Skip to main content
รอฮานี จือนารา
อัญชนา หีมมิหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ
 
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอำเภอสะบ้าย้อย เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2555 มีเหตุชาวบ้านจากจังหวัดยะลาถูกยิงเสียชีวิตที่บ้านพักของภรรยาในรุ่งเช้า สร้างความกังวลให้กับกลุ่มด้วยใจในฐานะผู้ให้ความช่วยเหลือประชาชนด้านมนุษยธรรมต่อผู้ต้องขังคดีความมั่นคงทั้งในเรือนจำและนอกเรือนจำในกรณีที่ได้รับการปล่อยตัว รวมทั้งครอบครัวของกลุ่มผู้ต้องสงสัยที่อาจมีหมายจับหรือหลบหนีด้วยความหวาดกลัว ความกังวลใจของเราทำให้เราลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเพื่อนำมาสู่ความชัดเจนและการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าว โดยทางกลุ่มด้วยใจตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่ทุ่งพอ สะบ้าย้อย จะเป็นการใช้ศาลเตี้ย มิใช่วิสามัญฆาตกรรมหรือป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย และอาจบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่สี่อำเภอจังหวัดสงขลาในการใช้มาตรา 21 พรบ.ความมั่นคง
 
“ทำกับคนไม่มีทางสู้ ทำเกินกว่าเหตุ” เป็นปากคำของชาวบ้านที่อยู่ริมถนนปากซอยเข้าบ้านของนายมะยูดิง สามะ ที่เพิ่งถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่หน่วยชุดทหารพรานจากจังหวัดยะลา เสียชีวิตเมื่อเวลา 06:00 น วันที่ 4 พฤศจิกายน 2555 ที่บ้านบาว หมู่ 5 ต.ทุ่งพอ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
 
​            บ้านบาว ต. ทุ่งพอ อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองอำเภอสะบ้าย้อย เมื่อขับรถเข้าไปในซอยข้างทางมีสวนยาง และมีบ้านอยู่ไม่กี่หลัง ยังไม่ถึงบ้านเป้าหมายก็เจอกลุ่มผู้หญิงกลุ่มหนึ่งนั่งคุยอยู่หน้าบ้าน เราก็บอจุดประสงค์ของการมาเยือนครั้งนี้ว่า มาเยี่ยมและถามข่าวคราวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทันใดหนึ่งหญิงวัยกลางคน ๆ หนึ่งตอบว่า คนนี้เป็นภรรยาของมะยูดิง และนี่คือแม่ยาย และเมื่อเราบอกว่าเราทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ภรรยาของมะยูดิงก็บอกทันทีว่า ดีเหมือนกันเขาจะได้บอกข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
 
​            โสราณี ลอเต๊ะ ภรรยาของมะยูดิง กำลังตั้งทองอยู่ 8 เดือนดูหน้าตายังเด็กมาก ทราบทีหลังว่าอายุแค่ 22 ปี เธอและแม่ของเธอได้ชวนพวกเราไปนั่งคุยที่บ้าน เมื่อไปถึงก็เห็นบ้านที่กำลังสร้างยังไม่เสร็จสองชั้น ชั้นบนเป็นไม้และมีสังกะสีสีเขียวกั้นเป็นผนัง และบริเวณข้างล่างเป็นปูนมีแต่ผนังกำลังรอปูพื้น
 
​            เธอเล่าว่าวันเกิดเหตุขณะที่กำลังลุกขึ้นอาบน้ำละหมาดเวลา 05.45 น. ก็เหลือบไปเห็นเจ้าหน้าที่ทหารชุดสีดำนั่งอยู่หน้าบ้านประมาณสองคันรถ ซึ่งเป็นรถดีแม็กสีบร็อนซ์ ทางหน้าต่างหน้าบ้าน ทันใดนั้นก็ได้ยิงปืนรัวขึ้นบนฟ้า ผู้เป็นสามีตกใจรีบลงจากบ้านและหนีไปทางด้านหลัง ฉันตกใจร้องไห้ตั้งใจจะวิ่งหนีตามสามีแต่มีลูกสาว อามานี วัยห้าขวบนอนอยู่ด้วยก็เลยตัดสินใจเฝ้าลูกอีกทั้งเจ้าหน้าที่กันไว้ไม่ให้ใครเข้าไป ได้ยินเสียงไล่ล่าสามี ประมาณ 5 นาทีหลังจากนั้นก็ทราบว่า สามีได้เสียชีวิตแล้ว เธอเล่าด้วยน้ำเสียงที่เข้มแข็ง
 
