Skip to main content

ตูแวดานียา ตูแวแมแง
สถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (YDA)
 
มาถึงวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธการมีตัวตนของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีแล้วว่าสัมพันธ์กันโดยตรงกับสถานการณ์ความขัดแย้งในอุดมการณ์ทางการเมืองกับความเป็นรัฐไทย ในฐานะของตัวแสดงหรือตัวแปรสำคัญที่สุดนอกเหนือจากรัฐไทยและประชาชนปาตานี ซึ่งส่งผลต่อการเกิดสันติภาพอย่างยั่งยืนของคนปาตานี คนทั้งประเทศไทย คนทั้งอาเซียน และคนทั้งโลกนี้
 
เพราะถ้าสงครามที่ปาตานียังไม่หยุด แน่นอนคนทั้งประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบทางตรงอยู่แล้ว โดยผ่านเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศถูกจัดให้เป็นงบประมาณสงครามและถูกบังคับให้สมัครใจส่งลูกหลานของตนมาสู้รบจนต้องแลกด้วยชีวิตเพื่อปกป้องความเป็นรัฐาธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนอันซึ่งบังเอิญแผนที่ประเทศไทยนั้นไปเหมือนกับรูปขวานที่มีด้าม
 
คนทั้งอาเซียนก็เช่นกันย่อมได้รับผลกระทบทางตรงเหมือนกัน เพราะประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งอาเซียนยุคแรกๆซึ่งหมายถึงฐานะของการเป็นแกนหลักสำคัญของความเป็นอาเซียนนั่นเอง เมื่อแกนหลักเกิดเป๋ขึ้นมาเพราะพิษของสงครามประชาชน แน่นอนสภาพของอาเซียนซึ่งเป็นฐานการผลิตอาหารแหล่งใหญ่ที่สุดของโลกก็ย่อมเป๋ตามไปด้วย
 
และแน่นอนถ้าสภาพสงครามที่ปาตานีหรือที่ชายแดนใต้ของประเทศไทยเกิดยืดเยื้อเรื้อรังถึง20-30 ปีหรือไม่มีวันสิ้นสุดก็ตาม เชื่อว่าความมั่นคงของประชาชาติทั่วโลกที่สัมพันธ์กันอย่างไร้พรมแดนตามกระแสของความเป็นโลกาภิวัฒน์นั้น ก็ย่อมต้องได้รับความสั่นคลอนไม่มากก็น้อยขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของการสู้รบและปริมาณความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากสงครามประชาชน
 
เมื่อสังคมทั้งโลกได้รับผลกระทบทางตรงหรือทางอ้อมก็ตามจากสงครามที่ปาตานี เมื่อนั้นกระแสสันติภาพจากทุกมุมโลกก็จะโหมกระพือเข้ามาด้วยท่าทีกดดันความเป็นชนชั้นปกครองในแบบของรัฐไทย ซึ่งปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและมีสถานะหนึ่งของรัฐที่มีพันธะกรณีกับหลักการกำหนดชะตากรรมตนเองของประชาชน (Right to Self Determination) ในข้อตกลงของสหประชาชาติ (UN) ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่1514(XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ในมาตรา 1.1 ของมติที่1514 กล่าวว่า “กลุ่มชนหรือประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง และดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี”
 
แต่การโหมกระพือของกระแสสันติภาพจากทั่วโลกจะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้หรือไม่ ถ้าโมเดลสันติภาพของประชาชาติปาตานี “ยังไม่ชัดเจน” “หรือยังไม่มี” “หรือมีแล้วแต่ยังไม่เป็นที่รับรู้ของสังคมสาธารณะ”
 
