Skip to main content

เผยแพร่ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 21 มิ.ย.2552 คอลัมน์ เจ็ดวันรอบโลก หน้า 2

Pic_14132

ท้องถนนในกรุงเตหะรานของอิหร่านเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.เต็มไปด้วยผู้คนทุกเพศทุกวัย ซึ่งสวมชุดดำและประดับร่างกายด้วยผ้าสีเขียว อันเป็นสัญลักษณ์แห่ง "คลื่นสีเขียว" (Green Wave) ซึ่งแสดงถึงการสนับสนุน แนวทางสายกลาง ทั้งยังสื่อถึงการต่อต้านผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งเพิ่งจัดขึ้นหมาดๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (12 มิ.ย.)

อาจกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งเมื่อ 12 มิ.ย. เป็นการเลือกตั้งที่นับคะแนนได้อย่างรวดเร็วที่สุดในโลก เพราะช่วงบ่ายวันถัดมา รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของอิหร่านก็ออกมาประกาศผลคะแนน พร้อมยืนยันว่า "นายมาห์มูด อาห์มาดิเนจาด" อดีตนายกเทศมนตรีกรุงเตหะราน ได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ด้วยคะแนนถล่มทลาย คิดเป็น 63 เปอร์เซ็นต์ของผู้ออกมาใช้สิทธิ์กว่า 40 ล้านคน ขณะที่ "นายมีร์ ฮอสเซน มูซาวี" คู่แข่งคนสำคัญมีคะแนนเพียง 34 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

สิ่งที่ตามมาคืออาห์มาดิเนจาดถูกกล่าวหาว่า "ทุจริตการเลือกตั้ง" ขณะที่ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีก 2 ราย ได้แก่ "นาย โมห์เซ็น เรไซ" และ "นายเมห์ดี คาร์โรบี" ผนึกกำลังกับมูซาวีเตรียมยื่นเรื่องต่อสภาผู้พิทักษ์ (Guardian Council) ตรวจสอบกระบวนการเลือกตั้ง

เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการเลือกตั้งได้รับเรื่องร้องเรียนถึง 646 คดี ว่ามีการเล่นตุกติกในคูหาเลือกตั้งหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการกีดกันหนทางหาเสียงของคู่แข่งอาห์มาดิเนจาด การพิมพ์บัตรเลือกตั้งไม่พอดีจำนวนคน  รวมถึงการนับคะแนนเสร็จเร็วจนน่าสงสัย

ปัจจัยทั้งหมดทำให้ผู้สนับสนุนมูซาวีนับพันคนออกมาเดินขบวนตามท้องถนนในกรุงเตหะรานช่วงเย็นวันที่ 13 มิ.ย. แต่ผู้ชุมนุมเกิดปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจนได้รับบาดเจ็บหลายราย สร้างความไม่พอใจอย่างหนักแก่ผู้ชุมนุม นำไปสู่การรวมตัวของประชาชนนับแสนคนเมื่อ 14-16 มิ.ย.  เพื่อแสดงพลังต่อต้านผลการเลือกตั้งซึ่งถูกมองว่าเป็นการปล้นคะแนนเสียงครั้งใหญ่ และมุ่งเป้าให้มีการจัดเลือกตั้ง ครั้งใหม่แทนข้อเรียกร้องเดิมซึ่งต้องการให้ตรวจสอบ การนับคะแนนเท่านั้น

ข้างฝ่ายอาห์มาดิเนจาดไม่สนใจการชุมนุมประท้วง ออกเดินทางไปร่วมการประชุมผู้นำโลกซึ่งจัดขึ้นที่รัสเซีย ในฐานะ "ประธานาธิบดีอิหร่าน" ด้วยความมั่นใจเกินร้อย ทิ้งให้เรื่องราวในบ้านบานปลายไปกันใหญ่  เมื่อผู้ชุมนุมถูกสมาชิกกลุ่มบาซิจ กองกำลังอาสาสมัครอิสลามซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลยิงปืนเข้าใส่ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ศพ สร้างความหวั่นใจแก่นานาประเทศ เพราะยังไม่ทันรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ รัฐบาลอาห์มาดิเนจาด 2 ก็มีส่วนทำร้ายประชาชนที่เห็นต่างแบบถึงเลือดถึงเนื้อเสียแล้ว

นอกเหนือจากการใช้กำลังปราบปรามผู้ ชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงตำรวจและกองกำลังอาสาสมัครใช้ทุกวิถีทางเพื่อสกัดกั้นมิให้ผู้คนออกมารวมตัวกันบนท้องถนน ขณะที่สื่อมวลชนต่างประเทศถูกกักบริเวณในอาคารสำนักงาน โดยมีตำรวจปิดล้อมมิให้ผู้สื่อข่าวออกไปติดตามสถานการณ์การชุมนุมภายนอก

ส่วนผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตหลายรายได้รับคำสั่งให้ปิดบริการชั่วคราว หลังผู้ชุมนุมที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างบันทึกภาพและเสียงเพื่อนำมาเผยแพร่ต่อในอินเตอร์เน็ตให้คนทั่วโลกได้รับรู้ ข้อเท็จจริง และรัฐบาลอ้างว่าเว็บไซต์จำนวนมากเสนอข้อมูลยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในประเทศจนต้องสั่งปิด

การชุมนุมประท้วงของพลังคลื่นสีเขียวถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี นับตั้งแต่ การชุมนุมเพื่อปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2522 ซึ่งชาวอิหร่านลุกฮือล้มล้างสถาบันกษัตริย์และขับไล่สมาชิกราชวงศ์ออกนอกประเทศ ก่อนสถาปนาขึ้นเป็น "สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน" อย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ ผู้ชุมนุมที่ออกมาต่อต้านอาห์มาดิเนจาดส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งมีช่องทางสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายดายกว่าคนอิหร่านยุค 30 ปีที่แล้ว ทำให้การระดมกำลังคนเป็นไปได้ง่ายขึ้น ทำให้รัฐอาจประเมินสถานการณ์การชุมนุมได้ยากขึ้น อีกทั้งเป้าหมายในการชุมนุมก็ต่างจากเมื่อ 30 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิง เพราะประชาชนในวันนี้ลุกขึ้นต่อต้าน "ตัวแทน" ของระบอบการปกครองที่เชิดชูแนวคิดชาตินิยมและอิสลามนิยมเช่นรัฐบาลอาห์มาดิเนจาด ซึ่งถูกโจมตีว่าปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งยังใช้นโยบายต่างประเทศที่แข็งกร้าว ทำให้ อิหร่านถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติ

อย่างไรก็ตาม "อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมนี" ผู้นำศาสนาและผู้นำสูงสุดของอิหร่านได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกเมื่อ 19 มิ.ย. หลังการชุมนุมประท้วงนองเลือดดำเนินไปได้ 6 วัน ซึ่งคาเมนีเรียกร้องให้ประชาชนอิหรานรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐบาลอาห์มาดิเนจาด พร้อมประกาศว่ากลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงต้องสลายตัวทันที

แต่คงต้องรอดูกันต่ออีกว่า "บารมี" ของ "ผู้นำนอกสภา" ซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของชาวอิหร่านตลอดมา จะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในวันนี้ได้หรือไม่ และตราบใดที่ยังไม่มีความกระจ่างในประเด็น "การทุจริตเลือกตั้ง" ก็เห็นท่าว่าการชุมนุมประท้วงอาจปะทุขึ้นใหม่เมื่อไหร่ก็ได้.

ตติกานต์ เดชชพงศ