Skip to main content
อบูเอาว์ฟา[1]
 
หลังจากที่อาเจะห์ได้รับ Autonomy มาสักระยะหนึ่ง กระแสการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสันติภาพของอาเจะห์ก็เกิดขึ้นตามมามากมายทั้งจากในและนอกจังหวัดอาเจะห์ ไม่ว่าจะมาจากกลุ่มเอ็นจีโอ นักวิชาการ หรือ ประชาชนทั่วไป กล่าวได้ว่าการปรองดองในครั้งนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์พอสมควร ทั้งนี้ เนื่องมาจากข้อค้นพบที่ว่ามีเงื่อนไขหลายประการที่รัฐบาลท้องถิ่นอาเจะห์ยังไม่สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของชาวอาเจะห์ดีขึ้น อีกทั้งยังมีกระแสที่กล่าวถึงสันติภาพในครั้งนี้ว่าเป็นเพียงชัยชนะของการไม่ใช้ความรุนแรง แต่หาได้เป็นชัยชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รวมถึงของประชาชนไม่
จริงอยู่ที่ปัจจุบันการใช้ความรุนแรงในอาเจะห์ได้ยุติลง และเป็นการยุติแนวรบระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย กับ GAM แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าการใช้ความรุนแรงระหว่างคนท้องถิ่นที่เป็นคนอาเจะห์กับคนอาเจะห์ด้วยกันเองจะไม่เกิดขึ้น เพราะสันติภาพในครั้งนี้ ชาวอาเจะห์ส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นแค่สันติภาพของชนชั้นนำ หรือเป็นการปรองดองระหว่างชนชั้นนำชวากับชนชั้นนำอาเจะห์ หรืออดีตแกนนำ GAM เท่านั้นเอง หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้มีทางลงและแบ่งปันอำนาจกันแล้ว ผ่านมา 8 ปีรัฐบาลท้องถิ่นอาเจะห์กลับไม่ได้หันมาแก้ปัญหาความยากจน และปัญหาปากท้องของประชาชนอย่างจริงจังแต่อย่างใด
หากลองมองย้อนดูอดีตที่ผ่านมา หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างอาเจะห์กับอินโดนีเซียก็คือ จาการ์ต้าได้เอาทรัพยากรในอาเจะห์ไปใช้ แต่ในขณะเดียวกันชาวอาเจะห์เองไม่ได้รับการพัฒนาจากจาการ์ต้าแต่อย่างใด อาเจะห์เปรียบเสมือนจังหวัดที่ถูกลืม ถูกรัฐบาลอินโดนีเซียลืมว่าเป็นหนึ่งในบรรดาหลายๆ จังหวัดของอินโดนีเซีย ชาวอาเจะห์รู้สึกว่าบ้านของเขาถูกปล้นโดยคนชวา คนชวาดูดทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ความร่ำรวยของแผ่นดินที่เป็นของชาวอาเจะห์ไปใช้พัฒนาในเมืองหลวง แต่ไม่ได้เอาทรัพยากรเหล่านั้นมาพัฒนาอาเจะห์
อาเจะห์ถือได้ว่าเป็นจังหวัดๆ หนึ่งที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ถ้าเทียบกับบรรดา 33 จังหวัดของอินโดนีเซีย หลังจากที่อาเจะห์ได้รับ Autonomy เมื่อปี 2005 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งรวมแล้วประมาณ 8 ปี จีดีพีและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอาเจะห์นั้นถือว่าดีกว่าเดิมประมาณ 20 เท่า ถ้าเทียบกับก่อนหน้านี้ แต่ปรากฏว่าปัจจุบันอาเจะห์เป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดติดอันดับหนึ่งในสามของบรรดาจังหวัดที่ยากจนในอินโดนีเซีย ซึ่งหมายถึงว่าเศรษฐกิจที่ว่าดีกว่าเดิมนั้น ไม่ได้กระจายไปยังประชาชน แต่ไปกระจุกความร่ำรวยเฉพาะกับคนบางกลุ่ม คำถามจึงมีอยู่ว่าแล้วความร่ำรวยเหล่านี้ไปกระจุกอยู่ที่ใคร ซึ่งที่จริงแล้วประชาชนชาวอาเจะห์ทราบคำตอบในข้อนี้ดี
