ตูแวดานียา ตูแวแมแง
สถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (YDA)
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2555 ได้มีการจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ตากใบโดย เครือข่ายองค์กรนิสิตนักศึกษา อันประกอบไปด้วย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ (สนน.จชต.) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย(สนมท.) สมาคมนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม(สนท.) เครือข่ายเยาวชนนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน(คพช.)และกลุ่มนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้(PNYS) ได้ร่วมกันจัดงานภายใต้สโลแกน "เดือนตุลา ฉันเห็นวีรชนที่ตากใบ" เนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547
โดยตอนเช้าเวลา 09.30-12.00 น.มีการเสวนา ภายใต้หัวข้อ "เมื่อประชาชนออกมา สันติภาพก็เกิดขึ้น: บทเรียนจากตากใบ และสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง" ที่ มูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย และตอนบ่ายนั้นมีการแสดงกิจกรรมด้านหน้าที่ทำการสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่อสื่อสารไปยังสังคมโลกว่า “ในตลอดระยะเวลาเป็นศตวรรษที่ผ่านมานั้นคนมือลายูปาตานีถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบจากระบบการล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยมสยามหรือรัฐไทยมาโดยตลอด เหตุการณ์ตากใบเป็นบทพิสูจน์อย่างดีว่าภายใต้กระบวนการยุติธรรมของรัฐไทยนั้น ประชาชนจะไม่มีวันได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริงแน่นอน” ซึ่งวงเสวนาได้ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ตากใบเมื่อ 8 ปีก่อนได้อย่างน่าสนใจเป็นอย่างมาก
นายตูแวดานียา ตูแวแมแง รองผู้อำนวยการสถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา อดีตแกนนำนักศึกษาชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี2550 กล่าวว่า เหตุการณ์ตากใบนั้นเป็นบทเรียนที่ทำให้เป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า ชนชั้นปกครองไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีท่าที่ต่อสิทธิเสรีภาพต่อการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนอย่างหวาดระแวงไม่เคยเปลี่ยนแปลง จนเป็นเหตุให้ประชาชนที่ตากใบถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยมอำมหิตด้วยวาทกรรมที่ชนชั้นปกครองแบบประชาธิปไตยซ่อนรูปเผด็จการกล่าวหาว่าพี่น้องตากใบเป็นโจรไม่ใช่ประชาชน
และเป็นบทพิสูจน์อย่างชัดเจนเหมือนกันอีกว่าในท่ามกลางของความเป็นประชาธิปไตยซ่อนรูปเผด็จการของชนชั้นปกครองแบบไทยๆนั้น วิถีการต่อสู้ของประชาชนในการตอบโจทย์การกำหนดชะตากรรมชองตนเองในอนาคตนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย และหลักสิทธิมนุษยชนสากล กล่าวคือ กรณีศึกษาจากเหตุการณ์ตากใบนั้นจะเห็นได้ว่า คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเจตนารมณ์ของพี่น้องตากใบนั้น เป็นการชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างสันติวิธี ไม่ใช่เป็นการก่อจลาจล ก่อสงครามกลางเมืองแต่อย่างใด