เพื่อการคาดการณ์อนาคตว่าแนวโน้มของสันติภาพปาตานีซึ่งสัมพันธ์กับท่าทีของเจตจำนงทางการเมืองของประชาชาติปาตานีเอง เป็นตัวแปรสำคัญสุดท้ายที่จะกำหนดการเปลี่ยนแปลงว่าจะเป็นไปตามนิยามสันติภาพแบบไหน กล่าวคือสันติภาพคือการกระจายอำนาจ หรือการปกครองตนเองพิเศษ หรือเอกราช? ถึงที่สุดแล้วจะออกมาในรูปแบบใดที่สอดคล้องกับความต้องการอย่างพึงพอใจสูงสุดและที่สุดของคนปาตานี ( คนปาตานีคือคนที่มีประวัติศาสตร์เดียวกัน ภาษาวัฒนธรรมเดียวกัน ดินแดนมาตุภูมิเดียวกัน และมีเจตจำนงทางการเมืองเดียวกัน ) ผู้เขียนคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมาศึกษาวิเคราะห์และสังเคราะห์ถึงโมเดลสันติภาพที่เป็นรูปธรรมของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีและหรือของประชาชาติปาตานีต้องการนั้นเป็นอย่างไร?
 
จากการที่หลายๆองค์กรเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีอาทิเช่น  BNPP BRN PULO BIPP เป็นต้น ได้ก่อตัวขึ้นมาในช่วงของโลกอยู่ในภาวะของสงครามเย็น (ค.ศ. 1946-1980) ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องของแต่ละประชาขาติทั่วโลกซึ่งถูกชนชั้นปกครองเผด็จการแบบอนุรักษ์นิยมกดขี่ข่มเหงได้ร้องขอพร้อมการต่อสู้ทุกรูปแบบเพื่อแลกกับคำว่า “อิสรภาพ และสิทธิเสรีภาพ” อย่างเสมอภาคกันของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นกระแสสูงมากๆ จนเกิดปรากฏการณ์การปฏิวัติส่งออกและนำเข้ากันอย่างเข้มข้น เช่นปรากฏการณ์การเกิดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมาลายา
 
และเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่มีการเรียกร้องเอกราชของประชาชาติซึ่งถูกล่าอาณานิคมโดยความเป็นจักรวรรดินิยมต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะเดิมอันมีความเป็นรัฐประชาชาติรองรับและมีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง เช่น เอกราชของอินเดีย พม่า อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น
 
ท่ามกลางบรรยากาศกระแสสูงของการต่อสู้เพื่อเอกราชของเหล่าดินแดนต่างๆทั่วโลกซึ่งที่ถูกล่าอาณานิคมในช่วงสงครามเย็นนั้น ทางขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีเองก็ได้ต่อสู้และเติบโตอย่างมีพัฒนาการและสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นกับคำว่ารัฐประชาชาติ(the nation-state) และคำว่าอำนาจอธิปไตยของปวงชน(popular sovereignty) จึงมีความเป็นไปได้สูงมากที่สองคำนี้น่าจะเป็นโมเดลสันติภาพปาตานีฉบับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีและหรือของประชาชาติปาตานี
 
รัฐประชาชาติ (the nation-state) เป็นความสัมพันธ์ที่มีลักษณะพิเศษระหว่าง “รัฐ” กับ “ชาติ” หรือ “ประชาชาติ” (the nation) ในที่นี้คือ “ประชาชน” (the people) ประชาชนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการนำประชากรมนุษย์ (the populace) มาเข้าแถวรวมกันเท่านั้น แต่หมายถึง “ชุมชนทางการเมืองของมนุษย์กลุ่มหนึ่งซึ่งถือว่าตนเป็นชาติ หรือประชาชาติเดียวกัน” (a political community that perceives itself as a nation)
 
“ประชาชาติ” จึงหมายถึง เจตนารมณ์ทางการเมือง (a political will) ของหมู่ชนที่ถือว่าพวกตนเป็นพวกเดียวกัน มีภาษาและวัฒนธรรมเดียวกัน มีประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์เดียวกัน และด้วยเหตุนี้จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีรัฐ (the state) เดียวกัน เพื่อที่จะได้ทำให้หมู่ชนของตนสามารถพัฒนาศักยภาพได้เต็มที่ และเป็นอิสระปลอดจากการครอบอำนาจหรือแทรกแซงของหมู่ชนอื่น
 