​            แต่เมื่อพูดถึงการกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ เธอกล่าวด้วยน้ำตาว่า สิ่งเดียวที่ต้องการความเป็นธรรมคือ ตามที่เจ้าหน้าที่และสื่อกล่าวหาว่าสามียิงใส่เจ้าหน้าที่ก่อนนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะขณะที่หนีสามีไม่ได้ถืออาวุธปืนพกสั้น ขนาด .38 ตามที่ถูกกล่าวหา ทั้งนี้ศพของสามีถูกยิงบริเวณหลังทุกนัด และจากสภาพศพพบว่าศีรษะหันไปยังทิศทางที่เขาวิ่งหนีไม่ใช่ทิศทางที่เขาจะยิงตอบโต้เมื่อเจ้าหน้าที่ที่มากับรถที่จอดอยู่หน้าบ้าน2 คันยิงนายมะยูดิง เสียชีวิตแล้วก็ได้แสดงภาพของนายมะยูดิงที่เขียนว่าค่าหัว 500,000 บาท และขับรถออกไปเลย ต่อมาจึงมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทั้งทหาร ตำรวจ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็เข้ามาและบอกว่าจะเยียวยาให้ซึ่งเธอก็ไม่เข้าใจว่าทำไมทำแบบนี้ ทำไมไม่แสดงหมายค้น หมายจับ หรือบอกว่าให้ออกมาคุยกัน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ได้ให้เธอเซ็นเอกสารทันทีในที่เกิดเหตุโดยไม่ได้ชี้แจงหรืออ่านข้อความให้เธอฟัง ทั้ง ๆ ที่เธออยู่ในภาวะตกใจ และเสียใจ
 
​            หลังจากนั้นได้สอบถามสาเหตุที่สามีของเธอถูกวิสามัญฆาตกรรมครั้งนี้ แม่ของโสราณี จึงเล่าให้ฟังว่า หลังจากเหตุการณ์ยิงถล่มรถตู้สายเบตงหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2550 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 8 รายและบาดเจ็บอีก 2 ราย ที่หมู่ 4 บ้านอุเบ็ง ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา นั้น ชาวบ้านที่บ้านอุเบ็ง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของลูกเขยนั้น เจ้าหน้าที่ได้ไปล้อมจับกลุ่มผู้ชายในหมู่บ้านประมาณ 2 คันรถ หนึ่งในนั้นก็มีพ่อของลูกเขยและลูกเขย เป็นผู้ต้องสงสัยด้วย ได้คุมถูกขังไว้ที่ค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานีเป็นเวลา 40 วัน จึงได้รับการปล่อยตัว หลังจากนั้น 5 เดือนก็จัดงานแต่งกับลูกสาว หนึ่งปีต่อมาลูกเขยก็มาอาศัยอยู่ที่บ้านไม่ได้ไปไหน อยู่แต่ในหมู่บ้าน เพราะช่วงนั้นเหตุการณ์รุนแรง เขาก็เลยกลัวที่จะกลับบ้าน และเธอได้เล่าอีกว่า
 
​            หลังจากนั้นมีเหตุการณ์ระเบิดที่กรงปินัง และเขาก็มีชื่อเป็นผู้ต้องสงสัย ซึ่งวันเกิดเหตุดิฉันสามารถเป็นพยานได้ว่า เขาอยู่ที่บ้าน แต่เขาก็ต้องอยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ดิฉันบอกว่า ให้ไปมอบตัวเสีย ในเมื่อเราไม่ได้ผิด แต่เขาไม่กล้า และถามว่า มั่นใจแค่ไหนว่า ถ้าไปมอบตัวแล้วจะรอดออกมา เธอเล่าและลำดับเหตุการณ์ให้ฟัง หลังจากนั้นเขาต้องไปเลือกเกณฑ์ทหาร และเขาก็ไม่ได้ไป จึงมีคดีหนีทหารเข้ามาเพิ่ม
 
​            ทั้งนี้เมื่อเหตุการณ์ได้สงบลงนายมะยูดิงก็กลับไปกรีดยางในเขตอำเภอยะลาและกลับบ้านเดือนละครั้ง แต่หกเดือนก่อนเกิดเหตุเขาอยู่ที่บ้านตลอด เพราะภรรยากำลังตั้งครรภ์ เพราะโดยปรกติเมื่อสามีไม่อยู่โสราณีต้องอยู่กับลูกสาวสองคนเพราะแม่ของเธอได้แต่งงานใหม่และย้ายไปอาศัยอยู่ที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เธอมีอาชีพกรีดยางรายได้วันละ 200 บาทต่อวัน
 