แต่ด้วยวิธีการชุมนุมที่ไม่มีความชัดเจนว่าใครคือแกนนำและไม่มีความชัดเจนในเจตจำนงของการชุมนุมที่สอดคล้องกับมาตรฐานของแนวทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่สามารถแสดงความโปร่งใสอย่างบริสุทธิ์ใจ ที่สามารถตรวจสอบได้ของสังคมสาธารณะ จึงตกเป็นเหยื่อของการใส่ร้ายป้ายสีโดยชนชั้นปกครองที่มีความเป็นประชาธิปไตยซ่อนรูปเผด็จการ กล่าวหาว่าเป็นโจรก่อการร้าย สร้างความเดือดร้อนแก่คนในสังคมส่วนใหญ่ ทำให้สังคมส่วนใหญ่ที่มีเวลาอันจำกัดในการพิจารณาถึงข้อเท็จจริงของข่าวด้านเดียวที่สื่อกระแสหลักเผยแพร่ เชื่อว่าคำกล่าวหาดังกล่าวนั้นเป็นจริง
จึงทำให้ฝ่ายชนชั้นปกครองกล้าที่จะตัดสินใจทำร้ายและฆ่าประชาชนพี่น้องตากใบในที่สุด เพราะอาศัยความเชื่อของประชาชนที่ถูกปลุกปั่น และสร้างกระแสให้เข้าใจผิดต่อพี่น้องตากใบว่าไม่ใช่ประชาชนแต่เป็นโจร เป็นการอธิบายต่อสังคมสาธารณะของชนชั้นปกครอง ที่เป็นประชาธิปไตยซ่อนรูปเผด็จการว่าเป็นความชอบธรรมแล้วที่ได้ฆ่าโจรตากใบ ไม่ใช่ฆ่าพีน้องประชาชนตากใบ
ดังนั้นบทเรียนตากใบเป็นกรณีศึกษาสำคัญที่ทุกภาคส่วนในสังคมทั่วโลก โดยเฉพาะสังคมที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยที่ไม่ซ่อนรูปเผด็จการ หลักสิทธิมนุษยชนสากลและมีความรักต่อสันติภาพอย่างลึกซึ้ง ถึงเวลาแล้วที่ต้องตระหนักถึงบทบาทของตนเองว่า จะทำอย่างไรที่จะป้องกันและสกัดกั้นไม่ไห้อำนาจเผด็จการซ่อนรูปซึ่งอยู่ข้างหลังม่านยี่ห้อประชาธิปไตยนั้น ไม่สามารถที่จะทำร้ายหรือฆ่าประชาชนแค่เพียงการใส่ร้ายป้ายสีว่าประชาชนเป็นโจร และจะทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง ในการกำหนดชะตากรรมตนเองด้วยเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนจริงๆ ซึ่งหลีกเลี่ยงจากการใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการต่อสู้ให้ได้มากที่สุด
แต่ถ้าชนชั้นปกครองสร้างอาชญากรรมต่อประชาชนอย่างโหดเหี้ยมและอำมหิตก่อน ดังเช่นเหตุการณ์ตากใบต่อไปในอนาคต สังคมโลกที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยที่มีความหมายว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ที่เคารพในหลักสิทธิมนุษยชนสากลและมีความรักต่อสันติภาพทั้งหลาย ต้องกำหนดท่าที่ออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่า เมื่อประชาชนตอบโต้กลับไปด้วยการสร้างอาชญากรรมต่อรัฐเหมือนกันนั้น ประชาชนจะมีความชอบธรรมมากน้อยแค่ไหนต่อการดำรงไว้ซึ่งการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ดินแดนปาตานีแห่งนี้
ตูแวดานียา ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แนวทางรูปธรรมที่จะนำไปสู่การกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชนปาตานีนั้น “กลไกการเมืองโลกที่เคารพในหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนสากลนั้น ต้องเข้ามามีบทบาทสร้างบรรยากาศให้ชนชั้นปกครองที่เป็นเผด็จการในคราบของประชาธิปไตย ต้องฟังเสียงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน นั่นก็คือการทำประชามติฟังเสียงประชาชนปาตานีกำหนดชะตากรรมตนเองด้วยตัวเอง เหมือนกับประชาชนชาวติมอร์ตะวันออกหรือประชาชนชาวซูดานใต้”
ซึ่งทางสหประชาชาติเองก็มีมติออกมาชัดเจนเกี่ยวกับหลักการว่าด้วย สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชน ดังจะเห็นได้ชัดจาก มติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่1514(XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ในมาตรา 1.1 ของมติที่1514 กล่าวว่า “กลุ่มชนหรือประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง และดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี”