ความสัมพันธ์พิเศษระหว่าง “รัฐ” กับ “ประชาชาติ” ตามความหมายที่กล่าวขึ้นมาข้างบนนี้ กลายเป็นหลักหรือหัวใจเพียงประการเดียวที่ยอมรับกันว่าชอบที่จะใช้ในการอยู่ร่วมกันระหว่างรัฐหรือบ้านเมืองทั้งหลายภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 Peter Alter เรียกหลักแห่งการติดต่อคบค้าสมาคมระหว่างประเทศต่างๆนี้ว่า “หลักแห่งรัฐประชาชาติ” (the nation-state principle)
 
หลักแห่งรัฐประชาชาตินี้ เป็นหลักที่ใช้มองโลกว่า โลกโดยธรรมชาติแล้วประกอบด้วยประชาชาติต่างๆมากมายโดยธรรมชาติ ประชาชาติหนึ่งๆก็ต้องมีรัฐเป็นของตนเอง ถ้าหลักการนี้ถูกล่วงละเมิดหรือขัดขวาง ประชาชาติดังกล่าวจะเสียใจ เพราะประชาชนที่มีภาษาและวัฒนธรรมเดียวกันย่อมมีความโหยหาที่จะได้อยู่ร่วมกันเป็นธรรมดา กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าสำหรับยุโรปในศตวรรษที่ 19 หลักแห่งรัฐประชาชาติมีความหมายและความสำคัญยิ่งใหญ่เสมือนหนึ่งเป็นกฎแห่งกรรม (natural laws) เลยทีเดียว
 
Thomas Paine (ในหนังสือ Rights of Man,1791) ประกาศว่าเอกลักษณ์ประจำชาติพลเมืองจะได้รับการค้ำประกันได้ดีที่สุดในความเป็นรัฐประชาชาติเท่านั้น เพราะอำนาจประชาธิปไตย (ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าประชาชาติหนึ่งๆไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจหรือการบงการของประชาชาติอื่นใด) นั้นเป็นของ “ประชาชาติ” เท่านั้น อำนาจอธิปไตยจะเป็นของปัจเจกบุคคลหาได้ไม่
 
เกือบเวลาเดียวกันที่ Thomas Paine  ได้ประกาศความเชื่อมั่นดังกล่าวแก่คนอังกฤษ  Herder  ก็ประกาศความเชื่อมั่นทำนองเดียวกันกับชาวเยอรมันว่า “รัฐที่เป็นธรรมชาติที่สุด คือ รัฐที่ประกอบด้วยประชาชนกลุ่มเดียวและมีลักษณะประจำชาติแบบเดียว (a single people with a single national character) ไม่มีอะไรจะดูผิดธรรมชาติมากไปกว่าการที่รัฐบาลจะขยายพรมแดนของรัฐให้เกินไปกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ นั่นคือ ไปครอบครองประชาชาติหรือมนุษย์เผ่าพันธุ์อื่นๆจำนวนมาก เข้ามาไว้ภายใต้ผู้ปกครองเดียวกัน”
 
ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่สงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมันจะระเบิดขึ้นในปี ค.ศ.1870 Johann Casper Bluntschli นักปราชญ์ทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศชาวสวิส ซึ่งบรรยายที่มหาวิทยาลัย Heidelberg สรุปว่า “แต่ละประชาชาติถูกเรียกร้องให้สถาปนารัฐของตนเองขึ้น โลกควรแบ่งออกเป็นรัฐต่างๆในจำนวนที่เท่ากันกับจำนวนประชาชาติที่มีอยู่ กล่าวคือประชาชาติหนึ่งก็มีรัฐหนึ่ง รัฐหนึ่งก็มีประชาชาติหนึ่ง”
 
ความสัมพันธ์ระหว่าง “รัฐ” กับ “ประชาชาติ” นั้น แนบแน่นอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ทว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนกันระหว่างรัฐกับชาติหรือประชาชาติ?
 