​            อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงซึ่งกำลังตั้งท้อง 8 เดือนและต้องสูญเสียสามีอันเป็นที่รักและเป็นเสาหลักของครอบครัว ก็นับว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง แต่เธอก็เข้มแข็ง แม่ของเธอบอกว่า โสราณีลูกสาวฉันคนนี้ต้องลำบากตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะเธอสูญเสียพ่อตั้งแต่อายุ 9 ขวบ และลูกสาวของเธอก็ต้องตกที่นั่งลำบากเหมือนเธออีก แม่เธอเล่า
 
​            ทั้งนี้จากข่าวได้ระบุว่า นายมะยูดิง มีหมายจับป.วิอาญา 2 หมายจับคือ หมายจับ ป.วิอาญาที่ จส.9/2554 ลงวันที่ 18 ม.ค.54 และหมายจับ ป.วิอาญา ที่ จส.770/51 นอกจากนั้น ยังมีหมายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 หมาย คือ หมาย พรก. ที่ 45/53 ลงวันที่ 12 พ.ค.53
 
​            อย่างไรก็ตาม แม่ของโสราณีเล่าต่อว่า ความจริงแล้วครอบครัวของมะยูดิง พ่อและพี่น้องของเขาถูกยิงมา 4 คนแล้ว และเธอได้ย้อนว่ามีใครบ้าง และเมื่อได้สืบค้นในอินเตอร์เน็ตพบว่า
 
​            คนแรกคือ พ่อของมะยูดิง คือ นายวาหะ สามะ ถูกดักยิงกลางถนนเมื่อปี 2550 ขณะที่เขากำลังจะไปส่งของให้ลูกที่ปอเนาะ ขณะนั้นนายวาหะได้เดินทางพร้อมกับหลานอายุ 2 ขวบ โชคดีที่หลานรอดมา แต่ถูกกระสุนเฉียดที่ตาทำให้ตาบอดหนึ่งข้าง
 
​            วันที่ 19 มี.ค. 2553 นายมะรูดิง เปาะแต อายุ 38 ปี ซึ่งเป็นพี่ชายคนละพ่อกับมะยูดิง ก็ถูกวิสามัญฆาตกรรมที่ ม.3 บ.กือยา ต.ละแออ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งในข่าวได้ระบุว่า เนื่องจากมีคดียิงรถยนต์ตู้โดยสารเบตง-หาดใหญ่ จนมีผู้เสียชีวิตในคราวนั้นถึง 8 ศพ และคดีวางระเบิดหลายแห่งในพื้นที่ อ.ยะหา และ อ.เมืองยะลา
 
​            ต่อมา วันที่ 12 สิงหาคม 2553 นายมะกอเซ็ง เปาะแต อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 137 บ้านอูเบง หมู่ที่ 4 ตำบลปะแต อำเภอยะหา ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำกลางยะลา กว่า 1 ปี ได้เสียชีวิตลงเนื่องจากเลือดคั่งในสมอง เพราะในการควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ได้ทำร้ายร่างกายและทรมานอย่างหนักจนสลบอยู่ในค่าย 7 วัน ต่อมาได้ถูกส่งตัวไปยังเรือนจำจังหวัดยะลา
 
​            และล่าสุด เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2555 พี่ชายของเขา นายมาหามะ เปาะแต อายุ 32 ปี ถูกปิดล้อมบ้านเลขที่ 5 ม.2 ต.บาราเฮาะ อ.เมือง ซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับในพื้นที่สภ.ปะแต ข้อหาร่วมกันก่อเหตุยิงทหารพรานในพื้นที่ พยายามจะหลบหนี จึงถูกเจ้าหน้าที่ใช้ปืนยิงขู่ แต่กระสุนปืนจำนวน 1 นัดพลาดไปถูกขา ผู้ต้องหาได้รับบาดเจ็บ จึงนำตัวส่งรักษาที่ ร.พ. ปัตตานี ก่อนอายัดตัวไว้ดำเนิน และปัจจุบันถูกขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดยะลา
 
