Dialogues on Discrepancies by Piyasak Ausup
Safe Place in the Future (?) Dystopia Now Utopia Never
The Jim Thompson Art Center
22 November 2012 to 3 March 2013
Safe Place in the Future (?) Dystopia Now Utopia Never
The Jim Thompson Art Center
22 November 2012 to 3 March 2013
“Cities could persist, as they have for thousands of years, only if their advantages offset the disadvantages.” Brendan O’ Flaherty City Economics (2005)
A Tale of All Cities: Contemporary Urban Insecurity
โดย รศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข
ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๏ Introduction
เมือง (city) ในความหมายโดยทั่วไปก็คือแหล่งชุมชนถาวรและมีขนาดใหญ่ และถ้าจะให้ความหมายในบริบทของพัฒนาการทางสังคมแล้ว เราอาจจะนิยามได้ว่า เมืองเป็นแหล่งชุมชนที่มีความเป็นสมัยใหม่ แต่หากมองแบบประวัติศาสตร์ยุโรป เราอาจจะตอบว่าคือ แหล่งชุมชนที่มีความเป็นเมือง (urbanization) และต้องมีโบสถ์หรือมหาวิหาร (cathedral) เป็นศูนย์กลางด้วย
เมือง (city) ในความหมายโดยทั่วไปก็คือแหล่งชุมชนถาวรและมีขนาดใหญ่ และถ้าจะให้ความหมายในบริบทของพัฒนาการทางสังคมแล้ว เราอาจจะนิยามได้ว่า เมืองเป็นแหล่งชุมชนที่มีความเป็นสมัยใหม่ แต่หากมองแบบประวัติศาสตร์ยุโรป เราอาจจะตอบว่าคือ แหล่งชุมชนที่มีความเป็นเมือง (urbanization) และต้องมีโบสถ์หรือมหาวิหาร (cathedral) เป็นศูนย์กลางด้วย
การกำเนิดของเมืองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ และอาจจะเป็นเรื่องที่ยากที่จะกล่าวว่าอะไรคือเงื่อนไขของการกำเนิดของเมืองแรกของโลก แต่ในประวัติศาสตร์นั้นถือกันว่า เมืองถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากการปฏิวัติของยุคหินใหม่ (The Neolithic Revolution) ซึ่งผลจากการปฏิวัตินี้ทำให้เกิดระบบเกษตรกรรม อันทำให้มนุษย์ที่เคยเป็นกลุ่มชนเร่ร่อนต้องเริ่มอาศัยอยู่ร่วมกัน เพราะการล่าสัตว์อย่างเดียวเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอในการเลี้ยงชีพ ผู้คนต้องเริ่มอาศัยอยู่ร่วมกันเพื่อสร้างผลผลิตด้านเกษตร ยิ่งคนมาอาศัยอยู่ร่วมกันมากเท่าใด พวกเขาก็ยิ่งสามารถขยายผลผลิตจากการเพาะปลูกได้มากเท่านั้น สภาพเช่นนี้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ของการตั้งแหล่งชุมชนที่เริ่มมีความหนาแน่นของประชากรเพื่อทำการเกษตรร่วมกัน
ดังนั้นเราอาจจะกล่าวได้ว่า การสร้างกิจกรรมของการทำการเกษตรเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มนุษย์ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในพื้นที่หนึ่งๆ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเมืองให้เกิดขึ้นในเวลาต่อมา หรือบางทีเมืองอาจจะเกิดจากความต้องการศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนสินค้า เช่น บรรดานายพรานนำของป่าและสัตว์เพื่อมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นๆ ที่พวกเขาต้องการ ซึ่งการแลกเปลี่ยนเช่นนี้ต้องการสถานที่รองรับ และสถานที่ดังกล่าวต่อมาก็พัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองที่มีผู้คนมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง
ไม่ว่าเมืองจะเกิดขึ้นในลักษณะใดก็ตาม แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่า เมืองเป็นพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น (เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ไม่มีความเป็นเมือง) และในการอาศัยอยู่ร่วมกันเช่นนี้ เมืองก่อให้เกิดอรรถประโยชน์แก่ผู้คนในหลายๆ ด้าน และหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนต้องอาศัยอยู่ด้วยกันในเมืองก็คือ เมืองเป็นพื้นที่ที่ให้ความปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดรวมถึงสิ่งที่เป็นคุณค่าของผู้อาศัย หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ เมืองถูกสร้างขึ้นด้วยเหตุผลของการป้องกันในทางทหาร (military protection) เพื่อปกป้องทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ด้านหลังของกำแพงจากการบุกรุกของพวกคนป่าหรืออนารยชนที่อยู่นอกกำแพง เมืองจึงเกิดขึ้นเพื่อปกป้องผู้อาศัย และทำให้พวกเขาเหล่านั้นปลอดภัย อันกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เมืองกำเนิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ด้านความมั่นคงในตัวเอง
๏ City and Modern Warfare
บทบาทและหน้าที่ของเมืองไม่ว่าจะเป็นในยุคโบราณ ยุคกลาง จนถึงยุคสมัยใหม่ และยุคอุตสาหกรรมไม่ได้แตกต่างกัน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีกำแพงเมือง เมืองยังทำหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ของเมือง ด้วยความหวังว่าเมืองจะช่วยทำให้เกิด “ความมั่นคง” ในด้านต่างๆ แก่ประชาชน ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะกล่าวว่า เมืองถือกำเนิดขึ้นเพื่อตอบโต้กับความไม่มั่นคงที่มนุษย์ต้องเผชิญ และกำแพงเมืองก็คือสัญลักษณ์ของการป้องกัน “ความไม่มั่นคง” ที่จะเกิดขึ้น
แต่ในโลกปัจจุบัน ความไม่มั่นคงแบบที่เมืองในอดีตเคยต้องเผชิญเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก กำแพงเมืองที่เคยป้องกันข้าศึกจากภายนอกเช่นในรูปของสงครามป้อมค่ายประชิด (siege warfare) ไม่อาจจะทำหน้าที่เช่นในแบบเดิม สงครามในยุคศตวรรษที่ 20 ที่มาพร้อมกับพัฒนาการของเทคโนโลยีทหาร เช่น อากาศยานที่สามารถโจมตีเมืองได้จากทางอากาศ หรือปืนใหญ่ที่สามารถยิงได้ในระยะไกล ล้วนทำให้ชีวิตของผู้คนในเมืองต้องเผชิญกับภัยสงครามได้โดยตรง และยิ่งมีพัฒนาการมากขึ้นจากอาวุธยิงระยะไกล เช่น ขีปนาวุธนิวเคลียร์ข้ามทวีป (Intercontinental Ballistic Missiles - ICBMs) ที่มีขีดความสามารถทำการโจมตีเป้าหมายข้ามทวีปได้ เมืองที่เคยทำหน้าที่ปกป้องชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองก็ยิ่งหมดบทบาทในด้านความมั่นคงลง และยิ่งอาวุธที่ใช้ในการโจมตีเป็นหัวรบนิวเคลียร์แล้ว การป้องกันเมืองก็ยิ่งเป็นประเด็นที่มีความเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง เมืองในสงครามร่วมสมัยกลายเป็นสิ่งที่แทบจะป้องกันตนเองไม่ได้เลย และยิ่งการโจมตีเมืองจากทางอากาศที่อาวุธเป็น “smart weapon” หรือเป็น “smart bomb” ที่มีระบบนำวิถีและสามารถเข้าสู่เป้าหมายด้วยการถูกกำหนดจากระบบกำหนดพิกัดของโลก (Global Positioning Systems - GPS) จากดาวเทียมด้วยแล้ว เมืองก็ยิ่งเปราะบาง หรือกล่าวในบริบทของสงครามปัจจุบัน เมืองเป็นเป้าหมายการโจมตีที่ยากต่อการป้องกัน แม้เมืองจะติดตั้งระบบป้องกันทางอากาศ (air defense system) แต่ก็ใช่ว่าจะสามารถป้องกันได้ทั้งหมด
บทเรียนการโจมตีเมืองในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นข้อเตือนใจอย่างดีถึงความเปราะบางของเมืองจากการโจมตีทางอากาศของข้าศึก ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่องต่อเมืองใหญ่ในอังกฤษ โดยเฉพาะต่อลอนดอนในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ “The Battle of Britain” หรือการโหมโจมตีทางอากาศอย่างหนักของกำลังรบทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรต่อเมืองหลักในยุโรป และโดยเฉพาะต่อเมืองสำคัญของเยอรมนี ไม่ว่าจะเป็น The Ruhr, Cologne, Hamburg และ Berlin และการโจมตีทางอากาศต่อเมืองของเยอรมนีที่ถือเป็นกรณีตัวอย่างของการใช้กำลังทางอากาศในการทำลายเมือง ได้แก่ การโจมตี Dresden ในเดือนกุมภาพันธ์ 1945 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 30,000 คน และเมืองทั้งหมดถูกทำลายด้วยระเบิดเพลิง
