Skip to main content
สมัชชา นิลปัทม์
 
เป็นที่ยอมรับในการฝึกหัดนักเรียนวารสารศาสตร์ทั่วโลกว่า การทำหนังสือพิมพ์ปฏิบัติเป็นด่านทดสอบที่สำคัญก่อนที่จะได้รับการประสาทปริญญาด้านวารสารศาสตร์ ‘หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ’จึงเป็นวิชาหลักที่โรงเรียนวารสารศาสตร์ทั่วโลกต่างบรรจุรายวิชานี้เป็นหนึ่งในหลักสูตร
บางมหาวิทยาลัยที่ชื่อเสียงด้านนี้ ‘หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ’เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในการสะท้อนศักยภาพของบัณฑิตได้เป็นอย่างดี เนื่องจากหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับจะสะท้อนตัวตน ผลงานและความรับผิดชอบ ตั้งแต่กระบวนการสร้างเนื้อหาก่อนพิมพ์และกิจกรรมหลังการพิมพ์ ระบบความคิดความอ่าน ทั้งยังบูรณาการแนวคิดด้านศิลปะการออกแบบและการตลาดเอาไว้ด้วยกัน หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติในหลายมหาวิทยาลัยจึงเป็นที่จับตามองของสังคมและแวดวงสื่อสารมวลชนว่าจะนำเสนอประเด็นใด บางเรื่องราวอาจข่าวชิ้นหนึ่งอาจมีความประณีตลึกซึ้งและเป็นข่าวสืบสวนสอบสวน (Investigative Report) กว่าข่าวที่ปรากฏในพื้นที่สื่อกระหลักด้วยซ้ำไป
‘หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ’ในบางมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้เป็นแค่แบบฝึกหัด แต่อาจยกระดับเป็นหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัย (ในความรู้สึกของคนอ่าน) ที่ชาวประชาคมวิชาการและชุมชนใกล้เคียงรู้สึกยอมรับ ทั้งยังมีความผูกพันในฐานะเจ้าของและจับตามองว่าจะนำเสนอประเด็นแหลมคมอะไรต่อสาธารณะ