การตอบคำถามนี้อย่างน้อยมี 2 แบบ คือ แบบที่หนึ่ง “รัฐ” สร้าง “ชาติ” และแบบที่สอง “ชาติ” สร้าง “รัฐ” แต่ไม่ว่าจะตอบแบบใดผลลัพธ์สุดท้ายของทั้งสองกรณีเป็นแบบเดียวกันนั่นคือ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองปัจจัยนี้ต่างก่อให้เกิดรัฐประชาชาติ กล่าวคือ
 
แบบที่หนึ่ง “รัฐ” สร้าง “ชาติ” เป็นกระบวนการก่อตัวของรัฐประชาชาติที่เริ่มด้วยการก่อตัวของ รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ (Absolute State) ซึ่งมีลักษณะการรวมศูนย์อำนาจเข้าไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งมักจะได้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์รัฐฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่14 (1643-1715) เป็นตัวอย่างที่แจ่มชัดที่สุดของรัฐสมบูรณาญาสิทธ์ของราชวงศ์ในยุโรป จากนั้นรัฐสมบูรณาญาสิทธ์เป็นผู้สร้างชาติ และชาติกระตุ้นให้เกิดการสร้างรัฐที่เป็นหนึ่งเดียวกันกับชาตินั่นคือ รัฐประชาชาติ
 
แบบที่สอง “ชาติ” สร้าง “รัฐ” เป็นกระบวนการก่อตัวของรัฐประชาชาติที่เริ่มจากความเป็นชาติในเชิงวัฒนธรรม (ได้แก่การมีภาษาและขนบประเพณีร่วมกัน) เป็นพลังกระตุ้นให้เกิดความจำเป็นในการสร้างรัฐที่สอดคล้องกับชาติหรือประชาชาติดังกล่าว หลังจากนั้นเมื่อรัฐที่สร้างขึ้นมีความเข้มแข็งก็จะเป็นพลังที่กลับไปตอกย้ำหรือขยายอำนาจของรัฐให้เป็นปึกแผ่นเดียวกันกับวิถีชีวิตของประชาชนที่ถือว่าเป็นชาติเดียวกันในเชิงวัฒนธรรม ผลของการที่รัฐกับชาติทาบกันสนิทจะกลายเป็นรัฐประชาชาติ ตัวอย่างของรัฐประชาชาติในแบบที่สอง ได้แก่ เยอรมนีภายใต้การนำของปรัสเซีย
 
จะเห็นได้ว่าทั้งสองแบบดังที่กล่าวมานี้ ไม่ว่าจะเริ่มต้นต่างกันเพียงใด ผลลัพธ์สุดท้ายอยู่ที่ความเป็นรัฐประชาชาติเหมือนกัน ความเป็นชาติ (nationhood) และความเป็นรัฐ (statehood) เป็นพลังซึ่งส่งเสริมซึ่งกันและกัน และพลังทั้งสองนี้จะขาดกันไม่ได้ ความโน้มเอียงที่ถือได้ว่าเป็นธรรมชาติของรัฐประชาชาติก็คือ การมุ่งสู่จุดอุดมคติที่ขอบเขตอำนาจรัฐกับวิถีชีวิตของประชาชาติทาบกันสนิทเป็นหนึ่งเดียว รัฐที่มีหลายประชาชาติหรือประชาชาติที่ไม่มีรัฐของตนเอง จึงเป็นความบกพร่อง เป็นความไม่สมบูรณ์ และประชาชาติย่อมต้องเสียใจ รัฐประชาชาติจึงเป็นหน่วยทางการเมืองชนิดเดียวของมนุษย์ในโลกสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่19 และ20 ที่ถือว่าเป็นธรรมชาติและชอบธรรม
 
ส่วนอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (popular sovereignty) นั้น นักวิชาการด้านอุดมการณ์ชาตินิยมแนวเสรีบางคนถือว่าอุดมการณ์ชาตินิยมอยู่ที่การที่ประชาคมหนึ่งๆสามารถประยุกต์ใช้หลักการเรื่องอำนาจอธิปไตยของประชาชนในยุคแห่งความรู้แจ้ง (Enlightenment) ได้มากน้อยเพียงใดเท่านั้น ส่วนอื่นๆที่เหลือของอุดมการณ์ชาตินิยมนั้นถือว่าเป็นเพียงวาทศิลป์ประกอบ
 
