asia-Pacific Arm across Asia,p.203.

 

[2] Ibid.,pp.81-82.

[3] Evelyn Goh,  “Great power and Hierarchical Order in Southeast Asia  Analysis Regional Security Strategies,” International Security, Vol.32, No.3 (Winter,2007/08): p.140.

[4]Rommel C. Banlaoi,  “Globalization’s impact on defence industry in Southeast Asia” in Globalization and defence in the Asia-Pacific Arm across Asia, p.210.

 

[5] Ibid.,p.207.

[6] Ibid.,p.211

[7] Ibid.