ในแวดวงวิชาชีพการสื่อสารมวลชนจึงมีการมอบรางวัลหนังสือพิมพ์ดีเด่นและข่าวดีเด่น ที่ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ ซึ่งถือว่ารางวัลเกียรติยศหนึ่งที่นักเรียนวารสารศาสตร์ภาคภูมิใจและใฝ่ฝันอยากจะได้รับไม่ต่างจาก รางวัล ‘พูลิตเซอร์’ ที่มืออาชีพได้รับ ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นเสริมสร้างกำลังใจให้กับ ‘หน่ออ่อน’ ของนักวิชาชีพที่มีคุณภาพในอนาคต
ในยุคมัลติมีเดียดูเหมือนว่างาน‘สื่อสิ่งพิมพ์’ อาจถูกลดทอนลงไปราวกับว่าไม่มีความจำเป็นสำหรับนักเรียนวารสารศาสตร์อีกต่อไป ฟรีซอฟแวร์และระบบปฏิบัติการต่างๆ รวมถึงแอพพลิเคชั่นในระบบสื่อสังคมออนไลน์ (Social Network) สามารถเข้าถึงได้ง่ายแต่กระนั้นก็ต้องไม่ลืมว่างานหลักของนักเรียนวารสารศาสตร์คือการสร้าง “เนื้อหา” (Content) ปฏิบัติการด้านงานสิ่งพิมพ์คือหนึ่งในเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพในการเสริมสร้างทักษะที่สำคัญนั้น รวมไปถึงความละเอียดประณีต ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์นั้นมีข้อจำกัดด้านพื้นที่นำเสนอแต่ข้อจำกัดเหล่านี้เป็นพื้นฐานอันสำคัญในสร้างทักษะในการใช้ถ้อยคำและประเด็นอันกระชับของนักวิชาชีพในอนาคต ซึ่งนักวิชาชีพรุ่นก่อนๆ ต่างประจักษ์ถึงความสำคัญอันนี้
ทั้งยังเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า ทักษะที่ติดตัวมากับนักวิชาชีพด้านสื่อสิ่งพิมพ์ เมื่อขยับเข้าสู่การทำงานข้ามสื่ออื่นๆ กลับกลายเป็นจุดแข็งต่อการทำงานของพวกเขาในอนาคตทั้งสิ้น
แต่แม้จะตระหนักกันดีว่าหนังสือฝึกปฏิบัติเป็นแบบฝึกหัดและเป็นแนวทางการสร้างประสบการณ์ในกับนักวิชาชีพด้านวารสารศาสตร์ในอนาคตก็ตาม แต่ก็พบว่าแนวโน้มของการเรียนการสอนหนังสือพิมพ์ปฏิบัติกลับลดลง ซึ่งอาจจะมีผลมาจากปัญหาหลายๆ ด้านอาทิ เงินทุน หลายคณะวิชาไม่สนับสนุนการผลิตเนื่องจากภาวะราคาของกระดาษและราคาค่าพิมพ์มีต้นทุนค่อนข้างสูงในปัจจุบัน ในขณะที่จำนวนนักศึกษาด้านวารสารศาสตร์มีจำนวนน้อย ซึ่งอาจทำให้มองว่าอาจไม่ “คุ้ม” กับการลงทุนที่สูญเสียไป
ด้านความต่อเนื่องของหนังสือพิมพ์ก็มีส่วนสำคัญสำคัญเช่นกัน เนื่องจากคุณลักษณะของสื่อที่จะต้องมี “วาระ” ของการนำเสนอเนื้อหาที่แน่นอน แต่สภาพที่พบในปัจจุบันก็คือ การทำหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติเป็นรายวิชาที่ต้องลงทะเบียนในแต่ละภาคการศึกษา หนังสือที่ออกตามวาระอาจมีความถี่อยู่ที่ 2-3 ฉบับต่อภาคการศึกษา ซึ่งเมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนแล้ว ก็ทำให้หนังสือพิมพ์ต้องจบตามภาคการศึกษาไปด้วย ในหลายมหาวิทยาลัยพยายามแก้ปัญหานี้ขึ้นมาด้วยการตั้งชมรมขึ้นมาโดยเฉพาะบางมหาวิทยาลัยมีชมรมที่แข็งแกร่ง มีระบบสร้างบรรณาธิการและสมาชิกที่ต่อเนื่อง รวมถึงทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

การเกิดขึ้นและเฟื่องฟูของมัลติมีเดีย คงไม่ใช่ปัญหาที่จะเบียดขับให้หนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติสูญหายไปจากมหาวิทยาลัย ในทางกลับกันต่างก็ช่วยหนุนเสริมให้การฝึกฝนทักษะการสร้างเนื้อหาอย่างหลากหลาย ซึ่งอาจจะประยุกต์เป็น‘กองบรรณาธิการเปิด’ ให้คนในชุมชนได้ร่วมการประชุมโต๊ะข่าวซึ่งจะให้เกิดการสื่อสารภายในชุมชนและมีข้อมูลข่าวสารไหลเวียนภายในประชาคมได้ดีขึ้นอันจะส่งผลให้ประชาคมนั้นๆ มีความเข้มแข็งมากขึ้นไปด้วย การมีเทคโนโลยีที่สามารถสร้างวีดิโอ คอนเฟอร์เรนท์ที่ราคาถูกแต่ทรงประสิทธิภาพ สามารถประชุมข้ามเครือข่ายและระหว่างมหาวิทยาลัยก็สามารถที่จะขยายแนวคิดอ่านในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ออกไปได้อย่างกว้างขวางขึ้น
ปรากฏการณ์และเครื่องมือใหม่ๆ เหล่านี้ล้วนท้าทายต่อความตื่นตัวของครูบาอาจารย์ผู้ทำการสอนด้านวารสารศาสตร์ทั้งสิ้น ....
 
หมายเหตุ: ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในคอลัมน์ “ข้างกำแพง” หนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส ฉบับที่ 757 วันที่ 25-31 สิงหาคม 2555