ความท้าทายบางประการเกี่ยวกับสันติภาพของอาเจะห์หลังจากให้มีการปกครองพิเศษ หรือ Autonomy จึงพอจะประมวลได้ดังต่อไปนี้
ประการที่หนึ่ง การทำความจริงให้ปรากฏและการยอมรับความจริงในอดีตอันแสนเจ็บปวด เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริง (Truth and reconciliation commission หรือTRC) ซึ่งตามข้อตกลงสันติภาพ (ข้อ 2.3 ดู ใน MOU ในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน) ยังไม่ได้ถูกกำหนดเป็นวาระในการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ กระทั่งเวลาได้ล่วงเลยเข้ามาเกือบ 8 ปี จะเห็นได้ว่าทางรัฐบาลท้องถิ่นที่นำโดยรัฐบาลที่มาจากพรรคอาเจะห์ หรือ Partai Aceh ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นอดีตขบวนการ GAM ไม่ได้รีบที่จะดำเนินการตั้งคณะกรรมการ TRC แต่อย่างใด จึงยังเป็นคำถามที่ยังค้างคาใจแก่ชาวอาเจะห์ว่าเรื่องที่เคยถูกกระทำความรุนแรงหรือโดนละเมิดสิทธิจากทั้งสองฝ่ายในอดีตยังไม่ได้ถูกทำให้ความจริงปรากฏและยังไม่ได้รับคำตอบว่าคนในครอบครัว ญาติพี่น้องที่ถูกฆ่าในช่วงเกิดสงครามจะดำเนินการอย่างไรเพื่อที่จะให้คนที่เป็นเหยื่อได้รับการเยียวยา และไม่เกิดการอาฆาตแค้น หรือเป็นการรักษาภาวะจิตใจที่เรียกว่า Trauma นั้นเอง
ประการที่สอง ความขัดแย้งในแนวราบยังไม่ได้ถูกแก้ไข เพราะช่วงเกิดเหตุการณ์มีชาวอาเจะห์หลายคนที่เคยไปเป็นอาสาสมัครทหารพรานให้กับรัฐบาลอินโดนีเซียและได้กระทำการรุนแรงกับประชาชนชาวอาเจะห์ เช่นได้ข่มขืน ฆ่า และทรมานชาวอาเจะห์ หลังจากที่สงครามยุติ ทหารอินโดนีเซียก็ถอนออกจากอาเจะห์ แต่อดีตทหารพรานก็ยังอยู่ในพื้นที่ ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือการที่ครอบครัวที่ถูกกระทำในช่วงสงครามได้เห็นและรับรู้ว่าทหารพรานที่ทำร้ายคนอาเจะห์เป็นชาวบ้านชาวอาเจะห์ด้วยกันเองที่รับจ้างทางการจาการ์ต้า เมื่อทหารหลักจากจาการ์ต้าได้ถอยออกไปตามข้อตกลงสันติภาพ ทำให้อดีตทหารพรานที่เป็นคนในพื้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาที่ตนได้ใช้ความรุนแรงในสมัยที่มีความขัดแย้ง ทั้งที่เคยไปอุ้ม ฆ่า และข่มขืนประชาชนหรือเคยกระทำรุนแรงกับสมาชิก GAM มาก่อน เป็นไปได้อย่างยิ่งที่อาจจะมีการล้างแค้นเป็นการส่วนตัวจากครอบครัวหรือญาติพี่น้องที่ยังฝังใจเรื่องราวในอดีต เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะปะทุขึ้นเป็นความรุนแรงขึ้นมาอีกระลอกหนึ่งอยู่ตลอดเวลา