​            อย่างไรก็ตาม ทางภรรยาของมะยูดิง และแม่ยายได้ทิ้งท้าย “ ฉันอยากจะสู้เพื่อให้คนไทยทั่วประเทศรู้ว่า สามีของฉันบริสุทธิ์ ไม่ได้มีปืนครอบครองและในวันนั้นสามีไม่ได้ยิงปืนใส่เจ้าหน้าที่ก่อนหลบนี้แต่อย่างใด และย้ำอีกว่า อันนี้ยืนยันได้ เธอกล่าวพร้อมน้ำตาคลอเบ้าพร้อมเสียงที่หนักแน่น
 
​            เมื่อสอบถามไปยังชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงถึงเสียงปืนที่ได้ยินก็ได้รับคำตอบว่าเสียงปืนนั้นเป็นเสียงปืนรัว และได้ยินเสียงปืนชนิดเดียว เขายังบอกอีกว่าปืนที่วางไว้ข้างศพเป็นปืนที่ไม่สามารถใช้งานได้ ชาวบ้านยังเล่าให้ฟังอีกว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารล้อมในบริเวณบ้านของโสรณีห่างไปประมาณ 500 เมตร นั้นแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่สามารถที่จะควบคุมตัวเขาได้โดยไม่ต้องวิสามัญฆาตกรรมหรือใช้ความรุนแรง และในการจับกุมนี้ไม่ได้แสดงหมายจับให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาทราบ
 
​            จากการสอบถามคุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่ทำงานและติดตามด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ได้ให้ความเห็นว่า ในพื้นที่ภายใต้กฎอัยการศึก การปฏิบัติการลักษณะนี้จึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ที่ผ่านมามักขาดการตรวจสอบ ถ่วงดุลการใช้อำนาจกฎอัยการศึกจากทุกภาคส่วน ในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลาได้ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้ว และได้นำพระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมาใช้แทน ดังนั้นจึงมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิอย่างร้ายแรงเพราะก่อนเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ไม่มีหมายจับหรือเอกสารใด ๆ แจ้งให้ผู้เสียชีวิตทราบทั้ง ๆ ที่มีโอกาสเพราะเจ้าหน้าที่หลายหน่วยรวมทั้งทหารในพื้นที่ได้ปิดล้อมพื้นที่และเมื่อเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการไม่ทราบสังกัดมาถึงก็ยิงทันทีผู้เสียชีวิต พบว่าบาดแผลจากอาวุธปืนทั้งหมดเป็นบาดแผลที่ยิงจากทางด้านหลัง ซึ่งคงต้องรอผลการชันสูตรพลิกศพของทางราชการก่อน. เบื้องต้นเชื่อว่าเจ้าหน้าที่มิได้ยิงด้วยเหตุป้องกันตัว เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ไม่สามารถอ้างได้ว่าการกระทำครั้งนี้เป็นการวิสามัญฆาตกรรมเพราะเหมือนเป็นการปฏิบัติการสังหารประชาชนในลักษณะศาลเตี้ย ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องต้องนำตัวผู้กระทำผิดครั้งนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และต้องมีการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยการสอบทางวินัยโดยผู้บังคับบัญชาระดับสูงด้วย ที่ต้องร่วมกันสร้างความกระจ่างให้ครอบครัวผู้เสียหายและสังคมในพื้นที่จังหวัดสงขลาว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นอีก
 
​            ครั้งนี้เธอได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นว่าเหตุการณ์นี้เป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการใช้พรบ. ความมั่นคง โดยเฉพาะมาตรา 21 เพราะพรบ.นี้ ได้ออกแบบไว้ให้ใช้ประกอบกับกฎหมายอาญาปกติ โดยเจ้าหน้าที่มีความประสงค์ที่จะใช้วิธีการที่นุ่มนวลและชักจูงให้ผู้กระทำผิดจริงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางเลือก นอกจากนี้ยังเป็นการทำลายความพยายามของเจ้าหน้าที่ชุดหนึ่งที่ต้องการใช้วิธีสันติ ดังนั้นในการขยายระยะเวลาการประกาศพื้นที่สี่อำเภอจังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่ประกาศใช้พรบ. ความมั่นคงในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 นี้ จึงขอเสนอว่าเจ้าหน้าที่ควรทบทวนการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ โดยหามาตรการไม่ให้เจ้าหน้าที่นอกพื้นที่เข้ามาปฏิบัติการที่นอกเหนืออำนาจ พรบ.ความมั่นคงและกฎหมายบ้านเมือง และเธอยังย้ำอีกว่าเจ้าหน้าที่ต้องติดตามผู้กระทำความผิดครั้งนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมมให้ได้เพื่อให้บ้านเมืองยังมีขื่อมีแปร เกิดความเป็นธรรมและนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป