Skip to main content

 

วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2555
 
แถลงการณ์
เรียกร้องให้รัฐเคารพสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
และสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวต่อผู้ปฎิเสธไม่เข้าร่วมกระบวนการตามมาตรา 21 พรบ.ความมั่นคง
 
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 10.00 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)และมีมติขยายต่ออายุ พ.ร.บ.ความมั่นคงในพื้นที่ในเขต 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา และอำเภอแม่ลาน จ.ปัตตานี ไปอีกเป็นระยะเวลา1 ปี โดยรัฐบาลมุ่งหวังว่าการใช้กฎหมายความมั่นคงประกอบกับกฎหมายอาญา ตามบทบัญญัติในมาตรา 21 ตามพรบ.ฉบับดังกล่าวมาประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางเพื่อนำไปใช้การแก้ไขปัญหาสำหรับประชาชนที่หลบหนีการจับกุมทั้งที่มีหมายจับและไม่มีหมายจับตามกฎหมาย โดยทางหน่วยงานความมั่นคงเล็งเห็นว่าการให้โอกาสกับประชาชนที่หลบหนีจากการถูกตั้งข้อสงสัย หรือหลงผิด จะเป็นการช่วยระงับเหตุการณ์การก่อความไม่สงบ สามารถควบคุมสถานการณ์และแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าวได้
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความเห็นว่าการดำเนินการตามมาตรา 21 พรบ.ความมั่นคงฯ นั้นต้องมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้   และหากผู้ต้องหารายใดปฏิเสธไม่เข้าสู่กระบวนการอบรมตามมาตรา 21 โดยจะนำพยานหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ สิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะสิทธิในการปล่อยชั่วคราวจะเป็นการให้โอกาสแก่ผู้ต้องหาในการหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้อย่างเต็มที่  โดยปัจจุบันมีบุคคลที่ปฎิเสธเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 จำนวนอย่างน้อย 5 ราย ถูกดำเนินคดีและไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวและถูกควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดีในเรือนจำกลางสงขลาและเรือนจำนาทวี
 
พรบ.ความมั่นคงฯ เป็นกฎหมายที่มีความเข้มข้นระดับรองลงมาจากพรก.ฉุกเฉินและพรบ.กฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ทุกอำเภอ (ยกเว้นอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี) แต่บทบัญญัติและระเบียบปฏิบัติที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่แตกต่างไปจากกฎหมายที่บังคับใช้ทั่วไป โดยมีมาตรการตามบทบัญญัติในมาตรา 16 ที่ระบุว่า “กระทำเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและปราบปราม ระงับ ยับยั้งและแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์”    อีกทั้งมีมาตรา 18 ที่สามารถออกข้อกำหนดต่าง ๆ ที่จำกัดสิทธิของบุคคลขั้นพื้นฐานได้ตามที่กฎหมายพิเศษให้อำนาจไว้  ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาการใช้พรบ.ความมั่นคงฯในพื้นที่จังหวัดสงขลาและระยะเวลาเกือบ 2 ปีในการใช้พรบ.ความมั่นคงในพื้นที่อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี การก่อเหตุร้ายและความรุนแรงในพื้นที่ประกาศพรบ.ความมั่นคงมีอัตราลดลงตามลำดับซึ่งอาจเป็นแนวทางที่รัฐบาลนำมาพิจารณาประกอบการยกเลิกพรก.ฉุกเฉินและพรบ.กฎอัยการศึกในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ได้ในอนาคต   ซึ่งสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ว่ามาตรการการบังคับใช้กฎหมายพิเศษที่ผ่านมาทั้งพรบ.กฎอัยการศึก และพรก.ฉุกเฉิน ที่รัฐบาลมุ่งเน้นเป็นนโยบายทางกฎหมายเพื่อนำการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีส่วนทำให้รัฐสามารถรักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าการใช้มาตรการทางกฎหมายปกติทั่วไป  
 
อย่างไรก็ตามทางมูลนิธิฯเห็นว่าเมื่อมีการประกาศใช้พรบ.ความมั่นคงฯ ต่อเป็นระยะเวลา1 ปีตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ภาครัฐหรือหน่วยงานด้านนโยบายควรจัดให้มีการอบรมความรู้ทางกฎหมาย การประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนเพื่อเข้าใจถึงสิทธิและหน้าที่ตามพรบ.ความมั่นคง   รวมถึงการจัดอบรมให้ความรู้แก่บุคคลากรทั้งด้านความมั่นคงและบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้พรบ.ความมั่นคง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติได้เข้าใจมาตรฐานการดำเนินการ รวมถึงสาระสำคัญและเจตนารมณ์ของการบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้อย่างถ้วนถี่และรับทราบแนวทางการดำเนินการร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ   อันเป็นการป้องกันมิให้มีการบังคับใช้ที่อาจจะก่อให้เกิดความสับสนแก่ประชาชนที่ถูกบังคับใช้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำบทบัญญัติในมาตรา 21 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กอรมน.ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการกอรมน.สามารถนำเสนอต่อศาลให้ยุติการดำเนินอาญาต่อผู้ต้องหาที่มอบตัวหรือที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าได้กระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ เพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาต้องเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนทั้งนี้กระบวนการอาญาดังกล่าวต้องผ่านการตรวจสอบของศาล ซึ่งปรากฏว่าที่ผ่านมามีประชาชนผ่านขั้นตอนของการอบรมตามกระบวนการตามมาตรา 21 สำเร็จเพียง 2 รายเท่านั้น
 
ทั้งนี้ ปัญหาส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความรู้ ความเข้าใจในการบังคับใช้โดยเฉพาะในขั้นตอนของการคัดเลือกและคัดกรองบุคคล รวมทั้ง การขาดความร่วมมือจากภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่ยังเห็นว่าขั้นตอนตามมาตรา 21 ยังต้องมีการปรับปรุง เพื่อป้องกันมิให้การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคารพต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ดังนี้ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีข้อเสนอดังนี้
 
1)    แนวทางขั้นตอนตามมาตรา 21 พรบ.ความมั่นคงฯ จะบังคับใช้แก่เฉพาะบุคคลที่มีพยานหลักฐานอันเชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจริง และกระทำไปโดยการหลงผิดเท่านั้น อีกทั้งผู้ต้องหาจะต้องยอมรับและยอมกลับใจยินยอมเข้าสู่ขั้นตอนตามมาตรา 21 โดยสมัครใจทุกขั้นตอน
 
2)    กระบวนการดำเนินการตามมาตรา 21 นั้นต้องมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ และหากผู้ต้องหารายใดปฏิเสธไม่เข้าสู่กระบวนการอบรมตามมาตรา 21 โดยจะนำพยานหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ สิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะสิทธิในการปล่อยชั่วคราวจะเป็นการให้โอกาสแก่ผู้ต้องหาในการหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนได้อย่างเต็มที่       
 
ทั้งนี้จะทำให้การบังคับ พรบ.ความมั่นคง เป็นแนวทางหรือทางออกให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อแนวนโยบายของรัฐและหันมาให้ความร่วมมือกันเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้