ประการที่สาม ความแตกแยกของอดีตแกนนำของกลุ่ม GAM หลังจากมีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพ จะเห็นได้ว่ากลุ่ม GAM จะต้องสลายตัวตามข้อตกลง โดยเฉพาะต้องไม่มีการต่อสู้ในรูปแบบของการใช้กำลังทหารแบบที่ผ่านมา ทั้งนี้ การกลายพันธุ์ของพรรคที่เป็นพรรคนำในการปฏิวัติไปเป็นพรรคการเมืองที่จะต้องสู้ในระบบรัฐสภาตามกลไกรัฐธรรมนูญของประเทศอินโดนีเซีย จากพรรคที่เคยมีความเข้มแข็งในการนำประชาชนชาวอาเจะห์ในการปฏิวัติได้กลายพันธุ์ไปเป็นพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ทำให้โครงสร้างการควบคุมพลังอำนาจในการนำพรรคไม่มีความเป็นเอกภาพเฉกเช่นในอดีต เพราะผู้นำสูงสุดอย่าง Hasan Tiro ก็ได้เสียชีวิต อีกทั้งเป้าหมายร่วมของพรรคที่เคยเป็นจุดร่วมของสมาชิกฝ่ายกองกำลัง ฝ่ายการเมือง และมวลชนก็ไม่ใช่เป้าหมายที่เคยเป็นจุดร่วมเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
จากปรากฏการณดังกล่าว ทำให้สมาชิกของ GAM หลายคนที่ก่อนหน้านี้ได้รับความไว้วางใจจากพรรค ก่อนมีการลงนามใน MOU ให้ลงชิงชัยเลือกตั้งจนกระทั่งได้ครองตำแหน่งผู้ว่าการจังหวัดอาเจะห์และฝ่ายบริหาร แต่พวกเขากลับสะสมกำลังพลและอำนาจบารมีในระหว่างที่ตนเป็นผู้ว่าการจังหวัดเพื่อที่จะครองอำนาจต่อ พอสิ้นวาระการเป็นรัฐบาล ทางมติของพรรคอาเจะห์ต้องการเปลี่ยนผู้นำ ปรากฏว่าผู้นำคนเดิมอย่าง ดร.อิรวันดี กลับไม่ยอมวางมือ และพร้อมที่จะสู้กับอดีตพรรคของตนเอง โดยไปจัดตั้งพรรคใหม่มาสู้กับ Partai Aceh นั้นหมายความว่าพวกเขากลับต้องมาสู้กับ GAM ซึ่งเป็นพรรคที่เคยมอบหมายความไว้วางใจให้กับตนมาก่อน สิ่งนี้จึงเท่ากับไม่ฟังมติของพรรคนั้นเอง
จนกระทั่งล่าสุดเห็นได้ว่าผลการเลือกตั้งผู้ว่าเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2555 Zaini Abdullah อดีตเป็น "รัฐมนตรีต่างประเทศ" ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนอาเจะห์เสรี (GAM) ได้ชนะการเลือกตั้งในนามของพรรคอาเจะห์ (Partai aceh) ซึ่งดร.อิรวันดี พ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้อย่างยับเยิน และต่อมานาย Syukri alias Pangkuk อดีตผู้บังคับบัญชากองกำลังขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์(GAM) ซึ่งเป็นเลขานุการสภาบริหารจังหวัดอาเจะห์ ของอินโดนีเซีย ถูกยิงถล่มเสียชีวิตพร้อมกับเพื่อนร่วมงานผู้หญิง หลังผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและทีมบริหารชุดใหม่มาได้แค่เดือนเศษ ซึ่งเป็นการเสียชีวิตที่ยังไม่ทราบว่าถูกสังหารโดยฝ่ายใดแต่การเสียชีวิตของบุคคลสำคัญในพรรคอาเจะห์ท่านนี้ถือว่าเป็นการเสียชีวิตที่ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน
ในขณะเดียวกัน ก็เป็นที่ชัดเจนว่าประมาณ 8 ปี ที่อาเจะห์มีสิทธิในการปกครองตนเองหรือในที่นี้คือได้รับ Autonomy นั้น คุณภาพชีวิตของประชาชนอาเจะห์ไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด ปัญหาความยากจนก็ยังคงเป็นปัญหาเดิมๆ รัฐบาลไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน และชาวบ้านก็ไมได้รับการบริการสาธารณะจากรัฐบาลได้ดีเท่าที่ควรจะเป็น ซ้ำยังมีปัญหาการคอรัปชั่นตามมา และเกิดความแตกแยกในสมาชิกของอดีตแกนนำ GAM ด้วยเพราะเหตุปัจจัยที่พวกเขาได้เสพติดอำนาจและความร่ำรวยจากโอกาสในการเข้าถึงงบประมาณและการบริหารจัดการทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของอาเจะห์ อีกทั้งยุทธศาสตร์ในการรบโดยใช้ทหารพรานที่เป็นคนในพื้นที่มาสู้รบและฆ่าคนในพื้นที่ด้วยกันถือว่าเป็นกลยุทธ์อันชาญฉลาดของกองทัพอินโดนีเซียที่ได้วางกับดักความรุนแรงไว้ถึงแม้ว่าจะถูกวางไว้ด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่สิ่งนี้ก็คือกับดักที่จะทำลายสันติภาพในแนวราบที่เป็นสันติภาพที่มั่นคงถาวรของชาวอาเจะห์ต่อจากนี้ไป
จนกระทั่งล่าสุดเห็นได้ว่าผลการเลือกตั้งผู้ว่าเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2555 Zaini Abdullah อดีตเป็น "รัฐมนตรีต่างประเทศ" ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนอาเจะห์เสรี (GAM) ได้ชนะการเลือกตั้งในนามของพรรคอาเจะห์ (Partai aceh) ซึ่งดร.อิรวันดี พ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้อย่างยับเยิน และต่อมานาย Syukri alias Pangkuk อดีตผู้บังคับบัญชากองกำลังขบวนการปลดปล่อยอาเจะห์(GAM) ซึ่งเป็นเลขานุการสภาบริหารจังหวัดอาเจะห์ ของอินโดนีเซีย ถูกยิงถล่มเสียชีวิตพร้อมกับเพื่อนร่วมงานผู้หญิง หลังผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและทีมบริหารชุดใหม่มาได้แค่เดือนเศษ ซึ่งเป็นการเสียชีวิตที่ยังไม่ทราบว่าถูกสังหารโดยฝ่ายใดแต่การเสียชีวิตของบุคคลสำคัญในพรรคอาเจะห์ท่านนี้ถือว่าเป็นการเสียชีวิตที่ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ชัดเจนว่ากระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นจากการเจรจาระหว่าง 2 ฝ่ายโดยไม่ได้มีองค์ประกอบที่สามก็คือการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง ยังถือว่าขาดกระบวนการตรวจสอบอำนาจที่เข้มแข็งไว้รองรับสังคมใหม่หลังจากความขัดแย้ง สันติภาพของอาเจะห์ได้กลายเป็นบทเรียนในทางการเมืองสำคัญแก่ปาตานี ในแง่ที่ว่าสันติภาพที่ได้มาด้วยการเจรจาที่ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างอาเจะห์กับสันติภาพที่ได้มาจากการประชามติที่ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยนั้น ทิศทางแบบไหนที่จะสามารถเป็นสันติภาพที่ถาวรและยั่งยืนกว่า ทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายสำหรับทางออกของกระบวนการสันติภาพของปาตานีในปัจจุบันและอนาคตอย่างแน่นอน
 
หมายเหตุ: กรุณาอ่านย้อนหลังบทก่อนหน้านี้ที่ “บทเรียนสันติภาพจากอาเจะห์สู่ปาตานี (ตอน 1): จาก GAM สู่ Partai Aceh ภายใต้ Autonomy”


[1] ผู้ประสานงาน Youth for Peace and Development Academy