NOTE: รายงานชิ้นนี้เป็นการเก็บประเด็นโดย วิทยุ มอ. ปัตตานี จากการบรรยายสาธารณะของ “ราจัท แกงกูลี่” ในหัวข้อ “ออโตโนมีและความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: บทเรียนและแนวโน้ม” (กรุณาดูกำหนดการ ที่นี่) [คลิกดูต้นฉบับของรายงาน ที่นี่]
บ่ายวันพุธที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รศ.ดร.ราจัท แกงกูรี่ นักวิชาการสาขาวิชาการเมืองและการระหว่างประเทศ สำนักวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมอร์ด็อคสหพันธรัฐออสเตรเลีย มาบรรยายทางวิชาการ หัวข้อ ออโตโนมี (Autonomy) และความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: บทเรียนและแนวโน้ม ณ หอประชุมสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมีอาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้ดำเนินรายการและแปลการบรรยายให้แก่ภาคประชาสังคม กลุ่ม องค์กรภาคประชาชน สื่อมวลชนและนักศึกษาที่เข้าร่วมรับฟัง
รศ.ดร.ราจัท นักวิชาการสาขาวิชาการเมืองและการระหว่างประเทศกล่าวว่า การเข้าใจแนวคิดเรื่องออโตโนมีจะมีความสำคัญมาก เนื่องจากหลายท่านเห็นว่าออโตโนเป็นเป้าหมายสุดท้ายของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง หรือออโตโนมีคือเครื่องมือหนึ่งเท่านั้นที่อาจจะก่อให้เกิดผลลัพธ์บางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งจำเป็นจะต้องถกเถียงกันอีก เนื่องจากหลายพื้นที่ที่เคยศึกษาพบว่า การนำออโตโนมีมาใช้ไม่ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง
ประเทศต่างๆ ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ต่างก็มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และก็ไม่มีชาติพันธุ์ใดมีอิทธิพลอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดต่อชนกลุ่มน้อย เพราะฉะนั้นด้วยสภาวการณ์เช่นนี้ จึงทำให้รัฐบาลกลางพยายามสร้างความมั่นใจในการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง นี่จึงเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มใหญ่กับชนกลุ่มน้อย เนื่องจากรัฐก็พยายามที่จะรักษาความมั่นคงทางดินแดน เนื่องจากคนมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ จึงมีความจำเป็นที่จะรวมศูนย์อำนาจการปกครอง ซึ่งรัฐมีความแข็งตัวด้านดินแดนอำนาจอธิปไตย อีกด้านหนึ่งก็มีชนกลุ่มน้อยที่พยายามพูดถึงการแบ่งแยกดินแดน ที่ตนเองเป็นชนส่วนน้อย ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาที่ไม่สามารถหาความลงตัวได้ หรือความขัดแย้งที่ไม่ชนะก็แพ้ (Zero-some Game Conflict) และช่วง 70 ปีที่ผ่านมามีความสำเร็จของชนกลุ่มน้อยที่พยายามแยกตัวเองออกจากประเทศหลัก มี 2 กรณี คือ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เนื่องจากมีความยินยอมพร้อมใจกันของทั้ง 2 ฝ่ายที่จะให้สิงคโปร์เป็นอิสระ อีกกรณีหนึ่ง คือ บังกลาเทศ ซึ่งใช้ความรุนแรงในการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งรัฐที่ใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหามีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง เช่น ปี 2009 รัฐบาลศรีลังกาใช้สรรพกำลังใจการต่อสู้กับกลุ่มพยัคทมิฬอิแลม ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการดำเนินการ เป็นต้นทุนในการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยการกระทำของรัฐบาล
หากมาพิจารณาจุดยืนของรัฐในสถานการณ์เช่นนี้ คือ การรักษาบูรณภาพแห่งดินแดน อำนาจอธิปไตย และอีกฝ่ายหนึ่งต้องการปลดปล่อยตนเอง ซึ่งเป็นชนวนที่นำไปสู่ความขัดแย้ง มีกรณีที่น้อยมากที่ความขัดแย้งนี้ก่อให้เกิดการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น รัฐคิวเบคที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสต้องการแยกตัวออกจากประเทศแคนาดา ซึ่งคนส่วนใหญ่ในประเทศใช้ภาษาอังกฤษ ความขัดแย้งนี้นำไปสู่การเจรจา และการลงประชามติ ซึ่งในที่สุดฝ่ายต้องการแยกประเทศกลางเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และกรณีเชคโกสโลวะเกีย ก็เกิดกระบวนการเจรจา ซึ่งถือว่าน้อยครั้งมากที่ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์จะถูกแก้ไขด้วยการเจรจา เพราะรัฐต้องการรักษาบูรณาแห่งดินแดนไว้ ขณะที่ชนกลุ่มน้อยก็อ้างถึงสิทธิในการปกครองในการจัดการตนเอง ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวทีของสหประชาชาติ
ประเด็นนี้พูดถึงแนวคิดในการสร้างความสมดุลระหว่างรัฐและชนกลุ่มน้อย คือ รัฐไม่ต้องการให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน เกิดเป็นประเทศใหม่ ขณะที่ชนกลุ่มน้อยก็มีอำนาจในการจัดการตนเองในระดับหนึ่ง คำว่า ออโตโนมี จึงเป็นแนวคิดที่ว่าด้วยเรื่องการยอมรับความเป็นดินแดน (Homeland) ของชนกลุ่มน้อย และมีความสามารถที่จะใช้ชีวิตของตนเองได้อย่างอิสระในระดับหนึ่ง
เมื่อเรากล่าวถึงคำว่า ออโตโนมี จะต้องมีสิ่งที่คำนึงถึง 6 ประการ ประกอบด้วย 1) การทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผ่นดินหรือ Homeland ของชนกลุ่มน้อยก่อน หากยังไม่สามารถตกลงกันได้ก็จะไม่เกิดการเจรจาในขั้นตอนต่อไป 2) การสร้างองค์กรที่จะเข้ามาดูแลพื้นที่ปกครองตนเองให้ได้ 3) การแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐที่เป็นออโตโนมี เช่น กรณีอินเดีย รัฐบาลจะดูแลด้านการทหาร ความมั่นคง นโยบายระหว่างประเทศ ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นจะดูแลด้านการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ ฯลฯ
4) การเงินและการจัดเก็บภาษีจะมีการดำเนินการอย่างไรระหว่างรัฐบาลกลางกับพื้นที่ที่เป็น ออโตโนมี เช่น การแบ่งสัดส่วนภาษีว่าจะแบ่งให้แก่รัฐบาลกลางมากน้อยเพียงใด
5) ทุกฝ่ายมองเห็นกรอบแนวคิดเรื่องออโตโนมีร่วมกันว่าเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
และ 6) เขตปกครองออโตโนมีต้องมีตัวแทนของตนเองเข้าไปนั่งในสภาระดับชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง
“รัฐต้องตระหนักว่าชนกลุ่มน้อยควรได้รับสิทธิ์ในการดูแลตนเอง กำหนดชะตาชีวิตตนเอง ขณะที่ชนกลุ่มน้อยก็ต้องเข้าใจว่ารัฐต้องรักษาเอกภาพแห่งดินแดนของประเทศไว้ ดังนั้นออโตโนมีคือการยอมรับจุดยืนของแต่ละฝ่าย แต่ในทางปฏิบัติการนำออโตโนมีมาใช้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย” รศ.ดร.ราจัท นักวิชาการสาขาวิชาการเมืองและการระหว่างประเทศกล่าวว่า
ปัญหาของการนำออโตโนมีมาใช้ คือ
1) รัฐมีการปฏิเสธหรือไม่ยอมรับชนกลุ่มน้อย เช่น ในศรีลังกามีการประกาศว่าประเทศนี้เป็นของชาวสิงหลที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น
2) ปัญหาการแบ่งแยกอำนาจว่าควรจะให้ชนกลุ่มน้อยมีอำนาจมากน้อยเพียงใด เช่น หากให้อำนาจมากเกินไปก็อาจทำให้รัฐเกิดความหวาดระแวงว่า อาจจะเข้มแข็งและขอแยกเป็นประเทศในอนาคต หรือหากให้อำนาจน้อยเกินไปก็อาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้นอีก
3) มีผู้คอยขัดขวางกระบวนการเจรจา เนื่องจากในชนกลุ่มน้อยเองก็ไม่เป็นเอกภาพ มีหลายกลุ่มหลายพวก แต่ละกลุ่มก็มีแนวทางที่แตกต่างกัน เช่น กรณีที่รัฐบาลอินเดียต้องการเจรจากับบางกลุ่มในแคชเมียร์ อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาก็ก่อความรุนแรงขัดขวางการเจรจา ในรัฐบาลศรีลัง เคยมีกระบวนการเจรจากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวทมิฬ แต่ปรากฏว่ากลุ่มพยัคทมิฬอิแลมที่ใช้แนวทางความรุนแรงอย่างเดียวในการแก้ปัญหาก็ส่งทหารเข้าไปสังหารผู้นำที่เจรจากับรัฐบาลศรีลังกา
4) รัฐบาลกับชนกลุ่มน้อยไม่ยอมเจรจากัน เพราะทั้ง 2 ฝ่ายมีแรงจูงใจที่จะก่อความรุนแรงต่อไป เช่น รัฐคิดว่าตนเองมีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และงบประมาณมากกว่า ได้เปรียบกว่า ส่วนชนกลุ่มน้อยก็คิดว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการใช้ความรุนแรงเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้มากขึ้น ซึ่งกรณีนี้จำเป็นต้องมีฝ่ายที่ 3 ที่คู่ขัดแย้งเกรงใจเข้ามาเป็นคนกลางในการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่าย เช่น กรณีบอสเนียที่คู่ขัดแย้งต่างไม่ยอมเข้าสู่เวทีการเจรจา แต่มีประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาบิล คลินตันเชิญทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจากัน ซึ่งก็ทำให้เกิดข้อตกลงสันติภาพขึ้น
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเมอร์ด็อค กล่าวว่า สิ่งที่จำเป็นต้องพูดถึงคือออโตโนมีไม่ใช่เป้าหมาย แต่คือเครื่องมือหรือทางเลือกในการพัฒนาเศรษฐกิจ การมีคุณภาพชีวิตที่ดี การมีระบบการเมืองที่เป็นธรรมาภิบาล ซึ่งเมื่อคู่ขัดแย้งเห็นว่าเป็นเครื่องมือที่ดีก็ควรนำออโตโนมีมาใช้ หลายแห่งมีการนำออโตโนมีมาใช้แต่ปรากฏว่า ประโยชน์ตกอยู่กับกลุ่มนักการเมือง บางแห่งผู้นำใช้อำนาจนิยมในการปกครอง เข้าถึงทรัพยากรของประเทศมากกว่ากลุ่มอื่น มีความร่ำรวยอย่างรวดเร็ว ประชาชนแทบไม่ได้ประโยชน์จากการนำออโตโนมีมาใช้
ทั้งนี้การจัดบรรยายดังกล่าว เป็นความร่วมมือกันของโรงเรียนวิชาการเมือง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (College of Deep South Watch) ร่วมกับสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันพระปกเกล้า และ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
ท่านสามารถติดตามฟังการบรรยายดังกล่าวได้ในรายการเปิดโลกวิจัยสู่ชุมชน ทางสถานีวิทยุ ม.อ.ปัตตานี FM 107.25 MHz ในวันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายนนี้ เวลา 11.10-12.00 น. และวันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน เวลา 13.10-14.00 น. หรือฟังออนไลน์ที่เว็บไซต์ของวิทยุ ม.อ.ปัตตานี
ข้อมูลเพิ่มเติม
1) ประวัติของรศ.ดร.ราจัท แกงกูรี่ นักวิชาการสาขาวิชาการเมืองและการระหว่างประเทศ สำนักวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมอร์ด็อคสหพันธรัฐออสเตรเลีย
หมายเหตุ
ข้อมูลดังกล่าวเป็นการถอดการบรรยายโดยการแปลของ อาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผู้สื่อข่าวมีการเรียบเรียงเพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการนำเสนอ มีการตัดทอนรายละเอียดบางส่วน โดยเฉพาะกรณีศึกษาของประเทศต่างๆ และขอบคุณภาพประกอบข่าวจากคุณดลยา สาแลแม เครือข่ายลุ่มน้ำสายบุรี
กรุณาติดตามไฟล์บันทึกเสียง เร็วๆ นี้!!!