ผลของมติที่ 1514 นี้ ทำให้การดำเนินการปลดปล่อยอาณานิคมจากการยึดครองของจักรวรรดินิยมต่างๆประสบความสำเร็จ อาณานิคมทั้งหมดต่างได้รับอิสรภาพและได้รับเอกราช จนทำให้หลักการในเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่ต่อมาสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองได้ถูกนำไปใช้ในกรณีอื่นๆด้วย เช่น การกล่าวอ้างสิทธิของชนกลุ่มน้อยต่างๆ (Minority Groups) ที่ต้องการแยกตัวเองออกเป็นรัฐอิสระ และในกรณีของหลักสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิมด้วย
ส่วน นาย วิศรุต บุญยา ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชนมองว่า การชุมนุมที่ตากใบถือว่าเป็นการชุมนุมของภาคประชาชน แน่นอนว่าถ้าเป็นประชาธิปไตยจริงๆการชุมนุมทางการเมืองของภาคประชาชนนั้นย่อมชอบธรรมเสมอและการชุมนุมเป็นแนวทางการต่อสู้ที่สันติที่สุด จะด้วยอย่างไรก็ตามถึงแม้นว่าผู้ชุมนุมจะนิ่งเงียบไม่ตอบคำถามหรือไม่ยอมสื่อสารก็ย่อมชอบธรรม และถ้ายิ่งเป็นเรื่องของการสื่อสารไม่เข้าใจแล้ว ก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะการขาดประสิทธิภาพและความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมต่อคนในพื้นที่ ของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว
ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่าชนชั้นปกครองไทยชั้นบนสุด ที่ไม่ใช่รัฐบาล มีการเรียกร้องสนับสนุนการจัดตั้งกองกำลังไว้ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่แล้ว ใครก็ตามที่เป็นรัฐบาลก็ไม่ใช่ว่าจะมีอำนาจในการจัดการกับปัญหาถึงแม้จะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม ก็ยังต้องยอมให้กับแนวทางของกองทัพอย่างชัดเจน นั่นจึงชี้ว่ามันมีอำนาจเหนืออยู่จริง เหตุการณ์ตากใบจึงสรุปไม่ได้ว่าผู้ที่เป็นนายกต้องมารับผิดชอบ และเราจะเห็นว่าเหตุการณ์ตากใบก็เป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมโค่นรัฐบาลทักษิณเช่นกัน
แน่นอนว่าปัจจุบันชนชั้นปกครองซ่อนรูปเผด็จการนั้นมีการให้เงินเยียวยาโดยให้ความหมายว่าให้ความเป็นธรรม แต่กลายเป็นเรื่องของคนทั้งประเทศต้องแบกรับเพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลที่มาจากภาษีของประชาชนทั้งประเทศ แต่กระนั้นก็ตาม นั่นก็ยังไม่ใช่ความเป็นธรรม เพราะบางทีอาจเป็นเรื่องของการช่วงชิงโอกาสทางการเมืองก็เป็นได้ และเงินจำนวน7.5ล้านก็ไม่เท่ากับค่าของชีวิตของคนๆหนึ่งได้
วิศรุต มองว่าเหตุการณ์ตากใบยังแสดงให้เห็นว่า รัฐชนชั้นปกครองขาดความชอบธรรมในการปกครอง เพราะว่าถ้าชนชั้นปกครองใดที่ขาดความชอบธรรมย่อมหวาดระแวงต่อประชาชนเสมอ และออกมาปิดกั้นการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนเสมอ หมายความว่าชนชั้นปกครองไม่กล้าที่จะให้มีพื้นที่ประชาธิปไตย เพราะจะทำให้ประชาชนออกมาต่อสู้ในแนวทางประชาธิปไตยและชัยชนะย่อมต้องเป็นของประชาชน
การที่จะพูดถึงสันติภาพหรือประชามตินั้น มันจำเป็นที่จะต้องลดอำนาจและจำนวนเจ้าหน้าที่ทหารรวมไปถึงการที่ต้องยกเลิกกฎหมายพิเศษต่างๆเสียก่อน เพราะจะทำให้มีพื้นที่ประชาธิปไตย เพราะถ้าไม่มีพื้นที่ประชาธิปไตยอย่างเสรีภาพแล้ว การออกมาของภาคประชาชนและภาคปะชาสังคมที่คิดต่างจากรัฐ จะยังคงถูกมองว่าเป็นโจรเสมอ แน่นอนว่าประชาธิปไตยเป็นอำนาจของประชาชน ประชาชนปาตานีจึงมีสิทธิกำหนดชะตากรรมของตนเองได้อยู่แล้ว มีสิทธิที่จะปกครองตนเองจะด้วยโมเดลอะไรก็ได้ แต่ก็ต้องฟังเสียงของประชาชนปาตานี และทุกภาคส่วนจะต้องสนับสนุนการต่อสู้ในแนวทางการเมือง จึงจะนำมาสู่สิทธิการกำหนดชะตากรรมของประชาชนปาตานีได้