ในกรณีเมืองของญี่ปุ่นก็ไม่แตกต่างกัน กำลังรบทางอากาศของสหรัฐอเมริกาโจมตีเป้าหมายในญี่ปุ่นอย่างหนัก เช่น การทิ้งระเบิดในเดือนมีนาคม 1945 ไม่เพียงทำลายชีวิตคนญี่ปุ่น 80,000 คนเท่านั้น แต่ 1 ใน 4 ของเมืองถูกทำลายสิ้น และการโจมตีทางอากาศต่อเมืองครั้งใหญ่สุดในสงครามโลกครั้งที่ 2 คงหนีไม่พ้นกรณีของการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ต่อฮิโรชิมาและนางาซากิในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม 1945 ตามลำดับ ทั้งชีวิตของผู้คนและเมืองถูกทำลายอย่างสิ้นซากอย่างไม่เคยมีอานุภาพของอาวุธใดมีขีดความสามารถในการทำลายล้างได้เช่นนี้มาก่อน
ว่าที่จริง คำอธิบายถึงความเปราะบางของเมืองที่ดีที่สุด น่าจะได้แก่คำพูดของ Stanley Baldwin อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่กล่าวเตือนผู้คนในยุคก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้น แต่หากพิจารณาแล้ว อาจจะพบว่าคำกล่าวของเขายังเตือนใจผู้คนในโลกร่วมสมัยได้อย่างดีด้วย:
“I think it is well also for the man in the street to
realize that there is no power on earth that can
protect him from being bombed. Whatever people
may tell him, the bomber will always get through.”
(Speech in the House of Commons, 10th November 1932)
๏ City and Natural Threat
นอกจากสงครามจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการทำลายเมืองและผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองแล้ว เมืองยังถูกทำลายอย่างมากจากภัยคุกคามทางธรรมชาติ (natural threat) ดังได้กล่าวแล้วว่า ความเป็นเมืองที่พัฒนามากขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงเอาคนเป็นจำนวนมากให้มาอาศัยอยู่ร่วมกัน และยิ่งเมืองเป็นสมัยใหม่มากเท่าใด ก็จะมีความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่มากขึ้นเท่านั้น (density of population) และขณะเดียวกันก็มีการขยายพื้นที่ออกไปมากขึ้นเพื่อรองรับต่อการเพิ่มขึ้นของประชากรด้วย ซึ่งหากย้อนกลับไปในยุคก่อนศตวรรษที่ 19 แล้ว นักวิชาการด้านเมืองยอมรับว่า แบกแดดน่าจะเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของสมัยดังกล่าว เพราะมีประชากรสูงถึง 1.2 ล้านคน ในอดีตนั้นแทบจะไม่มีเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่ถึง 1 ล้านแต่อย่างใด จะมีข้อยกเว้นก็อาจจะเป็นในกรณีของโรมในยุคโบราณที่มีประชากรถึงหลักล้านคน หรืออเล็กซานเดรียก็มีประชากรใกล้เคียงกับโรม (ช่วงเวลาหนึ่งศตวรรษก่อนคริสตกาล หรือ 1 BC)
แต่ในโลกสมัยใหม่แล้ว ถือกันว่าลอนดอนในศตวรรษที่ 19 เป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในโลก คือมากกว่าหนึ่งล้านคน นอกจากนี้ผลของการปฏิวัติอุตสาหกรรม (The Industrial Revolution) ที่เกิดขึ้นในยุโรปยังทำให้เกิดการขยายตัวของเมืองในลักษณะของ “massive urbanization” อันนำไปสู่การกำเนิดของเมืองใหญ่ในยุโรป และต่อมาก็ขยายตัวไปสู่พื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลก ปรากฏการณ์ที่สืบเนื่องจากการขยายตัวของเมืองเช่นนี้ก็คือ ทำให้คนจากชนบทอพยพเข้าสู่เมืองมากขึ้น อันส่งผลให้เมืองใหญ่มีการขยายตัวของพื้นที่ และขณะเดียวกันก็มีความหนาแน่นของประชากรมากขึ้นด้วย
กรณีของสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นถึงการขยายของความเป็นเมืองอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้ว่าจากปี ค.ศ. 1900-1990 อัตราของการขยายตัวของความเป็นเมืองเพิ่มจาก 40% เป็น 80% และปรากฏการณ์ของความเป็นเมืองเช่นนี้ใช่ว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศในยุโรปและอเมริกาเท่านั้น แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การขยายตัวของความเป็นเมืองตลอดรวมถึงการเกิดของบรรดาเมืองใหญ่นั้น เกิดขึ้นทั้งในเอเชีย ละตินอเมริกา และในแอฟริกาด้วยเช่นกัน
ความเป็นเมืองสมัยใหม่มีองค์ประกอบพื้นฐานได้แก่ สิ่งปลูกสร้างในลักษณะที่อยู่อาศัย (housing) ระบบขนส่ง ระบบกำจัดขยะและของเสียต่างๆ (sanitation) และสิ่งสำคัญอีกส่วนได้แก่ ระบบเศรษฐกิจและสังคมในตัวเมือง ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เมืองมีกิจกรรม และทำให้เมืองมีชีวิตชีวา หรือในยุคปัจจุบันเมืองถูกมองว่าเป็น “โครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญยิ่ง” (critical infrastructure)
สิ่งเหล่านี้ในด้านหนึ่งมีความเปราะบางอย่างยิ่งกับการถูกทำลายจากสงครามดังที่กล่าวแล้วในข้างต้น แต่เมืองก็เปราะบางอย่างมากจากการถูกโจมตีด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติ (natural disaster) การกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า ชุมชนในชนบทไม่ต้องกังวลกับปัญหาของภัยคุกคามทางธรรมชาติ หากแต่ความเป็นเมืองที่มีสิ่งปลูกสร้างในรูปแบบต่างๆ พร้อมกับมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นนั้น เมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติแล้ว ย่อมจะเกิดความเสียหายมากกว่าโดยเปรียบเทียบกับภัยทางธรรมชาติที่เกิดกับชุมชนในชนบท
ภัยคุกคามทางธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับเมือง 7 ประการ ได้แก่
1) แผ่นดินไหว (earthquakes)
2) พายุลมแรง (windstorms)
3) น้ำท่วม (floods)
4) สึนามิ (tsunamis)
5) ภูเขาไฟระเบิด (volcanoes)
6) ดินถล่ม (landslides)
7) ความผิดปกติของอุณหภูมิ (extreme temperatures)
จากภัยคุกคามดังกล่าวในข้างต้น แผ่นดินไหวเป็นปัญหาที่ก่อความเสียหายกับเมืองมากที่สุด นอกจากนี้น้ำท่วมและพายุก็เป็นสิ่งที่ก่อความเสียหายกับหลายๆ เมืองไม่แตกต่างจากแผ่นดินไหว ดังจะเห็นจากตัวอย่างของเหตุภัยพิบัติที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับเมืองและชีวิตของผู้คนอย่างรุนแรง เช่น
- แผ่นดินไหวที่มณฑล Shanxi และ Henan ในจีนในปี 1556 มีประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากถึง 830,000 คน และทำลายเมืองในพื้นที่ดังกล่าวหลายเมือง
- แผ่นดินไหวที่เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ในปี 1755 มีประชาชนเสียชีวิต 300,000 คน
- แผ่นดินไหวที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในปี 1923 หรือที่รู้จักในชื่อของ “The Great Kanto Earthquake” ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 140,000 คน
- แผ่นดินไหวที่ Tang-shan ในจีนในปี 1976 มีผู้เสียชีวิต 242,000 คน
- แม่น้ำ Huang Ho ในจีนมีน้ำท่วมใหญ่ในปี 1887 มีผู้เสียชีวิต 900,000 คน และท่วมอีกครั้งในปี 1938 และ 1939 มีผู้เสียชีวิตครั้งละกว่า 500,000 คน
- พายุไซโคลนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากกับบังคลาเทศในปี 1970 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 300,000 คน
- พายุสึนามิ (Tsunami) ในปี 2004 ก่อให้เกิดความเสียหายกับเมืองของหลายๆ ประเทศที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 235,000 คน
สิ่งที่กล่าวในข้างต้นจะเห็นได้ว่า ภัยสงครามและภัยพิบัติทางธรรมชาติล้วนเป็นปัจจัยของความไม่มั่นคงของเมือง (The Insecurity of the City) ไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ ทั้งภัยคุกคามจากสงครามและจากธรรมชาติล้วนสามารถทำลายเมืองและชีวิตของผู้คนที่อยู่ในเมืองได้อย่างรวดเร็ว จนบางทีอาจจะต้องยอมรับว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติในการทำลายเมืองไม่ได้น่ากลัวน้อยกว่าภัยพิบัติจากสงครามแต่อย่างใด
แต่ถึงกระนั้นผู้คนก็ยังต้องการอาศัยอยู่ในเมือง อาจจะเป็นเพราะเมืองเป็นศูนย์กลางทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และที่สำคัญเมืองเป็นศูนย์กลางของอำนาจทางการเมือง และที่สำคัญที่สุดเมืองคือสถานที่ที่รวมศูนย์กิจกรรมของมนุษย์ ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผู้คนก็ยังต้องการที่จะอาศัยอยู่ในเมืองต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความไม่มั่นคงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และอย่างน้อยก็เชื่อว่า เมืองยังทำหน้าที่ในการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขาได้
๏ City and Contemporary Violence
ในอีกด้านหนึ่งของความไม่มั่นคงของเมืองเห็นได้จากเหตุความรุนแรงในวันที่ 11 กันยายน 2001 ซึ่งเมืองตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีด้วยการก่อการร้าย ว่าที่จริง การที่เมืองเป็นเป้าหมายของการก่อการร้ายนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะการก่อการร้ายสมัยใหม่ (modern terrorism) ล้วนเกิดขึ้นในพื้นที่ของเมืองเป็นสำคัญ แต่ปรากฏการณ์ที่เราเห็นชัดเจนขึ้นจากกรณี 9/11 ก็คือ เมืองซึ่งมีความเป็น “soft target” นั้น ป้องกันตนเองจากการโจมตีของ “ผู้ก่อการร้ายมืออาชีพ” (professional terrorists) ได้ยาก
นายกเทศมนตรีแห่งเมืองบัลติมอร์ คือ Mayor Martin O’Malley, City of Baltimore, Maryland ได้กล่าวถึงเมืองของสหรัฐอเมริกาในสถานการณ์ปัจจุบันไว้อย่างน่าสนใจว่า “On 9/11 it became clear that America’s cities were the second front in a new kind of war” นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงนักรบในสนามรบใหม่ของเมืองจากประสบการณ์ของเหตุการณ์ที่นิวยอร์กว่า “The 9/11 proved that local law enforcement, firefighter, and emergency medical technicians are the new soldiers in this new war on the home front.”
นอกจากตัวแบบของการโจมตีนิวยอร์กและวอชิงตันในปี 2001 แล้ว เรายังเห็นอีกหลายเหตุการณ์ไม่ว่าจะเป็นกรณีการระเบิดไนท์คลับที่บาหลี (The Bali Bombing) ในปี 2002 หรือการระเบิดที่สถานีรถไฟที่มาดริด (The Madrid Bombing) ในปี 2004 หรือการระเบิดที่สถานีรถไฟใต้ดินในลอนดอน (The London Bombing) ในปี 2007 เป็นต้น ปรากฏการณ์เช่นนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ฝ่ายรัฐไม่ใช่ผู้ที่สามารถควบคุมทุกเป้าหมายในเมืองได้ เพราะเป้าหมายเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบใหญ่ เช่นระบบการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นสถานีรถขนส่ง สถานีรถไฟ หรือท่าเรือ ตลอดรวมถึงท่าอากาศยาน เป็นต้น และปัญหาสำคัญของการป้องกันเมือง (urban protection) ก็คือ เป้าหมายเหล่านี้ล้วนเป็น “soft-target” และยากที่จะทำให้เป็น “hard-target” ดังประสบการณ์ของการบริหารเมืองของนายกเทศมนตรี O’Malley ของเมืองบัลติมอร์ ทำให้เขาสรุปประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า “Some (urban) targets are inherently difficult to harden.”
ดังนั้นภารกิจของผู้บริหารเมืองและโดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ ในสถานการณ์ปัจจุบันก็คือ จะป้องกันการโจมตีต่อเป้าหมายในเมืองของตนอย่างไร เพราะในแต่ละเมืองใหญ่ เรามักจะพบว่าเป้าหมายเหล่านี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก และยากต่อการป้องกัน ฉะนั้นการจะทำให้เมืองเป็น hard target จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในโลกของความรุนแรงร่วมสมัยดังคำกล่าวในข้างต้น
ความไม่มั่นคงของเมืองในอีกมุมหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของอาชญากรรม ซึ่งอาชญากรรมในโลกร่วมสมัยมีลักษณะเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ (transnational organized crime) ซึ่งทำให้ตำรวจในฐานะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของเมืองต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก จนนักความมั่นคงร่วมสมัยถือว่าประเด็นนี้เป็นปัญหาภัยคุกคามของโลกปัจจุบัน หรืออาจเรียกเรื่องนี้ว่าเป็น “ภัยคุกคามของอาชญากรรมต่อความมั่นคง” (Criminal Threat to Security) ซึ่งเกิดขึ้นอย่างในเมืองใหญ่ทั่วโลก
ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้ Ronald Noble ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น Secretary General of Interpol ออกมากล่าวเตือนถึงปัญหานี้ว่า “No one country can effectively fight transnational organized crime within or outside its border.” (2003) ดังนั้นการต่อสู้เพื่อให้เมืองเกิดความมั่นคงจากปัญหาอาชญากรรมจึงต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้น
แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คือผลสืบเนื่องจากปัญหาในข้างต้นทำให้เกิดข้อกังวลว่า การจะทำให้เมืองมีความแข็งแรงในการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายและกับอาชญากรนั้น จะต้องไม่ทำให้เกิดกระบวนการสร้าง “ความกลัว” และขณะเดียวกันก็จะต้องไม่นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “a paranoid securitizing reflex” ที่ต้องการทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองปลอดภัย จนในที่สุดการกระทำดังกล่าวอาจจะกลายเป็นผลกระทบต่อความเป็นประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพ (civil rights) ของประชาชนโดยทั่วไป หรือทำให้ในที่สุดแล้ว แนวทางในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรมกลายเป็น “a war on everything” และลดทอนความเป็นนิติรัฐ (rule of law) ในสังคมเสียเอง
ดังนั้นสิ่งที่จะต้องระมัดระวังก็คือ การสร้างเมืองให้แข็งแรงเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรมจะต้องไม่นำไปสู่การสร้างให้เกิด “ความรู้สึกที่ไม่มั่นคง” (feelings of insecurity) และเราอาจจะพบว่า ความรู้สึกไม่มั่นคงเช่นนี้ได้กลายเป็นภัยคุกคามในตัวเองมากเสียยิ่งกว่าการกระทำของฝ่ายตรงข้ามเสียอีก !
๏ A City of Dreadful Delight !
คงต้องยอมรับเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมืองสมัยใหม่มีความไม่มั่นคงในหลายๆ ด้าน เมืองมีพัฒนาการมากขึ้นเท่าใด ปัญหาความไม่มั่นคงของเมืองก็มีความหลากหลายมากขึ้นเท่านั้น นักวิชาการด้านเมืองศึกษา (Urban Studies) อย่าง David M. Wood กล่าวถึงประเด็นเช่นนี้ว่า “Both new forms of insecurity and new forms of urbanism were emerging” (2010)
นอกจากนี้พัฒนาการของเมืองในโลกปัจจุบันเป็นสิ่งที่ยังเกี่ยวโยงกับพัฒนาการของระบบทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ อันทำให้เมืองมีความซับซ้อนมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างของความเป็นเมืองใหญ่หลายๆ แห่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก กล่าวคือ เมืองขยายตัวอย่างรวดเร็วไปสู่พื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น เป็นพื้นที่ที่อาจถูกน้ำท่วมได้ง่าย หรืออาจประสบปัญหาดินถล่มได้ เป็นต้น การขยายเมืองอย่างรวดเร็วทำให้การก่อสร้างต่างๆ เป็นไปอย่างไร้การควบคุม และสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นโดยไม่ได้มาตรฐาน และเมื่อต้องเผชิญกับความรุนแรงไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติ หรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ก็จะไม่สามารถต้านทานได้
สำหรับความเปราะบางของเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการก่อการร้ายขนาดใหญ่อย่างกรณี 9/11 นั้น ทำให้เมืองซึ่งมีฐานะในการป้องกันการโจมตีของข้าศึกถูกตั้งคำถามว่า เมืองยังทำหน้าที่นี้ต่อไปได้อีกหรือไม่ในโลกสมัยใหม่ เพราะหน้าที่ของเมืองที่ชัดเจนสำหรับโลกในอดีตเป็นไปดังคำกล่าวของนักวิชาการด้านเมืองศึกษาอย่างที่ Brendan O’Flaherty กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง City Economics (2005) ว่า “City then, economize on protection, and so protection against marauding barbarian armies is one reason why people have come together to live in cities...” แต่หากในโลกปัจจุบัน เมืองมีความเปราะบางจนแม้การป้องกันตนเองก็กระทำได้ยากแล้ว เราผู้คนที่ต้องอาศัยอยู่ในเมืองจะทำอย่างไรกันดี ?
แต่ไม่ว่าเมืองจะเปราะบางและไม่มั่นคงเพียงใด ผู้คนก็ยังต้องการที่จะอาศัยอยู่ในเมืองต่อไป เพราะเมืองเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง และที่สำคัญเมืองคือสัญลักษณ์ของความเจริญและความเป็นสมัยใหม่ (a symbol of modernity) หรืออย่างน้อยผู้คนเหล่านี้ก็เชื่อดังคำกล่าวเก่าๆ ของคนเยอรมันในยุคกลางที่ว่า “Stadtluf macht frei” (“City air makes you free”)
แล้วคุณล่ะเชื่อไหมว่า เมืองทำให้คุณเป็นเสรีชน...
หรือสำหรับคุณ เมืองเป็นสิ่งที่ผูกโยงอยู่กับ “ความชั่วร้าย” (evil) และ “บาป” ดังนั้น เมืองจึงมิได้เป็นอะไรไปกว่าสิ่งที่คนในยุควิคตอเรียคิด คือเป็น “a city of dreadful delight”...
หรือสำหรับคุณบางคน เมืองคือสัญลักษณ์ของการเอารัดเอาเปรียบของระบบทุนนิยมที่จะต้องโค่นล้มให้ได้...
ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณเป็นคนหนึ่งใช่ไหมที่อยากทำลายเมืองทิ้ง... จะด้วยการวางระเบิด หรือด้วยการขับเครื่องบินพุ่งชน ก็ไม่แตกต่างกัน เพราะเมืองต้องถูกทำลาย !
หมายเหตุ: บทความ A Tale of All Cities: Contemporary Urban Insecurity เผยแพร่ครั้งแรกในสูจิบัตรนิทรรศการ Safe Place in the Future (?) Dystopia Now Utopia Never จัดพิมพ์โดยหอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน || ศิลปินร่วมโครงการ ได้แก่ ซูเปอร์เฟลกซ์ (เดนมาร์ก), โรเบิร์ต นอทท์ และอังตวนเนท เดอ จง (เนเธอร์แลนด์) เมลลา จาร์สมาร์ (อินโดนีเซีย), ไมเคิ่ล ลี (สิงคโปร์), คริส ชอง ชาน ฟุย (มาเลเซีย), โค ซาโตะ (ญี่ปุ่น), ทัศนัย เศรษฐเสรี (ไทย), ภัทร จันทร์ฤาชาชัย (ไทย), พิสุทธิ์ ศรีหมอก (ไทย), ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์ (ไทย) และกลุ่มบางกอก อะแดพทีฟ ซิตี้ (ไทย) || คัดสรรผลงานโดย โสมสุดา เปี่ยมสัมฤทธิ์ และ วรเทพ อรรคบุตร || นิทรรศการฯ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ไปจนถึงวันที่ 3 มีนาคม 2556
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โทร. 02-612-6741, 080-117-8911 แฟกซ์. 02-219-2911 อีเมล์ pr_artcenter@jimthompsonho use.com
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โทร. 02-612-6741, 080-117-8911 แฟกซ์. 02-219-2911 อีเมล์ pr_artcenter@jimthompsonho