.คำประกาศว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และของพลเมือง (Declaration of the Rights of Man and of Citizen) ของการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ.1789 ระบุหลักการที่สำคัญ 2 ประการ คือ ประการแรก “ประชาชน” (people) หมายถึง “ชาติ” (nation) และประการที่สอง คือ หลักที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยอยู่ที่ชาติ (the principle of sovereignty lies in the Nation) เมื่อรวมหลักการทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันจึงได้ความหมายแบบเดียวกันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือประชาชนนั่นเอง
 
คติหรือหลักการเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนเป็นหลักการหนึ่งทีมีพลังมากและให้พลังนี้แก่อุดมการณ์ชาตินิยม แนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 พอย่างเข้าปลายศตวรรษที่ 18 ก็เริ่มเปลี่ยนที่มีมาจากกฎหมาย หรือตัวผู้ปกครองมาอยู่ที่ประชาชนมากขึ้นๆ ในขณะเดียวกันเราได้เห็นว่า “ประชาชน” และ “ชาติ” เป็นคำที่ใช้แทนที่กันได้
 
ดังนั้นแนวคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยของประชาชนกับอำนาจอธิปไตยของชาติ จึงถือว่าเป็นสิ่งเดียวกันหรือใช้แทนกันได้ด้วยประชาชนหรือชาติที่จะเรียกได้มีอำนาจอธิปไตยจะต้องมีความสูงสุดเด็ดขาดหรืออิสระในตัวเองในอันที่สร้างกฎหมายหรือปกครองตนเอง แน่นอนว่าความเป็นอิสระหรือสูงสุดในตัวเองเช่นที่กล่าวนี้ย่อมหมายถึงการมีรัฐของตนเองด้วย ประชาชนหรือชาติที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จึงมีความโน้มเอียงที่เข้าครอบครองรัฐหรือให้อำนาจรัฐตอบสนองต่อความมีอธิปไตยดังกล่าว ในทำนองกลับกันรัฐก็มีความโน้มเอียงที่จะทำให้ประชาชนหรือชาติกับรัฐมีความเป็นหนึ่งเดียวกันหรือเหมือนกัน (synonymity) ด้วยการพยายามทำให้ประชากรในดินแดนของรัฐมีความเหมือนกันมากที่สุด (homogenizing populations) ด้วยมาตรการด้านภาษาและระบบการศึกษาที่รัฐจัดขึ้นอย่างเป็นทางการและเป็นแบบมาตรฐาน
 
แนวความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยของปวงชนยังก่อให้เกิดความโน้มเอียงเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องประชาธิปไตย (democracy) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกระบวนการอันนี้จะต้องเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็วเสมอ อันที่จริง “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” กับ “ประชาธิปไตย” ก็เป็นเรื่องเดียวกันนั่นเอง
 
แต่ประชาธิปไตยในศตวรรษที่19 ไม่จำเป็นต้องมีความหมายเหมือนกับที่เราเข้าใจในปัจจุบันว่า คือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันในการเลือกตั้งและเปลี่ยนแปลงหรือถอดถอนผู้ปกครอง อำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนนั้น อาจจะถูกใช้โดยกลุ่มชนชั้นนำจำนวนน้อยที่เป็นนักเสรีนิยม หรือนักปฏิวัติ หรือนักอนุรักษ์นิยมก็ได้
 
เป็นไปได้หรือไม่ว่าการที่ฝ่ายขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชปาตานีซึ่งอาจจะมาจากประชาชาติปาตานีทั้งมวลได้มอบหมายภารกิจการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยจากแอกของความเป็นจักรวรรดินิยมสยามในความเป็นรัฐไทยปัจจุบัน..ต้องการโมเดลสันติภาพที่รองรับด้วยความเป็นรัฐประชาชาติอันมีอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง?..ถ้าเป็นไปได้หล่ะก็ คงถึงเวลาแล้วที่ประชาชนคนปาตานีต้องเตรียมคำตอบสำหรับวันประชามติ
 
 
บรรณานุกรม
รศ.ดร.สมเกียรติ 2551. อุดมการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย. พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์อักษรข้าวสวย.